อารยธรรมโบราณ : เมื่อเด็กตกเป็นเหยื่อบูชายัญ
เรื่อง คริสติน รอมีย์
ภาพถ่าย โรเบิร์ต คลาร์ก
เมื่อกว่า 500 ปีก่อน ชาวชิมูซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณที่เป็นประเทศเปรูในปัจจุบัน สังเวยชีวิตเด็กชายหญิง269 คนในพิธีกรรมช็อกโลก สาเหตุของการบูชายัญใน อารยธรรมโบราณ นีี้ยังเป็นปริศนา
เหยื่อบูชายัญวัยเยาว์ผู้นี้นอนอยู่ในสุสานตื้นๆในลานจอดรถร้างที่มีขยะกล่นเกลื่อน นี่คือวันศุกร์ก่อนเทศกาลอีสเตอร์ ณ อวนชากีโต หมู่บ้านเล็กๆ ริมชายฝั่งทางเหนือของเปรู
สิ่งแรกที่ปรากฏคือส่วนสันกะโหลกของเด็กซึ่งด้านบนมีปอยผมสีดำ ผู้ขุดเปลี่ยนอุปกรณ์จากเกรียงเป็นพู่กัน ค่อยๆปัดทรายร่วนๆออก เผยให้เห็นกะโหลกส่วนที่เหลือและกระดูกไหล่ที่ยื่นทะลุผ้าฝ้ายห่อศพเนื้อหยาบออกมา ท้ายที่สุด ซากตัวยามาขนสีทองขนาดเล็กที่ขดอยู่ข้างร่างเด็กน้อยก็ปรากฏให้เห็น
กาเบรียล เปรเอโต อาจารย์ด้านโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติทรูคีโยมองลงไปในหลุม พยักหน้าแล้วประกาศว่า “เก้าสิบห้า” เขากำลังนับจำนวนเหยื่อ และร่างนี้ก็ได้หมายเลข E95 เป็นร่างที่ 95 ที่ขุดขึ้นมาตั้งแต่เขาเริ่มสำรวจหลุมฝังศพหมู่เมื่อปี 2011 ตัวเลขอันน่าพรั่นพรึงจากแหล่งบูชายัญนี้และอีกแหล่งหนึ่งที่อยู่ใกล้ๆ เพิ่มจำนวนศพเด็กที่พบเป็น 269 ร่าง กับผู้ใหญ่อีกสามร่าง ทั้งหมดเสียชีวิตเมื่อกว่า 500 ปีก่อนในยัญพิธีที่เตรียมการอย่างประณีตชนิดไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์อารยธรรมโบราณ
“นี่ไม่ใช่สิ่งที่เราคาดคิดเลยครับ” เปรเอโตบอกพลางส่ายศีรษะอย่างฉงน นักโบราณคดีและคนเป็นพ่อผู้นี้พยายามทำความเข้าใจการค้นพบชวนหดหู่ ณ แหล่งขุดค้นที่ชื่อ อวนชากีโต-ลาสยามาส
ที่ผ่านมา นักโบราณคดีพบหลักฐานการบูชายัญมนุษย์ในหลายอารยธรรมโบราณของโลก เหยื่ออาจมีจำนวนหลายร้อยราย โดยมักเป็นเชลยสงคราม ผู้เสียชีวิตจากพิธีการต่อสู้ หรือคนรับใช้ที่ตายตกตามนาย เอกสารโบราณต่างๆ เช่น คัมภีร์ฮีบรู ยืนยันว่ามีการบูชายัญเด็กจริง แต่หลักฐานการสังหารหมู่เด็กที่ชัดเจนในบันทึกทางโบราณคดีหาได้ยากยิ่ง ก่อนหน้าการค้นพบที่อวนชากีโต แหล่งโบราณคดีที่มีการบูชายัญเด็กที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่รู้จักในทวีปอเมริกาและอาจทั่วโลกด้วย คือวิหารเตมโพลมายอร์ในเตนอชติชลาน เมืองหลวงของอัซเต็กหรือเม็กซิโกซิตีในปัจจุบัน ซึ่งมีเด็ก 42 คนถูกสังหารในศตวรรษที่สิบห้า
จากนั้นเมื่อปี 2011 เจ้าของร้านพิซซาในเมืองเล่าเรื่องน่าตกใจให้เปรเอโตฟังว่า ลูกๆของเขากับพวกหมาในย่านนั้นไปพบกระดูกมนุษย์โผล่ออกมาจากกองทรายในที่จอดรถร้างแห่งหนึ่ง เขาขอให้เปรเอโตช่วยไปดูให้
ทีแรก เปรเอโตคิดว่าน่าจะเป็นแค่สุสานสักแห่งที่ถูกลืม แต่เมื่อพบร่างเด็กหลายคนถูกห่อด้วยผ้า ซึ่งจากการตรวจหาอายุด้วยวิธีคาร์บอนกัมมันตรังสีพบว่า ร่างเหล่านั้นมีอายุอยู่ในราวปี ค.ศ. 1400 ถึง 1450 เขาก็ตระหนักว่าการค้นพบครั้งนี้ยิ่งใหญ่กว่านั้นมากนัก
เปรเอโตสังเกตว่า การฝังดังกล่าวไม่ใช่เป็นการฝังตามแบบฉบับของชาวชิมู หลายร่างยังมีลูกของยามาหรืออาจเป็นอัลปากาฝังอยู่ด้วย สัตว์เฉพาะถิ่นในเทือกเขาแอนดีสนี้ถือเป็นสินทรัพย์ล้ำค่าที่สุดของชาวชิมูเพราะเป็นทั้งแหล่งอาหาร เส้นใย และพาหนะสำคัญ และท้ายสุดก็พบว่าร่างของเด็กและสัตว์จำนวนมากมีรอยผ่าชัดเจนที่กระดูกสันอกและซี่โครง
เพื่อทำความเข้าใจกับเงื่อนงำเหล่านี้ เปรเอโตติดต่อจอห์น เวราโน นักชีวโบราณคดีและผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยทูเลน เวราโนมีประสบการณ์หลายสิบปีในการวิเคราะห์หลักฐานทางกายภาพของการใช้ความรุนแรงในพิธีกรรมแถบเทือกเขาแอนดีส รวมถึงการสังหารหมู่เด็กชายและผู้ใหญ่ชาวชิมูราว 200 คนในศตวรรษที่สิบสาม ณ แหล่งโบราณคดีปุนตาโลบอส
หลังตรวจสอบร่างของเด็กๆที่อวนชากีโต เวราโนก็ยืนยันว่าทั้งเด็กและสัตว์ถูกฆ่าโดยเจตนาในลักษณะเดียวกัน นั่นคือมีรอยผ่าขวางที่กระดูกสันอก ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะทำเพื่อควักหัวใจ เขาพบว่าตำแหน่งรอยผ่าตรงกระดูกนั้นเหมือนกันหมด และรู้สึกทึ่งเป็นพิเศษที่ไม่พบ “ร่องรอยความลังเล” ของคมมีดบนกระดูก ทั้งตอนลงมีดและตอนชักมีดขึ้นเลย “เป็นการฆ่าเพื่อประกอบพิธีกรรมที่เป็นระบบมากๆครับ” เขาบอก
เงื่อนงำสำคัญหนึ่งว่าเกิดอะไรขึ้นที่อวนชากีโตคือชั้นโคลนโบราณที่แห้งหนาซึ่งกลบฝังเหยื่อสังเวยไว้ โคลนที่อยู่ลึกหมายถึงฝนตกหนัก และในบริเวณริมชายฝั่งแห้งแล้งทางเหนือของเปรูเช่นนี้ “ฝนตกหนักขนาดนั้นมักเกิดเฉพาะเวลาที่มีปรากฏการณ์เอลนีโญครับ” เปรเอโตอธิบาย
ประชากรในชันชัน เมืองหลวงของชาวชิมู อยู่ได้ด้วยการทำประมงชายฝั่งและระบบชลประทานที่จัดการอย่างรอบคอบ ซึ่งทั้งสองอย่างอาจมีปัญหาหากน้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้นและเกิดฝนตกหนักจากสภาวะอากาศ นักวิทยาศาสตร์ตั้งทฤษฎีว่า เอลนีโญที่เกิดอย่างรุนแรงอาจสั่นคลอนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองของอาณาจักรชิมู นักบวชและผู้นำอาจสั่งให้จัดบูชายัญหมู่ เป็นความพยายามอย่างสิ้นหวังที่จะขอให้เหล่าเทพเจ้าช่วยยุติฝนและความหายนะ
“ด้วยเด็กจำนวนขนาดนี้ สัตว์จำนวนเท่านี้ นี่เป็นการลงทุนครั้งใหญ่ที่ดำเนินการโดยรัฐครับ” เปรเอโตบอก
การสังเวยราคาแพงนี้ทำให้ฝนตกหนักจนหลากท่วมบรรเทาลงหรือไม่ เราไม่มีทางรู้ได้ แต่เหตุการณ์ ที่ชวนหดหู่นี้อาจเผยให้เห็นช่วงปีท้ายๆอันสิ้นหวังของจักรวรรดิที่ใกล้สิ้นสูญ
เพราะภายในช่วงเวลาไม่กี่ทศวรรษ นักรบอินคาจะมาถึงกำแพงเมืองชันชันและกำจัดชาวชิมูออกไป
อ่านเพิ่มเติม
เยือนดินแดนซึ่งคนตายไม่เคยหลับใหลบนเกาะซิซิลี