ในลาว เมื่ออุณหภูมิลดตํ่ากว่า 20 องศาเซลเซียส ผู้คนจะคว้าเสื้อหนาวและหมวกไหมพรมมาสวมใส่ บ้างก่อไฟผิงซึ่งเป็นการเริ่มต้นฤดูแห่งความตาย คืนก่อนปีใหม่ปีหนึ่ง สหายสามคนในเชียงขวางออกไปตั้งค่ายพักแรม คืนนั้นอากาศหนาวพวกเขาจึงก่อไฟขึ้นมากองหนึ่ง คนหนึ่งเสียชีวิตทันทีเมื่อระเบิดที่อยู่ใต้พื้นเต็นท์ระเบิดขึ้น อีกคนหนึ่งพิการสาหัส ผมแวะไปเยี่ยมเยอร์ เฮอร์ ซึ่ง เป็นเหยื่อรายที่สามที่บ้านของเขาในหมู่บ้าน เด็กหนุ่มวัย 18 ปีถอดเสื้อออกเพื่อให้ผมดูแผลเป็น 19 แห่งบนแผ่นหลัง
ในหมู่บ้านของเยอร์ ชาวบ้านมีไฟฟ้า ทีวีดาวเทียม และโทรศัพท์มือถือ ผู้เป็นแม่ ภรรยา พี่สาว น้องสาว และลูก ดูเหมือนจะมีสามี พี่ชาย น้องชาย หรือไม่ก็ลูกสาวตัวน้อยที่พิการหรือตายเพราะระเบิดสัญชาติอเมริกันที่ตกค้างหลังสงครามจบสิ้นไปนานแล้ว ที่โรงเรียนมัธยมในท้องถิ่น เด็กๆเรียนพีชคณิตบนกระดานดำแก้สมการที่เห็นไม่ได้เลยสักข้อ ซึ่งหมายความว่าวัยรุ่นลาวในหมู่บ้านห่างไกลแห่งนี้กำลังเรียนคณิตศาสตร์ขั้นสูงกว่าที่ผมเคยเรียนในวัยเดียวกัน พอกลับบ้านในสหรัฐฯ ผมนำรูปกระดานดำที่ว่าไปให้นักคณิตศาสตร์ดู “เป็นสมการวิเคราะห์ความเร็วของวัตถุที่กำลังตกลงมา อย่างเช่นระเบิดน่ะครับ” เขาเฉลย
สหรัฐฯ ทิ้งระเบิดพวง (cluster bomblet) หรือบอมบี้ (bomby) ถล่มลาวรวมแล้วมากกว่า 270 ล้านลูกหรือเท่ากับมากกว่าหนึ่งลูกต่อชาย หญิง และเด็กทุกคนในสหรัฐฯ รวมกันในเวลานั้นแล้วยังมีระเบิดลูกใหญ่ๆ อีกสี่ล้านลูกนํ้าหนักของระเบิดทั้งหมดรวมแล้วมากกว่านํ้าหนักของคนทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในลาวมากมายหลายเท่า ซึ่งในเวลานั้นลาวอาจมีประชากรเพียงสองล้านคน
ในช่วงสงครามเวียดนาม วอชิงตันประกาศ “หยุดทิ้งระเบิดชั่วคราว” เป็นระยะๆ แต่สายพานลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์จากโรงสรรพาวุธในสหรัฐฯ ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นระยะทาง 12,000 กิโลเมตร ไม่อาจเปิดๆปิดๆได้ ระเบิดที่ไม่ได้ไปตกในเวียดนามถูกเปลี่ยนเส้นทางให้ไปตกที่ลาวแทน นับเป็นสงครามที่ขับเคลื่อนโดยอุปทานสงครามครั้งแรกของโลก อาวุธยุทโธปกรณ์ที่สะสมไว้จนล้นโกดังก่อให้เกิดความต้องการนำ ออกไปใช้ตลอดเวลา นอกจากนี้การผลิตสินค้า “ความตายทางอากาศ” ในปริมาณมหาศาลเช่นนี้ยังไม่มีการควบคุมคุณภาพใดๆ เป็นไปได้ว่าอาจมีบอมบี้มากถึง 80 ล้านลูกที่ไม่ระเบิดเมื่อตกถึงพื้นแต่ยังถือว่าระเบิดได้ ขณะที่ระเบิดขนาดใหญ่มากถึงร้อยละสิบก็ไม่ระเบิดเช่นกัน
ตอนที่องค์กรเก็บกู้ระเบิด (Mines Advisory Group) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในสหราชอาณาจักรเปิดชั้นเรียนให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายของยูเอกซ์โอ เด็กนักเรียนต่างตั้งใจฟัง ขณะเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายบอกเล่าเรื่องราวของบาดแผลทั้งทางจิตใจและร่างกาย หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ถามเด็กๆ ว่า พวกเขาอยากพูดอะไรถ้าได้เจอคนทิ้งระเบิดเหล่านั้น เด็กชายตัวน้อยคนหนึ่งยกมือขึ้น “ผมจะบอกว่าพวกเขาควรจ่ายสตางค์ให้เราครับ” รัฐสภาสหรัฐฯ เจียดงบประมาณ 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2014 ไว้สำหรับงานเก็บกู้ยูเอกซ์โอ อาคารที่ทำการสถานทูตสหรัฐฯหลังใหม่ในลาวใช้งบประมาณก่อสร้าง 145 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ความแตกต่างของงบสองก้อนนี้สะท้อนให้เห็นถึงการจัดลำดับความสำคัญของสหรัฐฯ นั่นคือ ความมุ่งมั่นที่ดูสมเหตุสมผลในการเพิ่มความปลอดภัยให้นักการทูตอเมริกัน แต่ขณะเดียวกันก็แทบไม่เหลียวแลความรับผิดชอบในอดีตที่ตนก่อไว้ในลาว
จิตวิญญาณของชาวลาวไม่เคยถูกยึดครอง ไม่ว่าจะโดยคนต่างชาติหรือผู้นำประเทศของตน ในอนาคต ชาวลาวจะยังคงเปลี่ยนอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นกับพวกเขาให้เป็นงานศิลปะที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตประจำวันต่อไป เพราะพวกเขามีพรสวรรค์อันยิ่งใหญ่ในการมองเห็นประโยชน์ใช้สอยและความงาม
ขณะที่คนอื่นมองเห็นแต่การทำลายล้างและขยะ ระหว่างสงครามทางอากาศในครั้งนั้น ช่างฝีมือชาวลาวนำถังนํ้ามันของเครื่องบินทิ้งระเบิด บี-52 ที่ถูกปลดระวางมาดัดแปลงเป็น “เรือหางยาวบี-52” ในยุคสังคมบริโภคของเราที่มากด้วยอาหารจานด่วนและ ขยะไม่ย่อยสลายตามธรรมชาติ ผมเห็นกระป๋องมันฝรั่งยี่ห้อพริงเกิลส์กลายเป็นเชิงเทียนไหว้พระที่วัดหลังโรงแรมล้านช้างในเวียงจันทน์
นอกจากภาชนะบรรจุอาหารจานด่วนแล้ว สถานสักการะแห่งนี้ยังใช้หินแม่นํ้าโขงมาตกแต่งผสมผสานกับรากไม้มงคล เพื่อสื่อถึงศรัทธาอันแรงกล้าได้อย่างงดงามลงตัวใกล้สนามบินหลวงพระบาง ผมได้เห็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า ชีวิตในลาวพบหนทางที่จะเจริญงอกงามต่อไปได้เสมออย่างไร นั่นคือเถาไม้เลื้อยที่เกี่ยวกระหวัดรอบสายไฟของเสาอากาศที่ซีไอเอเคยใช้ส่งข้อมูลลับในช่วงสงคราม แม้ว่าของขวัญแห่งชีวิตนี้จะไม่อาจลบล้างบาดแผลในอดีตที่ยังคงติดตามหลอกหลอนอยู่ในปัจจุบันให้ลบเลือนหายไปได้ก็ตาม