มัมมี่ราชวงศ์อียิปต์โบราณถูกเคลี่อนย้ายอีกครั้ง

มัมมี่ราชวงศ์อียิปต์โบราณถูกเคลี่อนย้ายอีกครั้ง

มัมมี่ฟาโรห์ ที่เคยบินไปบูรณะที่ฝรั่งเศสเมื่อปี 1976 ได้ออกเดินทางในขบวนพาเหรดเฉลิมฉลองยุคทองของฟาโรห์ในกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ อีกครั้ง

มัมมี่ฟาโรห์ เซติที่ 1 ผู้ปกครองอียิปต์กว่าทศวรรษ เริ่มตั้งแต่ 1290 ปีก่อนคริสต์ศักราช คือหนึ่งในมัมมี่ที่จะเคลื่อนย้ายไปยังพิพิธภัณฑ์ใหม่ในกรุงไคโร

ขบวนพาเหรดเคลื่อนย้ายพระศพของราชวงศ์อียิปต์โบราณ เมื่อวันเสาร์ 3 เมษายน ที่ผ่านมา ในกรุงไคโร เป็นมัมมี่ฟาโรห์และเชื้อพระวงศ์กว่า 22 ศพ ขบวนเริ่มต้นจากพิพิธภัณฑ์อียิปต์ไปยังพิพิธภัณฑ์แห่งชาติอารยธรรมอียิปต์ (NMEC) และร่วมขบวนโดยดารา นักแสดง นักเต้นระบำ และเจ้าหน้ารักษาความปลอดภัย

งานมหกรรมนี้ได้รับการขนานนามในโทรทัศน์ว่า “การเดินขบวนสีทองของฟาโรห์” ซึ่งจัดเส้นทางขบวนเลียบแม่น้ำไนล์ งานนี้จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองประวัติศาสตร์อันยาวนานของอียิปต์ และดึงดูดนักท่องเที่ยวหลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลให้การท่องเที่ยวทั่วโลกหยุดชะงัก

“งานครั้งนี้จะทำให้ชาวอียิปต์ภูมิใจในประเทศตัวเอง” ซาฮี ฮาวาสส์ นักโบราณคดี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงโบราณวัตถุแห่งชาติ กล่าวและเสริมว่า “ในช่วงเวลาโควิค -19 ระบาด ผู้คนต้องการที่จะมีความสุข ภูมิใจในประเทศ และภูมิใจในบรรพบุรุษของเขา พวกเขาจะรอต้อนรับกษัตริย์ของเขาบนถนน”

มัมมี่ส่วนใหญ่มาจากยุคทองของอียิปต์ หรือยุคอาณาจักรใหม่ (1539 – 1075 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ขบวนประกอบไปด้วยมัมมี่ฟาโรห์ 18 ศพ และมัมมี่เชื้อพระวงศ์ 4 ศพ โดยมีตั้งแต่มัมมี่ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ไปจนถึงมัมมี่ที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก

ตัวอย่างมัมมี่ที่มีชื่อเสียงได้แก่ ฟาโรห์รามเสสที่ 2 ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นมหาราช และถูกกล่าวถึงในหนังสืออพยพ ในพระคัมภีร์ไบเบิล และฟาโรห์แฮตเชปซุต หนึ่งในฟาโรห์หญิงเพียงไม่กี่องค์ในยุคอียิปต์โบราณ ผู้ชำนาญการสร้างและผู้นำที่เข้มแข็ง

มัมมี่ฟาโรห์
ฟาโรห์รามเสสที่ 2 ได้รับการจดจำในฐานะนักรบผู้ยิ่งใหญ่ และเป็นผู้ปกครองอียิปต์กว่า 67 ปี ตั้งแต่ 1279 ถึง 1213 ปีก่อนคริสต์ศักราช ฟาโรห์รามเสสที่ 2 ปรากฏอยู่ในหนังสืออพยพในพระคัมภีร์ไบเบิล ทำให้ได้รับความนิยมและมักจะปรากฏในภาพยนต์และหนังสือ
มัมมี่ฟาโรห์
พระราชินีแฮตเชปซุส หนึ่งในฟาโรห์หญิงเพียงไม่กี่องค์ ในช่วงเวลาที่ครองราชย์ 22 ปี เธอเป็นผู้นำการสร้างอนุสาวรีย์และศาสนสถานกว่า 100 แห่ง และยังเป็นผู้เริ่มการติดต่อค้าขายกำยานและน้ำมันมีค่ากับดินแดนพุนต์ ซึ่งตั้งอยู่ในเยเมนปัจจุบัน / ภาพถ่ายโดย เคนเน็ท แกร์เร็ตต์

มัมมี่ของผู้ปกครองที่เคราะห์ร้ายมีอยู่ในขบวนด้วยเช่นกัน เช่น ฟาโรห์อังก์เอนเร ซิปตาห์ ที่เสียชีวิตในช่วงวัยรุ่นด้วยโรคโปลิโอ และฟาโรห์เซเคเนนเร ทา ผู้มีบาดแผลจากขวาน มีดสั้น กระบอง และหอก ตามผลซีทีสแกนโดยนักวิชาการ

มัมมี่ฟาโรห์อื่นๆ ก็มีความน่าหลงใหลเฉพาะตัวเช่นกัน “ฟาโรห์เซติที่ 1 คงจะเป็นฟาโรห์โปรดของฉัน” ซาลิมา อิกราม (Salima Ikram) นักอียิปต์วิทยา มหาวิทยาลัยอเมริกันในไคโร กล่าวและเสริมว่า “พระองค์มีรสนิยม และพระองค์มีรูปโฉมที่งดงาม”

ขบวนพาเหรดเริ่มต้นขึ้นหลังเวลาพระอาทิตย์ตก ประกอบไปด้วยการยิงสลุต 21 นัด ขณะเดินทางไปยังจัตุรัสทาห์รีร์ มัมมี่ทั้งหมดเคลื่อนผ่านเส้นทางที่เต็มไปด้วยจิตรกรรมฝาผนังที่บอกเล่าเรื่องราวของฟาโรห์ บนทางเลียบแม่น้ำไนล์ยาว 8 กิโลเมตร โดยมีฉากหลังเป็นดอกไม้ไฟ และการจัดแสดงแสงสีเสียง

“มัมมี่จะถูกขนส่งในกล่องกันกระแทกซ้อนกัน คล้ายกับโลงพระศพโบราณหรือกล่องจีน” อิกราม (Ikram) ผู้เชี่ยวชาญด้านมัมมี่และการทำมัมมี่ ที่ปรึกษาของงานเคลื่อนย้ายพระศพ กล่าวและเสริมว่า “มัมมี่ควรเดินทางอย่างปลอดภัยที่สุด”

กล่องควบคุมสภาพอากาศที่ปิดผนึกไว้อย่างแน่นหนาถูกนำไปวางไว้บนรถบรรทุกทหารพื้นเรียบ ที่ตกแต่งให้เหมือนราชรถบรรทุกศพในสมัยโบราณ อับดุล ฟัตตาห์ อัสซีซี (Abdel Fattah el-Sisi) นายกรัฐมนตรีอียิปต์ และคณะผู้ทรงเกียรติ ออกมารอต้อนรับขบวน เมื่อขบวนมาถึงพิพิธภัณฑ์แห่งชาติอารยธรรมอียิปต์

การเคลื่อนย้ายมัมมี่

นี่ไม่ใช่การเคลื่อนย้ายมัมมี่ครั้งแรก เมื่อ 3000 ปีก่อน มัมมี่ส่วนมากถูกเคลื่อนย้าย หลังจากประดิษฐานอยู่ในสุสานที่หรูหราของหุบเขากษัตริย์ ใกล้เมืองลักซอร์ เพื่อป้องกันไม่ไห้โจรเข้ามาขโมยมัมมี่ โลงศพถูกค้นพบอีกครั้งในช่วงปลายศรรตวรรษที่ 19 บางโลงค้นพบด้วยความช่วยเหลือจากโจรปล้นสุสานในพื้นที่ มัมมี่ทั้งหมดถูกลำเลียงไปตามแม่น้ำไนล์บนเรือกลไฟ เพื่อนำไว้เก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์ไคโร

ในปี 1881 นักข่าวบันทึกการเดินทางของมัมมี่บนเรือว่า มีคนท้องถิ่นออกมาไว้อาลัยการจากไปของมัมมี่ที่มีชื่อเสียง “ผู้หญิงจะปล่อยผมยุ่งเหยิง ร้องเสียงหลงคร่ำครวญถึงความตาย ส่วนผู้ชายจะอยู่ในความเงียบด้วยท่าทางขึงขัง และยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อรับเสร็จมัมมี่ฟาโรห์” (เมื่อถึงกรุงไคโร มัมมี่ต้องเผชิญกับอุปสรรคใหญ่เนื่องจาก “มัมมี่” ไม่ได้อยู่ในรายการสิ่งของที่ศุลกากรอนุญาตให้ผ่านเข้าไป ท้ายที่สุดเจ้าหน้าที่เปลี่ยนชื่อของจาก “มัมมี่” เป็น “ปลาเค็ม” จึงให้ผ่านเข้าเมืองได้)

อารยธรรมอียิปต์โบราณโด่งดังเรื่องพีรามิด ฟาโรห์ มัมมี่ และหลุมศพ เจริญรุ่งเรื่องมาหลายพันปี แต่เราได้รับอิทธิพลอะไรจากอารยธรรมเหล่านั้น เรียนรู้เกี่ยวกับอารยธรรมอียิปต์ว่ามีส่วนในการพัฒนาทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะด้านภาษาและคณิตศาสตร์อย่างไร

นับตั้งแต่การขนย้ายมัมมี่ในปี 1881 มัมมี่ 22 ศพ ได้กระจายไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ 4 แห่ง บางศพจัดแสดงในตู้กระจก ส่วนที่เหลือถูกจัดเก็บในห้องนิรภัย พ้นจากสายตาของสาธารณชน อีกทั้งในปี 1976 มัมมี่ฟาโรห์รามเสสที่ 2 ได้ถูกเคลื่อนย้ายไปยังกรุงปารีสเพื่อการบูรณะ

การเดินทางของมัมมี่ฟาโรห์รามเสสที่ 2 ครั้งนั้น เป็นแรงบันดาลใจแก่ คาเลด เอล อนานี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโบราณวัตถุแห่งชาติคนปัจจุบัน เมื่อครั้งอัล อนานี ยังเป็นเด็กในโรงเรียนภาษาฝรั่งเศสในกรุงไคโร เขาได้ดูภาพยนตร์เกี่ยวกับมัมมี่ฟาโรห์รามเสสที่ 2 เดินทางไปฝรั่งเศส

“ผมประหลาดใจเมื่อเห็นกลุ่มนักข่าวและช่างภาพจำนวนมากมาคอยต้อนรับฟาโรห์รามเสสที่สนามบิน ราวกับว่าเขาเป็นนายกรัฐมนตรีหรือกษัตริย์” เอล อนานี กล่าว และเมื่อเขาได้เป็นรัฐมนตรี เขาจึง “ทำการใหญ่ จัดงานเดินขบวนขนาดใหญ่เพื่อแสดงความเคารพต่อบรรพบุรุษ ในฐานะที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ”

คำสาปมัมมี่ในยุคใหม่

ชาวอียิปต์จำนวนมากรอชื่นชมขบวนดังกล่าวราวกับเป็นเทศกาลท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 แต่ชาวอียิปต์อีกกลุ่มหนึ่งกังวลว่าการเคลื่อนย้ายมัมมี่นำมาซึ่งโชคร้าย

ในช่วงการเตรียมจัดงาน ประชาชนบางส่วนเชื่อว่าอุบัติเหตุรถไฟตกรางในอียิปต์กลาง ตึกถล่มในกรุงไคโร และเรือเกยตื้นขวางทางสัญจรในคลองสุเอซ เป็นผลของคำสาปมัมมี่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเคลื่อนย้ายพระศพ ฮาวาสส์ นักโบราณคดี กล่าวว่า “คำสาปไม่มีอยู่จริง” เขาหัวเราะ “มีเพียงคนที่งมงายเท่านั้น”

อย่างไรก็ตาม ขบวนดังกล่าวกลายเป็นที่ถกเถียงระดับโลก ในด้านจริยธรรมเกี่ยวกับการจัดแสดงศพมนุษย์ ภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์หลายแห่งกำลังผลักดันให้งดจัดแสดงมัมมี่หรือศพมนุษย์ทั้งหมด

เจ้าหน้าที่ชาวอียิปต์ได้ถกประเด็นดังกล่าวมาหลายสิบปี ในปี 1974 ขณะที่ ฮาวาสส์เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์อียิปต์ ร่วมกับเจ้าหญิงมาร์กาเร็ต (Margaret) น้องสาวของพระราชินีเอลิซาเบธ เธอสะดุ้งและปิดปากเมื่อเห็นรามเสสที่ 2 ที่แห้งและน่ากลัว “ราวกับเธอกำลังคิดว่า ‘ทำไมคุณถึงทำอะไรแบบนี้’ ฉันไม่สามารถมองหน้ามนุษย์ในสภาพแบบนี้ได้” ฮาวาสส์นึกขึ้นได้

มัมมี่ราชวงศ์อียิปต์จะได้รับการเก็บรักษาอย่างเหมาะสมในพิพิธภัณฑ์ใหม่ที่ พิพิธภัณฑ์แห่งชาติอารยธรรมอียิปต์ รัฐมนตรีอัล อนานี กล่าว

“คุณจะเดินลงทางลาดราวกับว่าคุณกำลังไปโลกหลังความตาย กำแพงเป็นสีดำ ไฟสลัว ทุกห้องจะคล้ายกับห้องฝังศพที่มีโลงมัมมี่ รายล้อมไปด้วยสิ่งของเครื่องใช้ในหลุมศพ”

“ผู้ปกครองปรารถนาที่จะถูกจดจำ เพื่อที่ชื่อเขาจะคงอยู่ตลอดไป” เกรกอรี มัมฟอร์ด  รองศาสตราจารย์ด้านโบราณคดี ของมหาวิทยาลัยอะแลบามา ในเบอร์มิงแฮม กล่าวและเสริมว่า “การจัดแสดงชื่อและการปกครองให้เป็นที่รับรู้แก่สาธารณะคงจะเป็นที่พึงพอใจแก่พวกเขา”

แปลและเรียบเรียงโดย ไท พฤฒิธาดา
โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษไทย


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ตำนาน คำสาปฟาโรห์ มีอยู่จริงหรือไม่

คำสาปฟาโรห์

Recommend