ชัยชนะของโซเวียตในสมรภูมิเบอร์ลิน – จุดจบของ นาซีเยอรมนี ในสงครามโลก

ชัยชนะของโซเวียตในสมรภูมิเบอร์ลิน – จุดจบของ นาซีเยอรมนี ในสงครามโลก

ในเดือนพฤษภาคม 1945 กองทัพแดงของโซเวียตบุกตะลุยไปในกรุงเบอร์ลินและยึดเมืองแห่งนี้ นำมาซึ่งจุดจบของอาณาจักรไรค์ที่สามของ นาซีเยอรมนี และสงครามโลกครั้งที่สองในยุโรป

เมื่อต้นปี 1945 สงครามโลกครั้งที่สองได้ระอุบนยุโรปมากว่าห้าปีแล้ว หลายปีของการสู้รบอันโหดร้ายยังผลให้ชีวิตมนุษย์มากมายต้องจบสิ้น เมืองน้อยใหญ่หลายแห่งต้องถูกทำลาย ตั้งแต่ปี 1941 เป็นต้นมา สหภาพโซเวียตต่อกรกับเยอรมนีในภาคตะวันออกของทวีปแห่งนี้ และต้องสูญเสียทหารหลายล้านนายในการต่อต้านการรุกรานอาณาเขตโดยกองทัพ นาซีเยอรมนี ของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์

ในเดือนมิถุนายน ปี 1944 ฝ่ายสัมพันธมิตรได้บุกยึดฝรั่งเศสคืนจากกองทัพนาซี ส่งผลให้กองทัพสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรยึดพื้นที่ของ นาซีเยอรมนี และผลักดันให้กลุ่มอำนาจอักษะถอนทัพออกจากยุโรปตะวันตกได้สำเร็จในเวลาต่อมา ในขณะเดียวกัน โซเวียตภายใต้การนำของโจเซฟ สตาลินก็เริ่มปฏิบัติการรุกในยุโรปตะวันออก ตลอดทั้งปีนั้น กองทัพโซเวียตยาตราทัพเข้ามายังเบอร์ลินพร้อมความตั้งใจที่จะทำลายเยอรมนีซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลนาซี

โซเวียตโหมบุก

เมื่อถึงเดือนมิถุนายน 1944 หรือสามปีหลังการรุกรานโซเวียต ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ยึดอาณาเขตซึ่งตนเองเคยปกครองก่อนสงครามคืนมาได้เกือบหมด และเริ่มรุกเข้าไปในดินแดนซึ่งผนวกมาได้จากการทำสัญญากับเยอรมนีเมื่อปี 1939 อันเป็นสัญญาซึ่งถูกฮิตเลอร์ฉีกในภายหลัง

ทหารโซเวียต, โซเวียต
ทหารโซเวียต (คนขวา) สวมกอดกับทหารสหรัฐฯ แถวแม่น้ำเอลเบอ เมื่อเดือนเมษายน 1945 ภาพถ่ายโดย AP IMAGES/US ARMY

เมื่อวันที่ 22 ของเดือนเดียวกัน กองทัพแดงได้เริ่มปฏิบัติการบากราทิออน (Operation Bagration) การบุกเบลารุสซึ่งมีเป้าหมายหลักคือการทำลายกลุ่มกองทัพกลาง (Army Group Center) ซึ่งส่งผลให้กองทัพที่สี่และเก้าของเยอรมันถูกทำลายย่อยยับหลังถูกกองทัพฝ่ายโซเวียตบุกซึ่งมีจำนวนกว่า 1.5 ล้านนายตีโอบที่เมืองมินสก์ และกองทัพยานเกราะที่สี่เสียหายอย่างหนัก จากนั้นจึงรุกต่อไปยังโปแลนด์ซึ่งถูกเยอรมนีผนวกก่อนจะหยุดทัพเพื่อรวบรวมกำลังใหม่เมื่อเดือนสิงหาคม ณ แม่น้ำวิสตูลาใกล้กรุงวอร์ซอ ก่อนบุกต่อไปยังเมืองหลวงแห่งดังกล่าวในเดือนมกราคมปีถัดไป

ระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว กองทัพแดงประสบความสำเร็จอย่างมากในการรุกขึ้นเหนือและใต้ โดยการบุกปรัสเซียตะวันออกจากรัฐบอลติกและการรุกรานชาติฝ่ายอักษะ ซึ่งในจำนวนนี้มีโรมาเนียและบัลแกเรียซึ่งแปรพักตร์เข้าฝ่ายโซเวียตในเวลาต่อมารวมอยู่ด้วย ส่วนฮังการียอมจำนนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1945 เมื่อถึงเวลานั้น รัสเซียอยู่ในตำแหน่งที่พร้อมสำหรับการพิฆาตรัฐบาลนาซีในเบอร์ลิน (และยึดครองยุโรปตะวันออกเป็นเวลาหลายทศวรรษ)เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โซเวียต, เบอร์ลิน, นาซี, สงครามโลกครั้งที่สอง, นาซีเยอรมนี
ในหนึ่งในภาพถ่ายที่โด่งดังที่สุดจากสงครามครั้งนี้ เหล่าทหารโซเวียตโบกสะบัดธงเหนืออาคารรัฐสภาในเบอร์ลิน เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ปี 1945 ภาพถ่ายโดย YEVGENY KHALDEI/GETTY IMAGES

พิชิตเบอร์ลิน

การรบครั้งสุดท้ายในสงครามอันป่าเถื่อนระหว่างเยอรมนีและรัสเซียเริ่มต้นขึ้นก่อนรุ่งสางของวันที่ 16 เมษายน 1945 เมื่อปืนใหญ่ของโซเวียตซึ่งจัดวางอยู่ตามแนวแม่น้ำโอเดอร์เปิดฉากการยิงถล่มอันดุเดือดราวพสุธากัมปนาท ซึ่งสร้างแรงกระเพื่อมไปถึงชานเมืองเบอร์ลินซึ่งอยู่ห่างออกไปกว่า 64 กิโลเมตร

ในตอนแรก เหล่าทหารเยอรมันซึ่งถอยห่างออกไปเพื่อหลีกเลี่ยงการถล่มดังกล่าวต้านทานการบุกอย่างเหนียวแน่น แต่พวกเขาไม่สามารถยืนหยัดต่อการบุกถล่มจากแนวหน้าเบลารุสที่หนึ่งภายใต้การนำของจอมพล Geor­gi Zhukov ผู้ถูกสรรเสริญในฐานะผู้พิทักษ์มอสโคว์ได้นานนัก และในตอนนี้ กองทัพฝ่ายบุกโจมตีซึ่งมีจำนวนเหนือกว่าได้เริ่มการบุกทะลวงไปยังเมืองหลวงแห่งนี้

วันแห่งชัยชนะในยุโรป
ทหารและสาธารณะชนทั่วไปฉลองวันแห่งชัยชนะในยุโรปในกรุงลอนดอน เมื่อปี 1945 ภาพถ่ายโดย BETTMANN/GETTY IMAGES

ผู้บัญชาการนายหนึ่งในกองทัพที่เก้าของเยอรมัน ซึ่งมีจำนวนร่อยหรอเนื่องจากถูกถล่มยับเยินที่มินส์คเมื่อปีก่อนหน้ารายงานว่า “พวกเขาบุกมาเป็นห่าฝูงชนิดคลื่นต่อคลื่น” และกล่าวต่อว่า “คนของผมสู้จนกระสุนหมด” “และถูกกวาดจนเกลี้ยงหรือถูกยึดพื้นที่อย่างหมดรูป” ทางใต้ แนวหน้ายูเครนที่หนึ่งภายใต้จอมพล Ivan Konev บดขยี้กองทัพยานเกราะที่สี่ก่อนจะหักเลี้ยวไปทางเบอร์ลินเพื่อแย่งชิงรางวัลชิ้นนี้กับ Zhukov “ผู้ใดที่ไปถึงเบอร์ลินก่อน” สตาลินกล่าว “ก็จะได้ครอบครองมัน” เส้นทางบุกของ Zhukov สั้นกว่า เขาจึงชนะการแข่งขันครั้งนี้ แต่การรุกอย่างรวดเร็วของ Konev ก็ช่วยปิดล้อมเมืองแห่งนี้ด้วยเช่นกัน

เมื่อวันที่ 26 เมษายน ทหารโซเวียตกว่าครึ่งล้านเปิดฉากโจมตีกลางเมืองเบอร์ลินอย่างดุดัน ในด่านป้องกันสุดท้ายของเบอร์ลิน ซึ่งมีหน่วยวัฟเฟิน-เอสเอส (Waffen-SS) และ กลุ่มประชาชนติดอาวุธฟ็อลคส์ชตวร์ม (Volkssturm) ซึ่งมีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นเด็กชายและชายชรารวมอยู่ด้วย เสียเปรียบทั้งด้านกำลังคนและอาวุธ หลายคนสู้จนถึงจุดจบอันขมขื่นในอุโมงค์รถไฟใต้ดินและตามถนนหนทางในเมืองที่กลายเป็นเพลิงเผาศพของอาณาจักรไรค์ที่ส่ามและผู้นำซึ่งพามันมาสู่ความพินาศ

นาซีเยอรมนี, ฮิตเลอร์, สงครามโลกครั้งที่สอง
ฮิตเลอร์ผู้รู้ตัวว่ากำลังพ่ายแพ้แต่งงานกับเอฟา เบราน์ผู้เป็นคู่รัก ในบังเกอร์ใต้รัฐสภาในเบอร์ลินเมื่อวันที่ 28 เมษายน ในวันที่ 30 ของเดือนเดียวกัน ทั้งคู่ฆ่าตัวตายในขณะที่กองทัพโซเวียตกำลังยึดเมือง ฮิตเลอร์ยิงตนเอง ส่วนเบราน์ใช้ยาพิษ ศพทั้งสองถูกเผา และฝันร้ายของยุโรปกำลังจบลง ภาพถ่ายโดย ART EXPLORER/ALAMY

การยอมจำนนอย่างเป็นทางการ

เมื่อวันที่ 30 เมษายน ฮิตเลอร์ฆ่าตัวตายในบังเกอร์ส่วนตัว และศพของเขาถูกเผาโดยเหล่าผู้ช่วย ในค่ำวันเดียวกัน เหล่าทหารโซเวียตได้ฝ่าไปถึงอาคารรัฐสภาและชูธงค้อนเคียวขึ้นเหนือเมืองหลวงที่มอดไหม้ กองทัพเยอรมันยอมจำนนเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม และในวันที่เจ็ดของเดือนเดียวกัน จอมพลเรือคาร์ล เดอนิตซ์ ผู้รับไม้ต่อจากฮิตเลอร์ได้ลงนามการยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนใขต่อฝ่ายสัมพันธมิตร

ข่าวการยอมจำนนแพร่ไปอย่างรวดเร็ว และการฉลองวันแห่งชัยชนะในยุโรปหรือ VE (Victory in Europe) Day ปะทุขึ้นทั่วโลก ในสหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ ผู้คนซึ่งกำลังปิติยินดีแห่ออกเฉลิมฉลองตามท้องถนนและจตุรัสในเมืองในวันที่ 8 พฤษภาคม ส่วนโซเวียตถือวันที่ 9 เป็นวันแห่งชัยชนะ

ฮิตเลอร์เคยประกาศว่าอาณาจักรไรค์ของเขาจะอยู่ยืนยงถึงหนึ่งพันปี แต่ต้องขอบคุณการเสียสละของผู้คนหลายล้านที่สละชีวิตในการรบกับฝ่ายอักษะ ที่ทำให้อาณาจักรแห่งนี้ต้องจบลงในเวลาเพียงสิบสองปี

เรื่อง NEIL KAGAN และ STEPHEN HYSLOP

แปล ภาวิต วงษ์นิมมาน


อ่านเพิ่มเติม เหตุใดเยอรมนีจึงต้องยอมจำนนสองครั้งในสงครามโลกครั้งที่สอง

นาซี

Recommend