เจาะประวัติศาสตร์ เกมแย่งชิงอำนาจแห่งจักรวรรดิลี้ลับ ราชันอสรพิษของชาวมายา

เจาะประวัติศาสตร์ เกมแย่งชิงอำนาจแห่งจักรวรรดิลี้ลับ ราชันอสรพิษของชาวมายา

ด้วยความฮึกเหิมทะเยอทะยาน  เหล่าราชันอสรพิษอาศัยแสนยานุภาพและการทูต สร้างพันธมิตรที่ทรงอำนาจที่สุดขึ้นในประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของชาวมายา

นครโบราณออลมุล (Holmul) หาใช่ซากปรักที่งดงามน่าชม  เมื่อมองเผินๆ เป็นเพียงหมู่เนินเขาสูงชัน ปกคลุมด้วยผืนป่า อยู่ท่ามกลาง ป่ารกชัฏทางตอนเหนือของประเทศกัวเตมาลา  ใกล้ชายแดนเม็กซิโก ป่าในแอ่งเปเตนแห่งนี้มีต้นไม้ขึ้นหนาแน่น  ร้อน แต่แห้งแล้งกว่าที่คุณคิด ทั่วทั้งป่าเงียบสงบ จะมีก็แต่เสียงจักจั่นและเสียงกู่ร้องของลิงเฮาเลอร์ดังมาเป็นครั้งคราว

แต่เมื่อพินิจพิจารณาดีๆ  คุณอาจสังเกตเห็นว่า  เนินเขาเหล่านี้ส่วนใหญ่เรียงตัวเป็นวงแหวนขนาดใหญ่  และถ้ามองให้ถี่ถ้วนยิ่งขึ้นจะเห็นว่า  บางส่วนของเนินเหล่านี้สร้างด้วยหินสกัด  เนินบางลูกยังมีอุโมงค์ที่เจาะเข้าไปตรงด้านข้าง  ซึ่งจริงๆแล้วนี่ไม่ใช่เนินเขา  หากเป็นพีระมิดโบราณที่ถูกทิ้งร้างหลังการล่มสลายของอารยธรรมมายาเมื่อหนึ่งพันปีมาแล้ว

แหล่งโบราณคดีแห่งนี้เคยรุ่งเรืองในยุคคลาสสิกของชาวมายา [Classic Maya Period ระหว่าง ค.ศ. 250-900] ซึ่งเป็นช่วงที่การเขียนและวัฒนธรรมเฟื่องฟูไปทั่วบริเวณ ซึ่งปัจจุบันคืออเมริกากลางและตอนใต้ของเม็กซิโก  แต่ก็เป็นช่วงที่มีความวุ่นวายทางการเมืองด้วย  เพราะนครรัฐกระหายสงครามสองแห่งสู้รบแย่งชิงความเป็นใหญ่กันไม่ว่างเว้น  มีช่วงเวลาสั้นๆ ช่วงหนึ่งที่นครรัฐหนึ่งในสองแห่งนี้ได้ชัยและกลายเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงกับคำว่าจักรวรรดิมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาวมายา  นครนี้ปกครองโดยเหล่าราชันอสรพิษ (Snake King) แห่งราชวงศ์คานุล  ซึ่งเมื่อไม่กี่ทศวรรษก่อนหน้านี้ยังไม่มีใครทราบแม้กระทั่งว่าเคยมีอยู่จริง  แต่จากแหล่งโบราณคดีรอบๆ นครรัฐแห่งนี้ รวมทั้งที่ออลมุลด้วย  ทำให้ขณะนี้นักโบราณคดีสามารถ ปะติดปะต่อเรื่องราวของเหล่าราชันอสรพิษได้

ออลมุลไม่ใช่แหล่งโบราณคดีขนาดใหญ่และเป็นที่รู้จักดีเหมือนติกาล (Tikal) ที่อยู่ใกล้เคียง  และยังถูกมองข้ามจากนักโบราณคดีส่วนใหญ่จนกระทั่งปี2000  เมื่อฟรันซิสโก เอสตราดา-เบยีมาถึง  ชายผู้นี้ไม่ได้มุ่งหวังอะไรเลิศลอยอย่างแผ่นจารึกยุคคลาสสิกหรือหลุมศพประดับประดาหรูหรา  แต่หวังแค่บางสิ่งที่จะทำให้เห็นถึงรากเหง้าของวัฒนธรรมชาวมายา  หนึ่งในสิ่งแรกๆ ที่เขาพบคืออาคารหรือสิ่งปลูกสร้างแห่งหนึ่งตั้งอยู่ห่างออกไปไม่กี่กิโลเมตร จากสถานที่ซึ่งดูเหมือนจะเป็นหมู่พีระมิดกลางของออลมุล ภายในสิ่งปลูกสร้างแห่งนี้มีเศษซากของจิตรกรรมฝาผนังแสดงภาพทหารที่กำลังเดินทัพไปยังสถานที่ห่างไกลแห่งหนึ่ง

อาณาจักรมายา, ชาวมายา
คาลักมุล ในศตวรรษที่เจ็ด  กษัตริย์ราชวงศ์อสรพิษครองนครหลวงแห่งนี้ซึ่งปัจจุบันคือพื้นที่ทางตอนใต้ของ เม็กซิโก  สิ่งก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดของเมืองคือพีระมิดสูง 55 เมตร เหล่าราชันอสรพิษถักทอเครือข่ายพันธมิตรอันซับซ้อนจากคาลักมุล ภาพภ่ายโดย CONSEJO NACIONAL PARA LA CULTURA Y LAS ARTES (CONACULTA), INSTITUTO NACIONAL DE ANTROPOLOGÍA E HISTORIA (INAH), เม็กซิโก

น่าแปลกที่หลายส่วนของภาพนี้ถูกทำลาย  เห็นได้ชัดว่าเกิดจากนํ้ามือของชาวมายาเอง  ราวกับต้องการจะลบล้าง ประวัติศาสตร์ที่อยู่ในภาพ  เอสตราดา-เบยีขุดเข้าไปในพีระมิดหลายแห่งที่อยู่รอบๆ  ชาวเมโสอเมริกาโบราณสร้างพีระมิดเป็นชั้นๆ ทับลงไปบนชั้นก่อนหน้า  เหมือนตุ๊กตารัสเซีย  เมื่อชาวออลมุลสร้างพีระมิดชั้นใหม่  พวกเขาจะเก็บชั้นที่อยู่ข้างล่างไว้  ทำให้นักวิจัยสามารถขุดเข้าไปดู โครงสร้างเดิมซึ่งเกือบเหมือนกับตอนที่ถูกทิ้งไว้

เมื่อปี 2013  เอสตราดา-เบยีและทีมงานขุดสำรวจเข้าไปในพีระมิดแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ในกลุ่มที่มีขนาดใหญ่กว่าพีระมิดอื่นๆ  โดยตามรอยบันไดโบราณไปสู่ทางเข้าอาคารประกอบพิธี  และเมื่อคลานขึ้นไปตามช่องบนพื้น  พวกเขาก็พบภาพปูนปั้นยาวแปดเมตรอยู่ในสภาพดีเยี่ยม  ประดับอยู่ด้านบนของประตูทางเข้าสุสานโบราณแห่งหนึ่ง

ภาพปูนปั้นเป็นของหายากและเสียหายง่ายมาก  ภาพนี้เป็นภาพของชายสามคน  หนึ่งในนั้นคือกษัตริย์แห่ง ออลมุล  ทั้งสามผงาดขึ้นจากปากอสูรร้ายรูปร่างประหลาด ขนาบข้างด้วยสัตว์จากปรโลก  และมีงูยักษ์ที่มีขนสองตัวกระหวัดรัดอยู่รอบภาพ  งานศิลปะชิ้นนี้ทั้งโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์และมีชีวิตชีวาอย่างน่าทึ่ง

ขณะที่เอสตราดา-เบยีพินิจพิเคราะห์ภาพอยู่นั้น  เขาสังเกตเห็นอักษรภาพแถวหนึ่งที่ด้านล่าง  ระบุรายพระนามกษัตริย์ของนครออลมุล  ใกล้กับตรงกลางเป็นอักษรภาพซึ่งทำให้เขาทราบทันทีว่า  นี่เป็นการค้นพบที่น่าตื่นเต้นที่สุดในอาชีพนักโบราณคดีของเขา  นั่นคือภาพงูแสยะยิ้ม

“ในบรรดาอักษรภาพเหล่านั้น  ผมเห็น [นาม] คานุล ครับ”  เขาเล่า  “จู่ๆ เราก็มาอยู่ท่ามกลางช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นที่สุดในประวัติศาสตร์ชาวมายาเลยละครับ”

เรื่องราวการค้นพบคานุลหรือราชวงศ์อสรพิษ  และความพยายามของกษัตริย์แห่งราชวงศ์นี้ที่จะสร้างจักรวรรดิมีจุดเริ่มต้นที่ติกาล  นครของศัตรูคู่แค้นที่สุดของพวกเขา ติกาลครองความยิ่งใหญ่เหนือดินแดนลุ่มตํ่าของชาวมายา มาหลายศตวรรษ  เช่นเดียวกับที่นครแห่งนี้เป็นจุดสนใจในแวดวงโบราณคดีมายามาตั้งแต่ทศวรรษ 1950  ครั้งหนึ่ง เมืองซึ่งมีอาณาเขตแผ่ไพศาลนี้เคยมีประชากรเกือบ 60,000 คน  และสิ่งก่อสร้างโอ่อ่างดงามของที่นี่คงสร้างความพิศวงให้แก่ผู้มาเยือนในปี750 เป็นแน่แท้  และนั่นก็คงไม่ต่างจากนักท่องเที่ยวในปัจจุบันสักเท่าใด

เมืองนี้ยังมีหินสลักงดงามคล้ายหินหน้าหลุมฝังศพ เรียกว่า ศิลาจารึก (stelae)  ด้วยการอาศัยข้อความจารึกบนหินเหล่านี้  นักวิทยาศาสตร์สามารถปะติดปะต่อประวัติศาสตร์ของติกาลได้จนกระทั่งถึงวาระล่มสลายในศตวรรษที่เก้า  แต่กลับมีช่องว่างที่น่าแปลกอยู่ช่วงหนึ่ง  นั่นคือราวปี 560 ถึง 690  ช่วงนี้ไม่ปรากฏว่ามีศิลาจารึก  มิหนำซํ้ายังแทบไม่มีการสร้างสิ่งอื่นใด  ด้วยความสับสนงุนงงในช่วงเวลาที่ขาดหายไป 130 ปีนี้  นักโบราณคดีจึงเรียกช่วงนี้ว่า “ช่องโหว่ติกาล”  และบันทึกไว้ว่า  เป็นปริศนาลี้ลับข้อหนึ่งของชาวมายาโบราณ

นักโบราณคดีเริ่มเติมเต็มช่องว่างดังกล่าวในทศวรรษ 1960  หลังพวกเขาสังเกตเห็นอักษรภาพแปลกๆ ภาพหนึ่ง  กระจัดกระจายอยู่ตามแหล่งโบราณคดียุคคลาสสิกหลายแห่ง  เป็นภาพหัวงูแสยะยิ้มอย่างน่าขัน  ล้อมรอบด้วยเครื่องหมายที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์หรือราชวงศ์  กระทั่งถึง ปี1973  จอยซ์  มาร์คัส  นักโบราณคดี  จึงเห็นว่านี่เป็นตราสัญลักษณ์  โดยเป็นคำที่หมายถึงนครแห่งหนึ่งและนามของผู้ครองนครลักษณะคล้ายกับเป็นตราประจำราชวงศ์  เธอสงสัยว่า  ตรานี้จะเกี่ยวข้องกับช่องโหว่ติกาลหรือไม่  เป็นไปได้หรือไม่ว่ามีนักรบที่ยังไม่เป็นที่รู้จักเข้ามายึดเมือง

ป่าในแอ่งเปเตนร้อนและแห้งผากในฤดูแล้ง  แต่พอถึงฤดูฝนกลับแทบเข้าไปไม่ได้  เป็นผืนป่าที่ชุกชุมไปด้วยพืชกับแมลงมีพิษ  และอันตรายจากกองกำลังติดอาวุธที่ค้ายาเสพติด แต่มาร์คัสก็ยังเข้าไปสำรวจอยู่หลายเดือน โดยตระเวนไปตามซากปรักและบันทึกภาพอักษรภาพต่างๆ  เธอเห็นอักษรภาพงูแสยะยิ้มในทุกที่ที่ไป  โดยเฉพาะรอบๆ นครโบราณคาลักมุลซึ่งปัจจุบันอยู่ใกล้แนวพรมแดนทางใต้ของเม็กซิโก

“พื้นที่บริวารเหล่านี้กล่าวถึงคาลักมุลว่าเป็นศูนย์กลาง เมืองนี้จึงน่าจะเป็นอะไรที่คล้ายหลุมดำ   กล่าวคือเป็นศูนย์รวมเครือข่ายของพื้นที่โดยรอบ  ซึ่งมีระยะห่างจากคาลักมุลเท่าๆ กัน”  มาร์คัสกล่าว

หน้ากาก, อาณาจักรมายา
หน้ากากจากหลุมศพที่คาลักมุลทำขึ้นเพื่อให้ชนชั้นสูงของราชวงศ์อสรพิษเดินทางสู่ปรโลกอย่างสะดวกสบาย  พระพักตร์ทำ จากหยกซึ่งสำหรับชาวมายาโบราณแล้วถือว่ามีค่ายิ่ง  เปรียบเหมือนสัญลักษณ์แห่งวัฏจักรทางการเกษตรในแต่ละปีและการเกิดใหม่ ภาพถ่ายโดย CONACULTA, INAH, NATIONAL PALACE, เม็กซิโกซิตี; MUSEO DE SITIO DE COMALCALCO, เม็กซิโก

เมื่อเธอไปถึงคาลักมุลซึ่งสามารถมองเห็นพีระมิดสองแห่งตรงกลางได้อย่างชัดเจนจากทางอากาศ  เธอตื่นใจกับขนาดของเมือง  ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีคนอาศัยอยู่ราว 50,000 คน  มีศิลาจารึกกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป  แต่ส่วนใหญ่ว่างเปล่า  หินปูนเนื้ออ่อนมากจนการกัดเซาะตลอดหลายศตวรรษลบอักษรภาพที่จารึกไว้ไปจนหมดสิ้น  มาร์คัสพบอักษรภาพงูเพียงสองภาพในเมืองนี้

ความลี้ลับของราชันอสรพิษทำให้นักวิจัยหนุ่มชาวอังกฤษ  ไซมอน  มาร์ติน  สนใจรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอักษรภาพงูจากคาลักมุลและแหล่งโบราณคดีขนาดเล็กกว่าอื่นๆ  ผนวกกับเค้าเงื่อนของสงครามและอุบายทางการเมืองจากที่ต่างๆ ในโลกของชาวมายา  แล้วนำมาสร้างเป็นภาพของเหล่าราชันอสรพิษและราชวงศ์ของพวกเขา

“เรารู้จักติกาลได้จริงๆ ก็จากติกาลเท่านั้น  แต่ในกรณีของคาลักมุล  เรารู้จักเมืองนี้ได้จากเมืองอื่นทุกเมืองครับ” มาร์ตินบอกและเสริมว่า  “เราเห็นความหมายของสิ่งที่กระจัดกระจายทั้งหมดนี้ได้ทีละน้อยว่า  เริ่มส่อหรือชี้ไปในทิศทางเดียวกัน”

ในที่สุดมาร์ตินและนิโคไล  กรูเบอ  นักโบราณคดี  ก็ตีพิมพ์หนังสือเล่มหนึ่งออกมาชื่อ พงศาวดารกษัตริย์และราชินีชาวมายา (Chronicle of the Maya Kings and Queens)  ซึ่งบรรยายถึงประวัติศาสตร์ที่สอดประสานกันระหว่างอาณาจักรต่างๆ ในโลกของชาวมายาโบราณ ณ ศูนย์กลางของโลกที่ว่านั้นในช่วงเวลาหนึ่งศตวรรษอันรุ่งเรือง  ก็คือเหล่าราชันอสรพิษนั่นเอง  มาร์ตินพูดถึง อาณาจักรของราชันอสรพิษโดยใช้คำ พูดเปรียบเปรยทำนอง เดียวกับมาร์คัสว่า  คล้ายหลุมดำที่ดูดกลืนเมืองโดยรอบ และสร้างสิ่งที่อาจยิ่งใหญ่เทียบเท่าจักรวรรดิมายาขึ้น แต่แน่นอนว่ายังมีคำ ถามอีกมากเกี่ยวกับราชันอสรพิษ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเป็นอยู่  การปกครอง  และการสู้รบ และแม้กระทั่งว่าบางพระองค์ทรงมีตัวตนอยู่จริงหรือ

ปลายศตวรรษที่ห้า  ติกาลเป็นนครรัฐที่ทรงอำนาจที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค  นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า  เมืองนี้เรืองอำนาจขึ้นมาด้วยความช่วยเหลือจากนครที่มีขนาดใหญ่ กว่ามากชื่อเตโอตีอัวกาน (Teotihuacan)  ซึ่งตั้งอยู่บนเขาสูงห่างออกไปทางตะวันตก 1,000 กิโลเมตร  ใกล้กับกรุงเม็กซิโกซิตีในปัจจุบัน  นครทั้งสองมีอิทธิพลต่อจิตรกรรม  สถาปัตยกรรม  เครื่องปั้นดินเผา  อาวุธ  และการวางผังเมืองของชาวมายาอยู่นานหลายศตวรรษ  แต่ทุกอย่างเปลี่ยนไปในศตวรรษที่หก  เมื่อเตโอตีอัวกานตัดขาดความสัมพันธ์กับดินแดนของชาวมายา  ปล่อยให้ติกาลป้องกันตัวเอง

และแล้วก็ถึงเวลาของราชันอสรพิษ  ซึ่งไม่มีใครทราบแน่ชัดว่ามาจากที่ใด  ไม่มีหลักฐานว่ากษัตริย์เหล่านี้ปกครองคาลักมุลก่อนปี 635  ผู้เชี่ยวชาญบางคนคิดว่า  น่าจะมีราชวงศ์นี้อยู่แล้วหลายร้อยปีก่อนยุคคลาสสิก  โดยโยกย้ายไปตามมหานครที่พวกเขาสร้างขึ้นแห่งแล้วแห่งเล่า  แต่นี่เป็นเพียงการคาดเดา  อักษรภาพงูที่ชัดเจนภาพแรกดูเหมือนจะอยู่ในนครซีบันเชทางตอนใต้ของเม็กซิโก  ห่างจากคาลักมุลไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ 125 กิโลเมตร

ไม่ว่าเหล่าราชันอสรพิษจะมีฐานที่มั่นอยู่ที่ใดก็ตาม  แต่เราทราบว่าตั้งแต่ต้นศตวรรษที่หก  ราชันอสรพิษสององค์ที่ครองราชย์ต่อเนื่องกันทรงเห็นว่าติกาลไม่มั่นคง  จึงทรงงัดอุบายและกลยุทธ์ที่ออกจะกล้าบ้าบิ่นเพื่อควบคุมทางการเมือง  กษัตริย์พระองค์แรกซึ่งมีพระนามว่า เสือจากัวร์หัตถ์ศิลา (Stone Hand Jaguar)  ทรงใช้เวลาหลายสิบปีออกเยี่ยมเยือนนครอื่นๆอย่างฉันมิตรทั่วดินแดนลุ่มตํ่าของชาวมายา

ปัจจุบัน  การเยี่ยมเยือนเช่นนี้อาจดูเหมือนเป็นการกระทำโดยบริสุทธิ์ใจไม่ว่าจะเป็นการจัดงานสมรส การเข้าร่วมแข่งขันเกมบอลของชาวมายาโบราณ  หรือบางครั้งอาจแค่แวะทักทายเท่านั้น  ทว่านี่คือกลยุทธ์หรือวิธีที่มักนำไปสู่การยึดครองในโลกของชาวมายา  โดยการให้เครื่องบรรณาการ การไปเยี่ยมเยือนฉันมิตร  และการสร้างพันธมิตรอย่างแนบแน่น  ดูเหมือนจะไม่มีใครทำได้ดีไปกว่าเหล่าราชันอสรพิษอีกแล้ว

ภาพสลักนูนตํ่าจากเมืองลาโกโรนา  ประเทศกัวเตมาลา ซึ่งครั้งหนึ่งคือเมืองโบราณชื่อซักนิกเต  แสดงภาพของ ยุกนูม  ชีน  ที่สอง  ผู้จะขึ้นเป็นกษัตริย์ราชวงศ์อสรพิษ ขณะทรงเล่นเกมบอลระหว่างเสด็จเยือนเมืองนี้  อักษรภาพระบุว่าเป็นวันที่11 กุมภาพันธ์ปี 635

ในไม่ช้าเมืองการากอล  พันธมิตรทางตะวันออกเฉียงใต้ของติกาล  ก็เริ่มมีใจฝักใฝ่มาทางราชันอสรพิษ  เช่นเดียวกับวากา  เมืองกระหายสงครามทางตะวันตก  ราชันอสรพิษค่อยๆ รวบรวมความภักดีของเมืองอื่นๆ ทั้งทางเหนือ ตะวันออก  และตะวันตกของติกาลอย่างอดทน  จนคล้ายเป็นคีมยักษ์ที่บีบรัดศัตรูไว้  ในที่สุด  กษัตริย์เสือจากัวร์ หัตถ์ศิลากับพันธมิตรก็พร้อมจะโจมตีนครติกาล  แต่พระองค์สิ้นพระชนม์เสียก่อนที่ความพยายามทางการเมืองจะประสบผล  การพิชิตติกาลจึงตกเป็นหน้าที่ของประจักษ์พยานแห่งฟากฟ้า (Sky Witness)  กษัตริย์พระองค์ต่อมา (และอาจเป็นพระโอรสของเสือจากัวร์หัตถ์ศิลา)  ราชันหนุ่มองค์นี้ทรงมีพระสรีระกำยำลํ่าสัน  และกะโหลกพระเศียรมีรอยถูกทุบจากการสู้รบนับครั้งไม่ถ้วน  ทิ้งรอยแผลเป็นตรงจุดเดิมซํ้าแล้วซํ้าเล่า

ตามจารึกบนแท่นบูชาแห่งหนึ่งในการากอล  กษัตริย์ประจักษ์พยานแห่งฟากฟ้าทรงปิดฉากการปกครองของ ราชวงศ์ติกาลเมื่อวันที่ 29 เมษายน ปี562  พระองค์ทรงรวบรวมพันธมิตรทั้งหมด  แล้วจึงโจมตี  ทรงนำกองทัพแห่งอสรพิษมาทางตะวันออกจากเมืองวากา  ขณะที่กองทัพจากการากอล  นครรัฐนารันโคที่อยู่ใกล้เคียง  และอาจรวมทั้งจากออลมุลด้วย  รุกเข้ามาทางตะวันตก

กองทัพของราชันอสรพิษและพันธมิตรบดขยี้ติกาลได้อย่างรวดเร็ว  ทั้งปล้นสะดม  และน่าจะสังเวยกษัตริย์ผู้ครองอาณาจักรด้วยคมมีดที่ทำด้วยหินบนแท่นบูชาของพระองค์เอง  และอาจเป็นช่วงนี้เองที่ชาวเมืองออลมุลเกือบจะทำลายจิตรกรรมฝาผนังสดุดีพันธมิตรระหว่างติกาลกับเตโอตีอัวกานที่เอสตราดา-เบยีไปพบในอีกกว่า 1,400 ปีต่อมา  การกระทำนี้เป็นเครื่องแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อราชันอสรพิษ  ในฐานะผู้ปกครององค์ใหม่  รัชสมัยของราชันอสรพิษได้เปิดฉากขึ้นแล้ว

ประวัติศาสตร์มายาในช่วง 30 ปีต่อมาค่อนข้างคลุมเครือแต่เพราะนักโบราณคดีชาวเม็กซิกันสองคนคือ  เอนริเก นัลดา  และซานดรา  บาลันซาเรียว  ทำให้เราทราบว่ากษัตริย์ประจักษ์พยานแห่งฟากฟ้าสิ้นพระชนม์หลังจากทรงได้ชัยแล้ว 10 ปี  ขณะมีพระชนมายุ 30 พรรษาต้นๆ  เมื่อปี2004  ทั้งสองค้นพบหลุมศพจำนวนหนึ่งในพีระมิดที่ซีบันเช  ที่นั่นพวกเขาพบเข็มทำจากกระดูกสำหรับใช้ในพิธีสังเวยเลือดอยู่ท่ามกลางหน้ากากหยก  หินออบซิเดียนและไข่มุก  ด้านหนึ่งของเข็มจารึกไว้ว่า “นี่คือเครื่องสังเวยเลือดของประจักษ์พยานแห่งฟากฟ้า”  ในบรรดาราชันอสรพิษทั้งแปดองค์ที่ปกครองในช่วงช่องโหว่ติกาล  พระองค์ทรงเป็นหนึ่งในกษัตริย์เพียงสองพระองค์ที่มีผู้พบพระศพ

หลักฐานทางโบราณคดีอีกชิ้นที่ยืนยันถึงการมีอยู่จริง ของเหล่าราชันอสรพิษปรากฏที่เมืองปาเลงเก (Palenque) อันมั่งคั่งซึ่งอยู่ห่างออกไปทางตะวันตก  นครแห่งนี้ เจริญรุ่งเรืองและมีวัฒนธรรมซับซ้อน  พีระมิดและหอคอย ประดับประดาด้วยภาพปูนปั้นงดงามกระจุกตัวอยู่ตรงเชิงเขาที่เปิดสู่อ่าวเม็กซิโกและพื้นที่สูงตอนกลาง

ปาเลงเกไม่ใช่เมืองใหญ่  อาจมีพลเมืองราว 10,000 คน แต่เป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมและประตูการค้าสู่ตะวันตก จึงเป็นเป้าหมายหลักของราชวงศ์ใหม่ที่ทะเยอทะยาน  ในขณะนั้นกษัตริย์ของราชวงศ์อสรพิษมีพระนามว่า พญางูขด (Scroll Serpent)  พระองค์ทรงใช้อุบายยืมกำลังของพันธมิตรเข้าโจมตีปาเลงเกเช่นเดียวกับกษัตริย์องค์ก่อนๆ ราชินีของปาเลงเกผู้มีพระนามว่า ดวงใจแห่งดินแดนวายุ (Heart of the Windy Place)  ทรงปักหลักต่อสู้ป้องกันเมืองจากการจู่โจมอย่างหนักของราชันอสรพิษ  แต่สุดท้ายก็จำต้องยอมแพ้เมื่อวันที่ 21 เมษายน ปี599

ความปรารถนาอย่างแรงกล้าในการขยายดินแดนเช่นนี้เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยพบเห็นในอาณาจักรมายายุคคลาสสิกซึ่งมักถูกกล่าวขวัญถึงบ่อยๆ ว่าเป็นพวกนิยมการทะเลาะวิวาทและแตกแยก  สนใจแต่เฉพาะดินแดนของตนโดยไม่มีความทะเยอทะยานที่ยิ่งใหญ่ไปกว่านั้น  แต่ราชันอสรพิษกลับต่างออกไป “การรุกรานอาณาจักรปาเลงเกเป็นส่วนหนึ่งของแผนการ ที่ใหญ่กว่านั้นครับ”  กีเยร์โม  เบร์นัล  นักถอดความศิลาจารึกจากมหาวิทยาลัยอิสระแห่งชาติเม็กซิโก  กล่าว  “ผมไม่คิดว่าเหตุผลจะมาจากเรื่องความมั่งคั่ง  แต่เป็นเรื่องของแนวคิดหรืออุดมคติครับ  ราชวงศ์คานุลวาดภาพการสร้างจักรวรรดิขึ้นมา”

การฝังพระศพที่จำลองขึ้นของกษัตริย์ราชวงศ์อสรพิษซึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็นกษัตริย์พระนามว่ากรงเล็บอัคนีผู้สิ้นพระชนม์เมื่อปี697  ประกอบด้วยเครื่องประดับหยกและลูกปัดเปลือกหอยวางบนผ้าห่อพระศพ  พร้อมด้วยเครื่องปั้นดินเผาที่ฝังพร้อมกับพระศพในคาลักมุล

แนวคิดเรื่องการสร้างจักรวรรดิเป็นสิ่งที่นักโบราณคดีด้านมายายังถกเถียงกันอยู่  หลายคนคิดว่าเป็นไปไม่ได้ทั้งในเชิงวัฒนธรรมและภูมิศาสตร์  แต่เมื่อพิจารณาจากสิ่งที่เหล่าราชันอสรพิษทำ   ก็ยากที่จะมองข้ามรูปแบบของการขยายดินแดน  พวกเขาสร้างพันธมิตรกับบรรดาเมืองใหญ่ที่สุดทางตะวันออก  พิชิตเมืองน้อยใหญ่ทางใต้  ติดต่อค้าขายกับผู้คนทางเหนือ  ส่วนปาเลงเกนั้นเป็นตัวแทนของดินแดนสุดขอบโลกของชาวมายาทางฝั่งตะวันตก  กระนั้น หากปราศจากม้าและกำลังทหารที่พร้อมรบ  กษัตริย์เหล่านี้จะรักษาอำนาจไว้ได้อย่างไร

การจะมีอิทธิพลเหนือภูมิภาคอันห่างไกลซึ่งอาจมีขนาดใหญ่ถึงราว 100 ตารางกิโลเมตร  ต้องมีการจัดรูปแบบการปกครองที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในหมู่ชาวมายา  รวมทั้งต้องมีศูนย์รวมอำนาจแห่งใหม่ที่ใกล้กับบรรดาเมืองทางใต้ซึ่งอุดมไปด้วยหยก  ไม่ปรากฏหลักฐานหรือบันทึกว่ามีการย้ายไปยังคาลักมุลซึ่งเป็นเมืองหลวงใหม่  แต่ในปี635 ราชวงศ์อสรพิษสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นที่นี่เพื่อประกาศถึงการครอบครองนครแห่งนี้  แทนที่ราชวงศ์เดิมที่รู้จักกันในนามราชวงศ์ค้างคาว

ภายในหนึ่งปี  กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของราชวงศ์อสรพิษหรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นกษัตริย์มายาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก็ว่าได้ ขึ้นครองบัลลังก์  พระองค์มีพระนามว่า ยุกนูม  ชีน  ที่สอง  หรือบางครั้งรู้จักกันในพระสมัญญาว่า ผู้สั่นคลอนเมือง (Shaker of Cities)  ประจักษ์พยานแห่งฟากฟ้ากับพญางูขดเป็นกษัตริย์ผู้พิชิตที่เก่งกล้า  แต่ยุกนูม  ชีน  ทรงเป็นกษัตริย์ที่แท้จริง  พระองค์ทรงใช้กุศโลบายอันแยบคายยุแหย่ให้แต่ละเมืองประหัตประหารกัน  ไม่ต่างจากกษัตริย์ไซรัสแห่งเปอร์เซียหรือจักรพรรดิเอากุสตุสแห่งโรม  ด้วยการติดสินบนบ้าง  ขู่กรรโชกบ้าง  ขณะเดียวกันก็ทรงกระชับพระราชอำนาจเหนือดินแดนที่ราบลุ่มของชาวมายาแบบที่ไม่เคยมีกษัตริย์มายาพระองค์ไหนไม่ว่าจะก่อนหรือหลังเคยทำ   พระองค์ทรงรักษาสมดุลแห่งอำนาจทางการเมืองเช่นนี้อยู่นานถึง 50 ปี

วิธีดีที่สุดที่จะเข้าใจกษัตริย์พระองค์หนึ่งน่าจะเป็นการรู้จักกับมหาดเล็กของพระองค์  ในทำนองเดียวกัน  การจะเข้าใจจักรวรรดิแห่งหนึ่งได้ดีที่สุดมักต้องดูเมืองบริวาร  และเมืองบริวารของราชวงศ์อสรพิษที่น่าสนใจที่สุดน่าจะเป็นเมืองเล็กๆ ชื่อซักนิกเต  ซึ่งหากไม่ใช่เมืองบริวารของราชวงศ์อสรพิษแล้วไซร้  เมืองนี้จะไม่มีอะไรน่าสนใจเลย

ย้อนหลังไปตอนต้นทศวรรษ 1970  นักโบราณคดีบังเอิญพบแผ่นศิลาชุดหนึ่งแกะสลักเป็นตัวอักษรลวดลายงดงามซื้อขายเปลี่ยนมืออยู่ในตลาดมืด  แผ่นศิลาเหล่านี้ถูกขโมยมาและลักลอบส่งขายออกนอกประเทศ  โดยไม่มีหนทางสืบรู้แหล่งที่มาได้เลย  บนแผ่นศิลามีอักษรภาพงูแสยะยิ้มอยู่ทั่วไป  นักโบราณคดีตั้งชื่อสถานที่ซึ่งพวกเขา ไม่รู้จักและพวกโจรขุดสมบัติไปพบแผ่นศิลาเหล่านี้ว่า แหล่งโบราณคดีคิว (Site Q)

ซักนิกเตซึ่งเป็นชื่อภาษามายาดูจะมีสถานะพิเศษในอาณาจักรอสรพิษ  เจ้าชายหลายพระองค์ของเมืองนี้เสด็จไปศึกษาที่คาลักมุล  และสามองค์ทรงเข้าพิธีอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงราชวงศ์อสรพิษ  เมืองซักนิกเตไม่ได้ทำศึกสงครามมากนัก  ต่างจากเมืองกระหายสงครามอย่างวากาที่อยู่ห่างออกไปทางใต้  กษัตริย์ของเมืองนี้มีพระนามที่บ่งบอกถึงสันติภาพแปลคร่าวๆ ได้  เช่น  สุนัขร่าเริง (Sunny Dog)  หนอนขาว (White Worm)  และไก่งวงแดง (Red Turkey)  แผ่นหินสลักบอกเล่าถึงชนชั้นสูงที่ชื่นชอบการรํ่าสุราและเป่าขลุ่ย

ภาพปูนปั้นยาวแปดเมตรในนครรัฐออลมุลถ่ายทอดฉากอันซับซ้อนในตำนานและสื่อถึงความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับราชวงศ์อสรพิษ  รูปคนตรงกลางคือกษัตริย์แห่งออลมุล ผู้สิ้นพระชนม์เมื่อราวปี590  และพระศพฝังอยู่ในสุสานที่ประดับด้วยภาพปูนปั้นชิ้นน

ตามหลักฐานที่ปรากฏบนแผ่นหินสลัก  กษัตริย์ยุกนูม ชีน เสด็จมาเยือนเมืองนี้ไม่นานก่อนที่เมืองหลวงของราชวงศ์อสรพิษจะย้ายไปยังคาลักมุลอย่างเป็นทางการ  ภาพสลักอันงดงามวิจิตรนี้เป็นภาพกษัตริย์ยุกนูม  ชีน ประทับในอิริยาบถผ่อนคลาย

พระนามของกษัตริย์ยุกนูม  ชีน ปรากฏอยู่ทั่วดินแดนของชาวมายา  พระองค์ทรงส่งพระธิดานามว่า หัตถ์แห่งดอกบัว (Water Lily Hand)  ไปเสกสมรสกับเจ้าชายเมืองวากา  และในเวลาต่อมาทรงกลายเป็นราชินีนักรบผู้ทรงอำนาจ  พระองค์ยังทรงตั้งกษัตริย์องค์ใหม่ให้ปกครองเมืองกันกวนซึ่งอยู่ทางใต้  และเมืองโมรัล-เรฟอร์มาที่อยู่ห่างออกไปทางตะวันตกเกือบ 160 กิโลเมตร  ส่วนที่เมืองดอสปีลัส พระองค์ทรงปราบพระอนุชาของกษัตริย์องค์ใหม่แห่งติกาลและเปลี่ยนให้เป็นข้าศักดินาผู้จงรักภักดีของพระองค์

กษัตริย์ยุกนูม  ชีน ยังทรงสร้างเส้นทางการค้าสายใหม่ทางฝั่งตะวันตกของอาณาจักรเชื่อมโยงกับพันธมิตรหลายเมือง  ผู้เชี่ยวชาญสังเกตเห็นความผิดปกติของเมืองบริวารเหล่านี้  ดูเหมือนว่าเมืองพันธมิตรที่ใกล้ชิดบางเมืองไม่มีอักษรภาพแสดงสัญลักษณ์ประจำเมืองเป็นของตนเอง  และกษัตริย์ของเมืองเหล่านี้  แม้จะแต่งพระองค์อย่างโอ่อ่าหรูหรา  แต่กลับไม่ได้ใช้พระนามเยี่ยงกษัตริย์  เมื่อสวามิภักดิ์ต่อราชวงศ์อสรพิษแล้ว

ขณะเดียวกัน  บรรดาราชันอสรพิษแห่งคาลักมุลกลับเฉลิมพระนามที่มีความหมายยิ่งใหญ่ขึ้นว่า คาลูมเต  หรือราชาแห่งราชัน

“ผมคิดว่าราชวงศ์อสรพิษเปลี่ยนแปลงวิถีทางทางการเมืองของมายาไป  พวกเขาสร้างบางอย่างที่ค่อนข้างใหม่ครับ”  โตมัส  บาร์เรียนตอส  นักโบราณคดีชาวกัวเตมาลา ผู้ร่วมดูแลแหล่งโบราณคดีซักนิกเต  บอก  “โดยส่วนตัวแล้ว  ผมเห็นว่านี่เป็นความก้าวหน้าที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของชาวมายาเลยละครับ”

เหล่าราชันอสรพิษยังคงจับตาดูศัตรูคู่แค้นเก่าคือติกาลที่พยายามลุกขึ้นสู้และแก้แค้นครั้งแล้วครั้งเล่า  ในปี 657 หลังจากรวบรวมพันธมิตรแล้ว  กษัตริย์ยุกนูม  ชีน และกษัตริย์หุ่นเชิดที่ครองเมืองใกล้เคียงพระนามว่า เทพเจ้าผู้ทุบแผ่นฟ้า (God That Hammers the Sky)  ก็เข้าโจมตีติกาล  ยี่สิบปีต่อมา  ติกาลลุกขึ้นกระด้างกระเดื่องอีกครั้ง  และราชันอสรพิษก็ทรงร่วมกับพันธมิตรสยบนครแห่งนี้ได้อีก  และคราวนี้สังหารกษัตริย์แห่งติกาลไปด้วย

นครติกาลยังสามารถคุกคามราชวงศ์อสรพิษที่ดูจะเรืองอำนาจยิ่งใหญ่นี้ได้อย่างไร  ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า  กษัตริย์มายาต้องระแวดระวังในการรักษาพันธมิตร  และมักไว้ชีวิตกษัตริย์ของฝ่ายพ่ายแพ้  อาจเป็นไปได้ว่า  สงครามของชาวมายาในยุคคลาสสิกส่วนใหญ่ไม่ได้รบกันอย่างดุเดือด  หรืออาจเป็นเพราะพันธมิตรของฝ่ายแพ้ร้องขอความเมตตาจากผู้ชนะ  หรือกษัตริย์มายาในยุคนั้นมีกองทัพไม่ใหญ่พอที่จะกวาดล้างอริราชศัตรูให้หมดสิ้นทั้งเมืองก็เป็นได้

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด  กษัตริย์ยุกนูม  ชีน ทรงเลือกดำเนินเกมการเมืองอันอ่อนไหว  กล่าวคือแทนที่จะยกติกาลให้กษัตริย์เทพเจ้าผู้ทุบแผ่นฟ้าซึ่งเป็นพันธมิตร พระองค์กลับทรงจัดประชุมสุดยอดสันติภาพกับกษัตริย์องค์ใหม่ของติกาล  และในเวลานั้นทรงแนะนำผู้จะสืบราชบัลลังก์ต่อจากพระองค์ (ซึ่งน่าจะเป็นพระโอรส) พระนามว่า กรงเล็บอัคนี (Claw of Fire)  รัชทายาทซึ่งวันหนึ่งจะได้ครองราชย์ต่อมา  และนำพาอาณาจักรนี้ ไปสู่อวสานตลอดกาล

กษัตริย์ยุกนูม  ชีน สิ้นพระชนม์ในวัยชรา  คือ 86 พรรษา  ชาวคาลักมุลส่วนใหญ่หากมีอายุยืนได้ถึงครึ่งหนึ่ง ของพระองค์ก็นับว่าโชคดีแล้ว  แต่เนื่องจากกษัตริย์ของพวกเขาได้รับการปรนเปรออย่างดี  เสวยแต่ตามาเล (แผ่นแป้งข้าวโพดห่อไส้) เนื้อนุ่ม  ด้วยเหตุนี้  แม้แต่พระทนต์ก็ยังดูดีอย่างผิดวิสัย  ภาวะทุพโภชนาการพบได้ดาษดื่นในชนชั้นยากจน  แต่พวกชนชั้นสูงอาจมีนํ้าหนักตัวเกิน  และบางคนอาจเป็นโรคเบาหวานด้วยซํ้า

นักโบราณคดีบางคนสันนิษฐานว่า  กษัตริย์กรงเล็บอัคนีทรงมีนํ้าหนักตัวเกินและอาจเป็นโรคเบาหวาน  พระองค์น่าจะทรงปกครองอาณาจักรเนิ่นนานก่อนหน้าพระบิดาจะสิ้นพระชนม์  ทว่าทรงไม่มีบุญบารมีหรือพระปรีชาสามารถเทียบเท่าพระบิดา  เฉกเช่นพระโอรสของกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่อีกหลายพระองค์  ในปี695  อาณาจักรติกาลยังลุกขึ้นก่อกบฏอีกครั้ง  แม้จะปราชัยมาหลายต่อหลายครั้งแล้วก็ตาม  คราวนี้นำโดยกษัตริย์หนุ่มผู้มีพระนามน่าประทับใจว่า เทพเจ้าผู้ล้างแผ่นฟ้า (God That Clears the Sky) กษัตริย์กรงเล็บอัคนีต้องทรงรวบรวมกองทัพอสรพิษอีกครั้งเพื่อปราบติกาล

เราไม่ทราบแน่ชัดว่า  เกิดอะไรขึ้นในวันนั้นของเดือนสิงหาคม  ผู้เชี่ยวชาญบางคนคิดว่า  เทพเจ้าผู้ทุบแผ่นฟ้า ทรงหักหลังราชันอสรพิษผู้เป็นพันธมิตรในสนามรบ  เพราะทรงขมขื่นที่ถูกดูแคลนหลายครั้ง  บางคนบอกว่า  กษัตริย์กรงเล็บอัคนีผู้ทรงอยู่ในวัยกลางคนและประชวรด้วยโรคเกี่ยวกับพระปิฐิกัณฐกัฐิ(กระดูกสันหลัง)  ไม่อาจปลุกขวัญกำลังใจของกองทัพได้  หรืออาจเป็นเพราะฟ้าไม่เข้าข้างพระองค์ก็เป็นได้

ราชันอสรพิษจึงปราชัย  ไม่กี่ปีต่อมา  อำนาจของพระองค์ก็สั่นคลอน  กษัตริย์กรงเล็บอัคนีสิ้นพระชนม์พร้อมกับนำความฝันถึงจักรวรรดิอสรพิษไปสู่ปรโลกกับพระองค์ด้วย  นักโบราณคดีส่วนใหญ่เห็นว่า  ราชวงศ์อสรพิษไม่เคยกลับมายิ่งใหญ่อีกเลย  แต่ยังคงมีอิทธิพลอยู่

พอถึงกลางศตวรรษ  ราชวงศ์อสรพิษก็ไร้พิษสง  แม้แต่นครเพื่อนบ้านแห่งหนึ่งของคาลักมุลยังสร้างศิลาจารึกเพื่อเฉลิมฉลองการกลับมาของกษัตริย์ราชวงศ์ค้างคาว  โดยสลักเป็นรูปนักรบกำลังกระทืบงู  ในช่วงศตวรรษต่อมา อาณาจักรติกาลสำ เร็จโทษนครรัฐที่เคยช่วยเหลือราชวงศ์ อสรพิษ  ได้แก่  วากา  การากอล  นารันโค  และออลมุล

แต่ถึงอย่างไร  อาณาจักรติกาลก็ไม่เคยมีอำนาจบารมีเทียบเท่าราชวงศ์อสรพิษ  และพอถึงกลางศตวรรษที่เก้า มายายุคคลาสสิกก็ถึงแก่กาลล่มสลาย  อาจเป็นเพราะประชากรล้น  การขาดเสถียรภาพทางการเมือง  หรือภัยแล้งยาวนานก็เป็นได้  เมืองต่างๆ ในยุคคลาสสิกจึงเกิดความระสํ่าระสายทั่วทุกหย่อมหญ้า  และในที่สุดก็ถูกทิ้งร้างไป

เหล่าราชันอสรพิษจะปกป้องการล่มสลายนี้ได้หรือไม่ จะเกิดอะไรขึ้นหากกษัตริย์กรงเล็บอัคนีสามารถพิชิตติกาล ได้เมื่อปี 695

“ผมคิดว่าน่าจะหลีกเลี่ยงการล่มสลายนี้ได้นะครับ” เดวิด  ฟรีเดล  นักโบราณคดีมายา  บอก  “ความล้มเหลวในการรวบรวมอาณาจักรน้อยใหญ่ ณ ดินแดนใจกลางของโลกมายาไว้ภายใต้ผู้ปกครองหนึ่งเดียว  เป็นสาเหตุหลักของความเสื่อมถอยที่นำไปสู่ภาวะอนาธิปไตย  สงครามที่ลุกลามไปทั่ว  และความเปราะบางต่อภัยแล้ง”

สักวันหนึ่งเราอาจมีคำตอบ  ย้อนหลังไป 40 ปีก่อน ราชันอสรพิษยังเป็นเพียงคำเล่าลือ  และกระทั่งเมื่อ 20 ปีที่แล้วเรายังมองว่าพวกเขาเป็นเพียงผู้ปกครองคาลักมุล ทุกวันนี้  เราทราบว่าพวกเขาเป็นกษัตริย์ที่ปกครองอาณาจักรอันยิ่งใหญ่และทรงอำนาจที่สุดของชาวมายา

นี่คือความเชื่องช้าราวเต่าคลานของงานโบราณคดี ผู้เชี่ยวชาญพยายามปะติดปะต่อภาพในอดีตที่สอดประสานกันอย่างลงตัว  โดยอาศัยหลักฐานชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่เก็บมาได้ในแต่ละครั้ง

และบ่อยครั้งที่ผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นไม่ตรงกัน  รามอน การ์รัสโก  นักโบราณคดีผู้ดูแลแหล่งโบราณคดีคาลักมุล กล่าวว่า  ราชวงศ์อสรพิษไม่เคยอยู่ที่เมืองซีบันเช  และอำนาจของราชวงศ์นี้ไม่เคยเสื่อมถอย  เขาทำงานร่วมกับ ไซมอน  มาร์ติน  และนักวิจัยคนอื่นๆ  และได้เห็นหลักฐานเดียวกัน  แต่กลับได้ข้อสรุปต่างออกไป

ดังนั้น  นักโบราณคดีจึงยังคงเสาะหาเงื่อนงำต่อไป เมื่อปี1996  ขณะที่การ์รัสโกกำลังขุดสำรวจสิ่งก่อสร้าง ขนาดใหญ่ที่สุดของคาลักมุล  ซึ่งเป็นพีระมิดงดงามที่มีอายุย้อนกลับไปถึงก่อน 300 ปีก่อนคริสต์ศักราช  ตรงใกล้ยอดพีระมิด  ขณะที่เขาทำความสะอาดและดึงก้อนหินออกมาอย่างระมัดระวัง  เขาพบซากที่หลงเหลือของมนุษย์ร่างหนึ่ง และข้างใต้นั้นมีคูหาแห่งหนึ่ง

“เรายกฝาปิดขึ้นเพื่อจะได้มองลงไปข้างล่างครับ” การ์รัสโกเล่า  “เราเห็นกระดูกและเครื่องสังเวยกับฝุ่นหนา เตอะราวกับกำลังมองฝุ่นของกาลเวลาอยู่เลยครับ”

พวกเขาใช้เวลาเก้าเดือนในการขุดเข้าไปและทำการขุดค้นสุสานแห่งนั้น  เมื่อเข้าไปได้  การ์รัสโกจึงทราบว่าเขาพบกษัตริย์ผู้ทรงอำนาจพระองค์หนึ่งเข้าแล้ว  ร่างของพระองค์ได้รับการห่อหุ้มด้วยผ้าเนื้อละเอียด  และมีลูกปัดวางทับข้างบน  กษัตริย์พระองค์นี้ไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว  ยังมีสตรีสาวและเด็กอีกคนหนึ่งถูกสังเวยไปด้วย  ร่างของทั้งสองวางอยู่ในคูหาใกล้ๆ นั่นเอง

การ์รัสโกเล่าว่า  ร่างของกษัตริย์ “มีแต่โคลนกับฝุ่น พอจะมองเห็นลูกปัดหยกได้บ้างครับ  แต่ไม่เห็นหน้ากาก” ดังนั้นเขาจึงเอาแปรงออกมาและเริ่มทำความสะอาดอย่างเบามือ  “สิ่งแรกที่ผมเห็นคือดวงตาข้างหนึ่ง  จ้องมองผมออกมาจากอดีตไกลโพ้น”

ดวงตาข้างนั้นมาจากหน้ากากหยกอันงดงามซึ่งสวมไว้เพื่อถวายพระเกียรติแด่กษัตริย์ในปรโลก  การวิเคราะห์ในภายหลังแสดงให้เห็นว่า  กษัตริย์พระองค์นี้ทรงมีพระวรกายท้วมใหญ่  หรืออาจจะอ้วนด้วยซํ้า  และมีพระนหารุ (เอ็น) แข็งในพระปิฐิกัณฐกัฐิ(กระดูกสันหลัง)  สุสานของพระองค์ได้รับการประดับตกแต่งอย่างวิจิตรตระการตา

ใกล้ๆ กันนั้นเป็นเครื่องประดับพระเศียรทำด้วยหยก ซึ่งครั้งหนึ่งตรงกลางเคยประดับด้วยอุ้งเท้าเสือจากัวร์  ถัด ไปเป็นจานเซรามิกมีลวดลายรูปหัวงูแสยะยิ้ม  และจารึกอักษรว่า “จานของกรงเล็บอัคนี”

เรื่อง เอริก แวนซ์
ภาพถ่าย เดวิด โคเวนทรี

เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกันยายน 2559


อ่านเพิ่มเติม 100 อัศจรรย์ทาง โบราณคดี

โบราณคดี

Recommend