คลีโอพัตรา หญิง (งาม) ที่ใช้เสน่ห์และเล่ห์การเมืองสู่ตำแหน่งฟาโรห์แห่งอียิปต์

คลีโอพัตรา หญิง (งาม) ที่ใช้เสน่ห์และเล่ห์การเมืองสู่ตำแหน่งฟาโรห์แห่งอียิปต์

คลีโอพัตรา ฟาโรห์หญิงในตำนานพระองค์นี้เป็นที่รู้จักจากการใช้ความช่ำชองทางการเมืองและเสน่ห์อันล้นเหลือเพื่อสร้างอำนาจ แต่ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่เราทราบเกี่ยวกับชีวิตของพระองค์นั้นมีเพียงน้อยนิด

พระองค์ทรงมีพระสิริโฉมงดงามงั้นหรือ? ยังเป็นที่ถกเถียง ทรงมีเสน่ห์งั้นหรือ? เป็นไปได้ ทรงช่ำชองทางการเมืองและมุ่งมั่นใช้ประโยชน์จากทั้งความเป็นสตรีเพศและอำนาจอันมากล้นเพื่อเพิ่มพูนผลประโยชน์ของตนเอง? แน่นอน

คงไม่มีบุคคลในประวัติศาสตร์ผู้ใดที่จุดประกายความหลงไหล — และการถกเถียง — มากไปกว่าคลีโอพัตราที่ 7 ฟาโรห์หญิงผู้จะมีชะตาเป็นผู้ปกครองคนสุดท้ายในราชวงศ์ของพระองค์นี้ที่ใช้ทั้งการยั่วยวนและเล่ห์เหลี่ยมทางการเมืองเพื่อเพิ่มพูนผลประโยชน์ของอียิปต์ ในยามที่ชาติแห่งนี้ต้องเผชิญกับการขยายอำนาจของโรมัน

แม้พระองค์จะเป็นหนึ่งในสตรีที่มีชื่อเสียงที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่สิ่งที่นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีทราบแน่ชัดเกี่ยวกับคลีโอพัตรากลับมีเพียงน้อยนิด นี่คือสิ่งที่เราทราบกันเกี่ยวกับราชินีผู้เป็นตำนานแต่กลับลึกลับองค์นี้

คลีโอพัตราที่ 7 เป็นสตรีเพียงไม่กี่คนที่ได้ปกครองอียิปต์ยุคโบราณ โดยเป็นฟาโรห์องสุดท้ายในราชวงศ์ทอเลมี แต่ในขณะที่ผู้คนมักคิดว่าพระองค์คือสตรีเลอโฉมผู้ทรงยั่วยวนจูเลียส ซีซาร์ และมาร์ก แอนโทนี เหล่านักประวัติศาสตร์กลับไม่ทราบอย่างแน่ชัดว่าพระองค์ทรงมีพระโฉมเช่นไร ภาพถ่ายโดย CHRISTIE’S IMAGES / BRIDGEMAN IMAGES

คลีโอพัตราคือใคร?

คลีโอพัตราผู้ประสูติเมื่อ 69 ปีก่อนค.ศ. ทรงเป็นพระราชธิดาของอูเลตีส ฟาโรห์ทอเลมีที่ 12 และพระราชมารดาผู้ไม่ทราบพระนาม พระองค์ทรงเป็นรัชทายาทของราชวงศ์โบราณของกรีก ซึ่งยึดครองอียิปต์เมื่อ 305 ปี ก่อน ค.ศ.

แม้ราชอาณาจักรทอเลมีจะนำขนบทางศาสนาบางอย่างของอียิปต์มาใช้ แต่ศูนย์กลางการปกครองนั้นอยู่ที่อเล็กซานเดรีย ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวกรีก ด้วยเหตุนี้ คลีโอพัตราจึงทรงตรัสด้วยภาษากรีกคอยนี (Koine Greek) แม้จะมีเรื่องเล่าว่าพระองค์ทรงเป็นรัชทายาทเพียงองค์เดียวในราชวงศ์ที่ทรงศึกษาภาษาอียิปต์ด้วยก็ตาม โดยในช่วงชีวิตของพระองค์ต้องพัวพันกับความวุ่นวายในอาณาจักรของพระองค์เองและการเมืองของอาณาจักรโรมันอย่างไม่อาจแยกออกจากกันได้

คลีโอพัตรา
เศษของภาพสลักนูนต่ำที่เห็นนี้แสดงพระโฉมของคลีโอพัตรา — หรืออาจเป็นพระโฉมตามความเชื่อของศิลปินผู้สลัก ภาพถ่ายโดย G. DAGLI ORTI /© NPL – DEA PICTURE LIBRARY / BRIDGEMAN IMAGES
คลีโอพัตรา
เหรียญทองแดงซึ่งมีภาพคลีโอพัตราทรงสวมรัดเกล้า เหรียญซึ่งพบว่ามีภาพของประองค์ปรากฏอยู่บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ซึ่งขัดแย้งกันว่าพระองค์มีพระโฉมเช่นใดกันแน่ ภาพถ่ายโดย BY KENNETH GARRETT, NAT GEO IMAGE COLLECTION

พระองค์ทรงขึ้นครองราชย์ได้อย่างไร?

เมื่อพระบิดาของพระองค์เสด็จสวรรคตลงเมื่อ 51 ปีก่อนค.ศ. คลีโอพัตรา ซึ่งเมื่อนั้นทรงมีพระชนม์มายุ 18 ชันษา ต้องอยู่ในการถกเถียงว่าราชบัลลังก์จะเป็นของรัชทายาทองค์ ในตอนแรก พระองค์ทรงครองราชย์ร่วมกับฟาโรห์ทอเลมีที่ 13 ผู้มีพระชันษาน้อยกว่าและต้องอภิเษกสมรสร่วมกันตามธรรมเนียมของอียิปต์ แต่ฟาโรห์หนุ่มผู้นี้ต้องการเป็นผู้ปกครองหนึ่งเดียว จนสงครามกลางเมืองก็ปะทุขึ้นภายในเวลาไม่นานหลังจากนั้น ทั้งคู่ต่างตั้งฝักฝ่ายของตนขึ้นเพื่อการรวบรวมอำนาจโดยเบ็ดเสร็จ สงครามกลางเมืองครั้งนี้ทำให้คลีโอพัตราต้องเสด็จหนีไปที่ซีเรียซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของโรมันเป็นการชั่วคราว

ในรัชสมัยของฟาโรห์ทอเลมีที่ 12 พระองค์ทรงฝักใฝ่และพึ่งพาโรมัน และเหล่ารัชทายาทที่กำลังทำสงครามแย่งชิงบัลลังก์กันนั้นก็ทำสิ่งเดียวกันด้วยการจับมือกับฝ่ายต่างๆ ในสงครามกลางเมืองที่กำลังคุกรุ่นอยู่ในสาธารณรัฐแห่งนี้อย่างรวดเร็ว (ในสมัยนั้น โรมันยังคงมีการปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐ) เพื่อความช่วยเหลือในการชิงบัลลังก์กลับมา คลีโอพัตราทรงหันเข้าหาจูเลียส ซีซาร์ — ซึ่งในขณะนั้นเป็นแม่ทัพและนักการเมืองผู้มีความประสงค์ที่จะกลายเป็นผู้ปกครองโรมันโดยเบ็ดเสร็จเพียงผู้เดียว — ในขณะที่พระองค์ทรงลี้ภัยอยู่ในซีเรีย

คลีโอพัตรา และจูเลียส ซีซาร์

แม้คลีโอพัตราจะทรงมีพระชนม์มายุน้อยกว่าซีซาร์ราว 30 ปี และเขาจะสมรสเรียบร้อยแล้ว ทั้งคู่ก็เริ่มมีความสัมพันธ์ฉันคู่รัก และเขาก็สัญญาว่าจะให้การสนับสนุนแก่คลีโอพัตรา

ในปีที่ 47 ก่อน ค.ศ. โตเลมีที่ 13 ทรงจมน้ำที่แม่น้ำไนล์ใกล้กับเมืองอเล็กซานเดรียขณะที่พระองค์ทรงกำลังหนีจากกองกำลังของซีซาร์ การที่อียิปต์ตกอยู่ในเงื้อมมือของขุนพลชาวโรมันผู้นี้ทำให้คลีโอพัตราชิงบัลลังก์กลับมาได้สำเร็จ ก่อนจะทรงอภิเษกสมรสกับฟาโรห์ทอเลมีที่ 14 ผู้เป็นพระอนุชาอายุ 12 ชันสาอย่างรวดเร็วและแต่งตั้งพระองค์เป็นผู้ร่วมครองราชย์ พระองค์ทรงประสูติพระราชโอรสนามซีซาเรียน ซึ่งผู้คนในยุคนั้นคาดเดากันว่าเป็นบุตรชายของซีซาร์

ความสัมพันธ์ของคลีโอพัตราและซีซาร์สิ้นสุดลงเมื่อเขาถูกสังหารในวันที่ 15 มีนาคม เมื่อ 44 ปีก่อนค.ศ. ด้วยฝีมือของบรรดาศัตรูของเขาในวุฒิสภาโรมัน

คลีโอพัตรากำลังเสด็จเยี่ยมเยียนกรุงโรมเป็นเวลานานเมื่อซีซาร์ถูกฆาตกรรม พระองค์จึงทรงอาศัยอยู่ที่นั่นไปอีกสักพักด้วยความหวังว่าพระองค์จะสามารถโน้มน้าวให้ชาวโรมันยอมรับซีซาเรียนในฐานะผู้มีสิทธิ์สืบทอดอำนาจในที่แห่งนี้โดยชอบธรรม อย่างไรก็ตาม พระองค์ก็ทรงเสด็จกลับสู่อเล็กซานเดรียในเวลาไม่นาน และเป็น ณ เมืองแห่งนี้เองที่ผู้คนเชื่อว่าพระองค์ทรงสังหารพระอนุชาด้วยการวางยาพิษก่อนจะขึ้นครองราชย์อีกครั้งร่วมกับซีซาเรียน

แอนโทนีและคลีโอพัตรา

ความสัมพันธ์ระหว่างคลีโอพัตราและโรมันดำเนินต่อไปอีกเนิ่นนานหลังซีซาร์เสียชีวิต ในความพยายามรักษาฐานะพันธมิตรระหว่างอียิปต์และโรมัน มาร์ก แอนโทนี — ขุนศึกโรมันผู้ขึ้นสู่อำนาจในฐานะหนึ่งในสามผู้ครองอำนาจร่วมหรือคณะสามผู้นำ (triumvir) — ได้ขอเข้าพบกับคลีโอพัตรา และเมื่อปีที่ 41 ก่อนค.ศ. ฟาโรห์หญิงผู้กระเหี้ยนกระหือในการรักษาความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างทั้งสองฝ่ายนี้ก็ได้เสด็จไปทรงพบกับเขาที่ทาร์ซัส (Tarsus) ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในตุรกี

เชื่อกันว่าพระองค์ทรงเสด็จไปที่ทาร์ซัสอย่างฟู่ฟ่ามีระดับบนเรือลำโอ่โถง “คลีโอพัตราทรงลงทุนไปกับการท่องสมุทรของด้วยฉลองพระองค์ที่ถูกเลือกมาเป็นอย่างดี พรจากเทพ สิ่งทอและเครื่องเพชรราคาแพง ดนตรี และ น้ำมันหอมระเหยอันพิศดารเลิศเลอ” Diana E. E. Kleiner ผู้เป็นนักประวัติศาสตร์ศิลปะ เขียน พระองค์ทรงต้องการสร้างความประทับใจ และวิธีการดังกล่าวนี้ก็ได้ผล ในเกือบทันทีทันใด พระองค์ก็ทรงเริ่มสัมพันธ์เชิงชู้อันร้อนฉาวกับแอนโทนีซึ่งมีภรรยาอยู่แล้วและจะย้ายไปอาศัยอยู่ที่อเล็กซานเดรียกับพระองค์ในภายหลัง

คลีโอพัตราทอดพระเนตรดูกองเรือของมาร์ก แอนโทนี ระหว่างการยุทธที่อัคติอุมเมื่อ 31 ปีก่อนค.ศ. อันเป็นการต่อสู้ระหว่างแอนโทนีและอ็อคตาเวียน ผู้เป็นผู้ปกครองโรมันร่วมกับเขา สงครามกลางเมืองของโรมครั้งนี้จะนำทั้งคลีโอพัตราและชู้รักของพระองค์ไปสู่จุดจบ ภาพถ่ายโดย THE HOLBARN ARCHIVE / BRIDGEMAN IMAGES

จุดจบ

มันเป็นความมัวเมาที่แอนโทนีมีต่อคลีโอพัตรา และความสุรุ่ยสุร่ายอันลือลั่นของชีวิตบนบัลลังก์ของทั้งสองนี้เองที่จะนำบุรุษและสตรีคู่นี้ไปสู่การล่มสลาย โดยผู้ปกครองโรมันผู้นี้ต้องการทำสงครามกับสมาชิกของคณะสามคนอีกสองคน รวมไปถึงประชาชนของตนเองที่มีความผู้ขุ่นเคืองต่อสิ่งที่พวกเขาทำ เนื่องจากเป็นการแทรกแทรงอิทธิพลทางการเมืองโรมันของชาวอียิปต์

หลังการรบครั้งหนึ่งเมื่อ 30 ปีก่อนค.ศ. ราชินีแห่งอียิปต์พระองค์นี้ก็ทรงทราบว่ากองทัพของแอนโธนีนั้นกำลังก้าวสู่ความปราชัยอย่างสมบูรณ์ พระองค์จึงกำบังตนเองในสุสานหลวงก่อนจะตรัสกับแอนโธนีว่าพระองค์ทรงมีแผนปลิดพระชนม์ของตนเอง เมื่อได้ยินเช่นนี้ แอนโทนีจึงแทงตนเองและตายลงในอ้อมพระกรของพระองค์ในท้ายที่สุด

คลีโอพัตราทรงพยายามเจรจากับอ็อคตาเวียน ผู้เคยปกครองโรมันร่วมกับแอนโธนี แต่ต้องล้มเลิกความตั้งใจเมื่อทราบว่าเขาตั้งใจจับตัวพระองค์เป็นเชลย และนำไปแห่ตามถนนในฐานะรางวัลแห่งชัยชนะ จากนั้น พระองค์จึงสังหารตนเอง โดยวิธีการที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดคือยาพิษ มันเป็นเมื่อนั้นเองที่อำนาจของราชวงศ์ตอเลมีต้องสิ้นสุดลง และยังผลให้โรมันได้กลับกลายเป็นผู้ปกครองอียิปต์แทน

คลีโอพัตรา
การสวรรคตของคลีโอพัตราถูกนำมาสร้างเป็นนิยายหลายครั้งในประวัติศาสตร์ — โดยครั้งที่เด่นชัดที่สุดคือในบทละครแอนโทนีและคลีโอพัตราของเชคเสปียร์ — แต่บรรดานักประวัติศาสตร์สามารถหาหลักฐานว่าพระชนม์ของพระองค์สิ้นสุดลงด้วยวิธีใดได้เพียงน้อยนิด ภาพถ่ายโดย TARKER / BRIDGEMAN IMAGES

สิ่งที่เราไม่ทราบเกี่ยวกับพระองค์

ตามตำนานกล่าวได้ว่าคลีโอพัตราทรงปลิดพระชนม์ของตนเองด้วยพิษของงูเห่าอียิปต์ แต่คำกล่าวอ้างนี้ไม่มีข้อพิสูจน์ นอกจากนี้ เหล่านักโบราณคดียังไม่เคยค้นพบสุสานซึ่งเป็นที่ที่พระองค์สวรรคตลง ดังที่ชิพ บราวน์ เคยเขียนไว้ในบทความของเนชันแนล จีโอกราฟฟิก ประจำเดือนกรกฎาคม 2011 ว่า “ณ ตอนนี้ ส่วนใหญ่ของความรุ่งโรจน์ของอเล็กซานเดรียยุคโบราณต้องจมอยู่ใต้น้ำลึกราว 6 เมตร

นอกจากนี้แล้ว ยังไม่มีทางที่จะวัดความถูกต้องแม่นยำของภาพฉายของพระองค์ในประวัติศาสตร์ — ซึ่งทั้งขัดแย้งกันและแสดงความลำเอียงของผู้คนในสมัยนั้น — เหรียญจากยุคสมัยนั้นส่วนหนึ่งแสดงภาพของคลีโอพัตราในฐานะราชินีผู้ทรงมีพระโฉมธรรมดา ในขณะที่เหรียญอื่นๆ แสดงภาพสะท้อนของแอนโทนี เหรียญเหล่านี้บอกถึงความคิดเห็นที่ผู้ประดิษฐ์พวกมันขึ้นมามีต่อความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์และชู้รักผู้นี้ และในขณะนี้ การถกเถียงเกี่ยวกับเชื้อชาติของคลีโอพัตราก็ยังคงเป็นสิ่งร้อนแรง แม้บรรดานักประวัติศาสตร์จะชี้ว่า นอกจากเรายังไม่ทราบว่าพระองค์มีเชื้อชาติใดแล้วแนวคิดทั้งหมดที่เรามีต่อเรื่องเชื้อชาติยังคงไม่ปรากฏขึ้นในยุคสมัยของพระองค์อีกด้วย

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับคลีโอพัตรานั้นปรากฏอยู่เพียงน้อยนิด ห้องสมุดแห่งอเล็กซานเดรียถูกทำลายอยู่บ่อยครั้ง ทำให้หลักฐานร่วมสมัยเกี่ยวกับพระองค์ต้องสูญหายไปด้วย พลูทาร์ค นักประวัติศาสตร์ยุคโบราณผู้เขียนชีวประวัติของแอนโทนี อันเป็นหนึ่งในแหล่งข้อมูลที่ละเอียดที่สุดเกี่ยวกับรัชสมัยของคลีโอพัตรา กล่าวว่าพระองค์ทรงเป็นสตรีผู้ “มีพระโฉมงดงามอย่างที่สุดและ… มีปัญญาที่เฉียบแหลมอย่างที่สุด” แต่พระชีวประวัติของราชินีแห่งอียิปต์องค์นี้ถูกเขียนขึ้นหลายร้อยปีหลังพระองค์เสด็จสวรรคต และเขียนขึ้นด้วยมุมมองจากฝั่งโรมันอย่างไม่ต้องสงสัย

อย่างไรก็ตาม แม้เราจะขาดความเข้าใจเกี่ยวกับช่วงชีวิตของคลีโอพัตรา แต่พระองค์ก็ยังคงมีความสำคัญอยู่ในทุกวันนี้ ตั้งแต่ในบทละครโศกนาฏกรรมของเชคเสปียร์ไปจนถึงภาพยนตร์ชีงประวัติของเน็ตฟลิกซ์ พระองค์ทรงถูกฉายภาพให้มีความชื่อเสียงในระดับแทบกลายเป็นตำนานในฐานะนักการเมือง ‘เหลี่ยมจัด’ ผู้มีความสามารถในการยั่วยวนในระดับที่เกือบเหนือมนุษย์

แม้ความสามารถทางการเมืองของพระองค์จะโดดเด่น แต่เราก็อาจไม่ทางทราบได้ว่าเพราะเหตุใด บุรุษที่ทรงอำนาจมากที่สุดในโลกบางคนต้องตกอยู่ใต้เสน่ห์ของคลีโอพัตรา แต่สิ่งหนึ่งที่แน่ชัดคือ แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่า 2,000 ปีแล้วนับตั้งแต่ที่พระองค์สวรรคต แต่ราชินีผู้ทรงปกครองเหล่าชายชาตรี — และประชาชนของตนเอง — อย่างมีเล่ห์เหลี่ยมองค์นี้ ก็ยังคงสามารถสร้างมนต์สะกดและความฉงนให้กับผู้คนในยุคปัจจุบัน

เรื่อง ERIN BLAKEMORE

แปล ภาวิต วงษ์นิมมาน


อ่านเพิ่มเติม ฟาโรห์รามเสสที่ 2 ผู้ครองราชย์กว่า 70 ปีทายาทกว่าร้อยองค์ ที่อียิปต์ต้องชดใช้

ฟาโรห์รามเสสที่ 2

Recommend