แผนก แผนที่ ของสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ซึ่งก่อตั้งมาครบ 100 ปีในปีนี้ ได้จารึกผืนดิน แผ่นน้ำ และฟากฟ้าบนแผนที่ที่บรรจุข้อมูลไว้มากมาย ทั้งยังสะท้อนแนวคิดล้ำสมัย และปลุกเร้าความฝันให้ลุกโชน
พิกัดสำนักงานนักภูมิศาสตร์ประจำสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก คือ 38°54’19„ เหนือ 77°2’16„ ตะวันตก คงพอจะพูดได้ว่าควน จูเซ บาลเดส ผู้ดำรงตำแหน่งนี้ในปัจจุบัน รู้ตำแหน่งแห่งที่ของเขาอย่างแม่นยำ แต่ขอบเขตการทำงานของ สำนักงานในความรับผิดชอบของเขาหรือแผนกแผนที่ของสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ซึ่งฉลองครบ 100 ปีในปีนี้
ไม่เพียงครอบคลุมพิกัดที่ว่าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงภูเขา แม่นํ้า ทะเลสาบ ถนน แนวปะการัง ฟยอร์ด เกาะ ทะเล ธารนํ้าแข็ง มหาสมุทร ดาวเคราะห์ ดาราจักร และระบบสุริยะ หรือพูดง่ายๆ คือลักษณะทางกายภาพใดๆ ที่ปรากฏบนพื้นดิน ผืนนํ้า และแผ่นฟ้านั่นเอง
ขณะที่เขียนเรื่องนี้ (สถิติจะล้าสมัยทันทีที่รวมตัวเลข เสร็จ) แผนกแผนที่ของสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ได้ผลิตแผนที่แถม 438 ชุด แผนที่โลกสิบฉบับ ลูกโลกหลายสิบแบบ แผนที่ประกอบสารคดีในนิตยสารอีกราว 3,000 ชิ้น และอีกมากมายในรูปแบบดิจิทัล
แผนที่ของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก แตกต่างจากแผนที่ทั่วไปอย่างไรน่ะหรือ ที่แน่ๆ คือความเที่ยงตรงแม่นยำและความใส่ใจในรายละเอียด
แต่ความโดดเด่นอันเป็นเอกลักษณ์ของแผนกที่ บรรณาธิการเต็มเวลาคนแรกของนิตยสาร กิลเบิร์ต เอช. โกรฟเนอร์ ก่อตั้งขึ้น คือการไม่หยุดคิดค้นสิ่งใหม่ๆ และจะยังคงเป็นเช่นนั้นเสมอ นักทำแผนที่ซึ่งเป็นหัวหน้าแผนกคนแรกอย่างอัลเบิร์ต เอช. บัมสเตด (หัวหน้าแผนก, 1915-1939) กรุยทางด้วยการประดิษฐ์เข็มทิศนาฬิกาแดดซึ่ง ริชาร์ด อี. เบิร์ด ใช้ในเที่ยวบินสู่ขั้วโลกเหนือเมื่อปี1926 (เพราะเข็มทิศแม่เหล็กใช้ไม่ได้ในแถบขั้วโลก) เช่นเดียวกับเครื่องเรียงพิมพ์ด้วยแสงที่ได้ชื่อตามเขา
ในปี 1957 แผนกแผนที่ได้ทุ่มเทความคิดสร้างสรรค์สร้างอุปกรณ์ติดตามดาวเทียมแบบพกพาให้โครงการอวกาศของสหรัฐฯ เวลแมน แชมเบอร์ลิน (หัวหน้าแผนก, 1964-1971) ผู้ประดิษฐ์อุปกรณ์ดังกล่าว ยังออกแบบมาตรเรขาคณิตซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นพลาสติกใสที่ทาบลงบนลูกโลกเพื่อให้สามารถวัดระยะทางได้อีกด้วย
เมื่อโลกหมุนเร็วขึ้น จังหวะก้าวของคนทำแผนที่ก็ต้องเร็วตามไปด้วย จอห์น บี. การ์เวอร์ (หัวหน้าแผนก, 1982-1991) ดูแลการติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ไซเท็กซ์ที่ใหญ่โตจนต้องมีห้องควบคุมอุณหภูมิเฉพาะ ระบบดังกล่าวช่วยให้กระบวนการผลิตแผนที่มีความเที่ยงตรงแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น แอลเลน แคร์รอลล์ (หัวหน้าแผนก, 1998-2010) เปิดตัวแม็ปแมชชีน (MapMachine) ของ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก เมื่อปี 1999 ซึ่งเป็นบริการแผนที่แบบอินเทอร์แอ๊กทีฟชุดแรกของสมาคมบนเว็บไซต์
ในอดีต การสร้างแผนที่สักฉบับต้องใช้เวลาหลายเดือน แต่ในยุคดิจิทัลที่ก้าวลํ้า การสร้างแผนที่บางฉบับที่เผยแพร่ บนเว็บไซต์ของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก อาจใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง แต่ความเที่ยงตรงแม่นยำยังคงเป็นสิ่งสำคัญ
มีอะไรรอคอยอยู่เบื้องหน้า เมื่อแผนกแผนที่ของเราก้าวย่างเข้าสู่ศตวรรษที่สองแห่งการก่อตั้ง
“การทำแผนที่โดยอาศัยข้อมูลจากสาธารณชนจะเอื้อให้ ใครๆ ก็สามารถสร้างแผนที่ที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น” ควน บาลเดส บอก ”เมื่ออุปกรณ์ต่างๆเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้น ผู้ใช้สามารถระบุพิกัดและทำแผนที่สิ่งต่างๆ ได้มากขึ้นตามไปด้วย”
“แต่ก็แน่ละครับว่า” เขาเสริม “เรายังจำเป็นต้องพึ่งทีมนักทำแผนที่ของสมาคมในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล เหล่านั้นอย่างเป็นระบบ”
เรื่อง แคที นิวแมน
1914 การเกิดรัฐใหม่ๆในคาบสมุทรบอลข่าน และยุโรปกลาง
เดือนสิงหาคม ปี 1914 เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ตีพิมพ์แผนที่ยุโรปและรัฐในคาบสมุทรบอลข่าน ซึ่งเป็นพื้นที่ขัดแย้งอันนองเลือดที่สุดแห่งหนึ่งในประวัติศาสตร์ นั่นคือสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
กิลเบิร์ต เอช. โกรฟเนอร์ บรรณาธิการบริหาร รับรู้ได้ถึงความขัดแย้งที่คุกรุ่น และสั่งให้พิมพ์แผนที่เก็บไว้ในห้องใต้ดินพร้อมจัดส่ง ผู้อ่านจะได้รับรู้ว่า แผนที่ดังกล่าว “สอดคล้องกับนโยบายของสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ที่มุ่งให้ผู้อ่านรับรู้…ข้อมูลจริงแท้ที่สุดเท่าที่จะหาได้…เกี่ยวกับพื้นที่ส่วนใดๆ ของโลกที่เกิด เหตุการณ์สำคัญ และมีแนวโน้มจะดึงดูดความสนใจของโลกในห้วงเวลาใดเวลาหนึ่ง”
1942 คู่มือตามข่าวสงครามของแนวหลัง
“ลองหยิบแผนที่โลกออกมากางสิครับ” ประธานาธิบดี แฟรงกลิน เดลาโน โรสเวลต์บอกผู้ฟังวิทยุเมื่อ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ปี 1942 หรือราวสามเดือนหลังญี่ปุ่นโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ “มองตามจุดอ้างอิงต่างๆ ที่ผมจะบอกเพื่อให้เห็นแนวรบที่กำลังแผ่ขยายไปทั่วโลกของสงครามครั้งนี้” สำหรับหลายคน แผนที่ฉบับนั้นน่าจะมาจากนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับเดือนธันวาคม ปี 1941
บี. แอนโทนี สจวร์ต, NATIONAL GEOGRAPHIC CREATIVE
1944 เยอรมนีและการเคลื่อนทัพ
แผนที่ของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ไม่เพียงบันทึกประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่ยังสร้างประวัติศาสตร์ด้วย นายพลดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ ถือแผนที่เยอรมนีของเราระหว่างการบุกโจมตีเมื่อปี 1945 และเมื่อเครื่องบินรุ่น บี-17 ซึ่งมีผู้โดยสารคนหนึ่งคือ พลเรือเอก เชสเตอร์ ดับเบิลยู. นิมิตซ์ ผู้บัญชาการกองเรือสหรัฐฯ ในมหาสมุทรแปซิฟิก พลัดหลงในพายุฝนฟ้าคะนอง นักบินสามารถนำเครื่องลงจอดได้อย่างปลอดภัยโดยอาศัยแผนที่สมรภูมิในมหาสมุทรแปซิฟิกที่สมาคมจัดพิมพ์ขึ้น
1968 พื้นสมุทรแอตแลนติก
แผนที่โลกใต้สมุทรเผยให้เห็นพื้นสมุทรที่แตกเป็นร่องจากแนวเทือกเขาที่ทอดตัวเป็นระยะ แผนที่ซึ่งอ้างอิงงานของ บรูซ ฮีเซน และมารี ทาร์ป นักธรณีฟิสิกส์ประจำสมาคมฉบับนี้ ส่งผลให้แนวคิดเรื่องการเคลื่อนตัวของทวีปและแผ่นเปลือกโลกเป็นที่รับรู้ของสาธารณชนในวงกว้าง ทาร์ปเริ่มทำแผนที่ห้วงลึกในปี 1950 โดยอาศัยข้อมูลหยั่งความลึกที่ได้จากเรือต่างๆในมหาสมุทรแอตแลนติก ในปี 1978 เธอได้รับเหรียญฮับบาร์ดของสมาคมจากงานวิจัยบุกเบิกของเธอ
1969 ดวงจันทร์บริวารของโลก
ผลงานแห่งความงามเหนือจริงเมื่อปี 1969 คือแผนที่ฉบับแรกที่แสดงพื้นผิวสองด้านของดวงจันทร์ไว้บนกระดาษแผ่นเดียวกัน ไม่ใช่แต่เฉพาะด้านที่เราคุ้นตายามแหงนหน้ามองบนฟากฟ้าเดือนหงาย แต่ยังรวมถึงด้านที่อยู่หลังเงามืดอีกด้วย เช่นเดียวกับแผนที่ทั้งหมดที่แผนกแผนที่ของสมาคมจัดทำขึ้น เราทำทุกอย่างโดยไม่มีข้อยกเว้นเพื่อสร้างผลงานอันยอดเยี่ยม
มีการส่งตัว ทิบอร์ ทอท ศิลปินผู้แรเงาพื้นผิวของแต่ละหุบอุกกาบาต ไปยังหอดูดาวโลเวลล์ในเมืองแฟลกสแตฟฟ์ รัฐแอริโซนา และใช้เวลาอยู่ที่นั่นหลายสัปดาห์เพื่อศึกษารายละเอียดทุกแง่มุม ผู้อ่านคงตาโตกับข้อมูลอันรุ่มรวยที่ได้รับ แผนที่ระบุจำนวนดวงจันทร์ที่เรารู้จักในระบบสุริยะ (32 ดวงในตอนนั้น) สาธยายแผนการส่งยานอะพอลโลไปลงจอดบนดวงจันทร์ อธิบายเรื่องการเกิดคราสและระยะต่างๆของดวงจันทร์โดยอาศัยแผนภูมิ
1988 ยอดเขาเอเวอเรสต์
แผนที่ยอดเขาสูงที่สุดในโลกที่แถมพร้อมนิตยสารฉบับเดือนพฤศจิกายน ปี 1988 เป็นการผนึกกำลังครั้งที่สองระหว่าง สมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก กับแบรดฟอร์ด วอชเบิร์น นักทำแผนที่ นักปีนเขา และผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ วิทยาศาสตร์บอสตัน (ครั้งแรกคือแผนที่แกรนด์แคนยอนเมื่อปี1978) โครงการนี้ต้องพึ่งกล้องความละเอียดสูงจากกระสวย อวกาศโคลัมเบีย และภาพถ่ายทางอากาศที่ทับซ้อนกันถึง 160 ภาพเพื่อทำแผนที่อาณาบริเวณเกือบ 1,000 ตารางกิโลเมตร
1991 การล่มสลายของสหภาพโซเวียต
ความรุ่งเรืองและร่วงโรยของจักรวรรดิต่างๆ ข้อพิพาทเรื่องเขตแดน แนวชายฝั่งที่หดหาย และการเกิดชาติเอกราชใหม่ๆ ล้วนส่งผลต่อการวาด และใส่ข้อมูลกำกับบนแผนที่ การล่มสลายของสหภาพโซเวียตเมื่อปี 1991 ส่งผลให้ต้องเปลี่ยนชื่อสถานที่ในยูเครนกว่าร้อยละ 90
2002 แอนตาร์กติกา: ยุคใหม่แห่งการสำรวจ
ในช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบ โรอัลด์ อามุนด์เซน, เออร์เนสต์ แชกเคิลตัน และโรเบิร์ต ฟอลคอน สกอต แข่งกันเพื่อไปถึงขั้วโลกใต้ “เป้าหมายของวันนี้คือความรู้” คือคำประกาศบนแผนที่แอนตาร์กติกาที่แถมพร้อมนิตยสารฉบับเดือนกุมภาพันธ์ปี2002 นับว่าเหมาะสมแล้วเมื่อพิจารณาข้อมูลเรื่องความสูงของพื้นผิว ความหนาของพืดนํ้าแข็ง และความเร็วของการไหลของนํ้าแข็ง แผนที่นี้ระบุตำแหน่งของสถานีวิจัย และสถานีอุตุนิยมวิทยาหลายแห่งที่ตั้งอยู่ในทวีปซึ่งมีอากาศและภูมิประเทศสุดขั้ว ชายฝั่งที่แสดงไว้นั้นใช้ข้อมูลจากโครงการสำรวจเพื่อทำแผนที่แอนตาร์กติกาโดยดาวเทียมเรดาร์แซตเมื่อปี1997 แต่ข้อความในแผนที่ยังตั้งข้อสังเกตว่า ”แอนตาร์กติกาเป็นฝันร้ายของคนทำแผนที่ เพราะเมื่อถึงเวลาที่ทำเสร็จ อะไรๆ ก็คงเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว”
เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนเมษายน 2558