หลังจากที่การปกครองอาณานิคมของอังกฤษสิ้นสุดลง ก็ได้กำเนิดสองชาติอธิปไตย แต่การแบ่งเขตนั้นกลับสร้างรอยร้าวความตึงเครียดจนแทบระเบิดขึ้น แม้จะผ่านไปแล้ว 75 ปี ความทรงจำของการแบ่งแยกนี้ยังคงตามหลอกหลอนผู้เหลือรอดมาจนปัจจุบัน
ในคืนวันที่ 13 สิงหาคม 1947 สุรี เซฮ์กัลวัย 13 ขวบตื่นเต้นเหลือประดาเสียจนนอนไม่หลับ ในวันรุ่งขึ้นเขาจะได้เห็นอังกฤษลดธงลงและชักธงใหม่ขึ้น ธงของแคว้นปัญจาบบ้านเกิดของเขาซึ่งแต่ก่อนเคยเป็นส่วนหนึ่งของอินเดียแต่ในปัจจุบันเมืองนี้กลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของชาติใหม่ที่มีชื่อว่าปากีสถาน เขาจดจำช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองการชักธงของประเทศปากีสถานขึ้นได้เป็นอย่างดี
แต่เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากการเฉลิมฉลองการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจและการแบ่งอินเดียออกเป็นสองชาติ ความตึงเครียดระหว่างชาวฮินดูและชาวมุสลิมเดือดพล่านจากกฎการปกครองอาณานิคมอันก่อให้เกิดความแตกแยก คืนนั้นเองที่เซฮ์กัลได้เห็นความน่ากลัว ภาพของผู้คนหลายร้อยถือมืดและอาวุธต่าง ๆ ออกตามล่าชาวฮินดูวิ่งผ่านไป
หากมองอย่างผิวเผิน การกำเนิดประเทศปกครองตนเองในเดือนสิงหาคม ปี 1947 เป็นดั่งชัยชนะสำหรับผู้เรียกร้องการปกครองตนเองอย่างเป็นอิสระ แต่ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นและการบริหารที่ผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงทำให้การถอนตัวของจักรวรรดิอังกฤษกลายเป็นการนองเลือด
อังกฤษแบ่งแยกอินเดียอย่างไร
ในช่วงสิ้นสุดการปกครองแบบอาณานิคมของอังกฤษในปี 1947 อนุทวีปอินเดียถูกแบ่งออกเป็นสองประเทศได้แก่ อินเดียที่มีชาวฮินดูเป็นส่วนใหญ่และปากีสถานที่มีชาวมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ การเปลี่ยนแปลงอย่างรีบเร่งนี้นำไปสู่หนึ่งในวิกฤตผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์
การปกครองอาณานิคม – ก่อนการแบ่งอาณาเขต มีชาวฮินดูคิดเป็นประมาณเกือบร้อยละ 70 ของประชากรอินเดียที่ปกครองโดยอังกฤษ ในขณะที่ชาวมุสลิมมีปริมาณเพียงแค่ประมาณร้อยละ 15 เพียงเท่านั้น ถึงแม้ชุมชนมุสลิมส่วนใหญ่จะอยู่ทางเหนือแต่กลุ่มชาวมุสลิมกลับกระจายอยู่ทั่วประเทศ
หลังการแบ่งแยก – การแบ่งประเทศด้วยศาสนานั้นเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะในแคว้นปัญจาบและเบงกอลที่มีประชากรชาวฮินดูและมุสลิมใกล้เคียงกัน การถือกำเนิดของปากีสถานจึงเป็นการบังคับให้ชาวฮินดูและมุสลิมกว่าล้านคนจำต้องย้ายที่อยู่ใหม่
พื้นที่ขัดแย้ง – ทางตอนเหนือ บริเวณเส้นแรดคลิฟฟ์ซึ่งหยุดอยู่ที่จัมมูและแคชเมียร์ รัฐมหาราชาซึ่งเลือกที่จะอยู่อย่างเป็นอิสระหลังจากการแบ่งแยก แต่พื้นที่บริเวณชายแดนนั้นยังคงขัดแย้งกันอยู่เรื่อยมา
รากเหง้าอาณานิคมการแบ่งแยกดินแดน
จุดเริ่มต้นของการแบ่งแยกต้องย้อนไปตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ในช่วงที่บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ (British East India Company) บริษัทเอกชนที่ขายสินค้าฟุ่มเฟือยของอินเดียไม่ว่าจะเป็นเครื่องเทศ ผ้าไหม เริ่มต้นเข้ายึดครองพื้นที่อินเดีย ควบคุมรัฐบาลท้องถิ่นและออกกฎหมายที่ขัดกับวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมที่มีมาแต่ก่อน จนกระทั่งในปี 1857 ทหารอินเดียทำการขบถกระตุ้นให้รัฐบาลอังกฤษต้องยอมยุบบริษัทและเข้าครอบครองอินเดียแทน และใช้ระบบการปกครองราชบัลลังก์ในอินเดียของอังกฤษหรือบริติชราช ผลคือพวกผู้ปกครองชาวอังกฤษและครอบครัวล้วนอยู่อย่างร่ำรวยและหรูหรา ในขณะที่ชาวอินเดียส่วนใหญ่อยู่อย่างยากจนแร้นแค้น
ในขณะที่อังกฤษสูบเอาความมั่งคั่งไปและหาผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของอินเดีย อังกฤษเองก็ได้แบ่งพื้นที่ร้อยละ 60 ของประเทศออกเป็นแคว้นย่อย ๆ โดยยอมรับรอยต่อเดิมของ “รัฐมหาราชา” ที่มีอยู่ก่อนแล้วหลายร้อยรัฐ บริติชราชจงใจตอกย้ำถึงความแตกต่างระหว่างชุมชนทางศาสนาและชาติพันธุ์เพื่อรักษาอำนาจเอาไว้ นักภูมิศาสตร์ เอเจ คริสโตเฟอร์ อธิบายว่า ตัวผู้บริหารอาณานิคมเองก็ใช้ลักษณะเช่นศาสนาและสีผิวเพื่อแบ่งแยกอาณาประชาราษฎร์ พวกเขากำหนดแม้กระทั่งบทบาททางการเมืองให้แก่ชาวอินเดีย แต่การทำเช่นนั้นกลับเป็นการเพิ่มความขัดแย้งระหว่างชาวฮินดูและมุสลิมมากขึ้น
ในปี 1905 ลอร์ดเคอร์ซอน อุปราชชาวอังกฤษที่มายังอินเดียแบ่งแคว้นที่ใหญ่ที่สุดของอินเดียอย่างแคว้นเบงกอลเป็นสองส่วนคือ ส่วนที่มีชาวมุสลิมเป็นส่วนมากและส่วนที่มีชาวฮินดูเป็นส่วนมาก กระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชเพิ่มมากขึ้นภายในพรรคคองเกรสแห่งชาติอินเดีย พรรคการเมืองที่ก่อตั้งโดยเหล่าชนชั้นสูงผู้มีการศึกษาเพื่อเจรจาต่อรองกับบริติชราช นอกจากนี้ยังกระตุ้นให้เกิดการรวมตัวกันจัดตั้งพรรคสันนิบาตมุสลิม พรรคการเมืองที่ต่อสู้เพื่อสิทธิของชาวมุสลิมในอินเดียอีกด้วย
การต่อสู้เพื่อให้อินเดียมีเอกราช
ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 นักกฎหมายและนักการเมือง โมหัมทาส “มหาตมะ” คานธี ได้รับเลือกตั้งเข้าสู่พรรคคองเกรสแห่งชาติอินเดียและเริ่มต้นผลักดันการเป็นเอกราชจากการปกครองของอังกฤษโดยปราศจากความรุนแรง แต่การบอยคอต การประท้วงและชุมนุมล้วนแล้วแต่ถูกปราบปรามอย่างรุนแรง เจ้าหน้าที่รัฐชาวอังกฤษพยายามทำให้พวกชาตินิยมนั้นสงบลง โดยการให้สิทธิ์การเลือกตั้งผู้แทนแก่ประชาชนมากขึ้นรวมถึงเพิ่มจำนวนผู้แทนในสภาท้องถิ่นให้มากขึ้น การปฎิรูปในครั้งนี้ส่งผลดีแค่กับชาวอินเดียกลุ่มเล็ก ๆ เพราะในปี 1935 มีเพียงแค่ร้อยละ 12 ของประชากรชาวอินเดียทั้งหมดที่สามารถเลือกตั้งได้
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองที่อังกฤษเข้าร่วมนั้นอินเดียต้องเข้าร่วมด้วย รัฐบาลอังกฤษยื่นข้อเสนอให้เลื่อนสถานะอินเดียเป็นเมืองประเทศราชที่สามารถปกครองตนเองได้ภายใต้การควบคุมดูแลของอังกฤษ แต่พรรคคองเกรสแห่งชาติอินเดียกลับปฏิเสธแผนการดังกล่าว กระทั่งในปี 1942 คานธีดำเนินการรณรงค์เผยแพร่การทำอารยะขัดขืนชื่อว่า “ออกจากอินเดีย” (Quit India) เพื่อเรียกร้องเอกราช แต่อังกฤษกลับตอบโต้โดยการจับตัวคานธีและผู้นำคนอื่นเอาไว้พร้อมทั้งออกกฎหมายระงับการดำเนินงานของพรรคคองเกรสแห่งชาติอินเดีย
การกระทำครั้งนี้กระตุ้นให้หลายคนที่ไม่สนับสนุนการเป็นเอกราชในอดีตให้ลุกฮือขึ้นมา ผลที่เกิดขึ้นคือการจลาจลและการกักขังหน่วงเหนี่ยวมากมาย โครงการรณรงค์ “ออกจากอินเดีย”ถูกระงับไป แต่การกระทำดังกล่าวและความไม่เชื่อใจจากทุพภิกขภัยที่เกิดขึ้นในแคว้นเบงกอลซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปหลายล้านชีวิตในปี 1943 ทำให้ผู้นำอังกฤษเชื่อว่าอนาคตของอินเดียในฐานะประเทศอาณานิคมที่เชื่อฟังพังทลายลงแล้ว
วิสัยทัศน์ต่อเอกราชของอินเดียที่ขัดแย้งกัน
แม้คำว่าเอกราชนั้นราวกับว่าจะอยู่ในกำมือของอินเดียแล้ว แต่การแบ่งฝ่ายระหว่างสองพรรคการเมืองกลับหยั่งลึกลงไป
คานธีและชวาหะร์ลาล เนห์รู ผู้นำคองเกรสแห่งชาติอีกคนหนึ่งเชื่อมั่นว่าอินเดียที่มีเอกราชควรจะเป็นชาติเดียว แต่หัวหน้าพรรคสันนิบาตมุสลิม มูฮัมหมัด อาลี จินนาห์กลับประกาศไม่สนใจการรวมชาติดังกล่าว ในปี 1940 ถึงแม้ว่าพรรคคองเกรสอินเดียแห่งชาติจะเรียกตัวเองว่าเป็นพรรคการเมืองสำหรับชาวอินเดียทุกคน แต่สมาชิกของสันนิบาตมุสลิมกลับมองว่าพรรคนั้นเป็นเพียงตัวแทนของชาวฮินดูเท่านั้น จินนาห์มองว่านโยบายอินเดียหนึ่งเดียวเป็นการเอื้อให้ชาวฮินดูมีอำนาจควบคุมเหนือชาวมุสลิมที่เป็นส่วนน้อย ทางสันนิบาตมุสลิมจึงต้องการอำนาจในการปกครองตนเองพร้อมทั้งขอก่อตั้งประเทศที่มีชื่อว่าปากีสถานขึ้น
เรื่องราวยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อปี 1946 ที่การเจรจาระหว่างทั้งสองกลุ่มนั้นไม่สัมฤทธิ์ผล จินนาห์เรียกร้องให้มี “วันดำเนินการโดยตรง” (direct action day) ของการประท้วงของชาวมุสลิม ผลของการเรียกร้องนี้คือ ในวันที่ 16 สิงหาคม 1946 เกิดเหตุจลาจลระหว่างชาวมุสลิมและชาวฮินดูขึ้นในกรุงกัลกัตตา เมืองหลวงของแคว้นเบงกอล ประชากรกว่า 4,000 คนถูกฆ่า 10,000 คนบาดเจ็บและอีก 100,000 คนกลายเป็นคนไร้บ้าน
บริเตนกำกับการแบ่งแยกดินแดนอย่างรีบเร่ง
ขณะที่อินเดียเดินโซเซอยู่ที่ริมขอบของสงครามกลางเมือง ความสนใจของอังกฤษในการคงไว้ซึ่งการควบคุมก็พลันหายไป เมื่อต้องเผชิญหน้ากับแรงกดดันจากนานาชาติให้ถอนกำลัง พระเจ้าจอร์จที่ 6 จึงได้ส่งญาติของเขา ลอร์ดหลุยส์ เมาต์แบตเทน ไปยังอินเดียในเดือนมีนาคม ปี 1947 เพื่อจัดการเรื่องการถอนตัวของบริเตน เมาต์แบตเทนโน้มน้าวให้ผู้นำทั้งหลายยอมรับการสร้างรัฐใหม่ทั้งสอง ประเทศอินเดียที่มีชาวฮินดูเป็นส่วนใหญ่และประเทศปากีสถานที่มีชาวมุสลิมเป็นส่วนมาก เขาสั่งให้ ซีริล แรดคลิฟฟ์ ทนายความชาวอังกฤษผู้ไม่เคยมาเยือนอินเดียมาก่อนแบ่งประเทศออกเป็นสองประเทศและแบ่งเขตของชาติใหม่ทั้งสองในห้าสัปดาห์
แรดคลิฟฟ์และทีมของเขาแบ่งดินแดนโดยให้ชาติมหาราชนั้นตัดสินใจได้ว่าตนจะไปอยู่ประเทศใด ส่วนดินแดนอื่น ๆ จะแบ่งโดยคำนึงถึงศาสนาส่วนใหญ่เป็นหลักและให้ความสำคัญกับชายแดนที่อยู่ติดกันก่อน การวาด “เส้นแรดคลิฟฟ์” วาดขึ้นมาได้ง่ายในพื้นที่สังเกตเห็นคนส่วนใหญ่ได้ชัดเจน แต่กลุ่มชนทางศาสนานั้นล้วนกระจายไปทั่วอินเดีย ในพื้นที่อย่างเบงกอลหรือปัญจาบที่มีประชากรชาวฮินดูและมุสลิมไล่เลี่ยกันนั้นยิ่งแบ่งเส้นได้ยากเป็นพิเศษ
ท้ายที่สุดนั้น แรดคลิฟฟ์และทีมที่ไม่มีใครชำนาญในด้านการทำแผนที่หรือการเมืองและวัฒนธรรมอินเดียเลยแบ่งแคว้นทั้งคู่ออกเป็นสองส่วนทำให้ประเทศใหม่อย่างปากีสถานนั้นไม่ได้มีอาณาเขตติดต่อกันทั้งหมด ส่วนหนึ่งของประเทศอยู่ทางมุมตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย มีเพียงส่วนเดียวที่เรียกกันว่าปากีสถานตะวันออกที่อยู่ทางตะวันตกของแคว้นเบงกอล การตัดสินใจนี้เป็นการทิ้งให้ชาวฮินดูและมุสลิมหลายแสนคนอยู่ “ผิด” ชาติและยังทำให้แคว้นเบงกอลแยกออกจากส่วนที่เหลือของปากีสถานอีกด้วย
ภายหลังการแบ่งแยกดินแดนอันนองเลือด
สิ่งที่ถือได้ว่าเป็นชัยชนะของบริเตนจริง ๆ แล้วคือช่วงเริ่มต้นการอพยพย้ายถิ่นของมนุษย์ครั้งใหญ่ที่สุดและเป็นหนึ่งในครั้งที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ผู้คนราว ๆ 18 ล้านคนเก็บข้าวของออกเดินทางไปยังประเทศที่ “ถูกต้อง” โดยไม่รู้ว่าชายแดนอยู่ตรงไหนหรือแม้แต่ว่าตัวเองกำลังยืนอยู่บนแผ่นดินประเทศอะไร ความสับสนและความกลัวที่ตามมาเป็นเหมือนกับเชื้อเพลิงเพิ่มความตึงเครียดต่อความขัดแย้งฮินดู-มุสลิมที่มีมาอย่างช้านาน หลายปีที่ผ่านมาความขุ่นเคืองต่าง ๆ ทวีความรุนแรงขึ้น แล้วความเกลียดชังครั้งใหม่ก็ปะทุขึ้นมาผ่านการเปลี่ยนแปลงนี้ มีทั้งการลักพาตัว ข่มขึนผู้หญิงหลายหมื่นคน ฆ่าคนในครอบครัวตัวเอง มีการโจมตีเหล่าผู้ลี้ภัยและชาวบ้าน จุดไฟเผาบ้านเรือน ปล้นสะดมครัวเรือนและกิจการต่าง ๆ มากมาย
ความรุนแรงนี้เลวร้ายมากโดยเฉพาะในแคว้นปัญจาบและเบงกอล เหล่าชนชั้นสูงใช้ประโยชน์จากความโกลาหลนี้ในการรักษาอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจของตน แม้ว่าประเทศทั้งสองนี้จะเป็นเมืองประเทศราชของบริเตน แต่บริเตนก็ไม่ได้เป็นต้นตอของความรุนแรงดังกล่าว
มรดกจากการแบ่งแยกดินแดน
ช่วงที่ความรุนแรงเริ่มหายไปประมาณปี 1950 ผู้คนราว ๆ 3.4 ล้านคนหายสาบสูญหรือตายไปแล้ว ทั้งสองชาติเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ในปี 1948 คานธีถูกลอบสังหารโดยชาวฮินดูชาตินิยมคนหนึ่งที่คิดว่าผู้นำของเขาเข้าข้างฝ่ายมุสลิมมากเกินไป
ในส่วนของปากีสถาน ลักษณะทางภูมิศาสตร์อันไม่ปกตินั้นฝังความตึงเครียดระหว่างตะวันออกและตะวันตกไว้และนำไปสู่การผลักดันเอกราชให้บังกลาเทศในภายหลัง แม้จะมีประชากรมากกว่าแต่ฝั่งตะวันออกกลับได้รับเงินทุนน้อยกว่าและมีอำนาจทางการเมืองน้อยกว่าฝั่งตะวันตก จนในปี 1971 บังกลาเทศประกาศเอกราช ทั้ง ๆ ที่ปากีสถานพยายามจะหยุดยั้งการลุกฮือขึ้นมาต่อต้านนี้ มีคำสั่งฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อารยชนกว่า 3 ล้านคน มีสงครามนองเลือดแปดเดือนแต่ท้ายที่สุดแล้วบังกลาเทศก็มีเอกราชและมีประชาธิปไตยในปี 1972
75 ปีตั้งแต่การแบ่งแยก ความขัดแย้งทางด้านดินแดนระหว่างอินเดียและปากีสถานก็ยังคุกรุ่นต่อไป ปะทุเป็นสงครามสี่สงครามและยังคงมีการโจมตีกันตรงบริเวณชายแดนอยู่เรื่อย ๆ
สำหรับหลาย ๆ คนในอินเดีย ปากีสถานและบังกลาเทศนั้น ความสูญเสียและความทรงจำของวันนองเลือดสีแดงฉานอันไร้ซึ่งสเถียรภาพ ยังคงตามหลอกหลอนพวกเขาอยู่
แปลโดย กษิดิศ ธัญกิจจานุกิจ
โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย