ฌอง ฌากส์ รุสโซ เจ้าของแนวคิดความเท่าเทียม สัญญาประชาคม หลักสำคัญในความคิดการเมืองและสังคมสมัยใหม่ ที่นำมาสู่การปฏิวัติครั้งใหญ่ของฝรั่งเศส ปี 1789
ฌอง ฌากส์ รุสโซ คือนักปรัชญา นักเขียน นักทฤษฎีการเมือง และนักประพันธ์เพลงที่ฝึกหัดด้วยตนเองแห่งยุคเรืองปัญญา แต่ผลงานที่สำคัญของเขาซึ่งทั่วโลกยังจดจำอยู่ทุกวันนี้เป็นเรื่องของการเผยแพร่ ทฤษฎีสัญญาประชาคม กับความเชื่อในหลักการ เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ จนทำให้ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งใน บุคคลสำคัญของโลกในช่วงศตวรรษที่ 18 (ยุคเรืองปัญญา)
แม้ว่า รุสโซ อาจไม่ใช่คนแรกและคนเดียวที่นำเสนอแนวคิด สัญญาประชาคม โดยก่อนหน้านั้นมี โทมัส ฮอบส์ นักปรัชญาการเมืองชาวอังกฤษที่มีชีวิตอยู่ในช่วง ค.ศ.1588-1679 กับ จอห์น ล็อก นักปรัชญาชาวอังกฤษ ที่มีชีวิตอยู่ในช่วง ค.ศ.1632-1704 อีก 2 คนที่มีอิทธิพลในเรื่อง สัญญาประชาคม มาก่อน รุสโซ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทฤษฎีสัญญาประชาคม ที่เขากล่าวถึงในหนังสือ Du Contrat social (1762) คือหนึ่งในหนังสือที่นำไปสู่การปฏิวัติครั้งใหญ่ของฝรั่งเศสเมื่อปี 1789 รวมถึงการก่อกำเนิดประชาธิปไตยในดินแดนนํ้าหอม
ประวัติ ฌอง ฌากส์ รุสโซ
ฌอง ฌากส์ รุสโซ เกิดเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1712 ที่เมืองเจนีวา เขาเติบโตในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แม่ของ รุสโซ เสียชีวิตไม่กี่วันหลังเขาเกิด พี่ชายหนีออกจากบ้านไปตั้งแต่เขายังเด็ก และเมื่อรุสโซอายุได้ 10 ขวบ พ่อผู้เป็นช่างทำนาฬิกาก็มีเรื่องชกต่อยกับนายทหารทำให้ต้องหนีออกจากเจนีวา เขาจึงต้องย้ายไปพักอาศัยกับลุงและป้าแทน
ต่อมา เมื่ออายุได้ 16 ปี รุสโซ ออกเดินทางรอนแรมไปทั่วยุโรปทั้ง อิตาลี ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ และ อังกฤษ เขาใช้เวลาเรียนรู้ผ่านการอ่านหนังสือด้วยตัวเอง โดยหาเงินด้วยการรับจ้างเป็นเสมียน ครู และ เล่นดนตรี

รุสโซ มีชื่อเสียงมาจากความเรียงเรื่อง การบรรยายเกี่ยวกับศิลปะและวิทยาศาสตร์ และ การบรรยายว่าด้วยความไม่เสมอภาค ในช่วงที่อาศัยอยู่ในปารีสปี ค.ศ. 1750 ตั้งแต่นั้นเขาก็ถูกจับตาจากทางการฝรั่งเศส ซึ่งในปี 1762 หนังสือสองเล่มที่สำคัญที่สุดของ รุสโซ ได้รับการตีพิมพ์ ได้แก่ สัญญาประชาคม และ เอมีล ในยุคนั้นทั้งสองเล่มนี้เป็นหนังสือต้องห้ามในฝรั่งเศส ถูกสั่งเผาทำลาย รวมถึงห้ามพิมพ์จำหน่ายจากทางการปารีสและศาสนจักรคาทอลิก
สำหรับหนังสือ สัญญาประชาคม ว่าด้วยการวิพากษ์วิจารณ์การปกครองของโรมัน โจมตีรัฐบาลหรือผู้ปกครองที่พยายามยื้ออำนาจที่ตนมีไว้ให้นานที่สุด รวมถึงเตือนให้ประชาชนต้องตระหนักรู้เท่าทันถึง
ส่วน เอมีล เป็นหนังสือนิยายที่แฝงแนวคิดอีกทางหนึ่งของ รุสโซ คือหลักธรรมชาตินิยม ทั้งสนับสนุนให้มนุษย์หันกลับไปหาธรรมชาติ (back to nature) ยกย่องคุณค่าของมนุษย์ว่า “ธรรมชาติของคนดีอยู่แล้วแต่สังคมทำให้คนไม่เสมอภาคกัน เหตุผลมีประโยชน์ แต่มิใช่คำตอบของชีวิต ดังนั้นเราจึงต้องพึ่งความรู้สึก สัญชาตญาณและอารมณ์ของเราเอง ให้มากกว่าเหตุผล” รุสโซ เชื่อว่า มนุษย์ดั้งเดิมตามธรรมชาติบริสุทธิ์ผุดผ่อง แต่กลับมีการสร้างอารยธรรมและสังคมขึ้นมาทำลายความเป็นมนุษย์บริสุทธิ์ดั้งเดิม
แนวคิดในเรื่องนี้ของเขามีอิทธิพลต่อการปฏิวัติในฝรั่งเศสและการปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศอื่นๆ รุสโซ เห็นว่า ความชั่วเป็นผลที่เกิดขึ้นจากการที่มนุษย์มาอยู่ร่วมกันเป็นสังคม โดยเฉพาะการที่ทรัพย์สินส่วนตัว ซึ่งมิใช่สิ่งที่ทุกคนมี สังคมยุคนั้นจึงเป็นสัญญาประชาคมชนิดที่ฉ้อฉล มีไว้เพื่อสนับสนุนความไม่เสมอภาค
ดังนั้น เมื่อหนังสือสองเล่มของเขาเผยแพร่ไป รุสโซ ต้องกลายเป็นคนเร่ร่อนไร้สัญชาติ ต้องลี้ภัยหลบหนีไปยังเมืองต่าง ๆ เพราะแนวคิดหัวก้าวหน้าของเขาถูกมองว่าเป็นอันตรายต่อระบบการปกครองของยุโรป กระนั้น เขาก็ยังคงยึดมั่นแนวคิดที่ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ปัจเจกชนมีเสรีภาพ ความเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมายเดียวกันต่อไป
ฌอง ฌากส์ รุสโซ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ.1778 ศพของเขาฝังอยู่บนเกาะขนาดเล็กในฝรั่งเศส แต่หลังเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศสไปแล้ว ศพของเขาถูกย้ายเข้ามาไว้ที่วิหารปองเตอองกลางกรุงปารีสในปี ค.ศ.1794 ในฐานะเป็นบุคคลสำคัญผู้มีอิทธิพลทางความคิดต่อการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ.1789
ฌอง ฌากส์ รุสโซ หนึ่งในต้นธารแห่งการปฏิวัติฝรั่งเศส ปี 1789
หลังจาก ฌอง ฌากส์ รุสโซ เสียชีวิตประมาณ 10 ปี ในปี 1788 ความยากแค้นของประชาชนชาวฝรั่งเศสจากปรากฏการณ์ภัยแล้ง ความโกรธสะสมจากปัญหา เศรษฐกิจ สังคม การเมือง เมื่อได้เชื้อไฟแห่งความคิดของ รุสโซ และนักคิดยุคเรืองปัญญาคนอื่นๆ ประชาชนชาวฝรั่งเศสจึงลุกฮือขึ้นมาประท้วงบนท้องถนน
การปฏิวัติฝรั่งเศส ปี 1789 เริ่มต้นขึ้นในเดือนพฤษภาคม เหล่าสามัญชนเริ่มร่วมกันจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธ 14 กรกฎาคม มีการปล้นคุกบาสตีล์ เปิดประตูสู่ยุคแห่งความหวาดกลัว ผู้มีความเห็นต่างจากกลุ่มปฏิวัติจำนวนมากถูกสังหาร วันที่ 5 ตุลาคม มีการเดินขบวนสู่พระราชวังแวร์ซาย หลังจากนั้นกองกำลังประชาชนได้ร่วมกันล้มล้างระบอบเก่าเพื่อสถาปนาระบอบใหม่ นำไปสู่ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นระยะเวลาชั่วคราว อันเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติฝรั่งเศส ส่งผลให้เกิดสถาบันนิติบัญญัติแห่งชาติ และการปฏิวัติยังสถาปนาระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นระบอบการปกครองแต่เพียงในนามเท่านั้น
ความวุ่นวายทางการเมืองดังกล่าวกินเวลามานานจนปี ค.ศ. 1792 ราชอาณาจักรฝรั่งเศสแปรสภาพเป็นสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่หนึ่ง ตามมาด้วยการประหารชีวิตพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1793 จากนั้นก็เกิดการแย่งชิงอำนาจรัฐระหว่างกลุ่มชนชั้นปกครองด้วยกันเอง กระทั่ง นายพลนโปเลียน ก่อรัฐประหาร 18 บรูว์แมร์ และตั้งตนเองเป็นกงสุลเอกเมื่อพฤศจิกายน ค.ศ. 1799 สถานการณ์บ้านเมืองของฝรั่งเศสจึงค่อยๆสงบลง รวมถึงค่อยๆมีการฟื้นฟูระบอบการปกครองใหม่ หลังการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
สัญลักษณ์ของการปฏิวัติในครั้งนั้นมีทั้ง เพลงลามาร์แซแยซ , วลี เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ ที่ ปีแอร์ เลอรูซ์ นำกลับมาใช้ และ ทฤษฎีสัญญาประชาคม ของ รุสโซ โดยหนังสือเล่มนี้ของเขานอกจากจะมีอิทธิพลต่อการปฏิวัติฝรั่งเศสแล้ว ยังถูกยกย่องในฐานะคัมภีร์ไบเบิลแห่งการปฏิวัติในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงหลักการหลายประการของ รุสโซ ถือเป็นรากฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมสมัยใหม่ในฝรั่งเศสจวบจนทุกวันนี้
ที่มา
https://www.nationalgeographic.com/history/article/bastille-day-honors-rebellion-sparked-french-revolution
https://en.wikipedia.org/wiki/Jean-Jacques_Rousseau
https://www.britannica.com/biography/Jean-Jacques-Rousseau
https://cont-reading.com/context/jean-jacques-rousseau -readvolution/