นักวิจัยพบสิ่งมีชีวิตเก่าแก่ที่สุดที่รู้จักกินอาหาร ซึ่ง “ไม่ใช่คน” ใน ฟอสซิล อายุ 550 ล้านปี

นักวิจัยพบสิ่งมีชีวิตเก่าแก่ที่สุดที่รู้จักกินอาหาร ซึ่ง “ไม่ใช่คน” ใน ฟอสซิล อายุ 550 ล้านปี

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University ; ANU) พบ ฟอสซิล ของสิ่งมีชีวิตยุคโบราณซึ่งบ่งบอกว่ามันเริ่มมีการกินสิ่งอื่นเข้าไปในร่างกายเป็นครั้งแรกและเก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบมา โดยย้อนไปได้ไกลราว 575 ล้านถึง 550 ล้านปี การค้นพบนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารออนไลน์ ‘Current Biology’

สิ่งมีชีวิตที่เก่าแก่ที่สุดนี้มีชื่อว่า ‘คิมเบอเรลลา (Kimberella)’ ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว พวกมันมีลักษณะคล้ายทากและมีชีวิตอยู่ในช่วงยุค ‘อีดีแอคารัน (Ediacaran)’ หรือประมาณ 538.8 ล้านถึง 653 ล้านปีก่อน เป็นหนึ่งในกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่เก่าแก่ที่สุดในโลกที่เคยพบมา และการค้นพบนี้ก็บ่งบอกถึงวิวัฒนาการที่สำคัญของสิ่งมีชีวิตที่พัฒนาเป็นการมี ‘ปากและลำไส้’

พวกมันเป็น “ต้นกำเนิดของเราและสัตว์ทั้งหมดที่มีอยู่ในปัจจุบัน” ดร. อิลยา โบโบรฟสกี (Dr.Ilya Bobrovskiy) หนึ่งในผู้เขียนการศึกษากล่าว ขณะที่ ศาสตราจารย์โจเชน บร็อคส์ (Jochen Brocks) หนึ่งในผู้เขียนงานศึกษากล่าวเสริมว่า “การมีลำไส้ข้างในนั้นทันสมัยมาก” เมื่อเทียบกับสิ่งมีชีวิตในยุคเดียวกัน “ฟองน้ำ ปะการัง และแมงกระพรุน พวกมันไม่มีลำไส้ปกติที่อยู่ทั่วร่างกาย

นักบรรพชีวินวิทยาเสนอว่า ‘คิมเบอเรลลา’ น่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่ก้าวหน้าที่สุดในยุคนี้ เนื่องจากปาก ลำไส้ และการย่อยอาหารนั้นส่งต่อมาถึงสิ่งมีชีวิตยุคปัจจุบัน ด้วยการใช้เทคนิคการวิเคราะห์ทางเคมีขั้นสูง พวกมันสามารถสกัดโมเลกุลสเตอรอลที่มีอยู่ในเนื้อเยื่อฟอสซิล

ด้วยเอกลักษณ์ทางโมเลกุล นักวิทยาศาสตร์ก็สามารถบอกได้ว่ามันกินอะไรเข้าไปก่อนตาย นั่นคือ สาหร่ายและแบคทีเรียอื่น ๆ จากพื้นมหาสมุทร ซึ่งเป็นสิ่งที่อุดมไปด้วยสารอาหารและอาจมีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตของมัน

“อาหารที่อุดมไปด้วยพลังงานอาจอธิบายได้ว่าทำไมสิ่งมีชีวิต ‘อีดีแอคารัน ไบโอตา’ จึงมีขนาดใหญ่มาก ฟอสซิลเกือบทั้งหมดที่มาก่อนสิ่งมีชีวิตกลุ่มนี้นั้นมีขนาดเซลล์เดียวและมีขนาดเล็กมาก” บร็อคส์กล่าว “(คิมเบอเรลลา) ทิ้งร่องรอยการกินอาหารไว้โดยการขูดสาหร่ายที่ปกคลุมพื้นทะเลออก บ่งชี้ว่ามันมีลำไส้ และการวิเคราะห์โมเลกุลก็สามารถบอกได้ว่ามันกินอะไร กินอย่างไร และข้อมูลอาหารที่ย่อยแล้ว”

นอกจากนี้พวกเขายังพบฟอสซิลของสิ่งมีชีวิตอีกประเภทหนึ่งคือ ‘ดิกินโซเนีย (Dickinsonia)’ ซึ่งบ่งบอกว่าไม่มีปากและลำไส้ พวกเขาคาดว่ามันน่าจะใช้การดูดซึมอาหารผ่านทางผิวหนังแทน ทีมวิจัยบรรยายว่าสิ่งมีชีวิตพวกนี้อาศัยอยู่บนโลกก่อนการเกิด ‘การระเบิดยุคแคมเบรียน (Cambrian Explosion)’ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่สิ่งมีชีวิตอุบัติขึ้นอย่างมากมายอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อน และ ‘คิมเบอเรลลา’ ก็กลายมาเป็นตัวเราในทุกวันนี้

“นี่เป็นช่วงเวลาแห่งการค้นพบสำหรับเรา ด้วยการใช้สารเคมีที่เก็บรักษาไว้ในฟอสซิล ทำให้ตอนนี้เราสามารถมองเห็นลำไส้ของสัตว์ได้ แม้ว่าไส้ในจะสลายไปนานแล้ว” บร็อคส์กล่าว “พวกมันเป็นกลุ่มผสมซึ่งมีคุณสมบัติทางสรีรวิทยาบางอย่างที่คล้ายคลึงกับมนุษย์และสัตว์อื่น ๆ ในปัจจุบัน” เขาอธิบาย “สิ่งมีชีวิตเหล่านี้คือรากเหง้าที่หยั่งลึกที่สุดของเรา”

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
Photograph by Dr Ilya Bobrovskiy/GFZ-Potsdam
เผยแพร่ครั้งแรก พฤศจิกายน 2022

ที่มา

https://www.cell.com/current-biology/fulltext/S0960-9822(22)01699-2

https://www.theguardian.com/science/2022/nov/23/the-real-paleo-diet-researchers-find-traces-of-worlds-oldest-meal-in-550m-year-old-fossil

https://edition.cnn.com/2022/11/25/world/oldest-meal-550-million-year-old-fossil-intl-scli-scn/index.html

https://www.anu.edu.au/news/all-news/world%E2%80%99s-oldest-meal-offers-food-for-thought

บทความที่เกี่ยวข้อง

ม.สารคาม พบ ‘ฟอสซิล ปลาซีลาแคนธ์ ’ ยุคครีเทเชียส อายุ 300 กว่าล้านปี

Recommend