งานวิจัยใหม่อ้าง บรรพบุรุษมนุษย์เคยอยู่ร่วมกันกับ ไดโนเสาร์ ท่ามกลางการถกเถียงที่ยาวนานของนักบรรพชีวินวิทยา

งานวิจัยใหม่อ้าง บรรพบุรุษมนุษย์เคยอยู่ร่วมกันกับ ไดโนเสาร์ ท่ามกลางการถกเถียงที่ยาวนานของนักบรรพชีวินวิทยา

มนุษย์เคยอยู่ร่วมกับ ไดโนเสาร์ บทความในวารสาร Current Biology ได้ระบุว่าในยุคที่ไดโนเสาร์ยังคงรุ่งโรจน์เมื่อประมาณ 70 ถึง 80 ล้านปีก่อน บรรพบุรุษของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีรก เช่น สุนัข แมว ม้า ค้างคาว หนู และรวมถึงมนุษย์ด้วย ได้กำเนิดขึ้นมาใช้ชีวิตเคียงข้างกับไดโนเสาร์แล้ว

เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมาอย่างยาวนานในหมู่นักวิชาการ เนื่องจากมีกลุ่มที่คิดว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีรกเกิดขึ้นหลังจากที่ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปแล้ว กับกลุ่มที่เชื่อว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเกิดมาในตอนที่ไดโนเสาร์ยังมีชีวิตอยู่ เพราะหลักฐานที่ไม่ชัดเจน ทำให้นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ได้ข้อสรุป

ปกติแล้วผู้เชี่ยวชาญจะศึกษาสิ่งมีชีวิตในอดีตผ่าน 2 แนวทางหลักคือ จากซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิล และจากพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ แต่สำหรับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมโดยเฉพาะสายพันธุ์ที่มีรกนั้น หลักฐานทั้งสองต่างก็มีช่องว่างเต็มไปหมด โดยนักวิทยาศาสตร์มีฟอสซิลของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอดีตเมื่อประมาณ 65 ล้านปีก่อนหลังจากสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของไดโนเสาร์อยู่แค่ 2-3 สายพันธุ์ นั่นหมายความว่าบรรพบุรุษของเราเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์นี้ใช่หรือไม่?

แต่การศึกษาดีเอ็นกลับบอกอีกอย่างว่า พันธุกรรมของสัตว์ที่มีรกเกิดขึ้นเมื่อราว 80 ล้านปีก่อน ซึ่งก่อนหน้าฟอสซิลถึง 20 ล้านปีและไดโนเสาร์ยังคงครองโลก แล้วแนวคิดใดถูกต้อง?

ทีมวิจัยจึงใช้วิธีใหม่ที่เรียกว่า ‘แบบจำลอง Bayesian Brownian Bridge’ (BBB) ซึ่งเป็นสูตรการคำนวณทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้ในการศึกษาการกระจายของซากดึกดำบรรพ์ และประเมินข้อมูลทางสถิติ ระหว่างฟอสซิลกับพันธุกรรมในการวิวัฒนาการ

“เรารวบรวมฟอสซิลของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีรกหลายพันธุ์ (ทั้งปัจจุบันและอดีต) เข้าด้วยกัน และสามารถดูรูปแบบการกำเนิดและการสูญพันธุ์ของกลุ่มต่าง ๆ จากข้อมูลนี้” เอมิลี่ คาร์ไลอย์ (Emily Carlisle) หัวหน้าทีมวิจัยกล่าว “เราสามารถประเมินได้ว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีรกวิวัฒนาการขึ้นเมื่อใด”

พวกเขาระบุว่า แบบจำลอง BBB ได้ให้ผลลัพธ์เรื่องการมีอยู่ของบรรพบุรุษของเราเมื่อประมาณ 70-80 ล้านปีก่อน กล่าวอีกอย่างคือบรรพบุรุษของเราเคยมีชีวิตอยู่ร่วมกับไดโนเสาร์อยู่นานถึง 20 ล้านปี ก่อนที่ไดโนเสาร์จะสูญพันธุ์ในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่ทราบว่าสิ่งมีชีวิตนั้นมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร แต่คาดว่ามีขนาดค่อนข้างเล็ก

“น่าเสียดายที่เราไม่รู้ว่าบรรพบุรุษของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในรกของเราจะมีหน้าตาเป็นอย่างไรในตอนนั้น” คาร์ไลอย์ กล่าว “ซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีรกในยุคแรกสุดหลายชนิดเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าบรรพบุรษของเรา หลายตัวยังมีขนาดเล็ก”

เมื่อไดโนเสาร์หายไป สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมก็วิวัฒนาการขึ้นมา จากนั้นก็แพร่กระจายไปทั่วโลกจนมาเป็นเราในทุกวันนี้

ปัจจุบัน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีรกเป็นสิ่งมีชีวิตในกลุ่มที่มีมากและแพร่หลายมากที่สุด ขณะที่อีก 2 ประเภทของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมีจำนวนน้อยลงมาอย่างเห็นได้ชัดนั่นคือ กลุ่มโมโนทรีมาทา (Monotremata) หรือตัวตุ่นปากเป็ดที่ออกลูกเป็นไข่ และกลุ่มสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้องอย่างจิงโจ้และโคอาล่า

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://www.cell.com/current-biology/fulltext/S0960-9822(23)00767-4

https://www.indy100.com/science-tech/humans-living-with-dinosaurs-scientists

https://theconversation.com/did-our-mammal-ancestors-live-alongside-dinosaurs-new-research-hopes-to-end-long-running-debate-208694

https://www.bbc.co.uk/newsround/66044011

อ่านเพิ่มเติม พบฟอสซิลอายุ 230 ล้านปี เป็นไดโนเสาร์ที่เก่าแก่ที่สุดในทวีปแอฟริกา

Recommend