มินิโมเคอร์เซอร์ ไดโนเสาร์ตัวใหม่ตัวที่ 13 ที่พบในประเทศไทย

มินิโมเคอร์เซอร์ ไดโนเสาร์ตัวใหม่ตัวที่ 13 ที่พบในประเทศไทย

ไดโนเสาร์ตัวใหม่ของประเทศไทย มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส ทึ่ จ. กาฬสินธุ์ โดยทีมนักบรรพชีวินวิทยาจาก ม.มหาสารคาม เป็นตัวที่ 13 ของประเทศ ชี้ให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ด้านสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ในพื้นที่ของไทย

มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส (Minimocursor phunoiensis) คือชื่อทางวิทยาศาสตร์เต็ม ๆ ของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กชนิดนี้ โดยทีมวิจัยคิดว่าตัวที่พบนี้ยังไม่โตเต็มที่เนื่องจากรอยประสานกันของกระดูกสันหลังไปที่หางยังมีลักษณะดูเป็นตัวเด็กเมื่อเทียบกับฟอสซิลตัวโตอื่น ๆ

ทำให้มันมีขนาดราว 0.6 เมตร แต่ก็สามารถโตเต็มที่ได้ประมาณ 2 เมตร ทีมงานได้ค้นพบกระดูกที่สมบูรณ์มากมายไม่ว่าจะเป็นกระดูกลำตัว ชิ้นส่วนกะโหลก กระดูกมือ ขาและหาง หรือแม้แต่เส้นเอ็นที่กลายเป็นฟอสซิล ทำให้การค้นพบนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งเนื่องจากเป็นการพบเส้นเอ็นครั้งแรกสุดในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“มินิโมเคอร์เซอร์ เป็นหนึ่งในไดโนเสาร์ที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดีที่สุดเท่าที่เราเคยพบมาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” รายงานวิจัยระบุ “การศึกษานี้ให้ความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับวิวัฒนาการในยุคแรกและความหลากหลายทางอนุกรมวิธานของนีออร์นิธิสเชียนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

นีออร์นิธิสเชียน (Neornithischia) เป็นกลุ่มของไดโนเสาร์กินพืชสะโพกเล็ก ซึ่งมีเอกลักษณ์ตรงที่มีชั้นเคลือบฟันที่หนากว่า ทำให้พวกมันสามารถกินพืชที่แข็งแรงกว่าไดโนเสาร์ชนิดอื่น ๆ อย่างไรก็ตามยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในหมู่นักวิชาการว่าพวกมันเริ่มถือกำเนิดขึ้นเมื่อไหร่

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า นิออร์นิธิสเชียนรุ่นแรกสุดคือ ‘ซานเซียซอรัส โมเดาซิเอนซิส’ (Sanxiasaurus modaoxiensis) ในประเทศจีน ทำให้เชื่อกันว่าไดโนเสาร์กลุ่มนี้ที่พบในเอเชียอาจมีพื้นฐานเดียวกัน และคาดว่า มินิโมเคอร์เซอร์ ในการค้นพบนี้มีชีวิตอยู่ในช่วงยุคจูแรสซิกตอนปลายหรือเมื่อราว ๆ 199 ล้านปีก่อน

การวิเคราะห์สายวิวัฒนาการชี้ให้เห็นว่า มินิโมเคอร์เซอร์ เป็นหนึ่งในกลุ่มนีออร์ริธิสเชียนพื้นฐานที่สุด และคาดว่าเป็นตัวเชื่อมการวิวัฒนาการของไดโนเสาร์กลุ่มนี้ระหว่างยุคจูแรสซิกตอนปลายกับยุคครีเทเชียสตอนต้น
.
“มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส ถือเป็นบันทึกที่เก่าแก่ที่สุดของไดโนเสาร์กลุ่มนีออร์นิธิสเชียนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ทีมวิจัยเขียน “การค้นพบนี้ช่วยเพิ่มความหลากลายและจะช่วยอธิบายวิวัฒนาการของไดโนเสาร์ยุคแรก ๆ ของภูมิภาคนี้ต่อไป”

รายงานนี้ทำให้พื้นที่ขุดค้นซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย อำเภอคำม่วง จ.กาฬสินธุ์ เป็นอีกหนึ่งแหล่งความหลากหลายทางด้านสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการค้นพบฟอสซิลของไดโนเสาร์ที่หลากหลาย และคาดว่าเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของหลายสายพันธุ์

ไม่ว่าจะเป็น อะโครดัส กาฬสินธุ์เอนซิส (Acrodus kalasinensis), กาฬสินธุ์นีมีส ปราสาททองโอสถถิ (Kalasinemys prasarttongosothi)
หรือ “อินโดซิโนซูคัส โปเตโมสยามเอนซิส” (Indosinosuchus potamosiamensis) รวมถึงมินิโมเคอร์เซอร์ตัวนี้ด้วยเช่นกัน

โครงการวิจัยนี้เป็นความร่วมมือระหว่างทีมนักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กับพิพิธภัณฑ์สิรินธร กรมทรัพยากรธรณี และได้รับการสนับสนุนการเงินจากสำนักงานคณะกรรมส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.)

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มาและงานวิจัยฉบับเต็ม https://www.mdpi.com/1424-2818/15/7/851?fbclid=IwAR2Wk0xUEUfJJYbmGgbHKUGR5Fp5Ox7fcjOkEwr4B7E9J4eQe40pombSCuI

อ่านเพิ่มเติม งานวิจัยใหม่อ้าง บรรพบุรุษมนุษย์เคยอยู่ร่วมกันกับ ไดโนเสาร์ ท่ามกลางการถกเถียงที่ยาวนานของนักบรรพชีวินวิทยา

 

Recommend