สืบ นาคะเสถียร 33 ปีแห่งการจากไปของชายที่อุทิศชีวิตให้ผืนป่าและผองสัตว์ ผู้ผลักดันห้วยขาแข้งจนเป็นมรดกโลก

สืบ นาคะเสถียร 33 ปีแห่งการจากไปของชายที่อุทิศชีวิตให้ผืนป่าและผองสัตว์ ผู้ผลักดันห้วยขาแข้งจนเป็นมรดกโลก

ทุกวันที่ 1 กันยายน ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวัน สืบ นาคะเสถียร เพื่อรำลึกถึงความดี ความทุ่มเท ความเสียสละของ นายสืบ นาคะเสถียร อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและนักอนุรักษ์ชื่อดังของไทย ซึ่งปีนี้จะครบวาระ 33 ปี แห่งการจากไปของเขา

ทั้งนี้ สืบ นาคะเสถียร คือผู้ที่ทำให้คนไทยหันมาสนใจเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ และต่อมาทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้งกลายมาเป็น มรดกโลกทางธรรมชาติของโลก ที่ถูกขึ้นทะเบียนโดยยูเนสโก เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2534

ประวัติ สืบ นาคะเสถียร

สืบ นาคะเสถียร กิดเมื่อวันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม ที่ตำบลท่างา อำเภอเมืองจังหวัดปราจีนบุรี เป็นลูกของนายสลับ นาคะเสถียร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีน และนางบุญเยี่ยม นาคะเสถียร มีพี่น้องทั้งหมดสามคน สืบ นาคะเสถียร มีนิสัยทำอะไรมักจะทำให้ได้ดีตั้งแต่เด็ก และเมื่อจบประถม 4 สืบ นาคะเสถียร ได้ย้ายไปเรียนโรงเรียนเซ็นต์หลุยส์ จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นนักเป่าทรัมเป็ตมือหนึ่ง และนักวาดภาพฝีมือดีของโรงเรียน

เมื่อปี 2510-2514 สืบ นาคะเสถียร อยากเรียนสถาปัตยกรรมเพราะชื่นชอบด้านศิลปะ แต่สอบติดคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์รุ่นที่ 35 เมื่อสำเร็จการศึกษา สืบ นาคะเสถียร ได้เข้าทำงานที่ส่วนสาธารณะการเคหะแห่งชาติ และไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขาวนวัฒน์วิทยา คณะวนศาสตร์

ด้านชีวิตการทำงาน สืบ นาคะเสถียร ไม่เคยใช้เส้นสายเลยแม้ว่าจะมีพ่อเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด เขาเข้ารับการเกณฑ์ทหารตามกฏหมาย ก่อนจะสอบเข้ากรมป่าไม้ได้ แต่เลือกที่จะมาทำงานที่กองอนุรักษ์สัตว์ป่า ประจำที่เขตรักษาพันธุ์ สัตว์ป่า เขาเขียว-เขาชมพู่จังหวัดชลบุรี ต่อมาปี พ.ศ. 2522 เขาได้รับทุนจาก British Council ไปเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษในสาขาอนุรักษ์วิทยา

กระทั่ง ปี 2524 สืบ นาคะเสถียร กลับมารับราชการที่ไทย ดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ และเริ่มงานวิจัยชิ้นแรก คือการศึกษาการทำรังวางไข่ของนกบางชนิด ที่อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี

เหตุการณ์สร้างชื่อ

ก่อนที่จะรับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สืบ นาคะเสถียร มีเหตุการณ์สร้างชื่อ 3 อย่างคือเป็นข้าราชการไม่กี่คนที่ออกมาคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนน้ำโจน บริเวณเทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งจะส่งผลให้เกินนํ้าท่วมป่าเกิน 1 แสนไร่ จนการลงพื้นที่ทำวิจัยของเขาทำให้กรรมการยอมยุติโครงการสร้างเขื่อนนี้ลงในตอนนั้น

นอกจากนี้ ในปี 2529 สืบ นาคะเสถียร เป็นแกนนำในการอพยพสัตว์ป่าในช่วงที่มีเขื่อนเชี่ยวหลานในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งโครงการนั้นสามารถช่วยเหลือสัตว์ป่าได้นับพัน โดยเขายังได้ค้นพบรังนกกระสาคอขาวปากแดงครั้งแรกในประเทศไทยด้วย และเกือบทุกครั้งที่ สืบ ได้อภิปรายในที่สาธารณะเรื่องป่าและสัตว์ป่า เขาจะเริ่มต้นประโยคว่า ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่า เพราะสัตว์ป่าพูดไม่ได้

ขณะที่ในปี 2531 สืบ นาคะเสถียร และเพื่อนอนุรักษ์ได้ออกมาคัดค้านบริษัทไม้อัดไทยที่จะขอสัมปทานทำไม้ในป่าห้วยขาแข้ง เขาระบุว่า “คนที่อยากอนุญาตให้ทำไม้ก็เป็นกรมป่าไม้ คนที่จะรักษาก็เป็นกรมป่าไม้เหมือนกัน” ซึ่งเหตุการณ์นี้สร้างความไม่พอใจให้กับพวกลักลอบตัดไม้ในพื้นที่อย่างมาก

วันสืบ นาคะเสถียร

ทิ้งทุนปริญญาเอกเพื่อรับตำแหน่งในห้วยขาแข้ง

ในปี พ.ศ. 2532 สืบ นาคะเสถียร ได้รับทุนเรียนต่อปริญญาเอกที่ประเทศอังกฤษ แต่เขาตัดสินใจทิ้งอนาคตในการเป็นด็อกเตอร์ การเติบโตนหน้าที่ทำงาน มารับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

สืบ นาคะเสถียร พบปัญหาต่างๆ มากมายในห้วยขาแข้ง ทั้งปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์ของนายพราน ทหารและผู้มีอิทธิพล และเมื่อเจ้าหน้าที่ป่าไม้จับตัวคนร้ายส่งก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยตัวออกมาทำผิดซํ้าๆ

ส่วนงบประมาณก็น้อยนิดไม่ถึง 2 ล้านบาท มีเจ้าหน้าที่เพียงร้อยกว่าคน แต่ต้องดูแลผืนป่าที่มีความกว้างกว่า 1 ล้าน 6 แสนไร่ หรือใหญ่กว่ากรุงเทพฯ 1 เท่าตัว ไม่แปลกที่ปัญหาในพื้นที่จะลุกลามขึ้นเรื่อยๆ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าถูกยิงเสียชีวิตแทบทุกเดือน ชาวบ้านรอบป่าอยู่กันอย่างอดอยาก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่เคยได้รับความสนใจจากผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเลย

วันที่เสียงปืนดังขึ้นหนึ่งนัด แต่กึกก้องไปทั่วประเทศ

เช้าวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2533 สืบ นาคะเสถียร สะสางานของตัวเอง เขียนพินัยกรรมไว้ ก่อนกระทำอัตวิบาตรกรรม เพื่อเรียกร้องให้สังคมและราชการหันมาสนใจปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างจริงจัง ซึ่งสาเหตุมาจากความสิ้นหวังในระบบราชการไทย ตัวเองไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่านี้ในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ หลังถูกหน่วยงานรัฐเพิกเฉย ไม่ให้ความร่วมมือ แม้ว่าเขาจะเคยยอมหอบเอาเอกสารหลักฐานความผิดของกลุ่มคนร้ายไปขอความช่วยเหลือจากรัฐมนตรี แต่ก็ถูกปฏิเสธ

อย่างไรก็ตาม หลังความตายของ สืบ นาคะเสถียร กลายเป็นข่าวโด่งดัง นักการเมืองและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จำนวนมากจึงเดินทางมาที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเพื่อติดตามปัญหา บางคนเข้ามาสานต่องานของเขา โดยผู้ใหญ่และเพื่อนนักอนุรักษ์ได้ร่วมกันก่อตั้ง มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ขึ้นเพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของเขาในวันที่ 18 กันยายน 2533

สำหรับภารกิจสุดท้ายที่ สืบ นาคะเสถียร ทิ้งไว้เป็นมรดกของชาติ คือการทุ่มเทเขียนรายงานนำเสนอยูเนสโกให้พิจารณาให้ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลก คือสิ่งค้ำประกันให้พื้นที่แห่งนี้ได้รับการคุ้มครองเต็มที่ และต่อมาความฝันของเขาก็สำเร็จในปี 2534

จดหมายสุดท้ายของ สืบ นาคะเสถียร

“ผมมีเจตนาที่จะฆ่าตัวเอง โดยไม่มีผู้ใดเกี่ยวข้องในกรณีนี้ทั้งสิ้น”

ลงชื่อ สืบ นาคะเสถียร 31 ส.ค. 33

กิจกรรมวัน สืบ นาคะเสถียร 1 กันยายน 2566

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และเครือข่ายอนุรักษ์ร่วมจัดกิจกรรมรำลึก 33 ปี สืบนาคะเสถียร ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม – 1 กันยายน 2566

ในวันที่ 31 สิงหาคม 2566 เชิญชวนผู้ร่วมกิจกรรมชมนิทรรศการจากเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เดินป่าศึกษาธรรมชาติของผืนป่าห้วยขาแข้ง กิจกรรม ART WORKSHOP กับเพื่อนๆ พี่น้องศิลปินอาสาสมัคร (ลงทะเบียนล่วงหน้า) ชมดนตรี ฟังเสวนา และจุดเทียนรำลึก

นอกจากนี้ในวันดังกล่าวยังมีการประชุมเครือข่ายชุมชนรอบผืนป่าห้วยขาแข้ง ที่เราตกลงกันว่า 31 สิงหาคม เป็นวันประชุมร่วมกัน หลังจากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมางดประชุมรวมกันไปเสียหลายปี

แถมด้วยการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีในการร่วมมือร่วมใจกันร่วมรักษาป่ามรดกโลกทางธรรมชาติให้มีทิศทางไปในทางเดียวกัน

และวันที่ 1 กันยายน 2566 เชิญชวนร่วมทำบุญพิธีสงฆ์ และวางหรีดรำลึกสืบนาคะเสถียร และนิทรรศการยังคงเปิดให้ผู้ร่วมงานได้ชมและพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน จนถึงเวลาเที่ยงของวันที่ 1

สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์

ขอบคุณภาพจาก มูลนิธิ สืบ นาคะเสถียร

อ้างอิง

https://www.seub.or.th/bloging/ work/2023-226/

https://www.youtube.com/watch?v=BuW-9yLlE_ c&t=827s

อ่านเพิ่มเติม สืบ นาคะเสถียร สืบสานงานอนุรักษ์ของบุรุษผู้ยิ่งใหญ่

Recommend