ภาพร่างที่ถูกวาดไว้ตามผนังของห้องลับใต้โบสถ์เล็ก ๆ แห่งหนึ่งในเมืองฟลอเรนซ์ อาจเป็นผลงานที่ ไมเคิลแองเจโล ( มีเกลันเจโล ) สรรค์สร้างขึ้นระหว่างที่หลบซ่อนตัวจากตระกูลเมดีชีในช่วงปี 1530
ไมเคิลแองเจโล – เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ในปี ค.ศ. 1975 เปาโล ดัล ปอจเจตโต (Paolo Dal Poggetto) ผู้อำนวยการของพิพิธภัณฑ์โบสถ์เมดีชี (Medici Chapels museum) ได้ค้นพบสมบัติจากยุคเรอเนสซองส์เข้าโดยบังเอิญ
ในขณะที่ดัล ปอจเจตโตและเพื่อนร่วมงานกำลังมองหาพื้นที่เพื่อสร้างทางออกแห่งใหม่สำหรับนักท่องเที่ยวอยู่นั้น พวกเขาได้ค้นพบประตูที่ถูกซ่อนอยู่ใต้ตู้เก็บเสื้อผ้า ใกล้กับห้องเก็บเครื่องพิธี (New Sacristy) ซึ่งถูกใช้เป็นห้องสุสานของผู้ปกครองตระกูลเมดีชี ใต้ประตูลับบานนั้นมีบันไดหินแคบ ๆ ที่นำไปสู่ห้องทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีความยาว 10 เมตร กว้าง 3 เมตร และสูง 2.4 เมตร เมื่อเข้าไปครั้งแรกห้องนี้ดูเหมือนจะเป็นเพียงที่เก็บถ่านหินเท่านั้น ทว่าเมื่อสำรวจตามกำแพงของห้อง ดัล ปอจเจตโตและเพื่อนร่วมงานกลับได้พบกับภาพร่างต่าง ๆ ที่พวกเขาเชื่อกันว่าเป็นร่องรอยที่ มีเกลันเจโล (Michelangelo) หรือที่รู้จักในชื่อ ไมเคิลแองเจโล ศิลปินชื่อดังแห่งยุคเรอเนสซองส์ ขีดเขียนขึ้นด้วยถ่านและชอล์ก
เมื่อปี 2017 เปาโล วูดส์ (Paolo Woods) ช่างภาพของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ได้รับโอกาสจากโมนิกา บีเอ็ตตี (Monica Bietti) ซึ่งเป็นผู้อำนวยการของพิพิธภัณฑ์โบสถ์เมดีชีในขณะนั้น ในการเข้าไปเก็บภาพสำคัญที่ถูกวาดไว้ตามผนังของห้องลับออกมาให้สาธารณชนได้รับชม
เบื้องหลังของผู้ที่ทำให้ภาพวาดบนกำแพงของมีเกลันเจโลยังไม่จางหายไปตามกาลเวลาคือ ดัล ปอจเจตโต เมื่อค้นพบสถานที่ลับใต้ดินแห่งนี้เป็นครั้งแรก เขาเข้าไปสำรวจห้องอย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายใด ๆ ขึ้นกับสิ่งที่อยู่ภายใน และด้วยความที่เมืองฟลอเรนซ์มีประวัติศาสตร์อันยาวนานเกี่ยวกับศิลปินคนสำคัญในยุคเรอเนสซองส์ ดัล ปอจเจตโตจึงเกิดความคิดขึ้นว่า บางทีใต้ผนังที่ถูกปูนฉาบไว้อาจจะมีอะไรบางอย่างที่มีความสำคัญซ่อนเอาไว้
บีเอ็ตตีบอกกับทางเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกไว้ว่า “ยิ่งเรามีสิ่งก่อสร้างหรืออาคารที่เก่าแก่มาก ๆ เรายิ่งต้องให้ความสนใจกับมัน” และเนื่องจากภาพร่างที่พบตามผนังในห้องลับไม่มีทั้งชื่อผู้วาดและวันที่ระบุไว้ ดังนั้น คำถามสองข้อที่เป็นที่ถกเถียงหลังสถานที่แห่งนี้ถูกค้นพบคือ เจ้าของผลงานเหล่าคือใคร และภาพเหล่านั้นถูกวาดขึ้นเมื่อไร
แม้ในอดีต ห้องลับแห่งนี้จะถูกจำกัดการเข้าถึง แต่เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ปี 2023 ที่ผ่านมา ทางพิพิธภัณฑ์โบสถ์เมดีชีได้ทดลองเปิดห้องใต้ดินแห่งนี้ให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมแล้ว สำหรับการเข้าชมนั้นจะมีการเก็บค่าเข้าชม 20 ยูโร หรือคิดเป็นเงินไทยราว ๆ 755 บาทต่อคน ในแต่ละรอบจะมีการจำกัดผู้เข้าชมเพียงครั้งละ 4 คน โดยต้องมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของพิพิธภัณฑ์ลงไปด้วย และอนุญาตให้อยู่ในห้องได้สูงสุดเพียงครั้งละ 15 นาที
ศิลปินที่ต้องหลบซ่อน
ภายใต้การกำกับดูแลของดัล ปอจเจตโต ผู้เชี่ยวชาญได้ใช้เวลาหลายสัปดาห์ไปกับการใช้มีดผ่าตัดค่อย ๆ เฉือนเอาปูนปลาสเตอร์ที่ฉาบผนังเอาไว้ออกอย่างระมัดระวัง เมื่อชั้นปูนถูกเฉือนออกจนหมดแล้ว นอกจากภาพวาดหลายสิบภาพจะปรากฏให้เห็น ทีมผู้เชี่ยวชาญยังพบว่าภาพร่างบนผนังจำนวนไม่น้อยมีลักษณะคล้ายคลึงกับผลงานอันยิ่งใหญ่ของมีเกลันเจโล ยกตัวอย่างเช่น รูปปั้นหินอ่อนรูปมนุษย์ที่ประดับอยู่ตามโลงศพของจูเลียโน เดอ เมดิชี (Giuliano de’ Medici) ในห้องสุสานเหนือห้องลับแห่งนี้ ซึ่งมีเกลันเจโลออกเป็นผู้ออกแบบเอง
ดัล ปอจเจตโตสรุปว่า เมื่อปี 1530 มีเกลันเจโล หรือศิลปินที่อยู่เบื้องหลังภาพบนผนังเซ่อนตัวอยู่ในห้องใต้ดินแห่งนี้เป็นระยะเวลาราว ๆ สองเดือน เพื่อหลบหนีจากคนของตระกูลเมดิชี สาเหตุที่ทำให้ศิลปินชื่อดังแห่งยุคต้องหลบหนีเช่นนี้ก็เป็นเพราะเขาตัดสินใจทรยศเมดิชี และเข้าร่วมกับชาวเมืองฟลอเรนซ์ในการลุกฮือขึ้นต่อต้านการปกครองของคนจากตระกูลนี้จนทำให้ผู้ปกครองเมืองตระกูลเมดีชีถูกเนรเทศในปี 1527 ทว่า ไม่กี่ปีต่อมา ตระกูลเมดีชีก็สามารถกลับเข้าสู่อำนาจได้อีกครั้ง ชีวิตของมีเกลันเจโลในวัย 55 ปีจึงตกอยู่ในอันตาย บีเอ็ตตีกล่าวว่า “เป็นธรรมดาที่มีเกลันเจโลจะรู้สึกหวาดกลัวและเลือกที่จะหนีไปหลบภัยในห้องลับ”
บีเอ็ตตีเสริมว่า เธอคิดว่ามีเกลันเจโลใช้เวลาอันโดดเดี่ยวสัปดาห์แล้วสัปดาห์เล่าไปกับการพิจารณาชีวิตและงานศิลปะของเขา ภาพวาดบนผนังแสดงให้เห็นถึงผลงานหลาย ๆ ชิ้นที่เขาตั้งใจจะทำให้เสร็จ และยังแสดงให้เห็นผลงานชิ้นเอกชิ้นต่าง ๆ ที่เขาสรรค์สร้างขึ้นก่อนหน้านี้ เช่น รายละเอียดจากรูปปั้นเดวิดซึ่งสร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี 1504 และรูปคนจากภาพจิตรกรรมในโบสถ์ซิสทีน (Sistine Chapel) ซึ่งวาดเสร็จสมบูรณ์ในปี 1512 “เขาคืออัจฉริยะ เขาไปทำอะไรที่นั่นบ้าง แค่วาดภาพ” บีเอ็ตตีกล่าวปิดท้ายด้วยความชื่นชมในความคิดสร้างสรรค์อันไร้ขีดจำกัดของมีเกลันเจโล
ข้อสงสัยที่ยังค้างคา
เช่นเดียวกับงานศิลปะอื่น ๆ ที่ถูกวาดขึ้นเมื่อหลายร้อยปีก่อน การยืนยันที่มาที่แน่ชัดของภาพวาดในห้องลับใต้โบสถ์เมดีชีนั้นเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้ ผู้คนส่วนใหญ่ดูเหมือนจะเห็นพ้องต้องกันว่า ลายเส้นของภาพบางภาพบนกำแพงดูไร้ความชำนาญเกินกว่าที่จะเป็นผลงานของศิลปินแห่งยุคอย่างมีเกลันเจโล อย่างไรก็ดี ที่มาของภาพอื่น ๆ ที่เหลือนั้นยังคงเป็นประเด็นที่ผู้คนถกเถียงกันด้วยความคิดเห็นที่หลากหลาย
ภายหลังการค้นพบห้องลับในปี 1975 ผู้เชี่ยวชาญศิลปะเรอเนสซองส์ที่มีชื่อเสียงได้ยกย่องภาพร่างตามผนังที่ถูกรวบรวมไว้ในห้องให้เป็นหนึ่งในการค้นพบทางศิลปะครั้งสำคัญในศตวรรษที่ 20 ทว่าวิลเลียม วอลเลซ (William Wallace) นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านงานศิลปะของมีเกลันเจโล จากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน เซนต์หลุยส์ กลับยังมีข้อกังขากับภาพวาดเหล่านี้อยู่
วอลเลซเชื่อว่า ศิลปินที่โด่งดังและเป็นที่นับถืออย่างมีเกลันเจโลอาจไม่ได้เลือกที่จะใช้ห้องใต้ดินของโบสถ์เป็นสถานที่หลบภัยด้วยตนเอง แต่มีหนึ่งในผู้อุปถัมภ์อำนวยความสะดวกให้เขามาซ่อนตัวและทำงานอยู่ที่นี่ นอกจากนั้น วอลเลซยังตั้งข้อสงสัยขึ้นว่า บรรดาภาพวาดในห้องอาจจะถูกวาดขึ้นก่อนช่วงเวลาที่คาดการณ์ไว้ ภาพตามผนังเหล่านั้นอาจจะถูกวาดจนเสร็จสมบูรณ์ ณ เวลาใดเวลาหนึ่งในช่วงทศวรรษที่ 1520 ช่วงที่มีเกลันเจโลและผู้ช่วยจำนวนหนึ่งหยุดพักจากการเรียงอิฐและตัดหินอ่อน เพื่อนำไปใช้ในการตกแต่งห้องสุสานที่กำลังสร้างอยู่ด้านบน
หลังพิจารณาถึงความไม่แน่นอนของเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นแล้ว วอลเลซมองว่าห้องใต้ดินแห่งนี้เป็นพื้นที่แห่ง “ความลับ” เพราะในห้องนี้มีบ่อน้ำที่เขาเชื่อว่า อาจจะมีไว้เพื่อให้มีเกลันเจโลและผู้ช่วยใช้ในการผสมปูน ทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ และใช้ดื่มกินในช่วงฤดูร้อน ในปี 2017 วอลเลซบอกกับทางเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกว่า พวกเขาคงจะเดินขึ้นลงบันไดมายังห้องนี้ตลอดทั้งวัน และเขาได้ยืนยันอีกครั้งในอีเมลที่เขียนว่า “ห้องที่ค้นพบไม่ใช่ห้องลับแต่อย่างใด แต่เป็นห้องที่เป็นส่วนสำคัญของโบสถ์”
วอลเลซกล่าวว่า มีภาพวาดหลายชิ้นที่อาจจะถูกวาดขึ้นโดยมีเกลันเจโล แต่ก็มีภาพอื่น ๆ ที่อาจจะถูกวาดขึ้นโดยผู้ช่วยและคนงานที่พยายามหาทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวงานศิลปะชิ้นต่าง ๆ หรือคนที่หาอะไรทำเพื่อความสนุกในระหว่างพัก เขายังกล่าวอีกว่า “เราไม่สามารถแยกได้ว่าภาพไหนเป็นภาพที่มีเกลันเจโลวาดด้วยตัวเอง” และเสริมว่า แม้ว่าผู้อยู่เบื้องหลังภาพแต่ละภาพจะยังคงเป็นปริศนาอยู่ แต่มันก็ไม่ได้ลดทอนคุณค่าของภาพวาดหรือความสำคัญของการค้นพบในครั้งนี้ลงแม้แต่น้อย
นอกจากนั้น วอลเลซยังเล่าว่า “การเข้าไปอยู่ในห้องใต้ดินเป็นอะไรที่น่าตื่นตาตื่นใจมาก คุณจะรู้สึกว่าตัวเองมีสิทธิพิเศษ เพราะได้เข้าไปชมกระบวนการการทำงานระหว่างอาจารย์ชื่อดังแห่งยุค ลูกศิษย์ และผู้ช่วยอย่างใกล้ชิด” ห้องลับแห่งนี้จะกระตุ้นให้ผู้ที่โชคดีพอที่จะมีโอกาสได้ลงไปเยี่ยมชมเกิดการตอบสนองทางอารมณ์ต่อภาพที่เห็น เพราะการเข้าไปยืนอยู่ในห้องและมองภาพวาดอันงดงามบนผนังทั้งสี่ด้านที่มีแสงสลัวจากหน้าต่างตรงมุมห้องพาดผ่าน จะทำให้รู้สึกเหมือนว่าเราได้มองลึกเข้าไปในจิตใจของมีเกลันเจโล ศิลปินเจ้าของผลงานอันน่าทึ่งที่ประดับตกแต่งอยู่ในโบสถ์แห่งนี้
“มีเกลันเจโลเป็นคนที่เกิดมาพร้อมกับความสามารถที่ไม่มีที่สิ้นสุด ตลอดช่วงชีวิต 89 ปี เขาไม่เคยที่จะหยุดสร้างผลงานที่ดีๆ เลย” วอลเลซกล่าว
ภาพ เปาโล วูดส์
แปล พรรณทิพา พรหมเกตุ