จูเลียส ซีซาร์ กับที่มาที่ไปของ ปฏิทินจูเลียน และจุดเริ่มต้นของการขึ้นปีใหม่สากล

จูเลียส ซีซาร์ กับที่มาที่ไปของ ปฏิทินจูเลียน และจุดเริ่มต้นของการขึ้นปีใหม่สากล

จูเลียส ซีซาร์ ขุนศึกในตำนาน ที่มาของชื่อเดือนกรกฎาคม ผู้พิชิตอียิปต์และครอบครอง คลีโอพัตรา กับการปฏิรูปสาธารณรัฐโรมันสู่จักรวรรดิอันยิ่งใหญ่ ก่อนถูกหักหลังจากกลุ่มวุฒิสภา

จูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar) หรือ กาอิอุส ยูลิอุส ไกซาร์ เป็นทั้งวีรบุรุษ แม่ทัพ นักการเมือง และจอมเผด็จการยิ่งใหญ่ของอาณาจักรโรมันในสมัยโบราณ ที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์โลกกว่า 2,000 ปีมาแล้ว

ชื่อเสียงของเขายังคงโด่งดังมาถึงปัจจุบันในฐานะรัฐบุรุษแห่งยุคโรมัน แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่า จูเลียส ซีซาร์ มีส่วนเกี่ยวข้องกับปฏิทินปีใหม่ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้

ประวิติ จูเลียส ซีซาร์ ขุนศึกแห่งยุคโรมัน

จูเลียส ซีซาร์ เกิดเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 100 ปีก่อนคริสตกาลในสาธารณรัฐโรมัน พ่อของเขามีชื่อว่า เคอุส จูเลียส ซีซาร์ และแม่ชื่อ ออเรเลีย คอตต้า ในวัย 16 ปี บิดาของเขาเสียชีวิต ซีซาร์ กลายมาเป็นผู้นำครอบครัว

ในวัยหนุ่ม จูเลียส ซีซาร์ สมัครเข้าเป็นทหาร สั่งสมเพื่อน รวมถึงอำนาจทางการเมือง ก่อนจะไต่เต้าจากตำแหน่งพลทหารกลายเป็นแม่ทัพที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งศึกที่ทำให้เขามีอำนาจและชื่อเสียงขึ้นมาคือ สงครามกอล สงครามที่ที่ยืดเยื้อยาวนานหลายปี (ประมาณ 7-8ปี)

ขณะนั้น จูเลียส ซีซาร์ ยังเป็นเพียงโปรกงสุลโรมัน โดยเมื่อสิ่นสุดการรบที่อลีเซีย เส้นทางการเมืองของเขาก็สดใส ศึกนี้ปูทางให้ จูเลียส ซีซาร์กลายเป็นผู้ปกครองสาธารณรัฐโรมันแต่ผู้เดียว เพราะการพิชิตกอลคือชัยภูมิสำคัญที่ทำให้โรมันควบคุมแม่น้ำไรน์ซึ่งเป็นพรมแดนธรรมชาติได้อย่างเบ็ดเสร็จ (แคว้นกอล ปัจจุบันคือพื้นที่ในประเทศ ฝรั่งเศสและเบลเยียม)

59 ปีก่อนคริสตกาล จูเลียส ซีซาร์ แต่งานกับ คาลเปอร์เนีย ( บางแห่งใช้ชื่อ Cornelia ) เธอไม่ใช่ภรรยาคนแรกของ ซีซาร์ แถมมีลูกติด แต่ถูกบันทึกว่าเป็นภรรยาหลวง และเป็นภรรยาคนสุดท้ายของเขา มีลูกสาวด้วยกัน 1 คนคือ ยูลีอา หรือ ยูเรีย ด้วยความที่ไม่มีลูกชายทำให้ จูเลียส ซีซาร์ เลือก ออคตาเวียน หลายชายของตัวเองมาเป็นลูกบุญธรรม ซึ่งต่อมาเขาได้ขึ้นเป็น จักรพรรดิออกัสตัส กษัตริย์องค์แรกของอาณาจักรโรมัน

ต่อมา 51 ปีก่อนคริสตกาล ซีซาร์ สามารถขยายดินแดนของโรมันไปถึงช่องแคบอังกฤษและแม่น้ำไรน์ ซีซาร์เป็นแม่ทัพโรมันคนแรกที่ข้ามทั้งสองเมื่อเขาสร้างสะพานข้ามแม่น้ำไรน์และบุกครองบริเตนครั้งแรก 53 ปีก่อนคริสตกาลวุฒิสภาโรมันสั่งให้ ซีซาร์ ลงจากตำแหน่งผู้บังคับบัญชาทหารเพราะรู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมเขาได้ ทว่า ซีซาร์ ปฏิเสธคำสั่ง

49 ปีก่อนคริสตกาล ซีซาร์ พากองทัพของตัวเองข้ามแม่น้ำรุบิโกดพื่อเข้ายึดอำนาจในกรุงโรม เกิดสงครามกลางเมือง จูเลียส ซีซาร์ ชนะอย่างเบ็ดเสร็จ เขาขึ้นเป็นสาธารณรัฐโรมันที่มีอำนาจและอิทธิพลแต่เพียงผู้เดียว ก่อนจะขยายดินแดนไปทั่วยุโรป และสามารถยึดครองเมืองต่างๆ ในทวีปแอฟริกาได้ รวมถึงอาณาจักรอียิปต์ ดินแดนที่ทำให้เขาได้พบกับ คลีโอพัตรา ที่ต่อมากลายเป็นหนึ่งในภรรยาของเขา มีลูกชาย 1 คนคือ ซีซาร์เรียน (ยังเป็นที่ถกเถียง)

PHOTOGRAPH BY JAMES L. STANFIELD, NATIONAL GEOGRAPHIC

ปฏิทินจูเลียน กับ จูเลียส ซีซาร์

สมัยที่ จูเลียส ซีซาร์ ครองอำนาจในกรุงโรม (ประมาณ 10 ปี) ได้มีคำสั่งให้มีการปรับแก้ปฏิทินโรมันแบบเดิมให้เป็นแบบสุริยคติแบบอิยิปต์ ซึ่งว่ากันว่า คลีโอพัตรา เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการผลักดันแก้ไขปฏิทิน เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่าชนชาติอียิปต์มีความเชี่ยวชาญทางด้านดาราศาสตร์ชั้นสูงในตอนนั้น

ดังนั้นจาก ปฏิทินโรมัน จึงเกิดเป็นที่มาของ ปฏิทินจูเลียน (Julian calendar) ที่ประกาศใช้ในปี 46 ก่อนคริสตกาล แต่มีผลบังคับใช้ในปีถัดไปคือ 45 ปีก่อนคริสต์ศักราช

ทั้งนี้ ย้อนไปในช่วงแรกของ ปฏิทินโรมัน วันวสันตวิษุวัตตรงกับวันที่ 1 Martius (มีนาคม) ถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ ต่อมาในปี 153 ก่อนคริสตกาล ได้มีการเปลี่ยนแปลงให้เดือน Ianuarius (มกราคม) เป็นเดือนแรก

สำหรับใน ปฏิทินโรมัน จะมี 13 เดือน ประกอบด้วยเดือน 12 เดือน ซึ่งมีจำนวนวันรวมเป็น 355 วัน ซึ่งบางปีก็มีเดือน Mercedonius/Intercalaris โดยมี 27 วันเข้ามาแทรกระหว่างเดือนกุมภาพันธ์กับเดือนมีนาคม เดือนที่แทรกเข้ามานี้เกิดจากการแทรกจำนวนวัน 22 วันหลังจากวันที่ 23 หรือ 24 ของเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนอีก 5 วันสุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ (นับถอยหลังสู่เดือนมีนาคม) ก็กลายเป็น 5 วันของเดือนที่แทรกนี้ ผลของการแทรกเดือนนี้ทำให้มี 22 หรือ 23 วันเพิ่มขึ้นในปีนั้น และส่งผลรวมให้ปีนั้นมี 377 หรือ 378 วัน

ปฏิทินโรมัน นำมาซึ่งปัญหาเพราะเดือน Mercedonius ที่แทรกมาขึ้นอยู่กับการกำหนดของปุโรหิตสูงสุด ส่งผลให้เกิดปัญหาปฏิทินเบี่ยงเบนออกจากปีที่นับตามสุริยคติ , จำนวนวันที่มาก และจำนวนวันแต่ละปีมีความแตกต่างกัน ประชาชนในเมืองที่อยู่ห่างไกลจากกรุงโรมจึงมีความสับสนเรื่องวันเดือนปี จนเกิดภาวะปีแห่งความสับสน ในช่วงก่อนกำเนิด ปฏิทินจูเลียน

ดังนั้น ปฏิทินจูเลียน จึงถูกสร้างขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ด้วยการตัดเดือน Mercedonius ออกไป และใช้ปฏิทินที่กำเนิดขึ้นจากหลักจันทรคติ และวิถีโคจรของดวงอาทิตย์ที่ไม่มีการแทรกแซงจากมนุษย์แทน

ความสำคัญของ ปฏิทินจูเลียน

การปฏิรูปปฏิทินกับการประกาศใช้ ปฏิทินจูเลียน ของ จูเลียส ซีซาร์ สร้างผลกระทบอะไรหลายอย่างต่อประวัติศาสตร์โลกทั้งการเป็นปฏิทินที่กำหนดวันที่เริ่มต้นของฤดูกาลทั้งสี่ ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และ ฤดูหนาว ซึ่งเป็นประโยชน์มากกับการเพราะปลูกของเกษตรกร ส่งผลให้เกิดวิทยาการต่างๆ มากมายในภายหลัง

นอกจากนี้หลังจากหนึ่งศตวรรษผ่านไป พลินีผู้อาวุโส ระบุว่า วันเหมายัน ตรงกับวันที่ 25 ธันวาคม เพราะว่าดวงอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งองศาที่แปดของราศีมกรในวันนั้น โดยมีความสำคัญต่อวิทยาศาสตร์ในเวลาต่อมา แม้ว่า วันเหมายัน ของพลินีผู้อาวุโสจะไม่ถูกต้อง เพราะมันไม่ได้ตายตัวทุกปี แต่ก็ถือเป็นจุกเริ่มต้นของการผูกปรากฏหารณืบนท้องฟ้ากับวันในปฏิทิน

แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ปฏิทินจูเลียน คือต้นแบบของ ปฏิทินเกรกอเรียน ปฏิทินอังกฤษ หรือ ปฏิทินสากล ที่ผู้คนทั่วโลกใช้บอกเวลาขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 เดือนมกราคมของทุกปี ซึ่ง January ตั้งตามชื่อของ Janus เทพแห่งประตูการเริ่มต้นและการเปลี่ยนผ่านของชาวโรมัน

ส่วน จูเลียส ซีซาร์  ได้รับเกียรติให้นำชื่อมาใช้เป็นเดือนในภายหลังคือ เดือนกรกฎาคม หรือ July แทนที่เดือน Quintilis ในปฏิทินดั้งเดิม

เช่นเดียวกับ ออกัสตัส ที่มีการเลือกพระนามของพระองค์มาใช้เป็นเดือน August หรือสิงหาคม แทนที่เดือน Sextilis ซึ่งเดิมทีเดือน July มี 31 วัน แต่ August มีเพียง 30 วัน  เพื่อให้จำนวนวันเท่ากัน และสมพระเกียรติทั้งคู่ ผู้พัฒนาปฏิทินจึงลดวันของเดือนกุมภาพันธ์จาก 29 เหลือ 28 มาเพิ่มให้เดือนสิงหาคมเป็น 31 วันเท่ากับเดือนกรกฎาคม

ด้านวันที่ 29 กุมภาพันธ์ที่เพิ่มขึ้นมาในปฏิทินเกรกอเรียน หรือวันอธิกวารในปีอธิกสุรทินที่โลกจะมีวันเพิ่มขึ้นจาก 365 วัน เป็น 366 วัน (เช่นในปี 2024 หรือ พ.ศ.2567) โดยวันที่ต้องเพิ่มเข้ามาเป็นการชดเชยเวลาที่คลาดเคลื่อนของโลกที่หมุนไปรอบดวงอาทิตย์ด้วยอัตราความเร็ว 30 กิโลเมตร ต่อวินาที และต้องใช้เวลารวมทั้งสิ้น 365 วันหรือ 1 ปี แต่ระยะเวลาจริงๆ นั้น ไม่ใช่ 365 วันพอดีพอดี แต่เป็น 365 วัน 6 ชั่วโมง 9 นาที หรือ 365.2524 วัน

PHOTOGRAPH BY JOSEP MARIA CASALS

 

Ides of March จุดจบของ จูเลียส ซีซาร์

Ides of March คือวันที่ 15 มีนาคม ตามปฏิทินโรมัน ซึ่งจะมาบรรจบก่อนวันเลือกตั้งผู้นำของโรมัน ตอนนั้น จูเลียส ซีซาร์ เพิ่งพิชิต ปอมเปย์ ศัตรูทางการเมืองคนสำคัญได้ ทำให้เขาขึ้นเป็นผู้นำที่ไร้คู่แข่ง แทบจะเป็นสัญลักษณ์ของกรุงโรม อำนาจที่มากขึ้นของเขาทำให้วุฒิสมาชิกหวั่นเกรง โดยเป้าหมายในตอนนั้นของ จูเลียส ซีซาร์ คือการสถาปนาตัวเองเป็นกษัตริย์คนแรงของอาณาจักร

เมื่อ จูเลียส ซีซาร์ สามารถปิดฉากสงครามกลางเมืองระหว่างเหล่าผู้นำทัพระดับสูงของโรมันที่ช่วงชิงความเป็นหนึ่งกันมาอย่างยาวนานได้สำเร็จกลุ่มวุฒิสมาชิกจึงรวมหัวกันวางแผนลอบสังหาร จูเลียส ซีซาร์ ในวันที่ 15 มีนาคม 44 ปีก่อนคริสตกาล เนื่องจากเกรงว่าระบบสภาจนสูญสิ้นจากอิทธิพลของ ผู้นำที่ประชาชนรักและเทิดทูนสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่าง ซีซาร์

หนึ่งในผู้ร่วมก่อการคนสำคัญคือ มาคุส จูนิอุส บรูตุส ลูกน้องเก่าของ ปอมเปย์ ที่ จูเลียส ซีซาร์ รักเหมือนลูกบุญธรรม เพราะเขามีสัมพันธ์สวาทกับ เซอร์วิเลีย แม่ของ บรูตุส แม้ว่าจะได้ข่าวการลอบสังหารจากคนสนิท รวมถึงมีการเตือนจากนักพยากรณ์ และลางสังหรณ์ต่างๆ แต่ ซีซาร์ ก็ประมาท ไม่มีการสืบสวนหรือจับผู้ใด

จูเลียส ซีซาร์ ยืนกรานที่จะเข้าไปประชุมในโรงละครปอมปีย์วันนั้น มาร์ค แอนโทนี ทหารคนสนิทของเขา ถูกกันให้อยู่ข้างนอก ไม่สามารถเข้าไปอารักขาได้ หลังจากนั่งบัลลัก์ได้ไม่นาน ซีซาร์ ก็ถูก ไกอัส แคสซัส ลอนไจนัส , มาร์คัส จูนิอัส บรูตัส ผู้นำกลุ่มลอบสังหาร และสมาชิกวุฒิสภาที่แอบนำมีดเข้ามารุมแทงจนตายในวัย 55 ปี

หลังการเสียชีวิตของ ซีซาร์ กรรมตามสนองกลุ่มผู้ก่อการลอบสังหาร เมื่อในวันต่อมา บรูตุส ออกมาประกาศถึงความจำเป็นในการกำจัด ซีซาร์ จากการเป็นผู้นำเผด็จการ แต่กระแสตีกลับเมื่อ มาร์ค แอนโทนี นำศพของ ซีซาร์ มาเปิดเผยต่อสาธารณะ พร้อมอ่านพินัยกรรมของเขาที่ระบุว่า ซีซาร์ได้ทิ้งมรดกไว้ให้ประชาชนทุกคน ชาวโรมเดือดดาลกับการลอบสังหาร ซีซาร์ อันโหดร้ายทารุณ

กรุงโรมเกิดจลาจลลุกลามไปทั่ว มีการเผาอาคารคูเรียจนมอดไหม้ กลุ่มสมาชิกวุฒิสภาร้องขอการประนีประนอมกับกลุ่มของซีซาร์และมวลชนเพื่อให้รอดพ้นจากการถูกลงโทษ แต่การดิ้นรนไม่เป็นเป็นผลจนเกิดเป็นสงครามกลางเมืองระหว่าง กลุ่มผู้สนับสนุนซีซาร์ที่นำโดย มาร์ค แอนโทนีและออกเตเวียน กับ ทหารของกลุ่มสมาชิกวุฒิสภา

ที่สุดกลุ่มผู้สนับสนุนซีซาร์ได้รับชัยชนะในสงครามกลางเมือง ออกเตเวียน ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์คนแรกของโรมัน ผู้ก่อการลอบสังหารซีซาร์ถูกฆ่าจนหมด ส่วน บรูตุส พ่ายแพ้ในศึกที่ฟิลิปปี จึงตัดสินใจฆ่าตัวตายในช่วงปลายปีที่ 42 ก่อนคริสตกาล

รูปแกะสลักทัสคูลัม คือรูปปั้นเดียวที่มีความเป็นไปได้ว่าเป็นรูปปั้นของ จูเลียส ซีซาร์ ที่ยังหลงเหลืออยู่ โดยเชื่อว่าถูกสร้างขึ้นในช่วงชีวิตของเขา ปัจจุบันตั้งอยู่ในพิพิธภัณฑ์โบราณคดี เมืองตูริน ประเทศอิตาลี

สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์

ข้อมูลอ้างอิง

https://en.wikipedia.org/wiki/Julian_calendar

https://en.wikipedia.org/wiki/Julius_Caesar

https://www.silpa-mag.com/history/article_105272

https://www.thairath.co.th/news/foreign/417260

ภาพจาก ALESSANDRO SAFFO/FOTOTECA   และ DE AGOSTINI

 

อ่านเพิ่มเติม:  คลีโอพัตรา หญิง (งาม) ที่ใช้เสน่ห์และเล่ห์การเมืองสู่ตำแหน่งฟาโรห์แห่งอียิปต์

คลีโอพัตรา

Recommend