๖๐ ปี พระไพศาล วิสาโล

๖๐ ปี พระไพศาล วิสาโล

เชื่อว่าต้องมีผู้ฟังปาฐกถาในวันนั้นและผู้อ่านในวันนี้ที่แคลงใจในความเป็นไปได้จริง ของเนื้อหาที่พระหนุ่มอายุน้อยสาธกเรื่องการหยั่งรากฐานของชีวิตในโลกของกิจกรรม  แม้อาจารย์สุลักษณ์จะการันตีว่า “พระไพศาลเป็นแบบอย่างทางอุดมคติของคนรุ่นใหม่ได้  คำพูดและข้อเขียนของเธอควรแก่การรับฟัง เท่าๆ กับวิถีชีวิตของเธอก็ควรแก่การเอาเยี่ยงเช่นกัน” แต่ใช่ว่าข้อสงสัยจะหายไปง่ายๆ

พระไพศาล วิสาโล
กิจวัตรหนึ่งที่พระไพศาลยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเสมอมาคือการออกบิณฑบาตพร้อมกับพระลูกวัด นอกจากเป็นพระธรรมวินัยและเป็นเครื่องฝึกให้เป็นคนอยู่ง่ายแล้ว การบิณฑบาตยังทำให้พระสงฆ์และญาติโยมมีความสัมพันธ์และตระหนักว่าต่างฝ่ายต่างต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน

ชีวิตของเราถูกขับเคลื่อนโดยเหตุการณ์บ้านเมือง… ซึ่งเป็นตัวแปรในการตัดสินใจสิ่งใหญ่ๆ ในชีวิต” ไม่ว่าจะเป็นฆราวาสหรือเป็นพระภิกษุ พระไพศาลไม่เคยแยกชีวิตของตนเองจากชีวิตกิจกรรม “เราไม่ได้เป็นคนที่อยากบวชพระตั้งแต่แรก เรามีความเป็นนักกิจกรรมอยู่ เราเริ่มต้นตั้งแต่ความรักชาติ และความรักชาติทำให้ต้องทำโน่นทำนี่ ตอนหลังก็เปลี่ยนจากความรักชาติเป็นการทำเพื่อสังคม ถ้าทำอะไรได้เพื่อส่วนรวมก็อยากจะทำ จุดไหนที่ทำได้ก็จะอยู่จุดนั้น”

ถ้าพระไพศาลเป็นสงฆ์สมัยพุทธกาลก็คงเทศน์สอนชาวบ้านเป็นหลัก เพราะสังคมไม่ซับซ้อนและปัญหาของคนเราก็หนีไม่พ้นเกิดแก่เจ็บตาย แต่ในเมื่อท่านเกิดเลยพุทธกาลมา 2,500 ปี  และเข้าวงการกิจกรรมมาตั้งแต่วัยรุ่น ประวัติย่อของชีวิตจึงมีตำแหน่งประธาน กรรมการ อนุกรรมการ ที่ปรึกษาของมูลนิธิและสถาบันอีกนับไม่ถ้วน ได้รับรางวัลเกียรติยศและปริญญากิตติมศักดิ์มากมาย มีงานเขียนงานวิจัยอีกหลายหลาก  ในรายการเหล่านั้น มีงานอันเกี่ยวกับสันติวิธี เช่นงานวิทยากรโครงการเสริมสร้างทักษะแก่ผู้ปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมด้วยสันติวิธีและกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ อันเป็นงานสายที่ท่านสมาทานมาตั้งแต่เรียน

นารี เจริญผลพิริยะ นักฝึกอบรมสันติวิธีและอดีตหัวหน้าฝ่ายศาสนาและสันติวิธี กลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคมระหว่างปี 2531-2534 เล่าว่า ในยุคแรกมีการพูดคุยถกเถียงเกี่ยวกับสันติวิธีหรืออหิงสาในทางทฤษฎีกันมาก แต่ไม่เห็นรูปแบบในทางปฏิบัติอย่างชัดเจน  นารีถือว่าพระไพศาล “เป็นคนที่พยายามทำให้เรื่องสันติวิธีเป็นรูปธรรมและมีคนหันมาสนใจมากขึ้น เอาไปใช้จริงมากขึ้น มีการฝึกอบรมและปฏิบัติการจริง  สันติวิธีไม่มีประโยชน์อะไรถ้าไม่ใช้  สันติวิธีทำให้คนมีความรู้ว่าเวลาเจอกับสถานการณ์เขาจะได้มีทางเลือก”

พระไพศาลกับทีมพัฒนาหลักสูตรสันติวิธีจากแนวคิดที่แปรสู่การฝึกฝนฐานทั้งสาม ได้แก่  สมอง ร่างกาย และจิตใจ นั่นคือสนใจการทำงานของสมอง การดูแลรักษาร่างกายให้สุขภาพดี และฝึกโยคะให้จิตใจกับกายประสานกันและมีสติ  นารีกล่าวว่าสันติวิธีไม่ใช่เป็นเรื่องแค่คิดเอา แต่ต้องฝึกฝนจนกลายเป็นวิถีชีวิต เธอใช้หลักสูตรสันติวิธีอบรมตั้งแต่ชาวบ้านทั่วไปที่มีกรณีขัดแย้ง ไปจนถึงเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจของรัฐที่ทำหน้าที่ปราบจลาจลในช่วงเวลาหนึ่ง

Recommend