โยฮันเนส กูเตนเบิร์ก ผู้ประดิษฐ์แท่นพิมพ์ตัวเรียง หนึ่งในนวัตกรรมเปลี่ยนโลก

โยฮันเนส กูเตนเบิร์ก ผู้ประดิษฐ์แท่นพิมพ์ตัวเรียง หนึ่งในนวัตกรรมเปลี่ยนโลก

โยฮันเนส กูเตนเบิร์ก  (Johann Gutenberg) นักประดิษฐ์ชาวเยอรมัน บิดาแห่งการพิมพ์ ผู้ปฏิวัติวงการความรู้และภาษาของโลกจากการผลิตหนังสือ

โยฮันเนส กูเตนเบิร์ก คือหนึ่งในบุคคลสำคัญของโลกที่ถูกพูดถึงหรือยกย่องน้อย เมื่อเทียบกับบุคคลสำคัญในวงการอื่นๆ ทั้งๆ ที่เขามีส่วนร่วมในการกระจายองค์ความรู้ของบุคคลสำคัญคนอื่นๆ จากเทคโนโลยีการพิมพ์ของเขาซึ่งนำไปสู่การปฏิวัติการพิมพ์ที่เปลี่ยนแปลงโลกไปตลอดกาล

ทั้งนี้ เนื่องจากก่อนหน้าที่จะมี แท่นพิมพ์ ในยุโรปมีหนังสืออยู่เพียง 3 หมื่นกว่าเล่ม โดยเกิดจากการเขียน-คัดลอกด้วยมือ รวมถึงส่วนใหญ่เป็นภาษาลาติน จำนวนผู้คนที่เข้าถึงหนังสือจึงมีน้อยมาก แต่หลังจาก โยฮันเนส กูเตนเบิร์ก ผลิตแทนพิมพ์สำเร็จ หนังสือในยุโรปก็มีจำนวนพุ่งสูงเกิน 1 ล้านเล่ม และมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี

ประวัติ โยฮันเนส กูเตนเบิร์ก

โยฮันเนส กูเตนเบิร์ก เกิดในปี ค.ศ. 1400 ที่เมืองไมนซ์ ประเทศเยอรมันนี โดยในตอนนั้นยุงอยู่ในพื้นที่การปกครองของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ เขาเกิดในครอบครัวชนชั้นสูง พ่อของเขาทำธุรกิจเกี่ยวกับโลหะ พ่อของเขามีภรรยา 2 คน ภรรยาคนแรกทำธุรกิจโรงกษาปณ์ ส่วนภรรยาคนที่สองเป็นนักธุรกิจ ซึ่งเธอคือแม่ของ โยฮันเนส กูเตนเบิร์ก

โยฮันเนส กูเตนเบิร์ก ถูกส่งให้รํ่าเรียนในโรงเรียนศาสนา แต่ไม่นานครอบครัวของเขาก็ต้องย้ายหนีความวุ่นวายทางการเมืองไปอยู่ที่เมืองแอร์ฟูร์ท จนกระทั่ง กูเตนเบิร์ก เรียนจบมหาวิทยาลัย

ด้วยความที่สนใจด้านงานฝีมือ โยฮันเนส กูเตนเบิร์ก จึงยึดอาชีพเป็นช่างทองและช่วงเหล็กในเมือง รวมถึงเป็นพ่อค้าไปด้วย ต่อมา กูเตนเบิร์ก รับงานการทำกระจกโลหะให้กับนักแสวงบุญเพื่อใช้ในทางศาสนา ซึ่งได้สร้างรายได้ให้กับเขาพอสมควร แต่ต่อมาธุรกิจก็ล้มลงเพราะงานเทศกาลทางศาสนาถูกยกเลิก

การผลิตแท่นพิมพ์

หลังจากกลับมาตั้งตัวได้ โยฮันเนส กูเตนเบิร์ก ตัดสินใจกลับไปที่เมืองไมนซ์บ้านเกิดในปี 1446 โดยเขาได้รับการสนับสนุนทางการเงินจาก โยฮันน์ ฟุสต์ นักการเงินชาวเยอรมัน และ ปีเตอร์ ช้อฟเฟอร์ นักออกแบบตัวอักษร พร้อมรวมตัวกันผลิตแท่นพิมพ์

ในที่สุด โยฮันเนส กูเตนเบิร์ก ก็สามารถประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ที่ใช้เทคนิคการพิมพ์แบบตัวเรียงขึ้นสำเร็จในช่วงปี 1450 ซึ่งหากใช้คำว่า ผู้คิดค้นก็คงไม่ถูกเสียทีเดียว เนื่องจาก จีน เคยผลิตเครื่องพิมพ์บล็อกไม้  และ เกาหลี เคยประดิษฐ์เครื่องพิมพ์จากโลหะ มาก่อน

แม้ว่าเครื่องพิมพ์ของ โยฮันเนส กูเตนเบิร์ก ไม่ใช่เครื่องแรกของโลก แต่เขาพัฒนาเครื่องพิมพ์ที่ใช้ระบบตัวเรียงเครื่องแรกได้สำเร็จ โดยใช้ตัวพิมพ์โลหะอัลลอย หมึกพิมพ์ที่ใช้น้ำมันเป็นฐาน แม่พิมพ์สำหรับหล่อตัวพิมพ์ได้อย่างแม่นยำ ตัวพิมพ์ถอดได้ และแท่นพิมพ์แบบกดแบบใหม่ ซึ่งพัฒนาจากเครื่องกดที่ใช้ในการทำไวน์

โยฮันเนส กูเตนเบิร์ก คิดค้นทั้งแม่พิมพ์ที่เปลี่ยนที่ได้ โดยการทำงานผ่านบล็อกเรียงพิมพ์ เช่น 4 บล็อกต่อ 2 หน้า ในหนังสือไบเบิล รวมถึงนํ้าหมึกที่ใช้กับการพิมพ์ก็เป็นสิ่งที่เขาสร้างสรรค์ขึ้นมา ซึ่งการเรียงพิมพ์ของกูเทนเบิร์กเล่มแรกในยุโรป คือ ตำราไวยกรณ์ภาษาลาตินของโดนาตัสในปี ค.ศ. 1451

อย่างไรก็ตาม จุดเริ่มต้นที่แท้จริงของ การปฏิวัติกูเตนเบิร์ก คือการพิมพ์คัมภีร์ไบเบิ้ลฉบับภาษาลาติน ที่นิยมเรียกกันว่า กูเตนเบิร์กไบเบิล หรือ ไบเบิ้ล 42 บรรทัด ในปี 1455 ผลิตออกมาจำนวน 180 เล่ม ปัจจุบันเหลืออยู่ประมาณ 40 กว่าเล่มทั่วโลก

อิทธิพลของ โยฮันเนส กูเตนเบิร์ก ต่อยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ

ในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการหรือยุคยุคเรเนซองส์ หลัง โยฮันเนส กูเตนเบิร์ก ผลิตแท่นพิมพ์ออกมา ส่งผลให้เกิดความเฟื่องฟูในอุตสาหกรรมการพิมพ์ยุโรป เมื่อมีเครื่องพิมพ์ของกูเตนเบิร์กเกิดขึ้น ทำให้การพิมพ์รวดเร็ว จนเกิดโรงพิมพ์ และธุรกิจการพิมพ์ขึ้นมา

สิ่งประดิษฐ์ของ โยฮันเนส กูเตนเบิร์ก ช่วยให้ข้อมูลข่าวสารแพร่กระจายออกไปอย่างรวดเร็ว ราคาหนังสือถูกลง ความรู้ถูกขยายจากคนชั้นสูง ไปสู่ คนชั้นกลาง และ คนชั้นล่าง นอกจากนี้งานของเขายังมีผลต่อการปฏิรูปศาสนาอีกด้วย เพราะหนังสือไบเบิล รวมถึงหนังสือเกี่ยวกับศาสนาต่างๆ สามารถถ่ายทอดเนื้อหาอย่างถูกต้องออกไปในวงกว้างมากขึ้น ผ่านทางหนังสือ

ขณะเดียวกัน เครื่องพิมพ์ตัวเรียง ยังก่อให้เกิดการปฎิวัติทางภูมิปัญญา การปฎิวัติทางวิทยาศาสตร์ เศรษฐกิจการเมือง และสังคมวัฒนธรรม ในยุโรป โดยนักศึกษาในมหาวิทยาลัยสามารถมีตำราที่เป็นมาตรฐานเพื่อใช้ในการศึกษาเล่าเรียนแทนที่การคัดลอกด้วยลายมือ

ด้าน มาร์ติน ลูเทอร์ ศาสตราจารย์ด้านเทววิทยา นักบวช นักเขียน คีตกวี ที่ต่อมาเป็นผู้ปฏิรูปคริสต์ศาสนา เพื่อนร่วมชาติของ กูเตนเบิร์ก (มีบันทึกว่าทั้งสองคนเรียนในมหาลัยเดียวกัน) ได้ใช้ความเร็วในการพิมพ์นี้ พิมพ์แจกข้อเรียกร้องในการปฎิรูปศาสนาให้กระจายไปทั่วยุโรป จนนำไปสู่การแตกออกเป็น 2 นิกายใหญ่ของศาสนาคริสต์ คือ คาทอลิก กับ โปรเตสแตนต์

ต่อมา กูเตนเบิร์ก ได้ย้ายออกไปจากไมนซ์ในช่วงที่เกิดสงคราม ก่อนที่เขาจะกลับมาอีกครั้งใน 3 ปีถัดมา เขาทำงานเป็นลูกจ้างของอาร์คบิชอปคนใหม่ของเมือง และเสียชีวิตอย่างสงบ ในปี 1468

น่าเสียดายที่เทคโนโลยีที่เขาพัฒนาขึ้นในยุคนั้น ไม่ได้รับการย่อย่องเท่าที่ควร ศพของ โยฮันเนส กูเตนเบิร์ก ถูกฝังในโบสถ์แห่งหนึ่งในเมือง ก่อนจะถูกทำลายไปในช่วงสงครามโลก จึงไม่มีหลุมศพของเขาเหลือให้คนรุ่นหลังได้รำลึกถึง กระนั้นประวัติศาสตร์ก็ได้บันทึกชื่อของเขาไว้ในฐานะ ช่างเหล็ก ช่างทอง ช่างพิมพ์ พ่อค้า และนักประดิษฐ์ที่สร้างนวัตกรรมเปลี่ยนโลกขึ้นมา

 

สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์

ภาพจาก en.wikipedia.org

ข้อมูลอ้างอิง

wikipedia

britannica.com

thepeople.co

อ่านเพิ่มเติม :  เฮโรโดตุส บิดาแห่งประวัติศาสตร์สากล นักเขียนชาวกรีกผู้ถ่ายทอดสงครามกรีก-เปอร์เซียอย่างสมบูรณ์

 

 

 

Recommend