ราว 120 ปีที่แล้ว มี ” แท็กซี่ไฟฟ้า ” วิ่งทั่วนิวยอร์ก แต่ “เจ๊งยับ”

ราว 120 ปีที่แล้ว มี ” แท็กซี่ไฟฟ้า ” วิ่งทั่วนิวยอร์ก แต่ “เจ๊งยับ”

รถไฟฟ้า ที่มาผิดที่ผิดเวลา? ประวัติศาสตร์ที่ถูกลืมไปแล้วของ “ แท็กซี่ไฟฟ้า ”

แท็กซี่ไฟฟ้า ยุคแรกซึ่งเกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 19 นานเกินกว่าร้อยปีก่อนที่ ‘เทสล่า’ คันแรกจะออกสู่ท้องถนน รถแท็กซี่ที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ได้แล่นไปบนถนนก่อนของแมนฮัตตันก่อนจากไปอย่างเงียบ ๆ

.
ในช่วงต้นทศวรรษที่ 19 ถนนที่พลุกพล่านในแมนฮัตตันของนิวยอร์กนั้น เต็มไปด้วยม้ากว่า 150,000 ตัวที่วิ่งไปมาในเมือง ซึ่งแต่ละตัวต่างสร้างขยะได้ราว 10 กิโลกรัมต่อวัน ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ปัญหาความสะอาดดังกล่าว ผู้คนจึงหันไปหาทางเลือกอื่น

.
และแล้ว บริการรถแท็กซี่ไฟฟ้าแบบใช้เครื่องยนต์ก็เปิดตัวเป็นครั้งแรกในนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 1897 มันเป็นยานพาหนะที่ไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันเบนซิน แต่กลับใช้ “พลังงานไฟฟ้า” ซึ่งเป็นรถยนต์ที่มาก่อนกาลนานโข

สตาร์ทด้วย แท็กซี่ไฟฟ้า

แนวคิดเรื่องยานพาหนะไฟฟ้าที่แล่นไปรอบ ๆ เมืองนิวยอร์กในช่วงทศวรรษปี 1890 อาจฟังดูเหมือนความฝันที่ได้รับแรงบันดาลใจจากนิยายวิทยาศาสตร์แนว ‘สตีมพังก์’ (Steampunk) แต่รถยนต์เหล่านั้นที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่กลับขายได้ดีกว่ารถยนต์ประเภทสันดาปภายใน ที่กำลังเกิดขึ้นช่วงยุครุ่งอรุณของยานยนต์ มันทั้งเงียบ สะอาด และขับง่าย

.
“ในตอนนั้น คุณจะต้องโชคดีจริง ๆ ถ้าสตาร์ทรถน้ำมันติดในตอนเช้า” แดน อัลเบิร์ต (Dan Albert) ผู้เขียน ‘Are We There Yet? The American Automobile Past, Present, and Driverless’ กล่าว “มันมีเสียงดัง มลพิษ และสภาพที่ง่อนแง่น ในขณะที่รถยนต์ไฟฟ้าสตาร์ทติดได้ด้วยการกดสวิตช์”

.
ในระหว่างศตวรรษที่ 19 เมื่อรถไฟฟ้าเริ่มถูกนำมาใช้จริง ๆ ก็ดูเหมือนว่ามันจะสามารถเอาชนะความท้าทายหลายอย่างด้วยกัน “ถ้าคุณถามผู้คนบนท้องถนนว่าจะเกิดอะไรขึ้น พวกเขาจะบอกว่าไฟฟ้าคือพลังมหัศจรรย์” เดวิด เอ. เคริส์ช (David A. Kirsch) นักประวัติศาสตร์รถยนต์ไฟฟ้า ผู้เขียนหนังสือ The Electric Vehicle and the Burden of History กล่าว

.
“เราควบคุมมันเพื่อให้มีแสงสว่าง เราควบคุมมันเพื่อลากรถเข็นให้ผ่าน มันแพร่กระจายไปทุกที่ และตอนนี้มันก็จะพาเราไปรอบ ๆ” เขากล่าวเสริม

‘Electrobat’ ผู้บุกเบิก

‘อิเล็กโทรแบท’ (Electrobat) ก็กลายเป็นรถยนต์ไฟฟ้าคันแรกที่สามารถนำไปใช้ได้จริงในเชิงพาณิชย์ ซึ่งถูกสร้างสรรค์โดยวิศวกรชาวฟิลาเดลเฟีย เฮนรี่ มอร์ริส (Henry Morris) และ เปโดร ซาลอม (Predo Salom) เมื่อปี 1894 รถยนต์น้ำหนัก 1.1 ตันคันนี้ขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่ตะกั่วกรด สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ที่ 24 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และครอบคลุมระยะทางสูงสุด 40 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง

.
นอกจากนี้ ทั้งคู่ยังได้คิดค้นระบบสลับแบตเตอรี่ที่ชาญฉลาดเพื่อให้รถยนต์สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพราวกับทีมงานของ NASCAR พนักงานจะควบคุมยานพาหนะด้วยลิฟต์และระบบไฮดรอลิกเหมือนเครนเหนือศีรษะ

.
จากนั้นก็ดึงแบตเตอรี่หนัก 454 กิโลกรัมที่หมดแล้วออกมา แล้วใส่แบตเตอรี่ลูกใหม่เข้าไป โดยกระบวนการนี้ใช้เวลาเพียง 3 นาทีเท่านั้น “มันเร็วกว่าการเปลี่ยนทีมม้ามาก และอาจเร็วพอ ๆ กับสิ่งที่เราทำในปัจจุบันกับการเติมน้ำมันในถัง” เคริส์ช กล่าว

.
บริการรถแท็กซี่ในแมนฮันตันของทั้งคู่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในหมู่คนระดับบนของสังคม ซึ่งแทนที่จะขายรถยนต์ มอร์ริส และ ซาลอม เลือกที่จะปล่อยเช่ารถยนต์เป็นรายเดือนหรือต่อเที่ยวผ่านบริษัท ‘Electric Wagon & Carriage Company’

.
ขบวนแท็กซี่ไฟฟ้าดังกล่าวมีการเติบโตอย่างมาก โดยขยายจากรถยนต์เพียงไม่กี่ 10 คันในปี 1897 ไปเป็นมากกว่า 100 คันในปี 1899 ‘อิเล็กโทรแบท’ ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถเป็นรถในเมืองที่สมบูรณ์แบบด้วยความเร่งที่รวดเร็ว และการขับขี่ที่ไร้เสียงรบกวน

.
อย่างไรก็ตาม ความเร็วและความเงียบของมันทำให้เกิดความท้าทายที่คาดไม่ถึง โดยในเดือนพฤษภาคมปี 1899 สื่อมวลชนต่างรายงานว่า จาค็อบ เจอร์แมน (Jacob German) คนขับรถแท็กซี่ได้กลายเป็นพนักงานขับรถคนแรกที่ถูกจับกุมในข้อหาขับรถเร็ว หลังจากที่เขาขับไปตามถนนเล็ก ๆ ด้วยความเร็ว 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

.
สัปดาห์ต่อมา แท็กซี่ไฟฟ้าคันหนึ่งก็ได้ชนเข้ากับ เฮนรี่ บลิสส์ (Henry Bliss) นายหน้าอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่เขากำลังก้าวลงจากรถรางฝั่งอัปเปอร์เวสต์ไซด์ กลายเป็นคนเดินถนนคนแรกที่ถูกรถชนเพราะไม่ได้ยินว่ารถไฟฟ้ากำลังมา เพราะเสียงเครื่องยนต์ที่เงียบเชียบ

ฟองสบู่แตก

มอร์ริสและซอลอม ได้รับการลงทุนสนับสนุนจากนักลงทุนจำนวนมากโดยเฉพาะกับ วิลเลียม วิทนีย์ (William Whitney) นักการเงินชาวนิวยอร์ก ซึ่งเป็นที่รู้จักจากความสำเร็จใจการสร้างสรรค์รถรางไฟฟ้าในเมือง ภายใต้การนำของ วิทนีย์ บริษัทได้ควบรวมกิจการกับบริษัทผู้ผลิตระบบรางไฟฟ้าและแบตเตอรี่ เพื่อสร้างเครือข่ายการขนส่งไฟฟ้าแบบครบวงจรทั่วประเทศ

.
บริษัทแท็กซี่รถยนต์ไฟฟ้าได้ขยายการดำเนินงานไปยังเมืองใหญ่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ฟิลาเดลเฟีย ชิคาโก และบอสตันอย่างรวดเร็ว พร้อมกับกลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของประเทศ อย่างไรก็ดี การขยายตัวอย่างรวดเร็วนี้กลับไม่ยั่งยืน

.
เมื่อการดำเนินงานนอกนิวยอร์กเป็นไปอย่างย่ำแย่ และนักลงทุนรู้สึกว่าพวกเขาถูกโกงเนื่องจากมีการสืบสวนของ ‘นิวยอร์ก เฮรัลด์’ (New York Herald) ในปี 1899 ที่เผยให้เห็นว่าบริษัทได้กู้ยืมเงินมาอย่างฉ้อฉล หุ้นบริษัทก็ดิ่งลง และกิจการก็แทบจะล้มละลายภายในปี 1902

หมดพลังงานไปต่อ

การล่มสลายของบริษัทส่งคลื่นสั่นสะเทือนไปทั่วชุมชนการลงทุน และสร้างเงามืดเหนืออนาคตของรถยนต์ไฟฟ้า

.
“สิ่งที่ฆ่ามันจริง ๆ ไม่ได้อยู่ที่ความคิด เทคโนโลยี หรือรูปแบบธุรกิจ” อัลเบิร์ต กล่าว “มันเป็นเงามืดของพ่อค้าที่ฉ้อฉลอยู่ด้านหลัง”

.
เมื่อประกอบกับความวุ่นวายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ตื่นตระหนกในปี 1907 สถานการณ์ดังกล่าวก็ได้ส่งผลกระทบต่อรถแท็กซี่ไฟฟ้าในนิวยอร์กซิตี้ให้ดำเนินงานเป็นครั้งสุดท้าย

.
ในปีเดียวกันนั้น รถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินก็ได้รับแรงผลักดันในตลาดโดย เฮนรี่ อัลเลน (Harry Allen) นักธุรกิจท้องถิ่น ซึ่งได้แนะนำบริการรถแท็กซี่ที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันจำนวน 65 คันที่นำเข้ามาจากฝรั่งเศส ภายใน 1 ปี กองทัพของเขาก็เพิ่มขึ้นเป็น 700 คัน

.
เครื่องยนต์สันดาปภายในจะขับเคลื่อนศตวรรษหน้าของอเมริกา แต่พลังงานจากแบตเตอรี่ก็กำลังกลับมาอย่างช้า ๆ หลังจากเดินอ้อมมานาน เมื่อแท็กซี่ไฟฟ้าทั้งหมด 25 คันเริ่มให้บริการบนถนนในนิวยอร์กเมื่อปี 2022 รถยนต์แห่งอนาคตก็ได้กลับมาอีกครั้ง

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา
https://www.nationalgeographic.com/history/article/history-of-new-yorks-19th-century-electric-cabs


อ่านเพิ่มเติม อนาคตคือยนตกรรมไฟฟ้า ( รถยนต์ไฟฟ้า )

รถยนต์ไฟฟ้า
การปฏิวัติด้านการคมนาคมขนส่งทั่วโลกต้องใช้วัตถุดิบ เช่น ลิเทียม นิกเกิล โคบอลต์ แมงกานีส และแกรไฟต์ ปริมาณมหาศาลเพื่อผลิตแบตเตอรี่  ในหมู่บ้านชาวประมงทาปุยมีอาและทาปุงเกยาบนเกาะซูลาเวซีของอินโดนีเซีย เหมืองนิกเกิลสร้างงานที่จ่ายค่าแรงสูสีกับคนงานในจาร์กาตา แต่การกัดเซาะและน้ำที่ไหลบ่าหลังการถางป่าเพื่อทำเหมืองอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตใต้ทะเลในละแวกนั้น

Recommend