หลายร้อยปีมาแล้วที่ประวัติศาสตร์เล่าขานวีรกรรมยิ่งใหญ่ของนักรบชาวนอร์ส โดยให้ความสนใจกับเหล่าบุรุษและความสำเร็จในสมรภูมิของพวกเขาเป็นหลัก บัดนี้มีหลักฐานใหม่ชี้ว่า สตรีไวกิ้งก็เป็นยอดฝีมือในการรบเช่นกัน ทั้งยังแผ่อิทธิพลไปไกลกว่าสนามรบมาก
เช้าวันอาทิตย์อันเงียบเหงาวันหนึ่ง ณ สถานีรถไฟกลางในกรุงสตอกโฮล์ม ฉันรู้สึกถึงความตื่นเต้นอันคุ้นเคยอีกครั้ง ความตื่นตัวของการถูกลากออกจากปัจจุบันขณะและส่งตัวไปสู่อีกช่วงเวลาหนึ่ง นั่นคือโลกยุคโบราณ ตอนนั้น ฉันอยู่ในสแกนดิเนเวีย กำลังเก็บข้อมูลทำสารคดีและดื่มกาแฟกับชาร์ลอตต์ เฮเดนสเตียร์นา-จอนสัน นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยอุปป์ซาลา เธอเสนอตัวพาฉันไปชมเบียร์กา เมืองโบราณไวกิ้งยุคแรกบนเกาะแห่งหนึ่งทางตะวันตกของสตอกโฮล์ม ขณะนั่งรอเรือเฟอร์รีออกจากท่าเรือใกล้ๆ เฮเดนสเตียร์นา-จอนสันก็เอื้อมมือล้วงกระเป๋า และหยิบสำเนาแผ่นใหญ่ของภาพสลักที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งของสวีเดนเมื่อศตวรรษที่สิบเก้าออกมา
เธอค่อยๆคลี่มันออกอย่างระมัดระวัง วางลงบนโต๊ะ และลูบรอยยับให้เรียบ ขณะก้มลงจ้องกระดาษแผ่นนั้น ฉันรู้สึกราวกับกำแพงอันแข็งแรงของสถานีรถไฟพลันเลือนหายและทันใดยุคไวกิ้งก็ปรากฏขึ้น ภาพสลักซึ่งมีรายละเอียดชัดเจนเกือบเหมือนภาพถ่าย แสดงภาพคูหาฝังศพใต้ดินขนาดใหญ่ของชาวไวกิ้งแห่งหนึ่งที่มีซากโครงกระดูกและคลังอาวุธยุคไวกิ้ง เฮเดนสเตียร์นา-จอนสันอธิบายว่า เมื่อปี 1877 ยัลมาร์ สโตลเปอ นักโบราณคดีชาวสวีเดน พบหลุมศพดังกล่าวซึ่งปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ บีเจ 581 ใกล้ค่ายทหารไวกิ้งแห่งหนึ่งในเบียร์กา
ฉันจ้องภาพหลุมศพนั้น ที่สุดปลายคูหา บนยกพื้น สโตลเปอกับทีมงานพบโครงกระดูกม้า ไม่ใช่แค่ตัวเดียว แต่ถึงสองตัว นอนเคียงข้างกัน ตรงกลางหลุมศพมีโครงกระดูกมนุษย์ร่างหนึ่งนอนตะแคงอยู่ สะโพกเอนไปด้านหน้า ราวกับเคยนั่งอยู่บนอะไรบางอย่าง โกลนเหล็กหนึ่งคู่วางอยู่ใกล้ๆ เช่นเดียวกับเศษเสี้ยวที่ยังเหลือของอาภรณ์ล้ำค่า และหมากกระดานยุคโบราณ สโตลเปอพบชิ้นส่วนของดาบมีฝัก ขวานหน้ากว้าง มีดพกสำหรับการต่อสู้ระยะประชิด หอกสองเล่ม โล่สองอัน และลูกธนูกว่าสองโหล จัดวางอยู่รอบโครงกระดูก สิ่งที่หายไปอย่างเห็นได้ชัดคือเครื่องประดับที่นักวิจัยเชื่อมโยงกับสตรีไวกิ้งมานานแล้ว





จากข้าวของที่พบในหลุมศพตระการตานี้ สโตลเปอสรุปว่า เจ้าของเป็นชาย และเป็นนักรบชายคนสำคัญคนหนึ่ง นักวิจัยชาวสแกนดิเนเวียคนอื่นๆยอมรับการค้นพบนี้อย่างกว้างขวาง และขณะที่ข่าวการค้นพบของสโตลเปอแพร่สะพัดออกไป นิตยสาร นี อิลลุสเตรรัด ทิดนิง หรือ นิวอิลลัสเตรเทด ก็ตีพิมพ์ภาพสลักอันน่าทึ่งของหลุมศพนักรบเบียร์กา ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากเทคนิคการวาดภาพของสโตลเปอ ภาพนี้เต็มไปด้วยรายละเอียดและน่าทึ่งเสียจนได้รับการตีพิมพ์ซ้ำๆในหนังสือเกี่ยวกับไวกิ้งอยู่หลายสิบปี หลุมศพนี้ “มีข้าวของอยู่มากผิดปกติ” เฮเดนสเตียร์นา-จอนสันบอก “และได้รับความสนใจอย่างมากค่ะ”
เป็นเวลาเกือบ 140 ปีที่ไม่มีนักโบราณคดีคนใดตั้งคำถามกับการตีความหลุมศพของสโตลเปอ นักวิจัย ชาวสแกนดิเนเวียหลายรุ่นยอมรับทรรศนะที่ว่า การทำสงครามเป็นเรื่องเฉพาะบุรุษในยุคไวกิ้ง อันเป็นช่วงเวลาที่เริ่มต้นราวกลางศตวรรษที่แปดและค่อยๆเสื่อมลงในช่วงกลางศตวรรษที่สิบเอ็ด จะว่าไปแล้ว กวีสแกนดิเนเวียยุคกลางหลายคนก็วาดภาพความน่าสะพรึงกลัวเกินจริงในการต่อสู้ของชาวไวกิ้งไว้ ในบทร้อยกรองประดุจฝันร้ายเหล่านั้น ดาบคือ “ไฟแห่งการเข่นฆ่า” หรือ “เป็นประกายด้วยซากศพ” หอกคือ “งูเลือด” หรือ “ไฟแห่งเทพโอดิน” ตัวสงครามเองนั้นคือ “อสนีบาตแห่งอาวุธ” “พายุหอก” และ “กองทัพแดงฉาน” โดยสรุปแล้ว กวียุคต้นของสแกนดิเนเวียสรรค์สร้างอุปมาโวหารราว 3,500 โวหารเพื่อบรรยายฉากสงครามและอาวุธ ถือเป็นความรุ่มรวยทางภาษาที่น่าประทับใจยิ่ง นักวิชาการเห็นตรงกันว่า พื้นที่หฤโหดแห่งการต่อสู้ของชาวไวกิ้งไม่ใช่ที่ทางสำหรับสตรีอย่างชัดเจน
อัตลักษณ์ความเป็นชายของนักรบเบียร์กาฝังลึกในใจเรา
เบียร์กาและโลกไวกิ้งทั้งหมดอาจถือว่าได้รับความสนใจมากกว่าที่เคยเป็นมาในปัจจุบัน เมื่อการขุดค้นใหม่ๆเกิดขึ้นทั่วพื้นที่แดนเหนือ พร้อมไปกับการพัฒนาเทคนิควิธีสำรวจตรวจสอบที่ล้ำสมัย เช่น การหาลำดับดีเอ็นเอโบราณและการวิเคราะห์ไอโซโทป นักโบราณคดีสามารถปะติดปะต่อภาพชีวิตที่ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆของชาวไวกิ้ง


ตัวอย่างเช่น ตอนนี้หลักฐานชี้แล้วว่า ยุคไวกิ้งเริ่มต้นหลายสิบปีก่อนช่วงเวลาที่เชื่อกันมาแต่เดิม เมื่อนักรบไวกิ้งพร้อมอาวุธมากมายล่องเรือไปถึงบริเวณที่ปัจจุบันคือเอสโตเนียราว ค.ศ. 750 และเผชิญการเข่นฆ่าสังหารอย่างเหี้ยมโหดจากศัตรู ตลอดสามศตวรรษต่อจากนั้น ชาวไวกิ้งกลุ่มต่างๆได้รอนแรมข้ามน้ำข้ามทะเลอย่างน้อยแปดแห่ง เดินทางท่องไปในประเทศต่างๆกว่า 35 ประเทศ และประสบพบเจอวัฒนธรรมที่แตกต่างกว่า 50 วัฒนธรรม ตั้งแต่ชายฝั่งตะวันออกของแคนาดาไปถึงช่องเขาบนบรรพตสูงชันในอัฟกานิสถาน ไม่มีชนชาวยุโรปอื่นใดในยุคนั้นองอาจหาญกล้า รักการผจญภัย และเปี่ยมความสนใจใคร่รู้ เทียบเท่าพวกเขาอีกแล้ว
ในยุโรปตะวันออก กลุ่มพ่อค้าชาวไวกิ้งเดินทางล่องแม่น้ำสายอันตรายต่างๆในบริเวณที่ปัจจุบันคือรัสเซีย เบลารุส และยูเครน ต่อกรกับการจู่โจมของนักรบบนหลังม้าในทุ่งหญ้าสเตปป์ของยูเรเชียเพื่อไปยังเมืองมั่งคั่งที่สุดสองแห่งของโลกในยุคนั้น นั่นคือคอนสแตนติโนเปิล (ปัจจุบันคืออิสตันบูล) และแบกแดด และพอถึงช่วงต้นศตวรรษที่สิบเอ็ดเป็นอย่างน้อย นักเดินเรือชาวสแกนดิเนเวียก็ขึ้นบกที่ชายฝั่งอเมริกาเหนือ ณ ปลายเหนือสุดของนิวฟันด์แลนด์ นักวิจัยพบซากค่ายพักของชาวไวกิ้งที่มีผู้อาศัยอยู่เมื่อปี 1021
หลายสิบปีที่นักวิชาการให้ความสนใจเหล่าบุรุษจากแดนเหนือเป็นหลัก โดยทึกทักว่ามีเพียงผู้ชายเท่านั้นที่เป็นนักเดินเรือ กองโจร และพ่อค้า แล้วผู้หญิงจากแดนเหนือเล่า พวกเธอทำอะไรในช่วงเวลานั้น นักโบราณคดีแทบไม่ให้ความสนใจพวกเธอเลย โดยมองว่าหญิงไวกิ้งอยู่เหย้าเฝ้าเรือนเป็นหลัก มารีอันเนอ มูน นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยออสโล บอกว่า “เวลาไปพิพิธภัณฑ์ เป็นไปได้มากว่าเราจะเห็นภาพผู้หญิงไวกิ้งทำหนึ่งในสองอย่าง นั่นคืออุ้มเด็กหรือไม่ก็ทำอาหาร”

เมื่อผู้หญิงสแกนดิเนเวียเข้ามาทำงานโบราณคดีมากขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ยี่สิบ บางคนเริ่มสำรวจตรวจสอบวิถีชีวิตของสตรีชาวเหนือจากมิติมุมมองใหม่ๆ ทุกวันนี้ การวิเคราะห์หลักฐานจากการขุดค้นใหม่ๆและสิ่งที่จัดแสดงอยู่เดิมในพิพิธภัณฑ์ต่างๆของพวกเธอเผยความประหลาดใจมากมายและบทบาทของผู้หญิงไวกิ้งในวงกว้างกว่าเดิมมาก สตรีไวกิ้งบางคนแผ่อิทธิพลยิ่งใหญ่ในแดนเหนือ โดยเป็นถึงราชินีผู้ทรงอำนาจ ผู้สำเร็จราชการ นักพยากรณ์ ผู้วิเศษ เจ้าของที่ดิน เจ้าลัทธิศักดิ์สิทธิ์ ผู้สร้างเครือข่ายพันธมิตร วาณิช และนักเดินทาง
ตัวอย่างเช่น ใต้เนินดินฝังศพขนาดใหญ่แห่งหนึ่งที่โอเซอแบร์กในนอร์เวย์ เมื่อปี 1903 นักวิจัยพบเรือยาวลำเพรียวของไวกิ้งที่ประดับตกแต่งด้วยลายสลักอันละเอียดประณีต นี่คือหลุมศพไวกิ้งอลังการที่สุดที่นักโบราณคดีรู้จัก เรือลำนั้นเต็มไปด้วยผ้าทอและงานศิลปะอื่นๆ และบรรจุซากร่างของสตรีที่มีสถานภาพสูงส่งสองคน หากดูจากสิ่งของที่ฝังในหลุมศพ หนึ่งในนั้นมีแนวโน้มว่าจะเป็นผู้ประกอบพิธีที่ผู้คนเคารพนับถือและผู้วิเศษที่ทรงอิทธิฤทธิ์ ในโลกของชาวไวกิ้ง ว่ากันว่าผู้วิเศษนั้นมีพลังแห่งเวทมนตร์มากมาย ตั้งแต่ความสามารถในการทำนายอนาคตและควบคุมลมฟ้าอากาศได้ ไปจนถึงการร่าย “เวทมนตร์พลิกกลศึก” อันเป็นพิธีกรรมสายดำที่ช่วยเปลี่ยนผลของการศึก นีล ไพรซ์ นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยอุปป์ซาลา บอกว่า ในการทำสงครามของไวกิ้ง “เวทมนตร์คือปัจจัยสำคัญในการต่อสู้พอๆกับการลับคมดาบ” และผู้วิเศษที่ร่ายเวทมนตร์ส่วนใหญ่นี้คือผู้หญิง
ผู้หญิงอื่นๆคือช่างฝีมือผู้มีทักษะ มีบทบาทสำคัญในการจัดหาและสร้างกองเรือไวกิ้งที่โด่งดังในการต่อสู้และการปล้นสะดม พวกเธอทอผ้าขนสัตว์คุณภาพสูงที่ใช้ทำใบเรือของเรือยาวไวกิ้ง นี่ถือเป็นงานใหญ่ การทอใบเรือเพียงหนึ่งผืนสำหรับเรือรบขนาดใหญ่จะต้องใช้ชั่วโมงการทำงานอย่างน้อย 10,269 ชั่วโมง (เท่ากับระยะเวลาประมาณสามปีครึ่ง หากใช้มาตรฐานการทำงานวันละแปดชั่วโมงโดยไม่มีวันหยุดเลย) นอกจากนี้ ผู้หญิงยังตัดเย็บเสื้อผ้าขนสัตว์คุณภาพสูงทั้งหมดที่ลูกเรือบนเรือรบเหล่านั้นสวมใส่ด้วย ลีเซอ เบนเดอร์ เยอร์เกนเซน ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งทอ ชาวเดนมาร์ก คำนวณว่า กลุ่มผู้หญิงต้องใช้แรงงานมากถึงสิบเจ็ดปีครึ่งในการทำเครื่องแต่งกายให้ลูกเรือ 70 ชีวิต เห็นได้ชัดว่า ช่างฝีมือสตรีผู้ชำนาญมีส่วนสำคัญในความสำเร็จของการปล้นสะดมและการต่อสู้ทางการทหารอื่นๆของชาวไวกิ้งในต่างแดน แต่การมีส่วนร่วมในการรณรงค์สงครามของสตรีไวกิ้งไม่ได้สิ้นสุดเพียงเท่านี้
หลักฐานน่าทึ่งในปัจจุบันชี้ว่ามีสตรีชาวเหนืออย่างน้อยจำนวนหนึ่งที่ได้รับการฝึกฝนให้ต่อสู้ในฐานะนักรบ การเปิดเผยนี้เริ่มขึ้นราวสิบปีก่อน ในปี 2014 เมื่ออันนา เคียลล์สตรอม นักมานุษยวิทยาการแพทย์และชีวภาพจากมหาวิทยาลัยสตอกโฮล์ม เริ่มตรวจสอบซากร่างของนักรบเบียร์กาอันโด่งดัง เคียลล์สตรอมระบุว่า นักรบผู้นี้น่าจะมีความสูงประมาณ 170 เซนติเมตร หรือเตี้ยกว่าชายชาวไวกิ้งโดยเฉลี่ยเล็กน้อย และอาจเสียชีวิตในช่วงอายุระหว่าง 30 ถึง 40 ปี แต่แล้วเธอก็พบเรื่องน่าสนใจเข้า นั่นคือตัวบ่งชี้ทางกายวิภาคสำคัญหลายตัวไม่ตรงกับลักษณะของเพศชาย
ตัวอย่างเช่น รอยเว้าไซแอติก (sciatic notch) ที่กระดูกเชิงกรานของนักรบผู้นี้มีลักษณะกว้างกว่าค่าเฉลี่ยมาตรฐานของผู้ชายมาก มันดูเหมือนของผู้หญิง ยิ่งไปกว่านั้น กระดูกเชิงกรานยังมีร่องด้านหน้า (preauricular sulcus) กว้าง ซึ่งโดยปกติเป็นลักษณะของเพศหญิง และคางของนักรบก็แหลมและเล็ก อันเป็นลักษณะสืบสายพันธุ์ของเพศหญิงเช่นกัน อันที่จริง “โครงกระดูกนี้มีลักษณะหลายอย่างเป็นหญิง” เคียลล์สตรอมอธิบายกับฉันทางอีเมลหลังจากนั้น ด้วยความงุนงง เธอจึงขอให้นักมานุษยวิทยาอีกสองคนช่วยประเมินเพศของโครงกระดูกนี้โดยต่างคนต่างทำ ทั้งคู่ได้ข้อสรุปเดียวกัน นักรบไวกิ้งผู้โด่งดังแห่งเบียร์กาดูเหมือนจะเป็นผู้หญิง
มหากาพย์โบราณของชาวนอร์สเล่าเรื่องน่าทึ่งมากมายเกี่ยวกับนักรบสตรีเอาไว้ ลัดแกร์ดา สตรีเรืองนามที่สุดคนหนึ่ง แต่งงานกับขุนศึกชาวไวกิ้ง เธอเป็นนักรบที่ประสบความสำเร็จและไม่ยอมแต่งกายเยี่ยงบุรุษในสนามรบ และเธอก็ออกทำศึกโดยปล่อยผมสยายยาวถึงกลางหลังจริงๆ แต่นักโบราณคดีในศตวรรษที่ยี่สิบส่วนใหญ่ปฏิเสธเรื่องราวเหล่านั้นว่าเป็นเพียงเรื่องแต่งของนักเล่าเรื่องยุคกลางเท่านั้น พวกเขาเชื่อว่าสตรีไวกิ้งทำหน้าที่ดูแลบ้านตามขนบธรรมเนียม นั่นคือเตรียมอาหาร เข้าครัว ตัดเย็บเสื้อผ้า และดูแลลูกๆ




เฮเดนสเตียร์นา-จอนสันไม่เห็นด้วยนัก เธอทำงานวิจัยอย่างกว้างขวางที่เบียร์กาและรู้ว่า หอรักษาการณ์ที่นั่นเคยเต็มไปด้วยอาวุธเหล็กและหอแห่งนั้นก็ตั้งอยู่เหนือคลังเก็บหัวหอกเหล็กที่เป็นของบวงสรวงแด่ทวยเทพ นั่นคือเขตแดนแห่งนักรบอย่างแท้จริง สถานที่ซึ่งอุทิศให้เทพแห่งหอกอย่างโอดิน การตัดสินใจฝังร่างบุคคลหนึ่งไว้ใกล้หอรักษาการณ์ของไวกิ้งและสักการสถานอันศักดิ์สิทธิ์ คือการแสดงความเคารพสูงส่งในตัวเอง ซึ่งมีแนวโน้มจะมอบ แด่นักรบคนสำคัญ นักรบหญิงคนหนึ่งจะได้รับสิทธิให้ฝังร่างในหลุมศพอันทรงเกียรติเช่นนั้นหรือ
และราวกับโชคเข้าข้าง เฮเดนสเตียร์นา-จอนสันกับเคียลล์สตรอมได้รับทุนสนับสนุนก้อนโตในการทำงานวิจัยขนาดใหญ่เพื่อศึกษาดีเอ็นเอของซากมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในสวีเดน และโครงกระดูกนักรบเบียร์กาที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้ในสภาพดีคือตัวเลือกสำคัญของโครงการ ดังนั้น ในปี 2015 นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสตอกโฮล์มจึงเก็บตัวอย่างเล็กๆสองตัวอย่าง ตัวอย่างหนึ่งจากฟันเขี้ยวของร่างนั้น อีกตัวอย่างหนึ่งจากกระดูกต้นแขน และสามารถสกัดดีเอ็นเอโบราณจากตัวอย่างทั้งสองออกมาได้สำเร็จ จากดีเอ็นเอดังกล่าว นักพันธุศาสตร์ได้สร้างข้อมูลจีโนมเพื่อระบุทั้งเพศและสายตระกูลของนักรบผู้นี้
เฮเดนสเตียร์นา-จอนสันได้ผลการทดสอบเหล่านี้ไม่นานก่อนเรานัดพบกัน เธอบอกฉันว่า บุคคลในหลุมศพนักรบเรืองนามดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องทางพันธุกรรมกับผู้คนที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของสวีเดนในปัจจุบัน แต่ผลลัพธ์น่าทึ่งที่สุดมาจากการวิเคราะห์ดีเอ็นเอว่าด้วยเพศกำเนิดของนักรบผู้นั้น
เฮเดนสเตียร์นา-จอนสันประกาศว่า บุคคลที่ทอดร่างในหลุมศพบีเจ 581 “เป็นผู้หญิง”
เรื่อง เฮเทอร์ พริงเกิล
ศิลปกรรม อาเรีย ซาฟาร์ซาเดแกน
ภาพถ่าย นอรา โลเร็ก
แปล ศรรวริศา เมฆไพบูลย์