ไททานิก โศกนาฏกรรมโลกไม่ลืม

ไททานิก โศกนาฏกรรมโลกไม่ลืม

ไททานิก
ท้ายเรือ ไททานิก ในสภาพที่หางเสือจมอยู่ ในทรายและใบจักรสองใบโผล่ ให้เห็นท่ามกลางความมืดมัว นอนสงบนิ่งอยู่บนที่ราบก้นสมุทร ห่างจากหัวเรือที่มีการถ่ายภาพไว้มากกว่าลงไปทางใต้ราว 600 เมตร ภาพโมเสกนี้ประกอบขึ้นจากภาพถ่ายความละเอียดสูง 300 ภาพที่ถ่ายไว้ระหว่างการสำรวจเมื่อปี 2010

สำหรับบางคน เสน่ห์ชวนดึงดูดของ ไททานิก อยู่ที่อวสานอันยิ่งใหญ่ของมันนั่นเอง นี่คือเรื่องราวของความเป็นที่สุด นั่นคือเรือเดินสมุทรที่แข็งแกร่งและยิ่งใหญ่ที่สุดอับปางลงในน่านน้ำสุดลึกล้ำและแสนเยียบเย็น แต่สำหรับอีกหลาย ๆ คน ความน่าหลงใหลของ ไททานิก เริ่มต้นและจบลงด้วยเรื่องราวผู้คนบนเรือ กว่าที่ ไททานิก จะจมลงสู่ก้นสมุทรก็กินเวลานานถึงสองชั่วโมงสี่สิบนาที เนิ่นนานพอที่จะทำให้เรื่องราวโศกนาฏกรรมขั้นมหากาพย์ 2,208 เรื่องได้โลดแล่นบนเวที เล่ากันว่าชายตาขาวคนหนึ่งถึงกับแต่งชุดสตรีพยายามแย่งลงเรือชูชีพ แต่คนส่วนใหญ่บนเรือมีศักดิ์ศรีและหลายคนหาญกล้า กัปตันปักหลักมั่นอยู่ที่สะพานเดินเรือ วงดนตรียังคงบรรเลงต่อไป พนักงานประจำวิทยุโทรเลขอยู่ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือกระทั่งนาทีสุดท้าย ผู้โดยสารส่วนใหญ่ยังรวมกลุ่มกันตามชนชั้นอันเป็นค่านิยมแห่งยุคสมัย นาทีสุดท้ายของชีวิตพวกเขาเป็นเช่นไร เป็นเรื่องที่คนทั้งโลกสงสัยใคร่รู้

แต่ยังมีบางสิ่งนอกเหนือจากชีวิตมนุษย์ที่จมลงพร้อมกับเรือ ไททานิก นั่นคือมายาภาพแห่งความเป็นระบบระเบียบ ศรัทธาต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี รวมทั้งความฝันถึงอนาคตที่ดีขึ้น ขณะที่ยุโรปกำลังก้าวเข้าสู่ความขัดแย้งและสงครามเต็มรูปแบบ ทั้งหมดนี้ถูกแทนที่ด้วยความหวาดกลัวและความพรั่นพรึงอย่างที่พวกเราในยุคปัจจุบันเคยคุ้น ”อวสานของเรือ ไททานิก ทำให้ภาพฝันสลายไปครับ” เจมส์ แคเมรอน บอกกับผม ”ในช่วงสิบปีแรกของศตวรรษที่ยี่สิบ ผู้คนรู้สึกถึงความเจริญก้าวหน้ามากมายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นลิฟต์ รถยนต์ เครื่องบิน วิทยุโทรเลข ทุกอย่างช่างดูมหัศจรรย์ ราวกับมีแต่จะพุ่งสูงขึ้นไม่สิ้นสุด แต่แล้วทุกอย่างก็พังครืนลง”

 

มารดาแห่งเรืออับปางทั้งปวงมีที่พำนักหลายแห่ง ทั้งสถานที่จริง ในทางกฎหมาย และในเชิงอุปมา แต่คงไม่มีแห่งไหนที่ดูเหลือเชื่อยิ่งกว่าโรงแรมลักซอร์ในลาสเวกัส ที่นั่นมีนิทรรศการจัดแสดงศิลปวัตถุจากเรือ ไททานิก ซึ่งกู้ขึ้นมาโดยบริษัทอาร์เอ็มเอสไททานิกอิงค์หรืออาร์เอ็มเอสที  (RMST) ผู้มีสิทธิกู้ศิลปวัตถุจากซากเรือ ไททานิก อย่างถูกต้องตามกฎหมายแต่เพียงผู้เดียวมาตั้งแต่ปี 1994 นิทรรศการดังกล่าว ตลอดจนงานแสดงทำนองเดียวกันนี้ของบริษัทอาร์เอ็มเอสทีใน 20 ประเทศทั่วโลกมีผู้เข้าชมมากกว่า 25 ล้านคน

ผมใช้เวลาหนึ่งวันเต็ม ๆ ที่โรงแรมลักซอร์เพื่อเดินชมข้าวของจากเรือ ไททานิก ซึ่งมีอาทิหมวกพ่อครัวใบหนึ่ง มีดโกนเล่มหนึ่ง ถ่านหินหลายก้อน ถ้วยชามในสภาพสมบูรณ์หนึ่งชุด รองเท้านับคู่ไม่ถ้วน ขวดน้ำหอม กระเป๋าหนังใบหนึ่ง แชมเปญขวดหนึ่ง ส่วนใหญ่เป็นข้าวของธรรมดาทั่วไปที่กลายเป็นของไม่ธรรมดาหลังการเดินทางอันเลวร้ายและยาวนานนำพาพวกมันมาอยู่ในตู้โชว์ผมเดินผ่านห้องโถงมืดสลัวที่รักษาอุณหภูมิให้เย็นจัดราวกับตู้แช่เนื้อ ภายในมี ”ภูเขาน้ำแข็ง” หล่อเลี้ยงด้วยสารฟรีออน (สารทำความเย็น) และผู้เยี่ยมชมสามารถสัมผัสได้ แต่ของชิ้นเด่นที่สุดของนิทรรศการคือชิ้นส่วนตัวเรือ ไททานิกชิ้นมหึมาที่รู้จักกันในชื่อ ”เหล็กชิ้นยักษ์” หนัก 15 ตันที่ยกขึ้นจากก้นทะเลด้วยปั้นจั่นเมื่อปี 1998

ไททานิก
เครื่องยนต์สองเครื่องของ ไททานิก อยู่ในสภาพเปลือยเปล่าในภาพตัดขวางช่วงหนึ่งของท้ายเรือที่ทะลุโหว่ โครงสร้างที่ปกคลุมด้วย “สนิมย้อย” สีส้มซึ่งแบคทีเรียกินสนิมสร้างขึ้นนี้ มีขนาดใหญ่โตมหึมาสูงเท่าตึกสี่ชั้น และเคยขับเคลื่อนวัตถุชิ้นใหญ่ที่สุดในโลกที่มนุษย์สร้างขึ้น

นิทรรศการของบริษัทอาร์เอ็มเอสทีถือว่าจัดได้ดี แต่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา นักโบราณคดีใต้น้ำจำนวนมากพูดถึงบริษัทนี้ด้วยถ้อยคำรุนแรง ก่นด่าว่าเป็นโจรปล้นสุสานบ้าง นักล่าสมบัติบ้าง และอย่างอื่นที่แย่กว่านี้ โรเบิร์ต บัลลาร์ดเองคัดค้านมาตลอดว่า ซากเรือและข้าวของทั้งหมดของ ไททานิก ควรเก็บรักษาไว้ในสภาพอย่างที่เป็นอยู่ ณ ก้นสมุทร เมื่อพูดถึงระเบียบวิธีที่อาร์เอ็มเอสทีใช้ เขากล่าวว่า ”ไม่มีใครไปชมพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์แล้วใช้นิ้วจิ้มรูปโมนาลิซากันหรอกครับ คนพวกนี้ทำได้ทุกอย่างเพราะความโลภ ไปดูได้เลยจากประวัติเหลวแหลกของบริษัทนี้”

แต่หลายปีหลังมานี้ บริษัทอาร์เอ็มเอสทีได้ผู้บริหารชุดใหม่ และตั้งเป้าหมายต่างไปจากเดิม โดยเบนเข็มจากการกู้ข้าวของเพียงอย่างเดียวมาเป็นแผนระยะยาวในการปฏิบัติต่อซากเรือในฐานะแหล่งโบราณคดี ขณะเดียวกันก็ทำงานร่วมกับองค์กรวิทยาศาสตร์และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับเรือ ไททานิก อันที่จริงแล้ว การสำรวจในปี 2010 ที่ทำให้สามารถถ่ายภาพจุดอับปางทั้งบริเวณได้เป็นครั้งแรก ก็ได้บริษัทอาร์เอ็มเอสทีเป็นทั้งผู้จัด ผู้นำการสำรวจและผู้ออกทุน อาร์เอ็มเอสทียังกลับลำหันมาสนับสนุนข้อเรียกร้องให้มีการออกกฎหมายคุ้มครองซากเรือ ไททานิกและจุดอับปางในฐานะอนุสรณ์สถานทางทะเล ล่าสุดเมื่อปลายปี 2011 อาร์เอ็มเอสทีได้ประกาศแผนที่จะนำศิลปวัตถุจากเรือ ไททานิก ที่อยู่ในความครอบครองทั้งหมดซึ่งมีมูลค่า 189 ล้านดอลลาร์สหรัฐมาขายทอดตลาด พร้อมทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ทันวาระครบรอบหนึ่งร้อยปีแห่งโศกนาฏกรรม ไททานิก แต่มีข้อแม้ว่าผู้ประมูลต้องยินยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขอันเข้มงวดของศาลสหรัฐฯ ซึ่งข้อหนึ่งระบุว่า ผู้ครอบครองไม่สามารถจำหน่าย จ่าย โอน โบราณวัตถุส่วนหนึ่งส่วนใดได้ และต้องเก็บรักษาไว้ด้วยกันทั้งหมด

ผมพบกับคริส ดาวีโน ประธานของอาร์เอ็มเอสทีที่โกดังเก็บศิลปวัตถุของบริษัทในแอตแลนตา ลึกเข้าไปภายในอาคารควบคุมสภาพอากาศ รถยกคันหนึ่งค่อย ๆ วิ่งไปตามทางเดินยาวระหว่างชั้นวางที่มีลังซ้อนกันอยู่เป็นตั้ง ๆ ทุกลังมีป้ายระบุอย่างชัดเจน ภายในบรรจุศิลปวัตถุและข้าวของนานาชนิด อาทิ จานชาม เสื้อผ้า จดหมาย ขวด ชิ้นส่วนท่อประปา หน้าต่างกลมข้างเรือ ซึ่งเก็บกู้ขึ้นมาจากบริเวณที่ ไททานิก อับปางตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ดาวีโนซึ่งเข้ามากุมบังเหียนของอาร์เอ็มเอสทีตั้งแต่ปี 2009 อธิบายทิศทางใหม่ของบริษัทให้ผมฟังว่า  ”รู้ ๆ กันอยู่ครับว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมา สิ่งเดียวที่ประชาคม ไททานิก เห็นพ้องต้องกันคือความรังเกียจเดียดฉันท์ที่มีต่อเรา ถึงเวลาแล้วที่เราต้องทบทวนทุกอย่าง เราต้องทำอะไรสักอย่างนอกเหนือจากการกู้ข้าวของขึ้นมา เราต้องเลิกทะเลาะกับผู้เชี่ยวชาญ และหันมาทำงานร่วมกับพวกเขาแทน”

สถานการณ์เป็นเช่นนั้นจริง หน่วยงานภาครัฐอย่างโนอา ซึ่งเคยมีคดีพิพาทกับอาร์เอ็มเอสทีและบริษัทแม่คือ พรีเมียร์เอ็กซีบิชันส์อิงค์ ปัจจุบันกลับทำงานร่วมกับอาร์เอ็มเอสทีโดยตรง โดยดำเนินโครงการทางวิทยาศาสตร์ด้วยกันหลายโครงการเพื่ออนุรักษ์พื้นที่บริเวณจุดอับปาง เดฟ คอนลิน หัวหน้านักโบราณคดีใต้น้ำสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติสหรัฐฯ ยอมรับว่า ”ไม่ใช่เรื่องง่ายครับที่จะหาจุดสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการทำกำไร อาร์เอ็มเอสทีควรถูกประณามจริงเมื่อหลายปีก่อนโน้น แต่ก็สมควรได้รับคำชมด้วยที่กลับตัวกลับใจหันมายึดแนวทางใหม่ครับ” เมื่อไม่นานมานี้ นักวิชาการพากันชื่นชมอาร์เอ็มเอสที  หลังจากบริษัทได้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับ ไททานิก ระดับหัวกะทิคนหนึ่งของโลกให้มาวิเคราะห์ภาพถ่ายจากการสำรวจปี 2010 และเริ่มต้นระบุเศษซากปริศนาบนพื้นสมุทรจำนวนมาก บิล ซอเดอร์ คือชายผู้นั้น นามบัตรที่ระบุตำแหน่งว่า ”ผู้อำนวยการการศึกษาวิจัยเรือ ไททานิก” ไม่อาจบรรยายสรรพคุณความรอบรู้ระดับสารานุกรมของเขาในสาขาเรือเดินสมุทรตระกูล ไททานิก ได้

 

Recommend