ไททานิก โศกนาฏกรรมโลกไม่ลืม

ไททานิก โศกนาฏกรรมโลกไม่ลืม

ช่างภาพบนเรือลำหนึ่งที่ลอยลำอยู่ ใกล้ๆ บันทึกภาพขณะเรือโยงแล่นนำเรือ ไททานิก ออกจากท่าเรือเซาแทมป์ตัน ห้าวันต่อมา สัญลักษณ์แห่งยุค “เปลือกทอง” (gilded age) ลำนี้ก็นอนแน่นิ่งอยู่บนพื้นมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ โรเบิร์ต บัลลาร์ด นักสำรวจผู้ค้นพบซากเรือ บอกว่า “เป็นหนึ่งในเรื่องราวที่จะเล่าขานต่อกันไปตลอดกาล”

เรือชนเข้ากับภูเขาน้ำแข็งตรงด้านข้างเมื่อเวลา 23.40 น. สร้างความเสียหายให้กราบเรือด้านขวาเป็นแนวยาว 90 เมตร และเกิดรอยรั่วในห้องผนึกน้ำหกห้องด้านหน้าตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป เรือต้องอับปางลงอย่างแน่นอนแต่อวสานอาจมาถึงเร็วขึ้นเมื่อลูกเรือเปิดประตูสะพานลงเรือทางกราบซ้ายบานหนึ่งออกเพื่อถ่ายคนลงเรือชูชีพขณะนั้นเรือเริ่มเอียงไปทางกราบซ้ายแล้ว ลูกเรือจึงไม่สามารถต้านแรงโน้มถ่วงเพื่อดึงประตูบานมหึมาให้กลับเข้ามาปิดได้ดังเดิม และพอถึงเวลา 1.50 น. หัวเรือก็จมลงมากพอจนน้ำทะเลทะลักเข้าทางสะพานลงเรือดังกล่าว

พอถึงเวลา 2.18 น. หลังจากเรือชูชีพลำสุดท้ายแล่นออกไปเมื่อ 13 นาทีก่อน หัวเรือก็ถูกน้ำท่วมมิด ท้ายเรือยกลอยสูงขึ้นจนเห็นใบจักร ก่อให้เกิดแรงเครียดมหาศาลที่กึ่งกลางลำเรือ แล้ว ไททานิก ก็หักกลางเป็นสองท่อน พอหลุดจากส่วนท้ายเรือ หัวเรือก็ดิ่งลงสู่ก้นทะเลโดยทำมุมเกือบตั้งฉาก ความเร็วที่เพิ่มขึ้นขณะจมทำให้ส่วนประกอบต่าง ๆ เริ่มหลุดออกจากหัวเรือ ปล่องไฟหักแยกออกมา ห้องถือท้ายแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยหลังจากห้านาทีของการดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง หัวเรือก็ปักลงไปในโคลนด้วยแรงมหาศาลจนเกิดหลุมลึก (ejecta pattern) ซึ่งเนินดินรอบหลุมปรากฏให้เห็นบนพื้นสมุทรถึงทุกวันนี้

ท้ายเรือซึ่งไม่มีปลายตัดน้ำเหมือนส่วนหัวเรือจมลงอย่าง ”ทุรนทุราย” ยิ่งกว่า ทั้งตีลังกาและควงสว่านไปด้วย ส่วนหน้าขนาดใหญ่ซึ่งเปราะบางลงอยู่แล้วจากการร้าวหักที่ผิวน้ำแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ส่งชิ้นส่วนกระจัดกระจายลงสู่ก้นบึ้งมหาสมุทร ห้องผนึกน้ำระเบิด ดาดฟ้ายุบลงมาประกบกัน แผ่นเหล็กตามลำเรือฉีกขาดบรรดาชิ้นส่วนที่หนักกว่าอย่างหม้อไอน้ำจมดิ่งลง ขณะที่ชิ้นส่วนอื่น ๆ พุ่งกระจายออก ท้ายเรือดิ่งลงอย่างทุลักทุเลเป็นระยะทางกว่าสี่กิโลเมตร ทั้งฉีกขาดบิดงอ อัดบีบ และหลุดออกจากกันทีละน้อย ครั้นกระแทกกับพื้นสมุทรส่วนท้ายเรือก็แหลกเหลวจนจำสภาพแทบไม่ได้

แล้วแคเมรอนก็พูดขึ้นว่า ”เราไม่อยากให้ ไททานิกหักและแตกออกเป็นเสี่ยง ๆ หรอกครับ เราอยากให้มันจมลงในสภาพสมบูรณ์เหมือนตอนที่ลอยลำอยู่ยังไงยังงั้น”

ขณะนั่งฟังอยู่นั้น ผมนึกสงสัยตลอดว่าเกิดอะไรขึ้นกับผู้คนที่ยังอยู่บนเรือขณะที่มันจมลง ในบรรดาผู้เคราะห์ร้าย 1,496 คน ส่วนใหญ่เสียชีวิตจากภาวะตัวเย็นเกิน (hypo-thermia) ที่ผิวน้ำระหว่างลอยตัวเกาะกันเป็นแพด้วยเสื้อชูชีพบุไม้คอร์กข้างใน แต่อีกหลายร้อยคนอาจยังมีชีวิตอยู่ในเรือ ส่วนใหญ่เป็นครอบครัวผู้อพยพในกลุ่มผู้โดยสารชั้นสามซึ่งหวังจะไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในอเมริกา พวกเขาจะสัมผัสได้ถึงโลหะที่บิดเบี้ยวและสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงขนาดไหนกัน จะได้ยินเสียงอะไรบ้างและรู้สึกอย่างไรช่างเป็นประสบการณ์อันแสนโหดร้ายจนไม่อยากแม้แต่จะคิด ทั้ง ๆ ที่เวลาล่วงเลยมาถึง 100 ปีแล้วก็ตาม

 

เมืองเซนต์จอนส์บนเกาะนิวฟันด์แลนด์เป็นบ้านอีกหลังของ ไททานิก ย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ปี 1912 เรือกู้ชีพลำหนึ่งแล่นกลับเซนต์จอนส์พร้อมศพสุดท้ายจาก ไททานิก ตลอดหลายเดือนหลังโศกนาฏกรรม มีรายงานว่าพบข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น เก้าอี้พับ ชิ้นส่วนผนังไม้ และอื่น ๆ ถูกซัดมาเกยฝั่งนิวฟันด์แลนด์

ผมตั้งใจจะไปยังจุดอับปางพร้อมกับหน่วยตรวจการน้ำแข็งระหว่างประเทศ ซึ่งจัดตั้งขึ้นภายหลังอุบัติภัยครั้งนั้นเพื่อตรวจตราและเฝ้าระวังภูเขาน้ำแข็งตามเส้นทางเดินเรือในเขตมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ แต่เมื่อนอร์อีสเตอร์ (nor’easter) หรือลมพายุตะวันออกเฉียงเหนือทำให้เที่ยวบินทุกเที่ยวถูกยกเลิก ผมจึงเปลี่ยนแผนไปนั่งที่ร้านเหล้าในท้องถิ่นแทน ที่นั่นผมได้รับเลี้ยงเหล้าวอดก้าพื้นเมืองที่กลั่นด้วยน้ำจากภูเขาน้ำแข็ง บาร์เทนเดอร์หย่อนน้ำแข็งสี่เหลี่ยมก้อนเล็ก ๆ ลงในแก้ว เป็นน้ำแข็งที่กะเทาะมาจากภูเขาน้ำแข็งซึ่งน่าจะมาจากธารน้ำแข็งกรีนแลนด์ผืนเดียวกับที่ให้กำเนิดภูเขาน้ำแข็งซึ่งทำให้ ไททานิกจมลง น้ำแข็งก้อนนั้นแตกลั่นและปล่อยฟองฟู่ เขาบอกว่ามันคือการคายบรรยากาศดึกดำบรรพ์ที่กักอยู่ข้างในออกมา

เพียงไม่กี่ปีก่อนโศกนาฏกรรม ไททานิก กูกลิเอลโม มาร์โกนี สร้างสถานีวิทยุโทรเลขถาวรไว้บนสันดอนจะงอยอันเปล่าเปลี่ยวทางใต้ของเมืองเซนต์จอนส์ ซึ่งเรียกกันว่าเคปเรซ คนท้องถิ่นเล่าว่า บุคคลแรกที่ได้รับสัญญาณแจ้งเหตุร้ายจากเรือ ไททานิก คือ จิม ไมริก ซึ่งขณะนั้นเป็นพนักงานวิทยุโทรเลขวัย 14 ปี สัญญาณที่ส่งเข้ามาในช่วงแรกเป็นสัญญาณซีคิวดี (CQD) ซึ่งเป็นรหัสขอความช่วยเหลือที่ใช้กันทั่วไป แต่ต่อมาเคปเรซก็ได้รับสัญญาณใหม่ซึ่งแทบไม่เคยใช้ก่อนหน้านั้น นั่นคือเอสโอเอส (SOS)

เช้าวันหนึ่งที่เคปเรซ ท่ามกลางซากเก่าเก็บของอุปกรณ์วิทยุโทรเลขมาร์โกนีและเครื่องรับวิทยุคริสทัล ผมได้พบกับเดวิด ไมริก เหลนทวดของจิม เขาเป็นพนักงานวิทยุสื่อสารทางทะเล และเป็นทายาทคนสุดท้ายในตระกูลนักวิทยุสื่อสารรุ่นโบราณ เดวิดเล่าว่าปู่ทวดไม่เคยเอ่ยถึงคืนที่ ไททานิก จม จนกระทั่งล่วงเข้าวัยชรา เราออกไปที่ประภาคาร เหม่อมองไปยังทะเลเยียบเย็นที่ซัดกระแทกผาเบื้องล่าง เรือบรรทุกน้ำมันลำหนึ่งแล่นเอื่อยอยู่ลิบ ๆ ไกลออกไปที่แกรนด์แบงส์มีรายงานว่าพบภูเขาน้ำแข็งลูกใหม่ ๆ ไกลออกไปกว่านั้น บริเวณหลังเส้นขอบฟ้าคือที่พำนักสุดท้ายของเรืออับปางลำโด่งดังที่สุดในโลก ห้วงความคิดของผมเต็มไปด้วยสารพันสัญญาณที่ล่องลอยอยู่ในบรรยากาศชั้นไอโอโนสเฟียร์ คลื่นวิทยุจากเรือน้อยใหญ่ที่หลอมรวมกันเมื่อกาลเวลาผ่านไปเนิ่นนาน ชั่วขณะนั้น ผมเกิดจินตนาการว่าตัวเองได้ยินเสียงเพรียกจาก ไททานิก เรือเดินสมุทรผู้เปี่ยมความทระนงล้นอยู่ในนาม แล่นฉิวอย่างสง่าผ่าเผยสู่โลกใหม่ แต่แล้วกลับถูกกระชากพรากชีวิตโดยสิ่งที่เก่าแก่โบราณและแสนเชื่องช้าอย่างก้อนน้ำแข็ง

เรื่อง แฮมป์ตัน ไซดส์

 

อ่านเพิ่มเติม

15 ภาพถ่ายประวัติศาสตร์ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร

Recommend