ร่วมช่วยเหลือเด็กในแอฟริกากับยูนิเซฟ

ร่วมช่วยเหลือเด็กในแอฟริกากับยูนิเซฟ

ร่วมช่วยเหลือ เด็กในแอฟริกา กับยูนิเซฟ

จินตนาการถึงเด็กอายุ 2 – 3 ขวบ คุณคงนึกถึงภาพเจ้าตัวน้อยวิ่งไปมาอย่างซุกซน และเสียงโวยวายกรีดร้องอย่างสนุกสนานตามประสาเด็กที่กำลังเรียนรู้ แต่นั่นไม่ใช่ภาพที่เกิดขึ้นกับ เด็กในแอฟริกา เพราะเด็กน้อยเหล่านั้นมีสภาพผอมแห้ง ผิวหนังเหี่ยวย่นราวกับคนแก่ และไม่แม้แต่จะมีแรงนั่งหรือเปล่งเสียงตอบโต้บทสนทนาออกมา นั่นไม่ใช่เด็กในแบบที่เราคุ้นเคย แต่คือชีวิตที่กำลังจะล้มตายลงช้าๆ เพราะความอดอยาก นั่นคือภาพความเป็นจริงที่ โธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ได้สัมผัสมา และต้องการพรรณาให้คนไทยเข้าใจถึงวิกฤติด้านอาหารที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้

ขณะนี้ประชาชนหลายล้านคนในเซาท์ซูดาน, ไนจีเรีย, เอธิโอเปีย และโซมาเลียกำลังเผชิญกับการขาดแคลนอาหารครั้งใหญ่ อันเนื่องมาจากการสู้รบในสงครามกลางเมือง, การพลัดถิ่นฐาน ไปจนถึงภัยแล้งที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ในจำนวนนี้มีเด็กที่กำลังได้รับผลกระทบจากวิกฤติด้านมนุษยธรรมอย่างรุนแรงนี้มากถึง 1.3 ล้านคน

เด็กในแอฟริกา
หนูน้อยวัยหนึ่งขวบเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งของเมืองเบตู ประเทศเซาท์ซูดาน
ภาพถ่ายโดย ยูนิเซฟ

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เด็กๆ เหล่านี้มีน้ำหนักตัวน้อยมาก พวกเขามีรูปร่างแคระแกร็นเมื่อเทียบกับเด็กวัยเดียวกันในประเทศอื่น จากภาวะทุพโภชนาการ และยูนิเซฟเองประมาณตัวเลขไว้ว่าทุกๆ 5 วินาทีจะมีผู้เสียชีวิตจากความหิวโหยนี้ หากยังไม่มีการลงมือทำอะไรสักอย่าง

ภาพที่เห็นคือตัวอย่างของอาหารบำบัดฉุกเฉินที่ยูนิเซฟใช้ช่วยชีวิตเด็กๆ ใน 4 ประเทศข้างต้น ภายในประกอบไปด้วยอาหารเหลวที่ร่างกายของเด็กสามารถดูดซึมได้ทันที ในหนึ่งถุงจะให้พลังงานราว 500 แคลอรี่ แต่กระบวนการรักษาเด็กที่ป่วยจากภาวะขาดแคลนอาหารนั้นต้องใช้เวลา 6 – 8 สัปดาห์ นั่นหมายความว่าในเด็กหนึ่งคนต้องใช้อาหารบำบัดฉุกเฉินราวคนละ 150 ถุง กว่าที่พวกเขาจะกลับมาแข็งแรงเหมือนเดิม

เด็กในแอฟริกา
หน้าตาของอาหารบำบัดฉุกเฉินที่ภายในประกอบไปด้วยถั่วลิสง นม กรดโฟลิค สังกะสี แมกนีเซียม วิตามินบีและอีที่ร่างกายของเด็กสามารถดูดซึมได้ง่าย

ทั้งนี้นอกเหนือจากอาหารบำบัดฉุกเฉินแล้ว ยูนิเซฟยังจัดส่งอุปกรณ์บำบัดน้ำให้สะอาด, สายวัดแขนเพื่อคัดกรองเด็กที่ป่วยด้วยภาวะขาดสารอาหาร ไปจนถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ อีกด้วยเพื่อช่วยเหลือ

ด้านคุณอานันท์ ปันยารชุน ทูตสันถวไมตรี องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เราไม่สามารถนิ่งดูดายกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแอฟริกาได้ เราไม่สามารถปล่อยให้เด็กคนใดต้องมาเสียชีวิตลงจากสิ่งที่เราป้องกันได้ และไม่จำเป็นว่าเด็กเหล่านั้นคือเด็กไทยหรือไม่ เพราะไม่ว่าพวกเขาจะเป็นคนชาติใด ไม่ว่าจะไกลแค่ไหน แต่เด็กทุกคนก็คือเด็ก คือเพื่อนร่วมโลกผู้บริสุทธิ์ ผู้ซึ่งควรได้เติบโตเป็นพลเมืองโลกที่สมบูรณ์แข็งแรง และพร้อมที่จะมาเติมเต็มให้โลกของเราเป็นโลกที่น่าอยู่และปลอดภัยสำหรับมนุษย์ทุกคน”

เด็กในแอฟริกา
ตัวอย่างการใช้สายวัดแขนเพื่อคัดกรองเด็กที่ป่วยด้วยโรคขาดสารอาหาร จะเห็นว่าในเด็กปกติวัย 1 ขวบ 8 เดือน มีท่อนแขนอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่แขนของเด็กๆ ในแอฟริกาที่กำลังเผชิญกับวิกฤตินั้นมีขนาดเล็กมาก (สีแดงคืออยู่ในวิกฤติ) โดยมีขนาดเทียบเท่ากับดินสอไม้หกแท่งเท่านั้น

โธมัส ดาร์วิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทยกล่าวเสริมว่า นอกเหนือจากปัญหาการขาดแคลนเงินทุนแล้ว อีกหนึ่งอุปสรรคก็คือความยากในการเข้าถึงพื้นที่เนื่องจากยังคงมีความขัดแย้ง และการสู้รบ อย่างไรก็ดีขณะนี้เจ้าหน้าที่จากยูนิเซฟกำลังทำงานอย่างหนักในพื้นที่ เพื่อช่วยให้เด็กๆ รอดชีวิต เนื่องจากโลกทุกวันนี้เราทุกคนเชื่อมต่อถึงกัน และไม่มีพรมแดนอีกแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเด็น “เด็ก” ซึ่งพวกเขาจะเติบโตขึ้นเป็นประชากรรุ่นใหม่ของโลกในอนาคต

คุณเองก็มีส่วนช่วยเด็กๆ เหล่านี้ได้ ด้วยการบริจาคในโครงการ #น้ำใจไทยเพื่อเด็กในแอฟริกา เพียงพิมพ์ 100 แล้วส่ง SMS ไปที่ 4712225 เพื่อบริจาค 100 บาท หรือบริจาคออนไลน์ โดยกูเกิลคำว่า “น้ำใจไทยเพื่อเด็กในแอฟริกา” หรือเข้าไปดูรายละเอียดได้ ที่นี่ (โดยในการส่งข้อความหนึ่งครั้ง เด็กๆ จะได้รับอาหารบำบัดฉุกเฉินเพียงพอสำหรับ 2 วัน)

โครงการ #น้ำใจไทยเพื่อเด็กในแอฟริกา ครั้งนี้ตั้งเป้าระดมเงินบริจาคจำนวน 15 ล้านบาทจากประชาชนชาวไทย ซึ่งยูนิเซฟได้ตั้งเป้าหมายการระดมทุนจากทั่วโลกเป็นจำนวน 600 ล้านเหรียญสหรัฐ (19,000 ล้านบาท) ภายในปี 2561

ปัจจุบัน ได้รับทุนแล้วเพียงร้อยละ 37 ของการระดมทุนทั้งหมดที่ยูนิเซฟตั้งเป้าไว้ องค์การยูนิเซฟ ถือโอกาสนี้ ขอขอบคุณชาวไทยทุกคนที่ร่วมบริจาคเพื่อรักษาชีวิตและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับเด็กๆ และครอบครัวที่กำลังเดือดร้อน เพื่อให้พวกเขาได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

 

อ่านเพิ่มเติม

บ้านแสนสุขของผู้ลี้ภัยเซาท์ซูดาน

Recommend