เรือด่วนเจ้าพระยาที่ท่านํ้านนทบุรีในช่วงเช้า อันเป็นช่วงที่มีผู้โดยสารใช้บริการอย่างหนาแน่นเพื่อเดินทางเข้าใจกลางเมืองกรุงเทพมหานคร
จากกิจการเรือแจวข้ามแม่นํ้าเจ้าพระยา ในวันนี้กลุ่มบริษัทสุภัทราได้แตกแขนงกิจการบนสายนํ้าไปมากมาย และพร้อมก้าวต่อไปในโอกาสครบรอบ 100 ปี
ท่านํ้านนทบุรี เวลา 07:00 น. พ.ศ. 2563
ด้านหลังคือหอนาฬิกาอันเป็นสัญลักษณ์เด่น ส่วนภาพตรงหน้าคือฉากชีวิตที่ดำเนินไปในทุกเช้าของวันธรรมดา ผู้คนหลายวัย หลากอาชีพ ต่างกุลีกุจอเร่งฝีเท้าเข้าไปในท่าเรือขนาดใหญ่เพื่อใช้บริการเรือโดยสาร ‘เรือด่วนเจ้าพระยา’ อันเป็นการเดินทางที่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของพวกเขา
เมื่อเรือเทียบท่า ช่างเครื่องส่งสัญญาณนกหวีดประสานกับนายท้ายหรือคนขับเรือ พร้อมแกว่งเชือกเส้นเขื่องสีนํ้าตาลผูกมัดกับพุกโป๊ะจนแนบสนิท ก็ถึงเวลาของเหล่าพนักงานที่จะนำพาผู้โดยสารนับร้อยลงเรือ ทั้งเรือด่วน และเรือข้ามฟากใจกลางเมือง รวมทั้งพนักงานที่อำนวยความสะดวกเหล่านี้ ต่างเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท สุภัทรา จำกัด และบริษัทในเครือ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากเรือแจวเล็กๆเพียงไม่กี่ลำ จนกลายเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่ขยายกิจการไปมากกว่าการเดินเรือโดยสาร
เมื่อ 100 ปีก่อน หรือใน พ.ศ. 2463 คุณหญิงบุญปั่น สิงหลกะ อดีตนางกำนัลของพระราชชายาเจ้าดารารัศมีแห่งนครเชียงใหม่ เล็งเห็นว่ามีข้าหลวง ขุนนางประชาชน บรรดาพ่อค้าแม่ขายที่ต้องเดินทางข้ามฟากแม่เจ้าพระยาจำนวนมาก จึงร่วมมือกับหุ้นส่วนชื่อนางเผือก เปิดกิจการเรือแจวข้ามฟากที่ท่าพรานนกและที่ท่าวัดมหาธาตุเริ่มบทบาทนักธุรกิจหญิงซึ่งถือว่าเป็นความก้าวหน้าอย่างยิ่งในยุคนั้น
ใน พ.ศ. 2475 คุณหญิงสุภัทรา สิงหลกะ ผู้เป็นบุตรสาวคนสุดท้องของคุณหญิงบุญปั่น เข้ามาช่วยสานต่อธุรกิจของมารดา โดยคุณหญิงสุภัทราเป็นผู้ดูแลกิจการเรือข้ามฟากนี้ด้วยตัวคนเดียว ทั้งการบริหารธุรกิจและคุมการเดินเรือ จากนั้นได้มีการขยายกิจการครั้งสำคัญโดยการซื้อเรือยนต์ข้ามฟากลำแรกชื่อว่า เรือ สภ.1 แล้วค่อยๆ ซื้อเรือยนต์เพิ่มเติมตามความพร้อม จากนั้นได้จดทะเบียนเป็น บริษัท สุภัทรา จำกัด เมื่อ พ.ศ.2506 และได้มีการขยายกิจการเดินเรือด่วนส่งผู้โดยสารดังที่เป็นอยู่ โดยในปัจจุบันบริษัทมีเรือประจำทาง ทั้งเรือด่วนและเรือข้ามฟากรวมกว่า 96 ลำ พร้อมพนักงานเรือที่เกี่ยวข้องนับหลายร้อยชีวิต
อรุณ ศิริภิรมย์ ผู้ยึดอาชีพนายท้ายหรือคนขับเรือของบริษัทเรือด่วนเจ้าพระยามากว่า 20 ปี เล่าถึงหน้าที่ของเขาว่า “เรือขับยากกว่าขับรถ เพราะต้องดูทั้งกระแสนํ้ากระแสลม บางทีกระแสนํ้าเชี่ยว หรือมีเรือสินค้าบ้าง เราก็ต้องระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ มองซ้าย-ขวา พอจะจอดท่าก็ต้องมองท้ายเรือให้ตรงกับท่าพอดี” เขากล่าวเสริมว่าเขายึดอาชีพนี้มายาวนานเนื่องจากใจรัก และมีความสุขที่ได้อยู่กับเรือ
ณ ท่าเรือข้ามฟากระหว่างท่ามหาราช-วังหลัง ขจร บุตรอินทร์ หัวหน้ากองเดินเรือ กล่าวถึงอนาคตของกิจการเรือข้ามฟากอันเก่าแก่ ขจรเล่าว่า แม้เรือข้ามฟากจะมีกำไรน้อยเมื่อเทียบกับกิจการอื่น “แต่เจ้านายบอกว่าเรือข้ามฟากมีเป็นร้อยปี หยุดไปไม่ได้ จำเป็นต้องบริการประชาชนตราบเท่าที่เราจะทำได้” ซึ่งอาจกล่าวได้ว่ากิจการเรือข้ามฟากเปรียบเสมือนอัตลักษณ์สำคัญของบริษัทสุภัทรา
ในปัจจุบัน กิจการของกลุ่มบริษัทสุภัทรามีอยู่มากมาย ธุรกิจเรือข้ามฟากและเรือเช่าเหมาลำ, เรือด่วนเจ้าพระยา, เรือท่องเที่ยวเจ้าพระยา (Chao Phraya Tourist Boat) Hop On Hop Off, รวมไปถึงบริษัทโฆษณา กิจการด้านอสังหาริมทรัพย์ ท่ามหาราช ท่าวังหลัง โรงแรม 2 แห่ง ได้แก่ Riva Surya และ Riva Arun รวมไปถึงกิจการที่หัวหินอย่างสุภัทรา หัวหินรีสอร์ท และร้านอาหารสุภัทรา ริมทะเล
เบื้องหลังความสำเร็จเหล่านี้มาจากผู้บริหารซึ่งล้วนเป็นผู้หญิงในตระกูลที่ส่งต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น และทายาทกิจการรุ่นที่สามอย่าง คุณสุภาพรรณ พิชัยรณรงค์สงคราม ได้เล่าย้อนถึงแนวคิดการบริหารกิจการซึ่งได้รับมาในวัย 26 ปี จากคุณหญิงสุภัทรา สิงหลกะ ผู้เป็นมารดาว่าท่านเป็นคนขยันและฉลาด ทำงานไม่มีวันหยุด จึงอยากเป็นคนเก่งเช่นเดียวกับคุณหญิง คุณสุภาพรรณกล่าวว่า “คุณแม่บอกเสมอว่าเวลาทำงานอย่าไปเอาเปรียบคนอื่น แต่ก็อย่าให้คนอื่นมาเอาเปรียบเรา เราต้องซื่อสัตย์ต่อตนเอง ต่อพนักงาน และประชาชนที่มาใช้บริการ”
ครั้นเมื่อต้องสร้างความสำเร็จในยุคของตัวเอง คุณสุภาพรรณก็มีแนวคิดว่า “เราต้องเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำ ในบริการที่ให้กับประชาชน ต้องเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ดี เชื่อในธุรกิจ เชื่อในตัวเอง และทีมงานของเรา และต้องมีวิสัยทัศน์ เพราะมันจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา” แนวคิดเช่นนี้ที่ทำให้คุณสุภาพรรณบริหารบริษัทผ่านอุปสรรคและความท้าทายอย่างมากมาย ทั้งวิกฤตินํ้ามันแพง ปัญหาคู่แข่งเดินเรือในอดีต รวมไปถึงการขยายกิจการไปในด้านเรือท่องเที่ยว ร้านอาหาร อสังหาริมทรัพย์ และโรงแรม
ในยุคที่กลุ่มบริษัทสุภัทรา ครบรอบ 100 ปี กิจการก็ได้มาอยู่ในมือทายาทรุ่นที่สี่อย่าง ณัฐปรี พิชัยรณรงค์สงคราม และ ฟาน ศรีไตรรัตน์ ซึ่งทั้งสองคนได้รับโจทย์ในการพัฒนากิจการด้านอสังหาริมทรัพย์และกิจการอื่นๆ โดยคุณฟานได้กล่าวถึงหน้าที่ของตนว่า จะต้องมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ โดยต่อยอดสิ่งที่มีอยู่เดิมให้ขยายผลและเติบโตไปได้เรื่อยๆ และในฐานะผู้บริหารรุ่นใหม่ เขามองว่า “ในยุคปัจจุบันเราให้ความสำคัญกับการตลาด และการบริการอย่างรวดเร็ว” และพูดถึงแนวคิดการหลอมรวมกิจการในเครือว่า เนื่องจากบริษัทมีประวัติด้านการบริการมาอย่างยาวนาน จึงจะใช้จุดแข็งนี้นำเสนอภายใต้แก่นของความเป็นไทย
ในส่วนของคุณณัฐปรี นอกจากดูแลในส่วนของอสังหาริมทรัพย์ ก็เพิ่งได้รับหน้าที่การดูแลกิจการเรือโดยสารอันเป็นกิจการหลักของสุภัทรา โดยเธอมองถึงการพัฒนาการเดินเรือ ที่มีทั้งการจัดหาเรืออะลูมิเนียม พัฒนาระบบตั๋วอิเล็กทรอนิกส์ พัฒนาท่าเรือที่สามารถรองรับได้ทั้งเรือโดยสาร เรือข้ามฟาก เรือเช่าเหมาลำ เรือท่องเที่ยว เรือโรงแรม และยังมีความเชื่อมั่นว่าธุรกิจทั้งหมดในเครือยังสามารถเติบโตได้ในอนาคต
“ถ้านึกถึงกรุงเทพฯ นึกถึงแม่นํ้าเจ้าพระยา ก็จะเห็นเรือของกลุ่มบริษัทสุภัทรา ที่วิ่งให้บริการประชาชนมาตลอด เป็นการบริการที่อยู่คู่กับสายนํ้า และเราก็ตั้งใจว่าตราบเท่าที่เรายังทำได้ ก็จะอยู่คู่คนไทยและสายนํ้าต่อไป” ณัฐปรีกล่าวทิ้งท้าย
(ชมวิดีโอ 100 ปี กลุ่มบริษัทสุภัทรา 100 ปีบนความเจริญแห่งสายน้ำ ได้ที่นี่)