ลดปริมาณขยะพลาสติก ด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค

ลดปริมาณขยะพลาสติก ด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค

ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา จากรายงานสถานการณ์ประจำปี 2562 ประเทศไทยมีขยะพลาสติกเกิดขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ ปีละ 2 ล้านตัน โดยมีการนำกลับไปใช้ประโยชน์ประมาณ 0.5 ล้านตัน ส่วนที่เหลือ 1.5 ล้านตัน เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single Use Plastic) โดยไม่มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

ในปี 2562 ปัญหาขยะพลาสติกและขยะทะเลได้รับความสนใจและทุกภาคส่วนเล็งเห็นความสำคัญในการเร่งแก้ปัญหาดังกล่าว จึงมีการผลักดันนโยบายและมาตรการในการจัดการขยะมูลฝอย เข่น การรณรงค์สร้างจิตสำนึก ออกมาตรการดีเดย์งดให้ถุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563

การจัดการขยะมูลฝอยผ่านแผนปฏิบัติการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนประจำปี 2562 ของกระทรวงทรัพยากรทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้มีการจัดการขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง จนถึงปลายทาง รวมทั้งการสร้างเครือข่ายความร่วมมือภาครัฐ ภาคเอกชน ทั้งในและต่างประเทศในการจัดการขยะพลาสติกและขยะทะเลของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในส่วนของผู้บริโภค สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการลดปริมาณขยะพลาสติกได้ สื่อต่างๆ พยายามนำเสนอทางเลือกและแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้บริโภคให้ผลิตขยะในชีวิตประจำวันน้อยลง หรือใช้ทรัพยากรให้เกิดมูลค่าสูงสุด เช่น การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ซ้ำ หรือแยกขยะให้ถูกประเภทเพื่อการนำไปรีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการเลือกใช้ขวดแก้วแทนขวดพลาสติก เมื่อเราไปรับประทานอาหารในร้านอาหาร เป็นต้น

ในส่วนของผู้ผลิต โดยเฉพาะผู้ผลิตที่เกี่ยวข้องกับพลาสติกโดยตรง ทั้งบริษัทผลิตเครื่องดื่มทั้งหลาย หรือบริษัทผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก พยายามปรับตัวเพื่อร่วมรับผิดชอบต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยการหันมาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับพลาสติกในขั้นตอนการผลิต เพื่อให้พลาสติกเหล่านั้นสามารถเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การใช้พลาสติกชนิด PET1 ที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ทั้งหมด 100% ในการผลิตขวดน้ำดื่ม

ส่วนหนึ่งที่สำคัญในเรื่องของการลดปริมาณขยะพลาสติกนั้น จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องทั้งระบบ ทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และผู้ที่นำขยะกลับมารีไซเคิล การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องการแยกขยะ การจัดการขยะมูลฝอยให้ถูกวิธี และการผลิตที่เอื้อต่อการนำกลับมารีไซเคิล กระบวนการเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกันทั้งระบบที่นำไปสู่การลดปริมาณขยะอย่างยั่งยืน

อีกหนึ่งทางเลือกที่เป็นการเริ่มต้นที่ดีคือการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคพลาสติก โดยลองเลือกน้ำดื่มที่บรรจุขวดแก้วแทนขวดพลาสติก แก้วเป็นหนึ่งในวัสดุที่ถูกคิดค้นขึ้นและถูกใช้งานมากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก อีกทั้งยังนำมารีไซเคิลซ้ำได้หลายรอบ โดยใช้วัตถุดิบตั้งต้นน้อยกว่า ใช้พลังงานในการผลิตน้อยกว่า นั่นทำให้มันเป็นที่นิยมมากกว่าวัสดุอื่น ๆ แก้วที่ทำแตกในวันนี้อาจจะเป็นแก้วเดียวกันกับที่ถูกเป่าขึ้นเมื่อ 300 ปีก่อน เพราะว่าแก้วสามารถนำมารีไซเคิลได้อย่างง่ายดายและประหยัดกว่ามาก

อย่างไรก็ตาม เมื่อสังคมตื่นตัวเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม การลด การใช้ซ้ำ และการนำขยะกลับมาใช้ใหม่ เป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนรณรงค์กันอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะภาคเอกชน องค์กรห้างร้านขนาดใหญ่ ทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะในการดำเนินธุรกิจที่มีความใกล้ชิดกับผู้บริโภค เมื่อทำโครงการต่างๆ จะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างรวดเร็วและเป็นวงกว้าง และในส่วนผู้บริโภคเองก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งได้ง่ายๆ ผ่านการใช้ชีวิตประจำวัน

Recommend