SACICT CONCEPT SHOWCASE โชว์ 40 คอลเล็กชั่น พลิกมุมมองงานคราฟต์ไทย

SACICT CONCEPT SHOWCASE โชว์ 40 คอลเล็กชั่น พลิกมุมมองงานคราฟต์ไทย

SACICT CONCEPT SHOWCASE โชว์ 40 คอลเล็กชั่น พลิกมุมมองงานคราฟต์ไทยให้ทันกระแสโลกธุรกิจ ในโครงการ SACICT CONCEPT 2020 เมื่อวันที่ 26 – 30 สิงหาคม ณ สามย่านมิตรทาวน์

ใครยังคิดว่างานศิลปหัตถกรรมไทยไม่ทันยุคจะต้องเปลี่ยนความคิดเมื่อมาชม 40 คอลเล็กชั่นใหม่ จากครูช่างศิลปหัตถกรรม และผู้ผลิตงานศิลปหัตถกรรมจากทั่วประเทศ 40 ราย ซึ่งได้รับคัดเลือกมาพัฒนาในโครงการ SACICT CONCEPT 2020 ริเริ่มโดย ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT โดยมุ่งพัฒนางานศิลปหัตถกรรมไทยให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตปัจจุบัน และตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศในระยะยาว เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้แก่ประชาชนได้อย่างยั่งยืน

กว่าจะเป็น 40 ผลงานอย่างที่เห็น ได้มีการคัดเลือกผู้สมัครจากทั่วประเทศ ประกอบด้วยผู้ผลิตงานศิลปหัตถกรรมจากหลากหลายสาขาความเชี่ยวชาญ อาทิ งานสิ่งทอ งานจักสาน งานไม้ งานเซรามิก งานโลหะ ฯลฯ มาร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบใหม่ ภายใต้การแนะนำจากที่ปรึกษาด้านการออกแบบจาก Mobella Design Team, Ease Studio, Salt and Pepper Design Studio, PHTAA Living Design และ Atelier 2+ โดยลงพื้นที่ยังชุมชนเพื่อศึกษาและพัฒนาตั้งแต่กระบวนการผลิต เน้นการต่อยอดภูมิปัญญาและความเชี่ยวชาญดั้งเดิมของผู้ผลิตงานศิลปหัตถกรรม เพื่อให้ตอบรับความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มใหม่ ขยายตลาดให้กว้างขึ้น พร้อมสร้างความเป็นไปได้ใหม่ในเชิงพาณิชย์ให้กับศิลปหัตถกรรมไทย

คุณเจรมัย พิทักษ์วงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) คุณรชนาท พจนารถ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) คุณเพ็ญศิริ ปันยารชุน ผู้จัดการสายงานพัฒนาผลิตภัณฑ์และศักยภาพ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) ดร.หญิงฤดี ภูมิศิริรัตนาวดี ผู้ก่อตั้งยุทธศาสตร์ทุนคนไทยสู่กระบวนการสร้างบ้านประเทศไทย คุณอดิศักดิ์ จันทร์วิทัน รองผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) คุณนิธิบดี เที่ยงวรรณกานต์ ที่ปรึกษาด้านส่งเสริมวัฒนธรรมและศิลปหัตถกรรม ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) คุณธวัลภัสร์ ชัยปรีชาสิทธิ์ ที่ปรึกษาด้านการออกแบบนิเทศศิลป์ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) คุณน้องนุช ชวาลา ที่ปรึกษาการประชาสัมพันธ์และการสื่อสารองค์กร ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) (จากซ้ายไปขวา)

กิจกรรมเสวนาในหัวข้อ “พลิกมุมมองงานคราฟต์ไทย ทันกระแสโลกธุรกิจ”

SACICT CONCEPT SHOWCASE จัดขึ้นบนชั้น G สามย่านมิตรทาวน์ วันที่ 26 – 30 สิงหาคมนี้ ซึ่งนอกจากจะไปเดิมชมทั้ง 40 คอลเล็กชั่นแล้ว ยังมีกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ “พลิกมุมมองงานคราฟต์ไทย ทันกระแสโลกธุรกิจ” และระหว่างวันที่ 27 -30 สิงหาคม มีกิจกรรมเวิร์กชอป Eco Chic Bag ที่ใช้ผ้าศิลปาชีพมาตกแต่งกระเป๋าให้เก๋แบบไม่เหมือนใคร แอบกระซิบว่าองค์กรหรือหน่วยงานใดกำลังมองหาของขวัญและของที่ระลึกแบบชิคๆ หรือห้าง ร้าน โรงแรมและดีไซน์เนอร์ที่ต้องการ เสื้อผ้า เครื่องประดับ ของใช้และของตกแต่งสไตล์ไทยสมัยใหม่ ต้องไม่พลาดกับการมาพบผลงานจากผู้ผลิตงานศิลปหัตถกรรมตัวจริง โดยสามารถต่อยอดการออกแบบและสั่งผลิตได้ ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดรายได้หมุนเวียนสู่ชุมชนแล้ว ยังเป็นการสืบสานงานศิลปหัตถกรรมไทยอย่างยั่งยืนอีกทางหนึ่งด้วย

เมื่อตะลึงกับความสวยงามประณีตแล้วก็ต้องมาเจาะลึกแนวคิดการต่อยอดและพัฒนาภูมิปัญญาไทย ที่ยิ่งทำให้เห็นว่างานศิลปหัตถกรรมไทยควรค่าแก่การสืบสานและนำมาใช้ในชีวิตประจำวันด้วยความภูมิใจ มาดูตัวอย่าง 8 คอลเล็กชั่นที่น่าสนใจ และสามารถดาวน์โหลด E-Book ทั้ง 40 คอลเล็กชั่นได้เลย

นักษัตร คอลเล็กชั่น โดย บัวเหลืองปักไทย

เข็มกลัดที่ปรับประยุกต์จากงานปักสะดึงกรึงไหม งานศิลปะบนอาภรณ์ชั้นสูงที่มีมาแต่โบราณ ต่อยอดภูมิปัญญาสู่ลายปักที่ร่วมสมัย พัฒนาเป็นเครื่องประดับที่ทุกคนสวมใส่ได้ง่ายในชีวิตประจำวัน และยังใช้เป็นของที่ระลึกประจำปีนักษัตรนั้น ๆ ได้อีกด้วย

 

UPULA Series คอลเล็กชั่น โดย Chom Hand Craft

ต่อยอดเทคนิคการย้อมสีผักตบชวาซึ่งเป็นจุดเด่นของแบรนด์ให้โดดเด่นยิ่งขึ้น คอลเล็กชั่นนี้ได้แรงบันดาลใจจากลักษณะของโอปอลดิบที่ยังไม่ผ่านการเจียระไน โดยย้อมสีผักตบชวาให้มีการไล่เฉดสีเหลือบรุ้งเหมือนโอปอลแล้วนำมาสานเป็นเส้น ขดเป็นลวดลายเพื่อสร้างกระเป๋ารูปทรงสามมิติ

Layer คอลเล็กชั่น โดย ศิลาทิพย์

ต่อยอดภูมิปัญญาแห่งครกอ่างศิลา โดยนำเศษหินที่เหลือจากการผลิตมาพัฒนาเป็นที่ใส่เครื่องเขียน ใส่อุปกรณ์สำหรับใช้ในครัว และแจกัน โดยผสมผสานกับวัสดุชนิดอื่น ๆ อย่างเหล็กพ่นสี ในรูปแบบที่ทันสมัย เพื่อสร้างฐานลูกค้าใหม่ และสร้างมูลค่าให้แก่วัสดุเหลือใช้

Textures of Clay คอลเล็กชั่น โดย เตาหลวงสตูดิโอ

จากความเชี่ยวชาญเฉพาะตัวในการขึ้นรูปชิ้นงานเซรามิก และการใช้ดินสีแดงที่มีเฉพาะบริเวณดอยสะเก็ด สู่การพัฒนาชุดเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ที่ขึ้นรูปดินด้วยมือ สร้างผิวสัมผัสแปลกใหม่โดยการประทับลายด้วยวัสดุธรรมชาติหรือใช้ดินผสมกากกาแฟ และวัสดุธรรมชาติอื่น ๆ

Backyard Story คอลเล็กชั่น โดย Kiree

ต่อยอดงานผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติจากชุมชนคีรีวง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเด่นด้วยภูมิปัญญาการย้อมสีผ้าจากเปลือกมังคุด ฝักสะตอ แก่นขนุน ฯลฯ มาผสานกับลวดลายของเส้นสายทีแปรงที่มีเอกลักษณ์ ก่อนนำผ้าที่ได้นั้นไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่าง ๆ

Thoong Cushion คอลเล็กชั่น โดย Primpraewa

สืบสานภูมิปัญญาผ้าไหมแพรวาและลวดลายแบบชนเผ่าภูไท ด้วยการออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ตกแต่งบ้านอย่าง “เบาะธุง” ที่ผสานลวดลายสองวัฒนธรรมอย่าง ผ้าไหมแพรวา และธุง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดกาฬสินธุ์ ตัวเบาะสามารถนำมาเรียงต่อกันให้เหมาะกับกิจกรรมต่าง ๆ ได้

ฉัตร คอลเล็กชั่น โดย Angsa

“เงินยัดลาย” งานหัตถศิลป์ขึ้นชื่อของตำบลบ้านกาด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นการใช้เส้นเงินหรือทองขนาดเล็กมาวางลวดลายขดไปมาในโครงสร้างชิ้นงาน ต่อยอดความวิจิตรสู่งานโคมไฟขนาดใหญ่ ที่เกิดจากการเรียงร้อยชิ้นงานขนาดเล็กเป็นชั้นลดหลั่นกัน เมื่อเปิดไฟจะเกิดแสงเงาที่ส่องผ่านลวดลายอย่างสวยงาม

Stitch คอลเล็กชั่น โดย บ้านเฮาเสาไห้

รื้อฟื้นภูมิปัญญาผ้าทอโบราณของชาวไทยวน อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ให้เข้ากับยุคสมัย ด้วยการพัฒนาชุดเฟอร์นิเจอร์ซึ่งมีต้นแบบมาจากตั่งและหมอนผา ปรับรูปทรงหมอนให้เป็นเรขาคณิต เลือกใช้สีโมโนโทน โดยคงเอกลักษณ์การเย็บตะเข็บอย่างลายจ่องแอ่วเขียด และลายปีกผีเสื้อแบบดั้งเดิม

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.sacict.or.th ดาวน์โหลด E-Book ของ 40 คอลเล็กชั่น>>https://rebrand.ly/SACICTconcept

 

Recommend