“ดูดาวกลางกรุง ที่สวนเบญจกิติ
ในคืนดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี”
วันที่ 7 ธันวาคม 2567 ที่อัฒจันทร์กลาง สวนเบญจกิติ กรุงเทพมหานคร ร่วมกับสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) หรือ NARIT กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และหน่วยงานต่าง ๆ เนรมิตกรุงเทพฯ ให้เป็นมหานครแห่งดวงดาว จัดกิจกรรมดูดาวครั้งใหญ่ ‘ดูดาวกลางกรุง : Starry Night over Bangkok 2024’
โดยในงานมีประชาชนจำนวนมากกว่า 15,000 คน ร่วมเดินทางมาร่วมชมความสวยงามของท้องฟ้ายามค่ำคืนในพื้นที่มืดของสวนป่าใจกลางเมืองที่มีมลภาวะทางแสงรบกวนไม่มาก นับเป็นการกลับมาอีกครั้งของกิจกรรมดูดาวในกรุงเทพมหานครที่ทุกคนรอคอย ซึ่งทุกคนสามารถร่วมเรียนรู้การดูดาวอย่างง่าย ๆ ผ่าน Application บนมือถือ และชมความสวนงามของวัตถุบนท้องฟ้ายามค่ำคืนง่าย ๆ ด้วยตาเปล่า กล้องสองตา กล้องโทรทรรศน์
ความพิเศษของกิจกรรมในปีนี้คือตรงกับคืนที่มีปรากฏการณ์ “ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี” ดาวพฤหัสบดีจะปรากฏสว่างเด่นทางทิศตะวันออก ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ หากสังเกตการณ์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ ซึ่งเราสามารถชมลวดลายของแถบเมฆ และพายุ รวมถึงจุดแดงใหญ่ และดวงจันทร์กาลิเลียนทั้ง 4 ดวงของดาวพฤหัสบดีได้
ภายในงานมีคาราวานกล้องโทรทรรศน์กว่าร้อยตัวจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. โรงเรียนเครือข่ายดาราศาสตร์ สมาคมดาราศาสตร์ไทย รวมถึงหน่วยงานพันธมิตร และนักดาราศาสตร์สมัครเล่น ซึ่งนอกจากดาวพฤหัสที่เป็นไฮไลท์แล้วเรายังสามารถชมวัตถุท้องฟ้าอื่น ๆ เช่น ดวงจันทร์ ดาวศุกร์ ดาวเสาร์ ดาวอังคาร กลุ่มดาวเนบิวลา ได้อีกด้วย
มีกิจกรรมที่น่าสนใจอีกมากมาย ได้แก่ ถ่ายภาพดวงจันทร์ ดาวเสาร์ และดาวพฤหัสบดีผ่านโทรศัพท์มือถือ รู้จักท้องฟ้าและกลุ่มดาวที่น่าสนใจผ่านแอปพลิเคชันดูดาว “NAPA” เรียนรู้ดูดาวด้วยตาเปล่า เก็บภาพความประทับใจกับบอลลูนดาวเคราะห์ รู้จักกลุ่มดาวผ่าน Stellar Light Box และกิจกรรม Glow in the Dark ฟังการบรรยาย “มหัศจรรย์ดาวพฤหัสบดี”
นอกจากนี้ ยังมีหน่วยพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนที่ยกขบวนมาร่วมจัดกิจกรรมในค่ำคืนดังกล่าวมากมาย เช่น Night Nature Walk สำรวจธรรมชาติยามค่ำคืนบนพื้นที่สวนกลางเมือง โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) Space Journey โดย อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ และไบเทคบุรี Projection Mapping “Galaxy Walk” จากบริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด เป็นต้น