สูงขึ้นไปบน เทือกเขาแอนดีส ทีมสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ติดตั้งสถานีตรวจวัดสภาพอากาศ ซึ่งอาจช่วยให้พื้นที่ตอนกลางของชิลีรับมือกับภัยแล้งและภาวะโลกร้อนที่คุกคามแหล่งน้ำในภูมิภาคได้
ที่ความสูงกว่า 5,800 เมตรเหนือระดับทะเลเล็กน้อย บนภูเขาตูปุนกาโตในประเทศชิลี เบเกอร์ เพร์รี และนักปีนเขาร่วมทีมถูกพายุหิมะที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าพัดกระหน่ำในช่วงรุ่งสาง ตรึงพวกเขาไว้ในเต็นท์ด้วยกระแสลมทารุณและหิมะหมุนวน เพร์รี นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศจากมหาวิทยาลัยแอปพาเลเชียนสเตตในนอร์ทแคโรไลนา จำได้ว่า เขาเผชิญเหตุการณ์นั้นด้วยมุมมองเชิงปรัชญา
“ปรากฏการณ์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของความงามแห่งขุนเขา แต่ก็ท้าทายมากในเวลาเดียวกัน นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่เราไม่มีสถานีตรวจวัดสภาพอากาศตั้งอยู่มากนักในพื้นที่แบบนี้ครับ” เพร์รีบอก
เพร์รีเป็นผู้นำร่วมของทีมนานาชาติ ซึ่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้เดินและปีนเขาฝ่าหิมะหนาเป็นเวลา 15 วัน เพื่อติดตั้งสถานีตรวจวัดสภาพอากาศ ณ ตำแหน่งเกือบถึงยอดเขาตูปุนกาโต ซึ่งเป็นภูเขาไฟสงบทางตอนใต้ของเทือกเขาแอนดีส สถานีตรวจวัดสภาพอากาศซึ่งตั้งอยู่ตรงจุดที่ประเทศชิลีบรรจบกับอาร์เจนตินา เป็นสถานีที่อยู่สูงที่สุดในซีกโลกใต้และซีกโลกตะวันตก และจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจว่า สภาพภูมิอากาศในภูมิภาคนี้กำลังเปลี่ยนแปลงรวดเร็วเพียงใด การสำรวจครั้งนี้จัดขึ้นโดยสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก และได้รับการสนับสนุนจากโครงการริเริ่มเพื่อโลกที่ยั่งยืนของโรเล็กซ์ (Rolex’s Perpetual Planet Initiative)
โดยอาศัยข้อมูลอุณหภูมิ ความเร็วลม และความลึกของหิมะที่สถานีนี้จะรวบรวมได้ นักวิทยาศาสตร์หวังว่า จะสามารถเข้าใจได้ดีขึ้นว่า พื้นที่ตอนกลางของชิลีและซานเตียโกซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ จะรับมืออย่างไร เมื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ภูมิภาคนี้เผชิญกับภัยแล้งบ่อยขึ้น เช่น ภัยแล้งครั้งประวัติการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ และทำให้ “หอเก็บน้ำ” บนภูเขา หรือธารน้ำแข็งและทุ่งหิมะที่ทำหน้าที่เป็นแหล่งกักเก็บน้ำ หดเล็กลงและถอยร่น
“เวลานี้เดิมพันสูงมากครับ” ทอม แมตทิวส์ สมาชิกทีมสำรวจ ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศจากมหาวิทยาลัยลัฟบะระในสหราชอาณาจักร บอกและเสริมว่า “ผู้คนหลายล้านคนอาศัยอยู่ในบริเวณปลายน้ำของ หอเก็บน้ำเหล่านี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่เรารู้จักน้อยมาก ในแง่ของปฏิกิริยาที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อสภาพภูมิอากาศอบอุ่นขึ้น”
ตูปุนกาโตเป็นยอดเขาสูงสุดอันดับหกของชิลี และเป็นภูเขาสูงที่สุดในลุ่มน้ำไมโป ซึ่งหล่อเลี้ยงประชากร 6.7 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในและรอบๆกรุงซานเตียโก เมื่อมีข้อมูลชัดเจนขึ้นว่า มีหยาดน้ำฟ้าปริมาณเท่าใดตกลงบนยอดเขาอย่างตูปุนกาโต เจ้าหน้าที่รัฐจะสามารถตัดสินใจได้ดีขึ้นว่า พวกเขาต้องจัดสรรน้ำมากน้อยเพียงใดในปีนั้นๆ
“ผมศึกษาธารน้ำแข็งมาตั้งแต่ปี 1982 ในช่วงชีวิตผม เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในธารน้ำแข็งและชั้นหิมะปกคลุมครับ” ฆีโน กาซัสซา ผู้นำร่วมของการสำรวจ และเป็นหัวหน้าหน่วยงานธารน้ำแข็งของรัฐบาลชิลี กล่าว
พื้นที่ตอนกลางของชิลีเป็นเขตภูมินิเวศแบบเมดิเตอร์เรเนียน เขตภูมินิเวศนี้ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของทะเลทรายอาตากามา ซึ่งเป็นพื้นที่นอกเขตขั้วโลกที่แห้งแล้งที่สุดในโลก และแทรกอยู่ระหว่างเทือกเขาแอนดีสกับมหาสมุทรแปซิฟิก
ชาวชิลีคุ้นเคยกับปีที่แห้งแล้งเป็นระยะๆ เช่น ปี 2010 ก็เป็นปีที่แห้งแล้งปีหนึ่ง แต่ในปี 2011 ตามด้วย ปี 2012 และ 2013 ฝนก็ยังตกน้อยเหมือนเดิม
“พอเข้าปี 2014” ซึ่งยังแห้งแล้งเหมือนเดิม “และนั่นก็น่าสงสัยแล้วละครับ” เรอเน การ์โร นักภูมิอากาศวิทยาจากมหาวิทยาลัยชิลีซึ่งไม่มีส่วนร่วมในการสำรวจครั้งนี้ บอก
ล่วงถึงปี 2015 การ์โรและเพื่อนร่วมงานชาวชิลีฟันธงว่า ภูมิภาคนี้กำลังเผชิญกับสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า มหันตภัยแล้ง (megadrought) ภัยแล้งรอบนี้ยาวนานกว่าหนึ่งทศวรรษ โดยเฉลี่ยแล้ว ตั้งแต่ภัยแล้งรอบนี้เริ่มขึ้นเมื่อ ปี 2010 ฝนมีปริมาณลดลงหนึ่งในสามของที่เคยตกในแต่ละปี และในปี 2019 ซึ่งเป็นปีแห้งแล้งที่สุดของภัยแล้งรอบนี้ ปริมาณฝนลดลงเหลือไม่ถึงหนึ่งในสี่ของปริมาณฝนปกติ
ความผันแปรตามธรรมชาติบางประการมีอิทธิพลต่อปริมาณฝนรวมในระยะเวลาหนึ่งทศวรรษ การ์โรกล่าวและเสริมว่า แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีส่วนทำให้เกิดมหันตภัยแล้งนี้อย่างไม่ต้องสงสัย โดยทั่วไปแล้ว เป็นที่คาดการณ์กันว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีส่วนทำให้เขตแห้งแล้งยิ่งแล้งหนักขึ้น ขณะที่เขตชุ่มน้ำ จะยิ่งหลากชุ่มมากขึ้น และแม้ชิลีจะเคยประสบกับช่วงภัยแล้งยาวนานมาก่อนแล้ว แต่ไม่มีครั้งใดเลวร้ายยืดเยื้อ เท่ารอบนี้ อุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้นทำให้รูปแบบสภาพอากาศที่เคยนำพาหยาดน้ำฟ้ามาตกในพื้นที่เปลี่ยนไป และแบบจำลองก็บ่งชี้ว่า รูปแบบเหล่านี้มีแนวโน้มสูงที่จะยังคงอยู่ต่อไป
นั่นถือเป็นข่าวร้ายสำหรับภูมิภาคตอนกลางของชิลี ซึ่งต้องพึ่งพาน้ำจืดจากหอเก็บน้ำบนภูเขาในบริเวณลุ่มน้ำไมโป ตามรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสาร เนเจอร์ เมื่อปี 2019 หอเก็บน้ำทั่วโลก ตั้งแต่เทือกเขาแอนดีสจนถึงเทือกเขาหิมาลัย ล้วนตกอยู่ในอันตรายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ทีมสำรวจใช้เวลาราว 10 วันกว่าจะไต่ถึงยอดเขาตูปุนกาโตซึ่งสูงกว่า 6,500 เมตร และใช้เวลาห้าวันในขาลง ในช่วงหลายเดือนก่อนการเดินทาง สมาชิกในทีมต่างฝึกทักษะและเตรียมสภาพร่างกายกันอย่างเข้มข้น
สถานีตรวจวัดสภาพอากาศที่ทีมสำรวจขนขึ้นเขาตูปุนกาโตเป็นโครงสร้างสามขาพับได้ที่ทำจากอะลูมิเนียม มีความสูง 1.8 เมตร หนัก 54 กิโลกรัม เป็นสถานีที่เบาพอจะขนขึ้นไปได้ โดยแยกเป็นชิ้นส่วนกระจายใส่เป้สะพายหลังหลายใบ แต่ต้องแข็งแรงพอจะต้านกระแสลมที่จัดว่ารุนแรงที่สุดแห่งหนึ่งในโลกได้
การติดตั้งอุปกรณ์เข้าที่ ณ จุดใกล้กับยอดเขาต้องใช้วิธียึดฐานสามขาของสถานีตรวจวัดสภาพอากาศกับ พื้นหิน แล้วตรึงให้มั่นคงด้วยสายเคเบิล สถานีใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ที่ชาร์จไฟด้วยแสงอาทิตย์ และมีสายอากาศสำหรับการสื่อสารผ่านดาวเทียม
ทีมนักวิทยาศาสตร์ยังติดตั้งเซนเซอร์วัดอุณหภูมิลึกลงไปหนึ่งเมตรในชั้นดินเยือกแข็งคงตัวใกล้กับยอดเขา เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในดินเยือกแข็ง สถานีดังกล่าวจะวัดรังสี ความลึกของหิมะ และค่าแอลบีโด (albedo) หรืออัตราส่วนรังสีสะท้อน ค่าแอลบีโดมีความสำคัญ เพราะเมื่อหิมะตกน้อยลงและน้ำแข็งละลาย สิ่งนี้จะทำให้เกิดการผุดโผล่ของชั้นหิมะที่อยู่ด้านล่าง และลงไปถึงชั้นหินสีเข้มในท้ายที่สุด ส่งผลให้อุณหภูมิพื้นผิวโดยรอบสูงขึ้น และอาจเร่งอัตราการละลายให้เร็วขึ้นอีก
การจะระบุให้แน่ชัดว่า ชิลีมีปริมาณน้ำจืดกักเก็บอยู่บนขุนเขาของประเทศมากเท่าใด และจะลดลงถึงระดับวิกฤติเมื่อใด เป็นการคาดการณ์ที่ซับซ้อน แมตทิวส์บอก ในระยะสั้น ความร้อนที่เร่งหิมะและน้ำแข็งให้ละลายเร็วขึ้น จะส่งผลให้มีน้ำมากขึ้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมได้ แต่เมื่ออัตราการละลายเพิ่มสูงขึ้น ท้ายที่สุด ธารน้ำแข็งจะ “มีขนาดเล็กลงมากจนแม้จะละลายอย่างรวดเร็วมาก แต่ก็มีน้ำแข็งเหลือให้ละลายน้อยลง” ดังนั้นปริมาณน้ำไหลผ่านจึงน้อยลงตามไปด้วย เขาสรุป
นักวิทยาศาสตร์เรียกจุดเปลี่ยนผ่านนี้ว่า “มวลน้ำสูงสุด” (peak water) ซึ่งก็คือเมื่อการไหลหลากของน้ำในระยะสั้นเปลี่ยนผันเป็นการขาดแคลนน้ำในระยะยาว
ลุ่มน้ำไมโปมีสถานีตรวจวัดสภาพอากาศบนพื้นที่สูงอีกเพียงสองแห่ง กาซัสซาหวังว่า สถานีแห่งใหม่นี้จะกลายเป็นหนึ่งในอีกหลายแห่งที่เขากับเพื่อนร่วมงานจะติดตั้งไว้ทั่วประเทศชิลี
เรื่อง ซาราห์ กิบเบนส์
ภาพถ่าย อาร์มันโด เบกา
บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจากโครงการริเริ่มเพื่อโลกที่ยั่งยืนของโรเล็กซ์ (Rolex Perpetual Planet Initiative) ซึ่งร่วมมือกับสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ในโครงการสำรวจทางวิทยาศาสตร์เพื่อสำรวจ ศึกษา และบันทึกการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคที่มีความแตกต่างโดดเด่นหลายแห่งของโลก