บึงบอระเพ็ด จุดเริ่มต้นหรือบั้นปลายวัฏจักร
บนพื้นที่ 132,737 ไร่ของ บึงบอระเพ็ด ประกอบไปด้วยระบบนิเวศที่หลากหลาย ทั้งพืชพรรณ สัตว์นํ้าและสัตว์ปีก ความสัมพันธ์ของระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตก่อเกิดวัฏจักรและสมดุลตามธรรมชาติ
หากจะกล่าวว่า มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศที่นี่ก็คงไม่ผิดนัก เพราะดูเหมือนจะเป็นผู้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่และมีอิทธิพลต่อสภาพแวดล้อมมากที่สุด
หลายคนคงรู้จักบึงบอระเพ็ดในแง่การท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะนักดูนก ในฤดูหนาวมีนกนํ้าอพยพเข้ามาเป็นจำนวนมาก เนื่องจากสภาพแวดล้อมและแหล่งอาหารที่เอื้ออำนวย บึงบอระเพ็ดจึงเปรียบเสมือนตู้กับข้าวขนาดใหญ่ที่เตรียมไว้รองรับแขกผู้มาเยือน
ตลอดทั้งปีบึงบอระเพ็ดได้รับอิทธิพลจากฤดูกาลแบบสุดขั้ว ในฤดูร้อนมักแห้งแล้งนํ้าตื้นเขิน แต่พอถึงฤดูฝนนํ้าจะเอ่อล้นนอกพื้นที่ การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมอย่างฉับพลันย่อมส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศโดยตรง นั่นหมายถึงแหล่งอาหารมีโอกาสลดลงเช่นกัน
ในช่วงสองปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนคือประชากรปลาลดลง นกอพยพเข้ามาน้อยลงพืชพรรณซึ่งเป็นทั้งที่หลบภัยและแหล่งอาหารเริ่มหายไป งานวิจัยหลายชิ้นระบุถึงปัญหาหลักไว้หลายด้าน ทั้งการบริหารจัดการนํ้า การบุกรุกพื้นที่ และการทำประมงผิดกฎหมาย
ย้อนหลังไปเมื่อหลายสิบปีก่อน ชาวบ้านเล่าว่าพวกเขาสามารถทำเงินจากการหาปลาเพียงอย่างเดียวได้มากโข และแม้แต่สัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างจระเข้ก็พบเห็นได้ไม่ยากนัก คำถามที่ตามมาคือ แล้วจระเข้เหล่านั้นหายไปไหน และหายไปได้อย่างไร คำตอบคงไม่พ้น “มนุษย์” นั่นเอง
ในอนาคตโครงการพัฒนาต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนกำลังเกิดขึ้น ความพยายามฟื้นฟูความสมบูรณ์ให้กลับคืนมาอาจต้องใช้เวลา และดูเหมือนจะวนเวียนเป็นวัฏจักรธรรมชาติ เพียงแต่วัฏจักรนี้มีมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้องและจะเป็นไปในทิศทางใดเท่านั้นเอง
เรื่องและภาพ วุฒิชัย ยาวงษ์
รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง โครงการประกวดสารคดีภาพ “10 ภาพเล่าเรื่อง” ปี 2015
โดยนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย