แห่ช้างบวชนาค แห่งเมือง ศรีสัชนาลัย
ประเพณีแห่ช้าง บวชนาค ของชาวไทยพวน อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยชาวบ้าน ไทยพวนเมืองศรีสัชนาลัย จะมารวมตัวกันเพื่อร่วมสืบสานประเพณีแห่ช้างบวชนาค ซึ่งถือเป็นประเพณีดั้งเดิมที่มีมามากกว่า ๑๕๐ ปี
การแห่นาคด้วยช้างนั้นมีเค้าความเชื่อจากเรื่องพระเวสสันดร เมื่อครั้งพระเจ้ากรุงสัญชัย พระราชบิดาของพระเวสสันดรทรงขอให้พระเวสสันดรเสด็จกลับมาเป็นกษัตริย์ดังเดิม พระองค์จึงโปรดให้จัดขบวนช้าง ม้า รถประดับ แห่ขับด้วยมโหรี และการละเล่นต่างๆ ไปรับพระเวสสันดรเข้าเมือง
พระเวสสันดรทรงช้างปัจจัยนาเคนทร์ ช้างคู่บารมี ซึ่งเชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องกับการบันดลบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล พืชพันธุ์ธัญญาหารสมบูรณ์ ดังนั้น การแห่นาคด้วยขบวนช้างจึงถือว่าได้บุญกุศลอย่างสูงสำหรับพ่อแม่ปู่ย่าตายาย
เช้าวันที่ ๗ เมษายน เจ้าภาพจะโกนผม โกนคิ้ว อาบน้ำ และสวมชฎาให้นาค มีกระจกติด สองข้างหู การแต่งกายของนาคจะประกอบด้วยผ้านุ่ง ผ้าม่วง ผ้าไหม และสวมเสื้อกำมะหยี่
เมื่อรูปขบวนพร้อม ก็จะเคลื่อนขบวนแห่วนรอบทุ่งนา หมู่บ้าน และลงสู่แม่น้ำยม ซึ่งถือเป็นไฮไลต์สำคัญที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากมาดักรอชมทั้งสองฟากฝั่งแม่น้ำ รุ่งเช้าอีกวันเป็นพิธีบวช เมื่อขบวนแห่มาถึงวัดหาดเสี้ยวแล้ว นาคจะนำขันธ์ ๕ สักการะเจ้าวัดที่ศาลพระภูมิอีกครั้ง ก่อนเดินทักษิณาวรรตรอบโบสถ์ ๓ รอบ เสร็จแล้วเข้าสู่พิธีบรรพชาเป็น “จั่วอ้าย” หรือสามเณร และอุปสมบทเป็น “เจ้าหัว” หรือพระภิกษุ
เรื่องและภาพ อนุชา หาญสมบัติเจริญ
รางวัลชมเชย จากโครงการประกวดสารคดีภาพ “10 ภาพเล่าเรื่อง” ปี 2012
โดยนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย
อ่านเพิ่มเติม ภิกษุณีธัมมนันทา : นักบวชหญิงผู้สืบสานพระศาสนา แม้ไม่ถูกยอมรับเป็นนักบวชตามกฏหมายไทย