ภาพ : ไดแอน คุก, เลน เจนเชล
เรื่อง : อเล็กซา คีฟ
ไม่มีใครต้องกังวลว่าต้นไม้จะยุกยิก เปลี่ยนท่า ทำหน้าหงิก หรือถึงช่างภาพต้องหามุมงามๆ ต่างเวลาอยู่นานเป็นวัน ต้นไม้ก็จะไม่บ่นเพราะยืนเมื่อย แต่ว่าเราถ่ายภาพต้นไม้ได้ง่ายๆ จริงๆ หรือ เลน เจนเชล หัวเราะแล้วบอกว่า “ได้ในความฝัน” เจนเชลกับคู่หูช่างภาพ ไดแอน คุก ร่วมทีมถ่ายภาพภูมิทัศน์ด้วยกันมานาน 25 ปี สร้างงานที่ทั้งเล่าเรื่องเชิงสารคดีและมีคุณค่าเชิงศิลปะ ทั้งคู่เดินทางทั่วโลกนาน 2 ปีถ่ายภาพต้นไม้เพื่อเล่าถึงความสำคัญของต้นไม้ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ และเพิ่งตีพิมพ์ลง เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทยเดือนมีนาคม 2560 เราจะถ่ายภาพต้นไม้ให้งามๆ ได้อย่างไร ลองฟัง 7 สุดยอดเทคนิคถ่ายภาพต้นไม้ของคุกและเจนเชลดู
- ค้นคว้าๆๆๆๆๆๆๆๆ
คำถามแรกตั้งแต่เริ่มถ่ายต้นไม้ไม่ใช่แค่จะถ่ายภาพสวยที่สุดได้อย่างไร แต่ภาพนั้นจะสื่อถึงความสำคัญของต้นไม้แต่ละต้นได้อย่างไรด้วย เจนเซลแนะว่ามันเชื่อมโยงกับฤดูกาล คุณค่าทางวัฒนธรรม และลมฟ้าอากาศที่ต้นไม้จะออกดอกสะพรั่งสุด อย่างภาพต้นแอ๊ปเปิ้ลของนิวตัน ทั้งคู่ต้องอีเมลไปมาถึงผู้เชี่ยวชาญหลายรอบเพื่อหาว่าตอนไหนแอ๊ปเปิ้ลจะแดงที่สุด แถมยังใช้เครื่องมืออย่างกูเกิลเอิร์ทดูว่าพื้นที่รอบๆ เป็นอย่างไร และตารางดูตำแหน่งดวงอาทิตย์เพื่อหาว่าแสงเวลาไหนที่ดีที่สุด ทั้งหมดนี้ทำก่อนออกไปถ่าย
- ตามด้วยอดทนๆๆๆๆๆๆๆๆ
การเดินดูรอบๆ ต้นไม้ในเวลาที่ต่างกันไปเป็นเรื่องจำเป็น คุกกับเจนเชลให้เวลากับต้นไม้แต่ละต้นอย่างน้อยสองวัน เพราะรู้สึกว่าทุกต้นถ่ายยากสุด แต่เวลาจะช่วย “เผยความลับ” ให้ ต้นเชอรีที่ไทดัลเบซินตอนที่งามน่าประทับใจที่สุด ก็มีคนมาดูล้นหลามที่สุดด้วย ถึงทั้งคู่จะตื่นแต่ตีสามเพื่อลุกมาถ่ายภาพ แต่ที่ต้นเชอรีก็มีขาตั้งของช่างภาพกางจองเต็ม สิ่งที่สองคนทำคือเลือกจุดที่ต้องการ รอจนสว่างเพื่อถ่ายตอนแสงสวยที่สุด และเพิกเฉยกับคำบ่นจากข้างหลัง
- ถ่ายให้เหมือนถ่ายภาพบุคคล
ไม่ว่าจะเป็นคนหรือต้นไม้ ช่างภาพต้องอยากรู้สิ่งที่ตัวเองจะถ่ายภาพให้มากที่สุด ก็เหมือนพอร์เทรตที่อาจเป็นภาพเต็มตัว ครึ่งตัว หรือรายละเอียดอื่นๆ ที่สื่อถึงแก่นของบุคคลนั้นได้ดี ตอนเห็นต้นมอนเทซูมาไซเปรส ที่เม็กซิโก ก็รู้ว่าไม่มีทางเก็บภาพทั้งหมดด้วยเลนส์มุมกว้าง ซึ่งจะทำให้ภาพบิดเบี้ยวไปด้วย ทั้งคู่จึงเลือกส่วนโดดเด่นที่สุดคือเส้นรอบวงของต้นแทน “เหมือนถ่ายภาพใครสักคนที่ตามีเสน่ห์ แค่สนใจแต่ส่วนนั้นพอ”