ชมอดีตอันงดงามราวภาพเขียน ส่วนผสมลับของการสร้างภาพถ่ายสียุคแรกๆ อย่าง ออโตโครม (Autochrome) ที่ดูเหมือนภาพฝัน คือแป้งมันฝรั่ง
ออโตโครม – ออกุสต์กับหลุยส์ ลูมีแยร์ เสนอวิธีถ่ายภาพสีที่ประสบผลสำเร็จเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1907 แม้เดิมภาพสีจะมีอยู่ก่อนแล้ว แต่กระบวนการให้ได้มานั้นทั้งเชื่องช้าและซับซ้อน สองพี่น้องลูมีแอร์ค้นพบว่า ส่วนผสมอันเป็นกุญแจสำคัญคือแป้งมันฝรั่ง
ผลงานที่ต่อยอดจากการทดลองเมื่อปี 1961 ของเจมส์ เคลิร์ก แม็กซ์เวลล์ พิสูจน์ว่า สามารถสร้างสีทุกสีขึ้นใหม่ได้ด้วยการผสมแสงสีแดง เขียว และน้ำเงิน กระบวนการที่เรียกว่าออโตโครมนี้เกี่ยวข้องกับการนำแผ่นเพลตกระจกมาเคลือบด้วยแป้งมันฝรั่งย้อมสีทั้งสามไว้บางๆ ให้ทั่ว จนได้เป็นตัวกรอง (filter) จากนั้นจึงเพิ่มชั้นเคลือบ (emulsion) ลงไป เมื่อคว่ำแผ่นกระจกลงและเปิดรับแสง จะได้ภาพที่ล้างออกมาเป็นภาพหรือฟิล์มโปร่งแสง
ภาพถ่ายออโตโครมได้รับความนิยมทันทีในปารีสที่มันก่อกำเนิด และในไม่ช้าก็แพร่ไปถึงสหรัฐฯ “ความเป็น ไปได้ของกระบวนการนี้ดูไร้ขีดจำกัด” อัลเฟรด สตีกลิตซ์ ช่างภาพผู้โด่งดัง เขียนไว้ในวารสาร Photography ของลอนดอน “โลกจะเปี่ยมสีสันในทันใด และลูมีแยร์คือผู้อยู่เบื้องหลัง” ภาพถ่ายสีธรรมชาติภาพแรกที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก เป็นภาพออโตโครมของสวนดอกไม้แห่งหนึ่งในเบลเยียม ตีพิมพ์เมื่อปี 1914
แผ่นเพลตกระจกออโตโครมหลายพันชิ้น ซึ่งเป็นชุดสะสมใหญ่ที่สุดชุดหนึ่งของโลก เก็บรักษาอยู่ที่คลังภาพ ของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในอาคารที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันแสง ความร้อน และความชื้น ที่สร้างความเสียหายแก่ภาพได้
ในแง่หนึ่ง การถ่ายภาพแบบออโตโครมก็ไม่ต่างจากภาพถ่ายขาวดำยุคแรก กล่าวคือเป็นกระบวนการ ที่กินเวลา เพราะการเปิดหน้ากล้องต้องใช้เวลานาน และผู้เป็นแบบต้องอยู่นิ่งเพื่อไม่ให้ภาพสั่นไหว แต่สำหรับ ออโตโครมแล้ว การสั่นไหวกลับให้ผลทางสุนทรียะแปลกตาออกไป กล่าวคือเมื่อย้อมสีอ่อนๆ เข้าไปด้วย ก็ทำให้ภาพถ่ายดูคล้ายภาพเขียน “ตอนเห็นภาพออโตโครมครั้งแรก สมองฉันแยกไม่ออกเลยว่าเป็นภาพถ่ายหรือภาพวาดอิมเพรสชันนิสต์” ซารา มางโค ผู้ดูแลคลังภาพของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก บอก
ภาพออโตโครมภาพสุดท้ายที่มีบันทึกว่าส่งให้เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกคือปี 1939 สำนักพิมพ์ส่วนใหญ่หันไปใช้การถ่ายภาพด้วยฟิล์มสีโกดัก (Kodachrome) ในทศวรรษ 1930 เพราะใช้ง่ายกว่า ในการถ่ายภาพออโตโครม ช่างภาพ ต้องแบกกระเป๋าไม้หนักๆที่ใส่แผ่นแพลตกระจกบอบบางไปด้วย แต่ฟิล์มสีโกดักที่ใช้กับกล้อง 35 มม. มีน้ำหนักเบาและพกพาสะดวกยามเดินทาง
ทุกวันนี้ ออโตโครมแทบไม่ใช้กันแล้ว คลังภาพของเราเผยให้เห็นช่วงเวลาหนึ่งของอดีตที่มีสีสันสดใส
ภาพถ่ายจาก คลังภาพของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก
เรื่อง เบ็กกี ลิตเทิล
ติดตามสารคดี ชมอดีตงดงามราวภาพเขียน ฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนมิถุนายน 2565 สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/