แค่ตรวจเลือดก็รู้ได้ว่าจะ คลอดก่อนกำหนด หรือไม่
การ คลอดก่อนกำหนด คือหนึ่งสถานการณ์อันตรายที่แม่และเด็กอาจต้องเผชิญ และภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นนี้เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตในทารกทั่วสหรัฐอเมริกา นอกจากนั้นผลกระทบจากการคลอดก่อนเวลาอันควรยังมีผลไปถึงวัยเด็ก และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กทั่วโลกเสียชีวิตก่อนวัย 5 ขวบด้วยเช่นกัน
ณ ตอนนี้ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติค้นพบวิธีการตรวจเลือดแบบใหม่ ที่ให้ผลไม่ต่างจากการอัลตราซาวด์ เพื่อวินิจฉัยว่าคุณแม่คนนั้นๆ จะตั้งครรภ์นานแค่ไหน ตลอดจนจะคลอดบุตรในช่วงเวลาใด
ขณะนี้กระบวนการทดสอบนวัตกรรมใหม่นี้ยังคงอยู่ในช่วงของการพัฒนา ซึ่งทางทีมงานระบุว่าอุปกรณ์ของพวกเขานั้นมีราคาถูก และเคลื่อนย้ายสะดวกกว่าเครื่องมือสำหรับการอัลตราซาวด์ หากในอนาคตวิธีการนี้ถูกใช้อย่างแพร่หลาย ทางทีมวิจัยคาดหวังว่าเครื่องมือดังกล่าวจะมีส่วนอย่างมากในการช่วยเหลือบรรดาคุณแม่ที่มีรายได้น้อย หรือคุณแม่ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากการแพทย์ เพื่อการดูแลครรภ์ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
เหตุใดการคลอดก่อนกำหนดจึงอันตราย?
รูปแบบของการคลอดก่อนกำหนดนั้นเกิดขึ้นอย่างน้อยสามสัปดาห์ ก่อนกำหนดคลอดจริงซึ่งมักอยู่ที่ช่วงเวลาเก้าเดือน ปกติแล้วยากที่จะคาดการณ์ได้ว่าคุณแม่ตั้งครรภ์นั้นๆ จะคลอดก่อนกำหนดหรือไม่ และทารกที่คลอดออกมามักเผชิญกับความผิดปกติทางร่างกาย ตลอดจนระบบประสาทภายใน
ภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นกับผู้หญิงชาวสหรัฐฯ ราว 9% พันธุกรรมคือหนึ่งปัจจัยหลักที่ส่งผลให้คุณแม่ตั้งครรภ์คนนั้นๆ มีความเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนด ตามมาด้วยสุขภาพของแม่ และสภาพแวดล้อมที่อาศัย ฯลฯ
นอกเหนือจากนั้น หากแม่มีน้ำหนักตัวน้อย หรือสูบบุหรี่ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งจากการศึกษาที่ผ่านๆ มาคุณแม่ชาวแอฟริกันอเมริกันเองมีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะเช่นนี้ขึ้น อันเนื่องมาจากการขาดวิตามินเรื้อรัง
กระบวนการทดสอบเลือดเป็นอย่างไร?
ผลการศึกษาที่เผยแพร่ลงในวารสาร Science การตรวจเลือดแบบใหม่สามารถคำนวณอายุครรภ์ของทารกได้แม่นยำราว 45% เทียบกับการตรวจด้วยอัลตราซาวด์ซึ่งได้ผลราว 48% นอกจากนั้นทีมวิจัยยังเผยว่าด้วยการตรวจเลือดแบบใหม่นี้ พวกเขาสามารถคำนวณได้ว่าคุณแม่คนนั้นๆ จะมีโอกาสคลอดก่อนกำหนดได้แม่นยำราว 75 – 80%
กระบวนการทดสอบจะทำการตรวจจับโมเลกุล เมสเซนเจอร์ RNA (messenger RNA) RNA ชนิดหนึ่งในเลือดของแม่ เจ้าโมเลกุลจิ๋วๆ เหล่านี้ทำหน้าที่ขนส่งกรดอะมิโนไปยังไรโบโซม เพื่อเชื่อมกรดอะมิโนเข้าด้วยกัน และให้ร่างกายสร้างโปรตีน โดยนักวิทยาศาสตร์พยายามตรวจสอบ RNA ที่เชื่อมโยงกับยีนต่างๆ เพื่อคาดการณ์หาช่วงเวลาที่อาจคลอดก่อนกำหนด
ในการจะทำเช่นนั้น ทีมวิจัยกำหนดให้ผู้หญิงชาวเดนมาร์กจำนวน 21 คนเข้ารับการตรวจเลือดเป็นประจำทุกสัปดาห์ จนกว่าจะถึงกำหนดคลอด วิธีการนี้ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ได้โมเดลในแต่ละช่วงอายุครรภ์ได้ จากนั้นพวกเขายืนยันความแม่นยำของโมเดลนี้ซ้ำอีกครั้ง จากผลเลือดของผู้หญิงอีก 10 คน
ต่อมาทีมนักวิจัยได้เก็บตัวอย่างเลือดของผู้หญิงชาวอเมริกันที่เคยคลอดก่อนกำหนดจำนวน 38 คน พวกเขาตรวจสอบเลือดของพวกเธอในไตรมาสที่สอง และสามของการตั้งครรภ์ปัจจุบัน เมื่อสิ้นสุดกำหนดพบว่า หญิงชาวอเมริกัน 13 คนคลอดลูกก่อนกำหนดอีกครั้ง และอีก 25 คนคลอดตามกำหนด ทีมนักวิจัยนำผลการทดสอบจากคุณแม่ทั้งสองกลุ่มมาเปรียบเทียบกัน และในที่สุดพวกเขาพบว่ามี RNA ที่เชื่อมโยงกับยีนทั้งหมด 7 ยีน ที่บ่งชี้ได้ว่าการตั้งครรภ์นั้นๆ จะคลอดก่อนกำหนดหรือไม่
อนาคตของการวิจัย?
ทีมวิจัยระบุว่ากระบวนการทดสอบเลือดแบบใหม่นี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น และยังไม่สามารถยืนยันได้ชัดเจนจนกว่าจะสามารถขยายกลุ่มตัวอย่างทีเข้ารับการทดลองได้
อย่างไรก็ดี พวกเขาระบุว่าผลการศึกษาใหม่นี้สร้างความหวังใหม่ให้แก่วงการแพทย์ และน่าเชื่อถือมากขึ้นกว่าวิธีการคาดการณ์แบบเดิมๆ นอกเหนือจากนั้นการศึกษาในอนาคตเกี่ยวกับยีนที่เกี่ยวข้องกับการคลอดก่อนกำหนดจะยิ่งมีส่วนช่วยให้นักวิทยาศาสตร์พัฒนาวิธีการรักษา และป้องกัน ไม่ใช่แค่การทำนายช่วงเวลาเพียงอย่างเดียว
“ผมใช้เวลาหลายปีในการทำความเข้าใจรูปแบบของการตั้งครรภ์” Mads Melbye หนึ่งในทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดกล่าวระหว่างการแถลงผลงาน “นี่คือความก้าวหน้าครั้งสำคัญ ในการแก้ไขปัญหาที่มีมาอย่างยาวนาน”
เรื่อง ซาร่าห์ กิบเบ็นส์
อ่านเพิ่มเติม