เลือดข้นคนต่าง! ทำไมผู้ชายใช้กำลัง ผู้หญิงใช้ยาพิษ

เลือดข้นคนต่าง! ทำไมผู้ชายใช้กำลัง ผู้หญิงใช้ยาพิษ

เลือดข้นคนต่าง! ทำไมผู้ชายใช้กำลัง ผู้หญิงใช้ยาพิษ

ในโลกแห่งความแฟนตาซี บ่อยครั้งที่ “ยาพิษ” มักถูกเชื่อมโยงเข้ากับความร้ายกาจของสตรี เพราะพิษร้ายแรงสังหารเหยื่อได้อย่างเงียบงันและยากที่จะตรวจสอบเช่นนี้ วัฒนธรรมการใช้พิษกำจัดศัตรูจึงถูกนำเสนอผ่านละครและภาพยนตร์หลายเรื่องนับตั้งแต่อดีตเป็นต้นมา ทั้งยังคงทรงพลังในโลกแห่งความเป็นจริง ย้อนกลับไปเมื่อต้นปี 2017 นานาชาติพร้อมใจกันนำเสนอกรณีลอบสังหาร “คิม จอง นัม” พี่ชายต่างมารดาของผู้นำเกาหลีเหนือ ด้วยสารพิษวีเอ็กซ์ ณ สนามบินนานาชาติกรุงกัวลาลัมเปอร์ คิม จอง นัม เสียชีวิตในเวลาเพียง 15 – 20 นาทีที่ได้รับสารพิษ และในเวลาต่อมาเจ้าหน้าที่ก็สามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยได้เป็นหญิงชาวอินโดนีเซียและเวียดนาม ด้านเกาหลีเหนือปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

ภาพจากกล้องวงจรปิดแสดงวินาทีลอบสังหารคิม จอง นัม

ทว่าในความเป็นจริง ไม่ใช่แค่ผู้หญิงที่นำพิษมาเป็นอาวุธ รัสเซียใช้ประโยชน์จากฆาตกรเงียบนี้ในหลายภารกิจที่ต้องการความแนบเนียน กรณีที่โด่งดังเกิดขึ้นในปี 2006 อเล็กซานเดอร์ ลิตวิเนนโก อดีตสายลับเคจีบีชาวรัสเซียถูกอดีตสายลับเคจีบีด้วยกันวางยาในน้ำชาที่ทั้งคู่ดื่มด้วยกันระหว่างการพบปะในอังกฤษ ต่อมาลิตวิเนนโกล้มป่วย และในที่สุดก็เสียชีวิตในอีก 3 สัปดาห์ต่อมา ผลการสืบสวนพบว่าสารพิษดังกล่าวคือ โพโลเนียม 210 ที่มีฤทธิ์ทำลายหลอดลมและเม็ดเลือดขาว ซึ่งไม่อาจหาซื้อได้ทั่วไป แต่ต้องสกัดจากกากนิวเคลียร์ บ่งชี้ว่ารัฐบาลรัสเซียน่าจะอยู่เบื้องหลังการสอบสังหารครั้งนั้น

ยาพิษ
อเล็กซานเดอร์ ลิตวิเนนโก ขณะเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลของกรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2006 สามวันต่อมาเขาก็เสียชีวิต
ภาพถ่ายโดย Natasja Weitsz

จากสถิติพบว่า ส่วนใหญ่ผู้วางยาพิษมักทำงานเกี่ยวข้องกับทางการแพทย์ ซึ่งสามารถเข้าถึงสารพิษได้ง่ายกว่าคนทั่วไป หรืองานที่ต้องดูแลผู้อื่นเช่น แม่บ้านหรือคนดูแลผู้สูงอายุเพื่อความแนบเนียนในการวางยา และมีหลายกรณีที่เหยื่อและผู้วางยามีความสัมพันธ์กันมาก่อน เช่น แม่-ลูก, คู่สมรส หรือเพื่อน การฆ่าใครสักคนด้วยยาพิษนั้นต้องอาศัยการวางแผน และกลอุบาย พิษสังหารช่วยให้ฆาตกรไม่ต้องเผชิญหน้าหรือใช้กำลังปะทะกับเป้าหมายโดยตรง และผู้เชี่ยวชาญเสริมว่าหากการฆาตกรรมในอดีตด้วยยาพิษไม่ถูกตรวจพบมีแนวโน้มว่าผู้ลงมืออาจใช้วิธีเดียวกันนี้อีกในอนาคต

ข้อมูลจากหน่วยงานสืบสวนกลางของสหรัฐฯ ที่มุ่งสำรวจรูปแบบการฆาตกรรมจำนวน 195,578 คดี ตั้งแต่ปี 1999 – 2012 ชี้ว่า สองในสามของฆาตกรชายใช้อาวุธปืนสังหารเหยื่อ ส่วนในฆาตกรหญิงนั้นอาวุธที่ใช้มีความหลากหลายตั้งแต่ยาพิษ ไปจนถึงเชือก มีด และของแข็ง โดยหากเทียบเป็นสถิติแล้ว 67% ของผู้ชายใช้ปืน มีเพียง 0.4 เท่านั้นที่ใช้ยาพิษ ส่วนในผู้หญิงมี 39% ที่ใช้อาวุธปืน และอีก 2.5% ใช้ยาพิษ โดยในที่นี้หมายความถึงยาธรรมดาๆ ทั่วไป เช่นยานอนหลับ ไม่ใช่สารพิษอันตรายอย่างที่สายลับรัสเซียใช้

ที่สถิติออกมาดูน้อยเป็นเพราะสัดส่วนของอาชญากรชายมีมากกว่าอาชญากรหญิงถึง 9 เท่า แต่จากรายงานชี้ว่าหากเทียบกันแล้ว ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะใช้ยาพิษสังหารเหยื่อมากกว่าผู้ชายถึง 7 เท่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? พิจารณาจากความแข็งแรงของร่างกายตามธรรมชาติชายและหญิงอาจพอได้คำตอบ พละกำลังของผู้หญิงที่มีน้อยกว่าส่งผลให้พวกเธอต้องใช้เครื่องทุ่นแรง แม้ว่าในบางครั้งเหยื่อสังหารจะเป็นผู้หญิงด้วยกันก็ตาม ทว่าไม่ใช่แค่ร่างกายเท่านั้น สมองที่แตกต่างก็เป็นปัจจัยสำคัญ

ยาพิษ
Mary Ann Cotton ฆาตกรชาวอังกฤษ ในสมัยยุควิคตอเรีย เธอฆ่าสามีไป 3 คน และลูกๆ อีก 11 คน ด้วยยาเบื่อหนู เชื่อกันว่ามีแรงจูงใจจากการหวังเอาเงินประกัน
ขอบคุณภาพจาก https://www.huffingtonpost.com/the-lineup/mary-ann-cotton-englands_b_8339314.html

 

บนเส้นทางวิวัฒนาการที่ต่างกัน

เมื่อเผชิญปัญหา ผู้ชายมักมีแนวโน้มที่จะหุนหันพลันแล่น และตอบโต้กลับด้วยการเผชิญหน้าและความรุนแรง ในขณะที่ผู้หญิงมักหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า และตอบโต้ด้วยการกระทำลับหลังมากกว่า เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?

นายแพทย์ชัชพล เกียรติขจรธาดา ผู้เขียนหนังสือ “500 ล้านปีของความรัก” ที่ไขปริศนาพฤติกรรมมนุษย์ผ่านทฤษฎีวิวัฒนาการ เขียนบทหนึ่งเกี่ยวกับการตอบโต้ที่แตกต่างกันของชายและหญิงไว้ว่า พฤติกรรมการเลือกตอบโต้ที่ต่างกันนี้เป็นผลมาจากทฤษฎีวิวัฒนาการทฤษฎีหนึ่งที่มีชื่อเรียกว่า “parental investment theory” หมายความถึงการลงทุนที่ไม่เท่ากันระหว่างเพศชายและเพศหญิง

ตามธรรมชาติในกระบวนการสืบพันธุ์เพื่อผลิตทายาท ผู้ชายลงทุนน้อยกว่า เพราะเพียงหลับนอนกับผู้หญิงก็สามารถส่งต่อพันธุกรรมของตนไปยังรุ่นต่อไปได้แล้ว แต่ในผู้หญิงกระบวนการผลิตทายาทต้องใช้เวลาและการลงทุน ไหนจะต้องอุ้มท้อง ระแวดระวังภัย และกินอาหารให้เพียงพอเพื่อพัฒนาการที่ดีของลูก ดังนั้นในการคัดเลือกทางธรรมชาติ ผู้ชายที่มีความแข็งแรง ใช้พละกำลังและความรุนแรงต่อสู้กับศัตรู ปกป้องเมียและลูกได้จึงถูกผู้หญิงคัดเลือกมากกว่าผู้ชายที่อ่อนแอ และไม่มีความก้าวร้าว ในขณะเดียวกันผู้หญิงที่ดูแลลูก หลีกเลี่ยงการสร้างศัตรูและการเผชิญหน้า กลับเป็นผลดีต่อการผลิตทายาทมากกว่า ลักษณะของพฤติกรรมดังกล่าวจึงถูกผู้ชายคัดเลือกมาเช่นกัน (แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ชายทุกคนจะก้าวร้าวรุนแรง และไม่มีผู้หญิงที่พร้อมจะตบตีคู่กรณี)

จากข้อมูลทางโบราณคดี ก่อให้เกิดทฤษฎีที่ว่า ก่อนที่จะเกิดสังคมเกษตรกรรม ในอดีตบรรพบุรุษมนุษย์มีการแบ่งงานกันทำระหว่างชายและหญิง โดยมนุษย์ผู้ชายออกล่าสัตว์หาอาหาร ในขณะที่มนุษย์ผู้หญิงทำหน้าที่เก็บของป่าและพืชผล การแบ่งงานกันทำนี้อาจเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้มนุษย์โบราณรวมกลุ่มกันจนเข็มแข็ง
ขอบคุณภาพจาก http://dailygreatest.com/education/could-you-live-like-a-caveman-6-facts/

พิจารณาให้ละเอียดยิ่งขึ้น บนเส้นทางแห่งการวิวัฒนาการที่ผ่านมา อารยธรรมของมนุษย์เพิ่งจะถือกำเนิดขึ้นเมื่อไม่กี่พันปี และช่วงเวลาส่วนใหญ่ของเรานับตั้งแต่ปรากฏขึ้นบนโลกเมื่อราว 200,000 ปีก่อนนั้น คือโลกในธรรมชาติที่ไม่มีกฎเกณฑ์ มีเพียงสัญชาตญาณการเอาตัวรอด ฉะนั้นถิ่นที่อยู่ แหล่งอาหาร ตลอดจนลำดับชั้นทางสังคมคือเรื่องสำคัญ สมองของมนุษย์เพศชายจึงปรับตัวให้สร้างอารมณ์โกรธรุนแรงที่เกินกว่าเหตุเพื่อป้องกันตัว เพราะในสังคมยุคหินคู่กรณีหรือปัญหาเล็กๆ เช่นการรุกล้ำเขตแดนหากปล่อยเอาไว้อาจลุกลามใหญ่โตและสร้างความเสียหายต่อทั้งเผ่าได้ ดังนั้นการตอบสนองเกินกว่าเหตุจึงเป็นฟังก์ชันมีประโยชน์ที่ถูกส่งต่อกันมา บ่อยครั้งเราจึงเห็นผู้ชายสองคนลงไปต่อยตีกันบนท้องถนนเพียงเพราะขับรถปาดหน้า หรือถึงขั้นชักปืนขึ้นมายิงเพียงเพราะเผลอไปจ้องตากันในสถานบันเทิง

ในผู้หญิงที่มีความหุนหันและตอบสนองอารมณ์โกรธที่น้อยกว่าชาย สมองของพวกเธอให้ความสำคัญกับอารมณ์ และความสัมพันธ์เป็นหลัก  เนื่องจากการจะเอาตัวรอดในยุคหิน ความสัมพันธ์ระหว่างตนกับสมาชิกอื่นในกลุ่มถือเป็นเรื่องสำคัญ หากถูกขับไล่ หรือถูกทิ้งโดยสมาชิกเผ่า เป็นการยากที่ผู้หญิงและลูกจะสามารถเอาตัวรอดได้เพียงคนเดียวในป่าที่มีสัตว์ผู้ล่ามากมาย เมื่อสมองของผู้หญิงรู้สึกว่าความสัมพันธ์คือเรื่องสำคัญ ฉะนั้นกลยุทธ์ที่ผู้หญิงใช้จัดการกับความโกรธเกรี้ยวจึงมักปรากฏในพฤติกรรมทำลายลับหลังเช่น การนินทาว่าร้ายมากกว่าการใช้กำลังเช่นผู้ชาย เพื่อหวังทำลายภาพพจน์ของคนๆ นั้นในสังคม ระบบความคิดและพฤติกรรมที่ต่างกันระหว่างสองเพศนี้อาจพอฉายภาพที่ชัดเจนมากขึ้นว่าทำไมผู้ชายจึงมีแนวโน้มที่จะใช้กำลังมากกว่า ส่วนผู้หญิงเองก็มีแนวโน้มที่จะใช้วิธีลับหลัง เช่น พิษสังหาร เป็นต้น

 

การทำลายตนเอง

เพราะสมองของผู้หญิงใส่ใจกับความสัมพันธ์เช่นนี้ อัตราของผู้ป่วยด้วยโรคจิตเวชจึงมีสัดส่วนผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 20 – 40% ด้านหน่วยงานทางจิตเวชของสหราชอาณาจักรเคยสำรวจเอาไว้ในปี 2007 พบว่า 19% ของผู้หญิงเคยมีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย ส่วนในผู้ชายอยู่ที่ 14%  ทว่าที่น่าประหลาดก็คือ ข้อมูลผู้ที่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายในสหราชอาณาจักร เมื่อปี 2012 ระบุว่า 3 ใน 4 เป็นผู้ชาย ส่วนในสหรัฐฯ ข้อมูลปี 2010 ชี้ว่า 79% ของผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จจำนวน 38,000 ก็เป็นผู้ชายเช่นกัน เพราะอะไร?

หนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้จำนวนผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิงก็คือ วิธีการฆ่าตัวตาย ผู้ชายมักเลือกวิธีการทำลายตนเองด้วยความรุนแรงมากกว่าผู้หญิงเช่น ใช้อาวุธปืน, แขวนคอ หรือกระโดดจากที่สูง ส่วนในผู้หญิงมักเลือกวิธีที่นุ่มนวลกว่าเช่น การกินยาเกินขนาด หรือกรีดข้อมือ หนึ่งในทฤษฎีที่ถูกหยิบยกมาอธิบายความต่างนี้คือ ความหุนหันพลันแล่นที่ผู้ชายมีมากกว่า ส่งผลให้กระบวนการฆ่าตัวตายของพวกเขามีแนวโน้มที่จะทำสำเร็จมากกว่าไปด้วยเมื่อเทียบกับผู้หญิง

ยาพิษ
Nannie Doss ฆาตกรต่อเนื่องชาวอเมริกันผู้โด่งดัง เหยื่อทั้งหมด 11 คนล้วนเป็นครอบครัวของเธอเองทั้งสิ้น ในจำนวนนี้ยังมีสามีอีก 5 คนที่เสียชีวิตจากยาเบื่อหนู เมื่อถูกจับได้ เธอให้เหตุผลว่าเป็นเพราะเบื่อหน่ายชีวิตสมรส และต้องการมองหาคนรักใหม่
ขอบคุณภาพจาก https://allthatsinteresting.com/nannie-doss-giggling-granny

ความแตกต่างในชายและหญิงต่อประเด็นการฆ่าตัวตายยังมีอีกประเด็นที่น่าสนใจ นั่นคือเรื่องของฮอร์โมน ด็อกเตอร์ Mark Goulston จิตแพทย์ผู้เขียนหนังสือ “Just Listen” ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารด้วยมุมมองทางจิตวิทยาชี้ว่า การลดลงของระดับฮอร์โมนอ็อกซีท็อกซินในผู้หญิง และการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนเทสโทเตอโรนในผู้ชายน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญ จากการทำงานด้านจิตเวชหลายสิบปี Goulston พบว่า ผู้ป่วยหญิงที่เคยและไม่เคยพยายามฆ่าตัวตายมักมีอาการป่วยจากการขาดความรักความอบอุ่น ในขณะที่ผู้ป่วยชายมักมีปัญหาเริ่มต้นจากความรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า ไม่มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับงานวิจัยในปี 2013 โดย NCBI ที่พบว่า ระดับของฮอร์โมนเทสโทเตอโรนมีผลต่อความก้าวร้าวในสมอง และการฆ่าตัวตาย หากในผู้ป่วยวัยรุ่นมีฮอร์โมนนี้มากเกินไป แต่ไม่สามารถแสดงออกถึงพลังอำนาจความเป็นชายได้ พวกเขาจะรู้สึกว่าคุณค่าในตนเองลดลง และในทางกลับกันหากผู้ป่วยชายสูงอายุมีระดับของฮอร์โมนเทสโทเตอโรนลดลง พวกเขาจะมีความเสี่ยงคิดฆ่าตัวตาย

การค้นพบนี้อาจเป็นแนวทางช่วยเยียวยาผู้ป่วยทางจิตและลดจำนวนผู้ฆ่าตัวตายเพศชายลงในอนาคต หากสามารถปรับระดับของฮอร์โมนเทสโทเตอโรนได้ เช่นเดียวกับที่ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์พบว่าการเพิ่มฮอร์โมนอ็อกซีท็อกซินช่วยคลายอาการซึมเศร้า และเพิ่มทักษะการเข้าสังคมให้แก่ผู้ป่วยโรคออทิสซึม

ตลอดเส้นทางที่ผ่านมานับตั้งแต่ยุคหินจนถึงปัจจุบัน ธรรมชาติได้แสดงให้เห็นแล้วว่ามนุษย์เพศชายและหญิงนั้นมีความแตกต่างกันมากแค่ไหน และไม่ใช่แค่เพียงร่างกายเท่านั้น เมื่อผู้หญิงฆ่าตัวตายเพราะความความเจ็บปวดทางใจ ในขณะที่ผู้ชายฆ่าตัวตายเพราะความละอาย คำปลอบโยนที่ใช้ได้กับฝ่ายหนึ่งไม่ได้หมายความว่าจะใช้ได้กับอีกฝ่ายด้วยเสมอไป ฉะนั้นการเรียนรู้ความต่างระหว่างเราจะช่วยเพิ่มความเข้าใจที่มีต่อกันให้มากขึ้น ตลอดจนหาวิธีรับมือที่เหมาะสมกับเพศนั้นๆ

 

อ่านเพิ่มเติม

เลือดข้นความรู้เข้ม! การเก็บลายนิ้วมือบนวัตถุพยาน

 

แหล่งข้อมูล

500 ล้านปีของความรัก โดย นายแพทย์ชัชพล เกียรติขจรธาดา

The weapons men and women most often use to kill

Why do many female serial killers chose poison as their weapon?

A Psychological Profile of a Poisoner

Male Suicide vs. Female Suicide

Differences in Suicide Among Men and Women

Why are men more likely than women to take their own lives?

Low testosterone levels may be associated with suicidal behavior in older men while high testosterone levels may be related to suicidal behavior in adolescents and young adults

 

Recommend