ยานอินไซต์ตรวจจับแผ่นดินไหวบนดาวอังคารได้เป็นครั้งแรก

ยานอินไซต์ตรวจจับแผ่นดินไหวบนดาวอังคารได้เป็นครั้งแรก

นี่คือภาพวาดของยานอินไซต์บนดาวอังคาร องค์กรอวกาศประกาศว่ายานอาจตรวจจับการแรงสั่นสะเทือนบนดาวเคราะห์สีแดง หรือ แผ่นดินไหวบนดาวอังคาร ซึ่งบันทึกได้เป็นครั้งแรก ภาพวาดโดย NASA/JPL-CALTECH


นี่คือการสั่นสะเทือนของแผ่นดินครั้งแรกบนดาวเคราะห์สีแดงอย่างที่สามารถบันทึกได้ และแน่นอนว่า นี่คงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย

ยานอินไซต์ (Insight Lander) ได้ตรวจจับบันทึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวบนดาวอังคารได้เป็นครั้งแรก ซึ่งก่อให้เกิด “แรงสั่นสะเทือน” ต่อบรรดานักวิทยาแผ่นดินไหวที่อยู่ห่างไปราว 16 ล้านกิโลเมตร และเป็นการเริ่มต้นยุคใหม่ของการศึกษาดาวเคราะห์สีแดงดวงนี้

สัญญาณอันแผ่วเบาที่ถูกตรวจจับได้เมื่อวันที่ 6 เมษายน ที่ผ่านมา คือการสั่นสะเทือนซึ่งเหล่านักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเกิดจากบริเวณภายในของดาวอังคาร (Martian interior) มากกว่าแรงบนพื้นผิว (Surface forces) อย่างเช่นกระแสลม

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยังคงศึกษาข้อมูลเพื่อหาแหล่งกำเนิดของแผ่นดินไหวที่แม่นยำกว่านี้

(รับฟังคลื่นเสียงที่คาดว่าเป็นแผ่นดินไหวบนดาวอังคารที่ยานอินไซต์ตรวจจับได้ที่นี่)

คลื่นที่ถูกตรวจจับได้นั้นมีขนาดเล็ก อาจเปรียบได้กับแผ่นดินไหวบนโลกที่ระดับ 2 หรือ 2.5 แมกนิจูด ซึ่งแทบไม่สามารถรู้สึกได้เลยบนพื้นผิวโลก แต่การสั่นสะเทือนนี้ได้สร้างช่วงเวลาที่สำคัญกับบรรดานักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานร่วมกับยานอินไซต์ที่รอคอยวันนี้มานับตั้งแต่การติดตั้งเครื่องมือที่ใช้ตรวจวัดคลื่นแผ่นดินไหว (Seimometer) ไปกับตัวยานเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2018 และได้เริ่มช่วงต้นเวลาของการสังเกตเมื่อหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

“ผมไล่ตามแผ่นดินไหวบน ดาวอังคาร ครั้งนี้มาเกือบ 30 ปี นี่เป็นช่วงจุดสูงสุดของชีวิตในการทำงานที่ผมตามหามานาน” – บรูซ แบเนิร์ดต์ ผู้นำคณะวิจัยของภารกิจยานอินไซต์ กล่าวและเสริมว่า “ผมได้ข้อมูลที่ผมฝันถึงมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980”

ดาวอังคาร
เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธุ์ 2019 ยานอินไซต์เริ่มใช้งานที่กำบังลมและความร้อนเพื่อป้องกันเครื่องมือที่ใช้ตรวจวัดคลื่นแผ่นดินไหว (Seimometer) ที่ถูกติดตั้งลงในแผ่นธรณีดาวอังคารเมืองวันที่ 19 ธันวาคม 2018 ภาพถ่ายโดย NASA/JPL-CALTECH
ดาวอังคาร
เครื่องมือที่ใช้ตรวจวัดคลื่นแผ่นดินไหว (Seimometer) ของยานอินไซต์ ชื่อว่า SEIS ซึ่งสร้างโดยศูนย์ศึกษาอวกาศแห่งประเทศฝรั่งเศสโดยการช่วยเหลือจากบรรดานักวิจัยจากยุโรปและ Jet Propulsion Laboratory ของนาซานั้นไวต่อการตรวจจับมาก มันสามารถตรวจจับการสั่นไหวที่เล็กกว่าความกว้างของอะตอมไฮโดรเจนได้ ภาพถ่ายโดย NASA/JPL-CALTECH

แผ่นดินไหวดาวอังคารคืออะไร ?

แผ่นดินไหวบนโลกมักเกิดจากการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกซึ่งแทรกตัวเพื่อหาตำแหน่ง และเกิดแรงเค้น (Stress) ในระดับที่ไม่สามารถทนได้ จึงทำให้เกิดจุดแตกหักจนเกิดเป็นแผ่นดินไหวที่เรารู้สึกได้

แต่แผ่นดินที่เกิดบนดาวอังคารนั้นแตกต่างไปจากโลก เพราะดูเหมือนว่าดาวอังคารไม่มีแผ่นเปลือกโลก แต่แรงสั่นสะเทือนมาจากแผ่นธรณีของดาวอังคารซึ่งเย็นตัวลงอย่างช้าๆ ซึ่งก่อให้เกิดวง (orb) ที่ติดต่อกันและก่อให้เกิดรอยแยกบนพื้นผิว การสั่นสะเทือนเหล่านี้สามารถมาจากปะทะของอุกกาบาต และเป็นได้ว่าสามารถเกิดจากการเคลื่อนตัวแมกมาที่อยู่ใต้แผ่นธรณีเช่นเดียวกัน

นักวิจัยใช้การสั่นสะเทือนของดาวอังคารเพื่อศึกษาสิ่งที่อยู่ภายใน กระบวนนี้สามารถเปรียบได้กับการอัลตราซาวด์เพื่อสำรวจสิ่งที่อยู่ภายใน โดยการสังเกตว่า คลื่นแผ่นดินไหวนั้นสะท้อนในดาวอังคารอย่างไร และนักวิจัยสามารถสังเกตไปยังโครงสร้างภายในได้

ถึงแม้ว่าแผ่นดินไหวบนดาวอังคารครั้งนี้จะมีขนาดเล็กจนไม่สามารถให้รายละเอียดนักวิทยาศาสตร์ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นที่นั่น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสัญญาณเหล่านี้จะไร้ประโยชน์

“มันเริ่มบอกเราได้ว่าดาวอังคารมีความเคลื่อนไหวอย่างไร” แบเนิร์ดต์ กล่าว

เรื่องโดย MAYA WEI-HAAS และ MICHAEL GRESHKO


อ่านเพิ่มเติม จับตาภารกิจของยานอินไซต์หลังลงจอดบน ดาวเคราะห์แดง 

Recommend