ชนิดของพายุ ประเภทของพายุ ที่เกิดขึ้นตามภูมิภาคต่างๆ บนโลกของเรา มีแหล่งกำเนิดและความรุนแรงที่แตกต่างกัน
ในช่วงฤดูมรสุม เรามักได้รับฟังการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับเหตุอุทกภัยในพื้นที่ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ส่วนใหญ่เกิดจากพายุฝนที่หอบเอาความชื้นและน้ำฝนจากทะเลเคลื่อนตัวขึ้นไปยังแผ่นดิน นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาเรื่องการกำเนิดพายุมาเป็นเวลานานแล้ว และได้จำแนก ประเภทของพายุ ตามความรุนแรงและแหล่งกำเนิด
พายุ (Storm) คือ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ทำให้สภาพแวดล้อมและชั้นบรรยากาศโลกถูกรบกวน ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งปลูกสร้าง และสิ่งมีชีวิตบนพื้นผิวโลก พายุเป็นการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศที่รุนแรง โดยมักเกิดขึ้นพร้อมกับการเกิดลมกระโชกแรง ลูกเห็บตก ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ฝนตกหนัก รวมไปถึงการพัดพาสสารบางอย่างผ่านไปในชั้นบรรยากาศที่ก่อให้เกิดพายุฝุ่น พายุหิมะ และพายุทราย เป็นต้น
การกำเนิดพายุ
พายุเกิดจากการเคลื่อนที่ของลม หรือ มวลอากาศ จากความแตกต่างของอุณหภูมิในบรรยากาศโดยรอบ ซึ่งพายุมักเกิดในพื้นที่ที่มีความกดอากาศต่ำ ทำให้เกิดกระแสลมพัดเข้าหาจุดศูนย์กลางของบริเวณดังกล่าว เนื่องจากมวลอากาศร้อนจะลอยตัวขึ้นสูง ส่งผลให้มวลอากาศในแนวราบที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าเข้ามาแทนที่ ทำให้เกิดการหมุนเวียนของอากาศ เกิดกระแสการเคลื่อนที่ของลมและเกิดการก่อตัวขึ้นของเมฆ ก่อนพัฒนาไปเป็นพายุในรูปแบบต่างๆ
บริเวณความกดอากาศต่ำ (Low Pressure Area: L) คือ พื้นที่ที่มวลของอากาศได้รับความร้อนสูงจากดวงอาทิตย์ ทำให้เกิดการยกตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ความกดอากาศบริเวณนั้นมีค่าลดลงต่ำกว่าบริเวณใกล้เคียงหรือบริเวณโดยรอบ ขณะที่บริเวณความกดอากาศสูง (High Pressure Area: H) คือ พื้นที่ที่มีมวลอากาศหนาแน่น หรือ มีมวลอากาศเย็นมากกว่าพื้นที่โดยรอบ
พายุสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่
พายุฝนฟ้าคะนอง (Thunderstorm) เป็นพายุที่มักเกิดขึ้นเป็นประจำในพื้นที่เขตร้อนชื้น (Tropical zone) โดยเฉพาะบริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตรของโลก พายุฝนฟ้าคะนอง เกิดจากเมฆขนาดใหญ่ที่ก่อตัวขึ้นในแนวดิ่ง หรือ “เมฆคิวมูโลนิมบัส” (Cumulonimbus) ซึ่งเกิดจากมวลอากาศร้อนลอยตัวขึ้นสูง ก่อนเย็นตัวลงจนทำให้เกิดการควบแน่นและกลั่นตัวเป็นไอน้ำ เกิดเป็นเมฆขนาดใหญ่ ในขณะเดียวกัน ความร้อนแฝงจากการกลั่นตัวของไอน้ำช่วยเร่งอัตราการลอยตัวของกระแสอากาศภายในก้อนเมฆ ทำให้เมฆมีขนาดใหญ่ขึ้นและสูงขึ้น จนเคลื่อนที่ขึ้นถึงจุดอิ่มตัวกลายเป็นเมฆคิวมูโลนิมบัส
เมื่อเวลาผ่านไปการลดลงของอุณหภูมิภายในก้อนเมฆส่งผลให้เกิดการเคลื่อนที่ลงของมวลอากาศอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดเป็นพายุฝนฟ้าคะนองที่มีทั้งกระแสลมกระโชกแรง ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง และมีฝนตกหนัก หรืออาจมีลูกเห็บตกได้ในบางพื้นที่ ซึ่งในประเทศไทยมักเกิดพายุฝนฟ้าคะนองเป็นประจำ โดยอยู่ในรูปแบบของลมแรงและฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน โดยเฉพาะในเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม พายุฝนฟ้าคะนองสามารถพัฒนาจนมีความรุนแรงเกินกว่าระดับปกติในลักษณะที่เรียกว่า “พายุฤดูร้อน” รวมไปถึง “พายุทอร์นาโด” ได้อีกด้วย
พายุหมุนเขตร้อน (Tropical Cyclone) เป็นพายุขนาดใหญ่ที่ก่อตัวขึ้นในทะเลและมหาสมุทรแถบเส้นศูนย์สูตร โดยก่อตัวขึ้นบริเวณผิวน้ำทะเลหรือมหาสมุทรที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 27 องศาเซลเซียส พายุในกลุ่มนี้ จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเกินกว่า 100 กิโลเมตร และมีความเร็วลมสูงสุดใกล้จุดศูนย์กลางตั้งแต่ 50 ไปจนถึง 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยมีทิศทางการหมุนของพายุตามแรงคอริออลิส (Coriolis Force) หรือแรงที่เกิดจากการหมุนรอบตัวเองของโลก โดยพายุหมุนเขตร้อนจะหมุนทวนเข็มนาฬิกาในซีกโลกเหนือและหมุนตามเข็มนาฬิกาในซีกโลกใต้
พายุหมุนเขตร้อนที่มีอิทธิพลต่อสภาพอากาศในประเทศไทย มีการแบ่งเกณฑ์ความรุนแรงของพายุตามความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางพายุเป็นเกณฑ์ ดังนี้
- ดีเปรสชั่น (Tropical Depression) เป็นพายุที่มีความเร็วลมต่ำที่สุด โดยมีความเร็วลมสูงสุดใกล้จุดศูนย์กลางไม่เกิน 63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (34 นอต) เป็นเพียงกลุ่มเมฆหมุนวนที่ไม่มีตาพายุที่ชัดเจน ก่อให้เกิดกระแสลมไม่แรงนัก แต่อาจทำให้เกิดฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน
- พายุโซนร้อน (Tropical Storm) เป็นพายุที่ก่อตัวขึ้นในทะเลก่อนเคลื่อนที่เข้าหาฝั่ง โดยมีความเร็วลมไม่เกิน 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (64 นอต) ก่อให้เกิดลมกระโชกแรงและฝนตกหนัก
- ไต้ฝุ่น (Typhoon) หรือ เฮอร์ริเคน (Hurricane) เป็นพายุที่มีความเร็วลมสูงกว่า 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (64 นอต) มีตาพายุชัดเจน ซึ่งบริเวณจุดศูนย์กลางของพายุ หรือ “ตาพายุ” จะมีสภาพอากาศโปร่งใส อาจมีฝนตกเพียงเล็กน้อยและกระแสลมสงบ ต่างกับสภาพรอบนอกของตาพายุ ซึ่งมีความรุนแรงมากถึงขั้นสร้างความเสียหายต่อสิ่งปลูกสร้าง และเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตได้เลยทีเดียว
โดยปกติแล้ว ในประเทศไทยมักพบเพียงแค่พายุดีเปรสชัน เนื่องจากพายุมักก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งกว่าจะเคลื่อนที่มาถึงเขตพื้นที่ของประเทศไทย พายุดังกล่าวได้อ่อนกำลังลงจนก่อให้เกิดเพียงพายุดีเปรสชันเท่านั้น นอกจากนี้ พายุหมุนเขตร้อนมักจะถูกเรียกขานตามภาษาถิ่นของพื้นที่ที่พายุเหล่านั้นก่อตัวขึ้น เช่น พายุหมุนเขตร้อนที่ก่อตัวในมหาสมุทรแอตแลนติกจะถูกเรียกว่า “เฮอร์ริเคน” ขณะที่พายุหมุนเขตร้อนที่ก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกจะถูกเรียกว่า “ไต้ฝุ่น”
ชื่อเรียกพายุตามแหล่งเกิดพายุ
พื้นที่เกิดพายุ |
ชื่อ |
มหาสมุทรแปซิฟิก |
ไต้ฝุ่น (Typhoon) |
มหาสมุทรอินเดีย อ่าวเบงกอล และทะเลอาหรับ |
ไซโคลน (Cyclone) |
มหาสมุทรรอบออสเตรเลียและบริเวณหมู่เกาะต่างๆ |
วิลลี-วิลลี (Willy-Willy) |
หมู่เกาะฟิลิปปินส์ |
บาเกียว (Baguio) |
มหาสมุทรแอตแลนติก ทวีปอเมริกา |
เฮอร์ริเคน (Hurricane) |
พายุทอร์นาโด (Tornado) เป็นพายุที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางค่อนข้างเล็ก โดยมีรัศมีราว 50 ถึง 500 เมตร เท่านั้น แต่มีความเร็วลมตั้งแต่ 300 ไปจนถึง 500 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
พายุทอร์นาโดเกิดจากการปะทะกันของมวลอากาศร้อนและมวลอากาศเย็น ซึ่งโดยปกติแล้วมักพบในทวีปอเมริกาเหนือ และมหาสมุทรแอตแลนติก เนื่องจากมีความแตกต่างของสภาพอากาศสูง โดยพายุทอร์นาโดร้อยละ 90 เกิดขึ้นบนบก มีความเร็วลมสูงจนเกิดลมหมุนบิดเป็นเกลียวจากฐานเมฆลงสู่พื้นดินหรือที่เรียกกันว่า “ลมงวง” สามารถพัดพาเอาสิ่งปลูกสร้างลอยขึ้นไปในอากาศได้ เป็นพายุที่ก่อตัวรวดเร็วและคาดเดาได้ยาก
ถึงแม้พายุทอร์นาโดเป็นพายุที่คงตัวอยู่ได้ไม่นาน (ราว 1 ถึง 2 ชั่วโมงเท่านั้น) แต่ความรุนแรงของพายุ และความไม่แน่นอนของการก่อตัว ส่งผลให้พายุทอร์นาโดเป็นพายุที่อันตรายที่สุด
พายุ ไม่ได้เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นเพียงบนโลกของเราเท่านั้น บนดาวเคราะห์ดวงอื่นในระบบสุริยะ เช่น ดาวเสาร์ ดาวอังคาร และดาวพฤหัสต่างมีพายุก่อตัวขึ้น โดยเฉพาะจุดสีแดงขนาดใหญ่ (Great Red Spot) บนดาวพฤหัสที่ยังสามารถมองเห็นได้จนถึงทุกวันนี้ จุดสีแดงดังกล่าว คือพายุหมุนที่มีอาณาเขตกว้างกว่า 25,000 กิโลเมตร และคงอยู่บนดาวพฤหัสมากกว่า 340 ปีแล้ว
ข้อมูลอ้างอิง
http://www.trueplookpanya.com/knowledge/content/64517/-sciear-sci-
http://www.lesa.biz/earth/atmosphere/phenomenon/thunderstorm
https://www.tmd.go.th/info/info.php?FileID=58
https://www.nationalgeographic.org/encyclopedia/coriolis-effect/
สืบค้นและเรียบเรียงโดย
คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ