พายุไต้ฝุ่นฮากิบิส : พายุที่สร้างความกังวลไปทั่วญี่ปุ่น

พายุไต้ฝุ่นฮากิบิส : พายุที่สร้างความกังวลไปทั่วญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นเตรียมพร้อมรับมือกับ พายุไต้ฝุ่นฮากิบิส ที่กำลังจะเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งในสุดสัปดาห์นี้

หนึ่งในพายุที่รุนแรงมากที่สุดลูกหนึ่งในปีนี้ กำลังเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งทางตะวันออกของญี่ปุ่นในช่วงสุดสัปดาห์นี้ คาดว่าส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งประเทศ พายุไต้ฝุ่นฮากิบิส อาจส่งผลให้เกิดฝนตกหนัก ทางการเตรียมออกประกาศเตือนประชาชนล่วงหน้า และเตรียมรับมือกับพายุครั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น รายงาน

“พายุไต้ฝุ่นจะเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งที่ภูมิภาคโตไค หรือคันโต ในวันเสาร์ที่จะถึงนี้ (12 ตุลาคม 2019)” ยาซูชิ คาจิฮาระ เจ้าหน้าที่กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวและเสริมว่า “จากความรุนแรงของพายุ และความสูงของคลื่น เรากำลังเฝ้าดูความเป็นไปได้ของการเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งที่ภูมิภาคคันโตะ”

กรมอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่นจัดให้พายุไต้ฝุ่นฮากิบิสอยู่ในระดับ “รุนแรงมาก” โดยพายุมีทิศทางการเคลื่อนตัวไปทางเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก และเคลื่อนตัวผ่านเกาะฮอนชูของประเทศญี่ปุ่น

อ่านเพิ่มเติม : ความรุนแรงของพายุ

ไต้ฝุ่นฮากิบิสอาจสร้างความเสียหายได้เทียบเท่ากับพายุไต้ฝุ่นที่เกิดขึ้นในปี 1958 ซึ่งส่งผลให้มีประชาชนเสียชีวิตราว 1,200 คนในภูมิภาคคันโต และเกาะอีซุ นอกจากนี้ พายุไต้ฝุ่นฮากิบิสสามารถก่อให้เกิดคลื่นซัดชายฝั่ง (Strom surge) ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนที่อาศัยอยู่แนวชายฝั่งของเกาะฮอนชู และอาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน

พายุไต้ฝุ่นฮากิบิส, hagibis, ฮากิบิส, พายุไต้ฝุ่น
ภาพถ่ายจากดาวเทียมเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2019 แสดงให้เห็นพายุไต้ฝุ่นฮากิบิสขนาดใหญ่กำลังเคลื่อนตัวอยู่ใกล้แผ่นดินประเทศญี่ปุ่น

ข้อมูลล่าสุดของพายุไต้ฝุ่นฮากิบิส
(เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2019)

การเคลื่อนที่

250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ความเร็วลม

180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ความเร็วลม ณ จุดศูนย์กลาง

252 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ความกดอากาศ

925 เฮกโตปาสคาล

จากข้อมูลทางสถิติ ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในสามประเทศของเอเชียที่ได้รับผลกระทบจากพายุไต้ผุ่นบ่อยที่สุด โดยเฉลี่ยเกิดพายุไต้ฝุ่นราว 11 ครั้ง และสองครั้งจากจำนวนนั้นส่งผลกระทบโดยตรงทุกปี แม้ว่าประเทศญี่ปุ่นมีมาตรการการรับมือกับภัยพิบัติได้เป็นอย่างดี แต่ไต้ฝุ่นฮากิบิสก็ยังสร้างความกังวลใจว่า อาจจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง

พายุฮากิบิส, พายุ, พายุไต้ฝุ่น, ไต้ฝุ่นฮากิบิส
ทิศทางการเคลื่อนตัวของพายุไต้ฝุ่นฮากิบิส / ภาพประกอบ NHK World – Japan

4 เหตุผลที่พายุไต้ฝุ่นฮากิบิสกลายเป็นพายุที่สร้างความกังวลแก่ชาวญี่ปุ่น

  1. ขนาดของพายุ

ฮากิบิสนำพามวลเมฆขนาดใหญ่ ส่งผลให้เกิดเส้นผ่านศูนย์กลางของพายุขนาดประมาณ 1,400 กิโลเมตร ซึ่งกินพื้นที่เกือบครึ่งหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น จากความใหญ่ของพายุ ส่งผลให้เกิดฝนฟ้าคะนองเร็วขึ้น ใช้เวลานานกว่าจะเคลื่อนตัวผ่านออกไป และส่วงผลกระทบเป็นวงกว้าง

  1. ความรุนแรง

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (10 ตุลาคม 2019) กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นวัดความกดอากาศของพายุฮากิบิสได้ 915 เฮกโตปาสคาล ซึ่งนับเป็นพายุที่มีความรุนแรงมากที่สุดในปี 2019

เมื่อพายุลูกนี้เคลื่อนตัวเข้าสู่แผ่นดิน ศูนย์กลางของพายุอาจมีความกดอากาศอยู่ที่ประมาณ 992 ถึง 915 เฮกโตปาสคาล ภายใน 24 ชั่วโมง จากการเฝ้าติดตามพายุไต้ฝุ่นฮากิบิสชี้ให้เห็นว่า พายุลูกนี้เป็นพายุที่มีความรุนแรงมากที่สุดเป็นลำดับที่เก้าที่มีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์

อ่านเพิ่มเติม : การกำเนิดพายุ และประเภทของพายุ

นอกจากนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นพยากรณ์ว่า ความกดอากาศอาจอยู่ที่ 950 เฮกโตปาสคาล ก่อนจะเข้าฝั่งญี่ปุ่นในวันเสาร์นี้ ถ้าหากฮากิบิสเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งโตเกียวด้วยความรุนแรงระดับนี้ ฮากิบิสจะกลายเป็นพายุที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกในภูมิภาคนี้

  1. ระยะเวลา

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ฮากิบิสเป็นที่กังวลเพิ่มขึ้นคือช่วงเวลาที่พายุเคลื่อนตัวขึ้นฝั่ง ซึ่งตรงกับช่วงพระจันทร์เต็มดวง หมายความว่า ในช่วงนั้นระดับน้ำทะเลสูงกว่าปกติ ประกอบกับความสูงของคลื่นลมในทะเล คลื่นขนาดใหญ่ และคลื่นซัดชายฝั่ง ด้วยปัจจัยทั้งหมดมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ชายฝั่ง

  1. ตำแหน่งที่พายุเคลื่อนผ่าน

ฮากิบิสเป็นพายุลูกที่สองในรอบหนึ่งเดือนที่เคลื่อนที่ผ่านโตเกียว เมื่อเร็วๆ นี้ พายุไต้ฝุ่นฟ้าไส (Faxai) พัดโจมตีภูมิภาคนี้เช่นกัน สร้างความเสียหายแก่บ้านเรือนหลายร้อยหลังคาเรือน และมีผู้เสียชีวิตจำนวน 3 ราย นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าที่อยู่อาศัยบางหลังยังไม่ได้รับการซ่อมแซมจนเสร็จสมบูรณ์ และประชาชนบางส่วนยังอาศัยอยู่ที่ศูนย์อพยพผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ

พายุไต้ฝุ่นฮากิบิสอาจเป็นหนึ่งในพายุที่สร้างความเสียหายให้แก่ญี่ปุ่นมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ทางการญี่ปุ่นแจ้งเตือนประชาชนให้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด และเตรียมรับมือกับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น


ข้อมูลอ้างอิง

กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น https://www3.nhk.or.jp/nhkworld/en/news/backstories/710/ https://www3.nhk.or.jp/nhkworld/en/news/special/01/1919/

Super Typhoon Hagibis by NOAA-NASA – https://earthobservatory.nasa.gov/images/145712/super-typhoon-hagibis


เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : นักพยากรณ์อากาศทราบได้อย่างไว่าพายุจะเคลื่อนที่ไปทิศทางใด

นักพยากรณ์อากาศ
แผนที่จำลองการเดินทางของพายุจากทะเลจีนใต้ที่พัดเข้าสู่อ่าวไทย
ขอบคุณภาพจาก https://thethaiger.com/news/phuket/pabuk-latest-information-on-the-path-of-the-storm-across-the-gulf

Recommend