ในบรรดาสรรพสัตว์ที่อยู่บนโลกนี้ สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง มีจำนวนชนิดพันธุ์มากกว่าร้อยละ 97 ของอาณาจักรสัตว์
สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง (Invertebrate) คือกลุ่มสัตว์ที่ไม่มีกระดูกเป็นแกนกลางภายในร่างกาย ไม่มีไขสันหลัง (Spinal Cord) หรือกระดูกสันหลัง (Vertebrae) ซึ่งทำหน้าที่พยุงโครงสร้างของร่างกาย รวมถึงไม่สามารถสร้างและพัฒนากระดูกขึ้นเองได้ นอกจากนี้ สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังยังเป็นกลุ่มสัตว์ที่มีจำนวนชนิดมากที่สุดในโลกอีกด้วย คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 97 ของสัตว์ทั้งหมดบนโลก โดยส่วนใหญ่จัดอยู่ในกลุ่มสัตว์ขาปล้อง เช่น แมลงมีจำนวนชนิดพันธุ์มากกว่าหนึ่งล้านชนิด ขณะที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและสัตว์ปีกในกลุ่มสัตว์มีกระดูกสันหลังมีเพียง 5,000 และ 10,000 ชนิด ตามลำดับ เท่านั้น
โครงสร้างของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง
สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังมีโครงสร้างทางร่างกายที่หลากหลาย การปราศจากกระดูกสันหลังและไขสันหลังเป็นแกนหลักของร่างกาย ส่งผลให้สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังบางชนิดมีเปลือกแข็งห่อหุ้มอยู่ภายนอกร่างกายหรือที่เรียกว่า “ระบบโครงร่างแข็งภายนอก” (Exoskeleton) เพื่อป้องกันอวัยวะภายใน
ในสัตว์บางชนิดมีระบบกล้ามเนื้อและช่องว่างภายในที่เต็มไปด้วยของเหลวหรือที่เรียกว่า “ระบบโครงร่างของเหลว” (Hydrostatic Skeleton) เป็นแกนหลักในการคงรูปร่างและบังคับควบคุมการเคลื่อนไหว เช่น แมงกะพรุนและหนอน
สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังบางชนิดมีระบบประสาทและเซลล์ประสาท (Neuron) เช่นกัน ถึงแม้ไม่มีกระดูกสันหลังที่ทำหน้าที่ปกป้องอวัยวะดังกล่าวเหมือนอย่างกลุ่มสัตว์มีกระดูกสันหลังก็ตาม
วิวัฒนาการของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง
การย้อนรอยเพื่อศึกษาวิวัฒนาการของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังยังเป็นเรื่องยากสำหรับวงการวิทยาศาสตร์ เนื่องจากซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิล (Fossil) ไม่สามารถคงสภาพเนื้อเยื่อไว้ได้อย่างสมบูรณ์ ส่งผลให้ขาดหลักฐานในการสืบค้นไปจนถึงจุดกำเนิดของสัตว์กลุ่มนี้
แต่จากการค้นพบฟอสซิลของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังครั้งแรก ทางตอนใต้ของประเทศออสเตรเลีย นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ฟอสซิลดังกล่าวเป็นสัตว์จำพวกฟองน้ำที่มีชีวิตอยู่เมื่อราว 660 ล้านปีก่อน เป็นสัตว์ที่มีองค์ประกอบเป็นเนื้อเยื่ออ่อนทั้งหมด จึงเกิดความเชื่อว่าในขณะนั้น สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังยังไม่ได้เกิดวิวัฒนาการจนมีโครงร่างแข็ง หรือเปลือกนอกห่อหุ้มเหมือนอย่างสัตว์จำพวกแมลงในปัจจุบัน แม้นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากเชื่อว่าสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังชนิดแรกปรากฏขึ้นบนโลกตั้งแต่เมื่อหลายพันล้านปีก่อนก็ตาม
สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังจำแนกเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่
- ฟองน้ำ (Sponge): ลักษณะลำตัวเป็นโพรงและมีรูพรุนโดยรอบ เพื่อแลกเปลี่ยนสารอาหารและขับถ่าย ระบบสืบพันธุ์เป็นทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ ฟองน้ำส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในทะเล มีลักษณะคล้ายพืชเนื่องจากในช่วงตัวเต็มวัยไม่สามารถเคลื่อนที่ได้อย่างสัตว์ชนิดอื่น
- สัตว์จำพวกลำตัวเป็นปล้อง (Segmented worm): มีลำตัวยาวเป็นปล้องคล้ายวงแหวนเรียงต่อกัน มีผิวหนังเปียกชื้นเพื่อการแลกเปลี่ยนก๊าซในการหายใจ มีระบบประสาทและระบบทางเดินอาหาร มีการสืบพันธุ์ทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ รวมถึงบางชนิดมี 2 เพศอยู่ภายในตัวเดียวกัน บางชนิดอาศัยอยู่บนพื้นดินที่ชื้นแฉะ ขณะที่บางชนิดอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำ เช่น ไส้เดือนดิน ปลิงน้ำจืด ทากดูดเลือด
- สัตว์จำพวกหอยและหมึก (Mollusk): มีลำตัวอ่อนนิ่ม บางชนิดมีเปลือกแข็งห่อหุ้มลำตัว มีการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ อาศัยอยู่ทั้งบนบกและในน้ำ ส่งผลให้ให้บางชนิดหายใจได้ทั้งทางเหงือกและทางปอด เช่น หอยชนิดต่างๆ รวมถึงการมีโครงแข็งอยู่ภายในลำตัว และมีหนวดที่ใช้ในการเคลื่อนที่ เช่น หอยฝาเดียว หอยสองฝา และหมึกชนิดต่างๆ
- สัตว์พวกผิวหนาม (Echinoderm): มีลำตัวหยาบและขรุขระ มีสารประกอบของหินปูนเป็นองค์ประกอบหลัก ไม่มีส่วนหัว ใต้ลำตัวมีท่อขนาดเล็กจำนวนมากที่ใช้สำหรับการเคลื่อนที่ มีการสืบพันธุ์ทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ โดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในทะเล เช่น ดาวทะเล และหอยเม่น
- สัตว์จำพวกลำตัวกลวงหรือลำตัวมีโพรง (Cnidarian): มีรูปร่างคล้ายทรงกระบอก มีลำตัวเป็นโพรงกลวง มีช่องเปิดออกจากปลายลำตัวเพียงช่องเดียว เพื่อการแลกเปลี่ยนสารอาหารเข้าและขับถ่ายของเสียส่วนใหญ่มีเข็มพิษในการป้องกันตัวและใช้แทงเหยื่อ มีการสืบพันธุ์ทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ โดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในทะเลเช่น ไฮดรา แมงกะพรุนและปะการัง
อ่านเพิ่มเติม: สวย ใส ไร้สมอง! แมงกะพรุนมีดีอะไรถึงอยู่มาได้หลายร้อยล้านปี
- สัตว์ขาปล้อง (Arthropod): มีลักษณะขาต่อกันเป็นข้อ ลำตัวสามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนหัว อก และท้อง มีระบบหมุนเวียนโลหิต ระบบประสาท และระบบทางเดินอาหารที่สมบูรณ์ มีการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ มีเปลือกแข็งห่อหุ้มร่างกาย โดยส่วนใหญ่สัตว์ขาปล้องจะผ่านการเจริญเติบโตโดยการลอกคราบ ขณะที่จำนวนขาสามารถแบ่งกลุ่มสัตว์ขาปล้องออกเป็นกลุ่มย่อย เช่น มี 6 ขาคือกลุ่มแมลง เช่นยุง มด ผีเสื้อ ส่วนสัตว์ที่มี 8 ถึง 10 ขา คือ กลุ่มแมง เช่น แมงมุม แมงป่อง และแมงดาทะเล เป็นต้น
สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังบางชนิดสามารถพบเห็นได้ในทุกสภาพแวดล้อม ทั้งในแหล่งน้ำ บนบก ใต้พื้นดิน หรือแม้แต่ในอากาศ รวมถึงมีขนาดหลากหลาย เช่น แพลงก์ตอนสัตว์ขนาดเล็กที่เรียกว่า “โรติเฟอร์” (Rotifer) มีขนาดราว 50 ไมโครเมตร (µm) ซึ่งมนุษย์เราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ขณะที่สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและลึกลับที่สุดในโลก คือ หมึกโคลอสซัล (Colossal Squid) คาดว่ามีความยาวมากกว่า 15 เมตร เนื่องจากมนุษย์เรายังไม่สามารถบันทึกภาพหมึกโคลอสซัลที่โตเต็มวัยและมีขนาดใหญ่ที่สุดได้เลยจนถึงทุกวันนี้
สืบค้นและเรียบเรียง
คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ
ข้อมูลอ้างอิง
ThoughtCo.com – https://www.thoughtco.com/facts-about-invertebrates-4095330
Ducksters Kids Site – https://www.ducksters.com/animals/invertebrates.php
โรงเรียนโยธินนุกูล – http://krootonwich.com/data-3800.html
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ – http://www.sesa10.go.th/e-learning/biology/contents/4animal/4.4.html