คุณคิดว่าตัวเองรสนิยมดีใช่ไหมกับ สิ่งที่ชอบ แต่ไม่ใช่ตัวคุณหรอกที่ควรได้รับคําชม นั่นเป็นเพราะพันธุกรรมของคุณ จุลินทรีย์ในตัวคุณ และสิ่งแวดล้อมของคุณต่างหาก
คงไม่มีสิ่งใดบ่งบอกถึงความเป็นตัวเราได้ดีเท่ากับรสนิยมของเราอีกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ไวน์ คู่รัก หรือผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง รสนิยมของเราเป็นตัวแทนอัตลักษณ์ของเรา จึงฟังดูเข้าท่าถ้าผมจะคิดว่า ความชอบและไม่ชอบของผมก่อร่างสร้างจากการใคร่ครวญอย่างรอบคอบ และการตัดสินใจด้วยเหตุผล ผ่านทางเลือกต่างๆที่ผมพอจะควบคุมได้
แล้วผมก็ได้รู้จักกับ ท็อกโซพลาสมา กอนดิไอ ในงานวิจัยของผมที่โรงเรียนแพทย์ มหาวิทยาลัยอินดีแอนา ผมสังเกตว่าปรสิตเซลล์เดียว ที. กอนดิไอ นี้ สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของเจ้าบ้านที่มันอาศัยอยู่ได้ มันทำให้หนูไม่กลัวแมว ในงานวิจัยบางชิ้นบอกว่า มันอาจเปลี่ยนบุคลิกภาพในมนุษย์ด้วย
การศึกษาเหล่านี้ทำให้ผมสงสัยว่า จะมีสิ่งอื่นๆที่เราไม่ได้สังเกต หล่อหลอมให้เราเป็นอย่างที่เราเป็น กำหนดสิ่งที่เราชอบและไม่ชอบหรือเปล่า ตอนผมค้นงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ผมก็พบกับความจริงที่รบกวนใจว่า การกระทำของเราถูกควบคุมด้วยพลังทางชีวภาพที่ซุกซ่อนอยู่ พูดอีกอย่างคือ เราควบคุมรสนิยมส่วนตัวของเราได้น้อยมากหรือไม่ได้เลย พฤติกรรมและความพึงพอใจต่างๆ ของเราได้รับอิทธิพลอย่างลึกซึ้งจากองค์ประกอบทางพันธุกรรม จากปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมของเราที่ส่งผลต่อยีน และจากยีนอื่นๆ ที่แทรกซึมเข้ามาในระบบร่างกายจากจุลินทรีย์นับไม่ถ้วนที่อาศัยอยู่ในตัวเรา
ผมว่าเรื่องนี้อาจฟังดูไร้สาระ เราถูกสอนว่าเราสามารถเป็นอะไรก็ได้ที่อยากเป็น ทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ เรารู้สึกเหมือนเราเลือกหยิบอาหารที่ชอบ เลือกคนที่เรามอบความรักให้ หรือเลือกกาบัตรเลือกตั้งไปตามสัญชาตญาณ การบอกว่าเราเป็นหุ่นยนต์มีเลือดเนื้อที่อยู่ใต้อิทธิพลของพลังที่มองไม่เห็นนั้นเป็นเรื่องบ้าบอคอแตก
แต่หลังจากที่ผมถูกใครๆ ถามว่า ทำไมผมถึงไม่ชอบผักหลายชนิดที่คนส่วนใหญ่ชอบกัน ผมรู้สึกเหมือนตัวเองมีบางอย่างผิดปกติ ทำไมผมถึงไม่ชอบบร็อกโคลีนะ
ผมไม่ได้เป็นคนเลือกจะเกลียดผักชนิดนี้ ผมถึงได้พากเพียรศึกษาหาคำอธิบายความเกลียดของผม โชคดีที่วิทยาศาสตร์ช่วยได้ นักวิจัยพบว่าราวร้อยละ 25 ของคนทั่วไป น่าจะเกลียดบร็อกโคลีด้วยเหตุผลเดียวกับผม คนพวกนี้ถูกเรียกว่า ซูเปอร์เทสเตอร์ (supertaster) พวกเรามีความแตกต่างทางพันธุกรรมที่สร้างตัวรับรสของเรา หนึ่งในบรรดายีนเหล่านั้นคือ TAS2R38 ที่รับรสสารเคมีขมๆ อย่างไทโอยูเรีย ซึ่งมีอยู่มากมายในบร็อกโคลี ดีเอ็นเอของผมมอบตัวรับรสที่ทำให้สารประกอบไทโอยูเรียขมอย่างน่าขยะแขยงแต่มันอาจเป็นวิธีที่ดีเอ็นเอใช้ขัดขวางไม่ให้ผมกินพืชอันตราย
คําอธิบายที่ว่าทำไมผมถึงเกลียดบร็อกโคลีนั้น ทั้งทำให้ผมพ้นผิดและรบกวนใจผมด้วย ผมโล่งใจที่ความรังเกียจผักกลุ่มกะหลํ่าไม่ใช่ความผิดของผม และผมไม่ได้เลือกยีนก่อนเกิดเอง แต่ความโล่งใจก็เปลี่ยนเป็นหวั่นใจเมื่อผมสงสัยว่า แล้วสิ่งอื่นๆ ที่กำหนดว่าผมเป็นใครนั้น อยู่นอกเหนือคำสั่งของผมด้วยหรือเปล่า มีอะไรสักกี่อย่างที่ผมควบคุมได้ด้วยตัวเองจริงๆ
แล้วรสนิยมของผมเกี่ยวกับผู้หญิงล่ะ ผมต้องควบคุมมันได้แน่นอน ลองเริ่มด้วยเรื่องพื้นๆ เช่น ทำไมผมถึงถูกใจผู้หญิงแทนที่จะเป็นผู้ชาย นี่ย่อมไม่ใช่การตัดสินใจด้วยสติที่ผมทำ ขณะนั่งบนหาดในเย็นวันหนึ่งขณะตรึกตรองเรื่องชีวิต แต่เป็นเพราะผมเกิดมาอย่างนี้ องค์ประกอบทางพันธุกรรมเกี่ยวกับเพศสภาพของมนุษย์ยังคลุมเครืออยู่ แต่ที่แจ่มแจ้งคือมันไม่ได้เป็นทางเลือก
ไม่ว่าเราจะมีเพศวิถีแบบใด เราคล้ายจะมีเหตุผลภายในเกี่ยวกับลักษณะอันพึงปรารถนาในคู่ของเรา ลักษณะต่างๆ เช่น ฟันสวยได้รูป ดวงตาเป็นประกาย และผมดกหนานั้นโดยทั่วไปถือกันว่ามีเสน่ห์
นักจิตวิทยาวิวัฒนาการเตือนเราว่า โดยแก่นแท้แล้ว ทุกอย่างที่เราทำ เกิดจากแรงขับใต้สำนึกเพื่อเอาตัวรอดและสืบทอดพันธุกรรม หรือไม่ก็ช่วยเหลือผู้อื่น (เช่นครอบครัว)ที่มียีนเหมือนเรา พวกเขาสันนิษฐานต่อไปว่าลักษณะทางกายภาพหลายอย่างที่เราคิดว่าเป็นเสน่ห์นั้น คือสัญญาณของสุขภาพและความแข็งแกร่งทางกาย
วิทยาศาสตร์ยังมีคำปลอบโยนให้ด้วยว่า เหตุใดการจีบของเราบางหนจึงถูกปฏิเสธ งานวิจัยที่รู้จักกันดีให้พวกผู้หญิงดมกลิ่นบริเวณใต้วงแขนของเสื้อยืดที่ผู้ชายสวม และให้คะแนนกลิ่น ยิ่งพันธุกรรมระบบภูมิคุ้มกันของผู้ชายและผู้หญิงเหมือนกันเท่าใด กลิ่นของเสื้อยืดก็ยิ่งเหม็นสำหรับผู้หญิงมากเท่านั้น มีคำอธิบายเชิงวิวัฒนาการเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างได้เรื่องได้ราวว่า หากภูมิคุ้มกันของพ่อแม่เหมือนกันมากเกินไป ลูกหลานก็จะไม่มีกำลังพอจะสู้กับเชื้อโรค ในกรณีนี้ยีนใช้ตัวรับกลิ่นเป็นตัวแทนในการประเมินว่า ดีเอ็นเอของอีกฝ่ายจะเข้ากับของเราได้ดีหรือไม่ งานวิจัยลักษณะนี้ยืนยันว่าเคมีระหว่างบุคคลเป็นสิ่งสำคัญจริงๆ
สิ่งที่น่าเจ็บใจคือระดับของการควบคุม พันธุกรรมมีอำนาจเหนือทางเลือกในชีวิตของเรา ผมสืบค้นหาพื้นที่ที่แน่ใจได้ว่าไปพ้นจากเงื้อมมือของดีเอ็นเอ นั่นคือรสนิยมเกี่ยวกับผู้นำทางการเมืองของเรา มันง่ายที่จะนึกภาพถึงยีนที่มีบทบาทในการทำให้ใครสักคนถนัดขวาหรือถนัดซ้าย แต่การที่คนจะเอนไป
ทางฝ่ายขวาหรือฝ่ายซ้ายเล่า ถึงมันจะดูเหมือนว่าไม่เกี่ยวกันแต่การเลือกตั้งก็เกี่ยวด้วย และดีเอ็นเอก็เป็นฝ่ายชนะอีกอยู่ดี
นักวิทยาศาสตร์พบว่าลักษณะทางบุคลิกภาพเฉพาะตัวมีแนวโน้มจะเกี่ยวข้องกับการที่คนเราอยู่ขั้วตรงข้ามกันในทางการเมือง โดยทั่วไป พวกเสรีนิยมมีแนวโน้มจะเป็นคนเปิดใจกว้าง สร้างสรรค์ และมองหาสิ่งใหม่ๆ ส่วนพวกอนุรักษนิยมมีแนวโน้มไปทางความสงบเรียบร้อย เป็นไปตามธรรมเนียมและชอบเสถียรภาพมากกว่า แฝดเหมือนที่ถูกแยกจากกันตอนเกิดและเลี้ยงดูมาในสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน พอได้พบกันอีกครั้งก็มักพบว่ามีจุดยืนทางการเมืองร่วมกัน เป็นสิ่งที่บอกว่า องค์ประกอบทางพันธุกรรมเกี่ยวข้องกับทิศทางทางการเมืองของเรา
งานวิจัยหลายชิ้นบอกว่าความแปรผันของยีนตัวรับโดปามีน D4 (DRD4) มีอิทธิพลว่าเราจะโหวตให้ฝ่ายไหน โดปามีนเป็นสารสื่อประสาทสำคัญในสมองที่เกี่ยวข้องกับศูนย์กลางด้านการตอบแทนและความพึงพอใจ ความแปรผันของ DRD4 เกี่ยวข้องกับการมองหาสิ่งใหม่ๆและพฤติกรรมกล้าเสี่ยง ซึ่งมักสัมพันธ์กับเสรีนิยมมากกว่า
งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ส่วนหนึ่งในสมองของพวกอนุรักษนิยมกับเสรีนิยมแตกต่างกัน มันอาจส่งถึงการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่ตึงเครียด ตัวอย่างเช่น พวกอนุรักษนิยมมีแนวโน้มจะมีอะมิกดาลาขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นศูนย์กลางความกลัวในสมอง และมีปฏิกิริยาทางกายต่อภาพและเสียงที่ไม่พึงพอใจรุนแรงกว่า เมื่อนำมาพิจารณาร่วมกัน ความแตกต่างทางชีวภาพเช่นนี้อาจมีส่วนช่วยอธิบายว่าเหตุใดมันถึงยากเย็นนักสำหรับเสรีนิยมหรืออนุรักษนิยมที่จะทำให้อีกฝ่าย “ตาสว่าง” ได้ ก็เรากำลังขอให้เขาเปลี่ยนไม่ใช่แค่ความคิด แต่ยังฝืนร่างกายตัวเองด้วย
ตัวอย่างเหล่านี้เป็นเพียงยอดของภูเขานํ้าแข็งเท่านั้น ความจริงพฤติกรรมของมนุษย์ทุกคน ตั้งแต่การเสพติด เสน่ห์ดึงดูดไปถึงความกังวลใจ ล้วนผูกพันอยู่กับสลักทางพันธุกรรม แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ใช่ว่าเราถูกกำหนดให้เป็นทาสดีเอ็นเอของเราเอง ดีเอ็นเอสร้างสมองชั้นเลิศให้มนุษย์จนเข้าใจเกมของดีเอ็นเอได้และด้วยการคิดค้นการปรับแก้พันธุกรรมขึ้น เราจึงกลายเป็นสปีชีส์ที่สามารถแก้ไขคำสั่งทางพันธุกรรมของตัวเองได้
วิทยาศาสตร์แสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้เป็นสิ่งที่เราคิดว่าเราเป็น ยังมีตัวประหลาดในร่างกายที่ขับเคลื่อนทุกการกระทำ และลักษณะบุคลิกที่เราคิดว่าเป็นความต้องการของเราเอง ตอนแรกการตระหนักนี้ทำให้เราท้อแท้ แต่ว่าความรู้คือพลัง การรู้ถึงพื้นฐานระดับโมเลกุลเกี่ยวกับพฤติกรรมทางลบของเราควรทำ ให้เราอยู่ในจุดที่ดีกว่าเดิมในแง่ของการควบคุมหรือบำบัดรักษาด้วยการยอมรับว่าคนอื่นๆมีทางเลือกไม่มากนักในการเป็นอย่างที่พวกเขาเป็น ควรทำให้เราเห็นใจและกรุณาขึ้น บางทีด้วยความมั่นใจว่าเราควบคุมทุกอย่างไม่ได้ เราจะยืนหยัดต่อแรงกระตุ้นที่จะสรรเสริญหรือด่าทอ และพยายามทำความเข้าใจมากกว่าเดิม
เราเป็นแค่กองพันธุกรรมเท่านั้นหรือ
ในทางเทคนิคก็ใช่ แต่แม้เราจะจมอยู่ใต้กองจีโนม แต่ก็ยังมีตัวเราหลายภาคอยู่คนที่เราเห็นในกระจกเป็นหนึ่งในนั้นที่โผล่ขึ้นมาด้วยปัจจัยเฉพาะสารพันอย่างที่เราเคยประสบมานับแต่ปฏิสนธิ วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ของอภิพันธุกรรมเป็นการศึกษาว่าการเปลี่ยนแปลงทางเคมีสร้างดีเอ็นเออย่างไร หรือโปรตีนที่ทำปฏิกิริยากับดีเอ็นเอส่งผลต่อกิจกรรมของยีนอย่างไร
ดีเอ็นเออาจเปลี่ยนแปลงได้ด้วยปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมในทางที่จะส่งผลอย่างลึกซึ้งต่อพัฒนาการและพฤติกรรม ไม่นานมานี้มันยังแสดงให้เห็นว่าจุลินทรีย์ในร่างกายเราหรือจุลชีวนิเวศ อาจเป็นปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมสำคัญที่ส่งผลต่อพฤติกรรมมากมาย ตั้งแต่การกินเกินขนาดไปจนถึงภาวะซึมเศร้า สรุปแล้วเราคือพันธุกรรมของเรา แต่พันธุกรรมของเราไม่อาจถูกประเมินนอกบริบททางสิ่งแวดล้อมได้พันธุกรรมก็เหมือนคีย์เปียโน แต่สิ่งแวดล้อมนั้นเป็นผู้เล่นให้เป็นเพลง
เรื่อง บิล ซัลลิแวน
บิล ซัลลิแวน เป็นศาสตราจารย์ด้านเภสัชวิทยาและจุลชีววิทยาที่โรงเรียนแพทย์ มหาวิทยาลัยอินดีแอนา ซึ่งเขาศึกษาโรคติดต่อและพันธุกรรม