ทราเวล-บล็อกเกอร์ หาเงินอย่างไร ผ่านโซเชียลมีเดีย

ทราเวล-บล็อกเกอร์ หาเงินอย่างไร ผ่านโซเชียลมีเดีย

ทราเวล-บล็อกเกอร์ หาเงินอย่างไร ผ่านโซเชียลมีเดีย

ท่องเที่ยว กิจกรรมที่ใครหลายคนหมายถึงการเดินทางเพื่อพักผ่อน ติดต่อธุรกิจ หรือเพื่อหาประสบการณ์ใหม่ๆ และยังเปิดโอกาสได้ลองแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เรียนรู้ที่จะอยู่กับปัจจุบัน ทั้งยังเห็นถึงคุณค่าของสิ่งรอบตัวและทำให้กลับมามองเห็นคุณค่าของตัวเองอีกด้วย เพราะการออกไปเที่ยวมีดีขนาดนี้ ไม่ว่าใครก็ชอบการท่องเที่ยว แต่รู้หรือไม่ว่าทุกวันนี้ การท่องเที่ยวยังสามารถสร้างเม็ดเงินเข้ากระเป๋าคุณได้เช่นกัน มาทำความรู้จักกับ ทราเวล-บล็อกเกอร์ ผู้ที่ออกเดินทางเพื่อนำประสบการณ์มาแลกกับ “รายได้” ผ่านโซเชียลมีเดีย

 

ทราเวล-บล็อกเกอร์ทำอะไรบ้าง?

ทราเวล-บล็อกเกอร์ คือกลุ่มคนที่เล่าเรื่องราวการท่องเที่ยวและนำเสนองานบนบล็อกส่วนตัวหรือบนแพลตฟอร์มอื่นๆ  พวกเขาต้องหาจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจอยู่เสมอ เช่น การเดินทางไปยังเกาะร้าง ในประเทศญี่ปุ่น ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเกาะที่มีคนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น หรือการเข้าไปร่วมใช้ชีวิตกับชนเผ่ากินคน บนหมู่เกาะปาปัวนิวกินี แต่การไปเที่ยวแต่ละครั้งจำเป็นต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก ทว่าทราเวล-บล็อกเกอร์เองมีวิธีสร้างรายได้ที่ต่างกันออกไป โดยอาจมีแหล่งที่มาจากผู้สนับสนุน บล็อกที่ได้รับความนิยมจะมีผู้ติดตามจำนวนมากจะกลายเป็นช่องทางการตลาดที่ดีสำหรับผู้ประกอบการในการจ่ายเงินเพื่อว่าจ้างรีวิวผลิตภัณฑ์ หรือสิทธิในการเข้าพักโรงแรมฟรี เพื่อแลกกับการรีวิวหรือนำเสนอสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับธุรกิจของพวกเขา  นอกเหนือจากการรีวิวแล้ว เรื่องราวที่บล็อกเกอร์เขียนยังสามารถส่งไปตีพิมพ์เพื่อเพิ่มรายได้อีกด้วย

(สำรวจหมู่บ้านชาวประมงร้างในจีน)

 

บทบาทของทราเวลบล็อกเกอร์ ในยุคของโซเชียลมีเดีย

ในอดีต การแชร์ประสบการณ์ท่องเที่ยวอาจทำได้ยากกว่าในปัจจุบัน แต่นับตั้งแต่โซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทในชีวิตมากขึ้น บรรดานักท่องเที่ยวทั้งหลายก็เริ่มแชร์ประสบการณ์ของพวกเขา ไม่ว่าจะแชร์ผ่านเว็บบล็อกท่องเที่ยว เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรืออินสตาแกรม โดยในการแชร์แต่ละครั้งอาจโพสต์รูปหรือวิดีโอ พร้อมคำบรรยาย ซึ่งแตกต่างจากการบันทึกการเดินทางที่ตีพิมพ์ลงในหนังสือหรือนิตยสารในอดีต ซึ่งต้องวางแผนแลพรอการอนุมัติเป็นเดือนๆ และในปัจจุบันไม่ใช่แค่นักท่องเที่ยวคนไทยเท่านั้นที่ผันตัวเป็นบล็อกเกอร์บอกเล่าประสบการณ์การท่องเที่ยว แต่ยังรวมถึงในประเทศจีน ที่ถือว่าเป็นสังคมบล็อกเกอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยยอดผู้ใช้กว่า 42 ล้านราย จำนวนนี้มากกว่ายุโรปตะวันตกและสหรัฐอเมริการวมกันเสียอีก

 

คนทั่วไปใช้โซเชียลมีเดียกับการท่องเที่ยวอย่างไร?

ในปัจจุบัน โซเชียลมีเดียเข้ามามีอิทธิพลกับชีวิตมากขึ้น ไม่ใช่แค่กับทราเวล-บล็อกเกอร์ที่ใช้บอกเล่าประสบการณ์การท่องเที่ยว หรือบริษัทที่ใช้เพื่อโปรโมทสินค้า แต่ยังรวมถึงผู้บริโภคทุกวัย จากสถิติงาน Thailand Social Awards 2018 เปิดเผยข้อมูลการใช้โซเชียลมีเดียในปี 2017 ว่า จำนวนคนไทยที่ใช้เฟซบุ๊กมีถึง 49 ล้านคน อินสตาแกรม 13.6 ล้านคน  และทวิตเตอร์ 12 ล้านคน และกิจกรรมที่ผู้บริโภคนิยมทำในระหว่างเดินทางท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่ก็คือการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อ “อวด” สิ่งที่พวกเขาทำในช่วงวันหยุดของตนเอง นักท่องเที่ยวทั่วไปกว่าร้อยละ 52 คน ระบุว่าได้รับอิทธิพลจากรูปภาพบนเฟซบุ๊กในการเลือกสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ มากไปกว่านั้น ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะดูรีวิวไปพร้อมๆ กับการหาข้อมูลโดยตรงจากเว็บไซต์ของบริษัทผู้ผลิต ซึ่งกว่าร้อยละ 49 ของผู้บริโภคจะตัดสินใจซื้อหรือเลือกข้อมูลนั้นยังขึ้นอยู่กับรีวิวอีกด้วย รายงานจาก Open Threat Exchange (OTX) และ DEI World

ทราเวล-บล็อกเกอร์
จำนวนผู้ใช้โซเชียลมีเดียในอดีตและแนวโน้มการใช้ในอนาคตตั้งแต่ช่วงปี 2010 ถึง 2021 ขอบคุณภาพจาก : https://www.statista.com/statistics/278414/number-of-worldwide-social-network-users/

 

โซเชียลมีเดียถูกใช้เป็นช่องการตลาดสำหรับผู้ประกอบการอย่างไร?

บริษัทหลายๆ แห่งตระหนักถึงความสำคัญของโซเชียลมีเดียเพราะเล็งเห็นว่าโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือการตลาดที่ประหยัดแต่มีประสิทธิภาพในการขาย “Will it blend” วิดีโอซีรี่ส์ โดยทอม ดิกสัน CEO ของ Blendtec เมื่อปี 2007 เนื้อหาในวิดีโอคือความพยายามนำทุกอย่างเข้าเครื่องปั่นซึ่งรวมถึงโทรศัพท์ “ไอโฟน” เพื่อพิสูจน์ว่าเครื่องปั่นจะสามารถปั่นวัตถุแข็งๆ อย่างโทรศัพท์ได้หรือไม่?

ผลที่ตามมาก็คือ วิดีโอชุดนี้กลายเป็นสื่อการตลาดต้นทุนต่ำที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในโลกออนไลน์ และส่งผลให้ยอดขายของบริษัทเพิ่มขึ้นไปถึง 5 เท่าตัว ในขณะที่ถ้าเป็นเรื่องของการท่องเที่ยว ธุรกิจโรงแรม และสถานที่ท่องเที่ยว แต่ละบริษัทจะมีแผนการตลาดออนไลน์โดยเน้นไปที่ ทราเวล-บล็อกเกอร์ หรือบุคคลที่มีอิทธิพลทางสังคมมารีวิวให้ แต่ก็ใช่ว่าทราเวล-บล็อกเกอร์ทุกคนจะได้รับโอกาสนั้น

พบกับผู้อยู่เบื้องหลังทัศนคติและจุดเริ่มต้นในการสร้างรายได้ด้วยการท่องเที่ยว ผ่านแนวคิด “เราไม่ได้ทำแค่เอา Passion แต่มันต้องหาเงินได้ด้วย” กับ “บาส” เจ้าของเพจ “Go went go” นักแสดงและนักดนตรีมากความสามารถ ผู้ผันตัวเองมาเป็นนักเดินทางและเจ้าของเพจท่องเที่ยวที่มียอดผู้ติดตามกว่า 390,000 คน ภายในระยะเวลาแค่ 1 ปี

ทราเวล-บล็อกเกอร์
อุณหภูมิ 4-5 องศา ที่เซี่ยงไฮ้ บรรยากาศบ้านเมืองมีความเจริญ ราวกับอยู่ยุโรป ขอบคุณภาพจาก : https://www.instagram.com/p/BQ1hpHUjcm2/?taken-by=bas_gowentgo

คุณบาสเล่าเรื่องราวของหน้าที่ในการเป็นทราเวล-บล็อกเกอร์ ว่าจริงๆ แล้วคือการถ่ายทอดประสบการณ์ตัวเองออกมาผ่านรูปแบบต่างๆ ตามสไตล์ของแต่ละคน ซึ่งจะถูกใช้เป็นแรงบันดาลใจให้เห็นถึงความสวยงามของสถานที่ แล้วกระตุ้นให้คนดูรู้สึกอยากออกเดินทางตาม แต่ช่วงหลังๆ จะเห็นคนรุ่นใหม่ผันตัวเป็นบล็อกเกอร์กันเยอะ เพราะว่ากำแพงในการเข้ามันต่ำ เมื่อใครๆ ก็สามารถเปิดเพจได้, ถ่ายภาพจากโทรศัพท์มือถือได้ ทุกอย่างจึงง่ายขึ้น แต่ประเด็นสำคัญคือ พอมีคนทำเยอะ แสดงว่าคนที่อยู่ได้ “ต้องเป็นมืออาชีพ” คุณบาสกล่าว

 

วิธีคิดของ Go went go คืออะไร?

คุณบาสมักดูรายการท่องเที่ยว เพราะด้วยความที่ชอบการท่องเที่ยวมาก แต่รายการส่วนใหญ่ที่ดูพบว่าถูกจัดฉากไว้ ซึ่งไม่ใช่เนื้อแท้ของการเดินทาง อีกทั้งยังพยายามเลี่ยงการพูดเนื้อหาเชิงลบ ซึ่งสำหรับคุณบาสคิดว่ามันไม่มีเรื่องถูกผิด เนื่องจากการท่องเที่ยวเป็นเรื่องของรสนิยมมากกว่า

Go went go มีวิธีคิดแบบ 3 วิน ซึ่งได้แก่ อย่างแรก ผู้ติดตามต้องวิน อย่างที่สอง สปอนเซอร์ต้องวิน และสุดท้ายคือ ตัวเรา ดังนั้นเวลาจะรับงานอะไร คุณบาสจะคำนวณดูแล้วว่าคนดูยังได้ประโยชน์ และยังสามารถขายของให้สปอนเซอร์ได้ ที่สำคัญคือคนทำต้องมีความสุขและไม่ติดขัดที่จะทำ

สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ ความซื่อสัตย์กับคนดู ด้วยการพูด หรือทำให้คนดูเห็นในสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ปัจจุบันคุณบาสมองว่า คนที่ติดตามเพจมีหลักๆ 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งตามเพราะว่าชอบรูป ชอบข้อมูล กลุ่มนี้จะดูเฉพาะสิ่งที่พวกเขาสนใจ  อีกกลุ่มคือตามแบบแฟนคลับ เช่น เขาอาจจะชอบในความเป็นเรา และเพื่อนของเราทุกคนในการเดินทาง กลุ่มนี้จะดูทุกอย่างที่เราทำ

 

หน้าตาหรือรูปลักษณ์ภายนอกมีส่วนสำคัญที่ทำให้คนสนใจไหม?

คุณบาสระบุว่า ทราเวล-บล็อกเกอร์ ก็เหมือนกับวงดนตรี ถ้าเทียบกันระหว่างคนที่เสียงดีเหมือนกันสองคน คนที่มีคาแรคเตอร์ชัดเจนจะขายดีกว่า คำว่าคาแรคเตอร์ไม่ได้หมายถึงรูปร่างหน้าตาที่ดีอย่างเดียว แต่คือเอกลักษณ์ และมีตัวตนบางอย่างที่คนดูเห็นแล้วสามารถจดจำได้

 

การเป็นทราเวลบล็อกเกอร์ ให้อะไรบ้าง?

เงิน ประสบการณ์ และการได้รู้จักเพื่อนหรือคนที่ชอบอะไรเหมือนๆ กัน และประทับใจที่งานของเพจ Go went go สามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สถานที่ที่ไปเป็นที่รู้จักมากขึ้น ตลอดจนสร้างรายได้ให้กับคนท้องถิ่น นอกจากนั้นคุณบาสย้ำว่า เมื่อเรามีชื่อเสียง มีคนรู้จัก เราจะสามารถบอกคนอื่นได้ว่า เมื่อไปสถานที่นั้นๆ เขาควรทำตัวอย่างไร ควรช่วยดูแลสังคมหรือใส่ใจธรรมชาติอย่างไร “พอเสียงเราดังขึ้น มีน้ำหนักขึ้น คนก็ฟังเรามากขึ้น”

 

การมีเป้าหมายที่ชัดเจนจะทำให้คุณประสบความสำเร็จ

ตอนที่อายุ 30 ปี คุณบาสตั้งเป้าหมายกับตัวเองว่า อยากเที่ยวเยอะๆ แล้วได้เงินด้วย เพราะฉะนั้นคุณสมบัติที่ตัวเขาต้องมีคือ ต้องถ่ายรูปเก่ง, ต้องทำการตลาดออนไลน์เก่ง และทำวิดีโอเก่ง นั่นเพราะว่าการจะไปถึงเป้าหมายแค่ความคิดสร้างสรรค์อย่างเดียวมันไม่พอ ต้องมีตรรกะเข้ามาช่วยด้วย และอีกปัจจัยที่สำคัญคือการลงมือทำอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่ว่าว่างแล้วค่อยทำ เพราะการที่ว่างแล้วค่อยทำ นั่นคืองานอดิเรก

เครดิตก็เป็นเรื่องสำคัญ เช่นการรักษาคำพูด เมื่อพูดแล้วต้องทำ เพราะสมัยนี้โลกมันแคบลงเพราะโซเชียลมีเดีย ใครทำอะไรแย่ไว้จะแพร่กระจายได้เร็วมาก อีกทั้งยุคนี้เป็นยุคที่ถ้าผลงานมันเจ๋งพอ แต่มันออกสู่สายตาคนได้ง่ายขึ้น งานนั้นๆ จะเป็นดาบสองคมสนองกลับตัวเราเอง “ถ้าเราฉลาดพอ เราจะเลือกใช้ด้านดีของมันอย่างเดียว” คุณบาสกล่าว นอกจากนั้นควรพัฒนาตัวเองตลอดด้วย เพราะโลกเปลี่ยนแปลงไวมาก

ทว่าท่ามกลางใครหลายคนที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวเป็นชีวิตจิตใจ บางคนกลับไม่ผันตัวเองเป็นทราเวล-บล็อกเกอร์ เหมือนคนอื่นๆ…

ทราเวล-บล็อกเกอร์
ร้อยยิ้มของพลอยกับสีเสื้อที่กลืนกับพื้นหลังของสถานที่แห่งหนึ่งในประเทศอินเดีย ถูกบันทึกภาพโดยเพื่อนร่วมเดินทางอีกคนหนึ่ง ขอบคุณภาพจาก : https://www.instagram.com/p/BiMCadKAzHA/?taken-by=pigkaploy

พลอย นักแสดงสาว ที่เคยรักการอยู่บ้าน เธอพบกับรักครั้งใหม่หลังได้แรงบันดาลใจการท่องเที่ยวผ่านภาพยนตร์เรื่อง “Secret life of Walter Mitty” และกลายมาเป็นคนที่หลงใหลการถ่ายรูปเป็นชีวิตจิตใจในเวลาต่อมา พลอยเล่าว่าแม้ตัวเองจะชอบเที่ยว และเคยทำรายการท่องเที่ยวบนเฟซบุ๊ก จนได้ยอดวิวและยอดติดตามเพจที่เพิ่มขึ้นมากมาย แต่กลับมีความคิดที่จะไม่เป็นทราเวล-บล็อกเกอร์ เนื่องจากการท่องเที่ยวสำหรับเธอมันคือประสบการณ์ที่ไม่ควรมีรูปแบบตายตัว

“เมื่อไหร่ก็ตามที่เป็นเรื่องของธุรกิจ มันจะทำให้การท่องเที่ยวของเราเปลี่ยนไป มันมีเรื่องของสคริปท์ เลยรู้สึกว่า บางทีมันอาจไม่ใช่รูปแบบการท่องเที่ยวที่เราต้องการ” – คุณพลอย

เพราะการท่องเที่ยวแต่ละครั้ง จำเป็นต้องใช้เงินมาก ทราเวล-บล็อกเกอร์จึงหาหนทางทำให้การท่องเที่ยวเกิดประโยชน์สูงสุดและนำมาซึ่งรายได้จากผู้สนับสนุน  นับตั้งแต่โซเชียลมีเดียเข้ามามิอิทธิพลกับชีวิตมากขึ้น ทราเวล-บล็อกเกอร์ก็เริ่มเล่าเรื่องราวผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม หรือยูทูป อิทธิพลทางความคิดที่โซเชียลมีเดียมีต่อผู้บริโภคเหล่านี้ส่งผลให้ผู้ประกอบการ หรือธุรกิจใหญ่ๆ เล็งเห็นถึงโอกาสในการขายแบรนด์หรือสินค้ามากขึ้น ด้วยการจ่ายเงินว่าจ้างทราเวล-บล็อกเกอร์เพื่อใช้ผลิตภัณฑ์ของตัวเอง เช่นการว่าจ้างให้ใช้สายการบิน หรือมาพักที่พัก เพื่อทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกแบรนด์นั้น เพราะเชื่อมั่นในตัวทราเวล-บล็อกเกอร์

ฟังดูราวกับอาชีพในฝัน อย่างไรก็ดีเมื่อใครก็สามารถรีวิวได้ สิ่งที่ท้าทายที่สุดคือการทำอย่างไรให้ทราเวล-บล็อกเกอร์ยังคงสร้างรายได้จากผู้สนับสนุน ท่ามกลางบล็อกเกอร์อื่นๆ อีกมากมาย และทำอย่างไรให้สามารถก้าวทันโลกอยู่เสมอ

เคยมีน้องมาปรึกษาถึงเรื่องการทำงาน “พ่อแม่ถามว่า ทำงานที่นี่เป็นยังไงบ้าง แม่อยากให้ทำงานที่มั่นคง” ผมมักจะสอนน้องเสมอว่า บนโลกนี้ไม่มีงานที่มั่นคงหรอก เพราะความมั่นคงมันไม่ได้อยู่ที่งาน แต่มันอยู่ที่เรา  ถ้าเราเป็นคนเก่ง มีความสามารถ และพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา ไม่มีทางที่เราจะไม่มีงาน ไม่มีทางที่เราจะไม่มีเงิน “เพราะฉะนั้นความมั่นคงอย่าไปถามหาที่งาน ให้ถามหาที่ตัวเราเอง” – คุณบาส

โลกที่เปลี่ยนไป ช่วยให้คนติดต่อสื่อสารกันง่ายขึ้นผ่านโซเชียลมีเดีย ช่วยให้คนเห็นอะไรได้กว้างและมากขึ้นกว่าเดิม ในขณะเดียวกันเมื่อเราเห็นโลกอันกว้างใหญ่ก็อยากที่จะออกไปท่องโลกให้เร็วที่สุด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรูปภาพ และรีวิวที่บรรดาทราเวล-บล็อกเกอร์โพสต์

ขอบคุณอาชีพ ทราเวล-บล็อกเกอร์ ที่ทำให้เราได้เห็นวัฒนธรรม รวมถึงหลากหลายชีวิตความเป็นอยู่ หรือเสน่ห์ที่ซ่อนอยู่จากอีกฝั่งซีกโลก บางคนอาจมองว่าพวกเขาก็แค่คนที่ชอบไปท่องเที่ยว ไปพักผ่อน แต่แท้จริงแล้วมีประสบการณ์มากมายที่เขาได้รับกลับมา ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติตัว รวมถึงรายละเอียดที่อาจเสี่ยงต่อการเกิดภัย เรื่องราวเหล่านี้ถูกถ่ายทอดผ่านบทความ ภาพถ่าย หรือวิดีโอต่างๆ ที่พวกเขาตั้งใจสร้างสรรค์ให้กับทุกคนที่กำลังจะออกเดินทาง ทั้งยังเป็นแรงบันดาลให้ผู้คนหันมาแพ็คกระเป๋าแล้วออกไปเที่ยวกันให้มากขึ้นอีกด้วย

เห็นแล้วใช่ไหมว่าอาชีพที่ว่าไปเที่ยวแล้วได้เงินด้วย เป็นอย่างไร….

เรื่อง ธนกร ลี้ศัตรูพาล

 

แหล่งข้อมูล

ผลวิจัยชี้ Social Media มีอิทธิพลต่อผู้บริโภคมากขึ้น

สรุปทุกสถิติและพฤติกรรมคนไทยกับโซเชียลปี 2017 ในงาน Thailand Social Awards 2018

15 เหตุผลที่คนชอบเที่ยวมักจะประสบความสำเร็จ

Travel Blogger jobs

“Social Media” ที่มีอิทธิพลต่อการท่องเที่ยวยุคใหม่

Hotels.com เผยคนไทยใช้ Social Media ระหว่างท่องเที่ยว อวดไลฟ์สไตล์ตัวเอง

ความหมายของการท่องเที่ยว

อ่านเพิ่มเติม

Explorer Awards 2018: พิศาล แสงจันทร์ และทายาท เดชเสถียร

Recommend