ชินรินโยคุ การ อาบป่า บำบัดแบบญี่ปุ่น

ชินรินโยคุ การ อาบป่า บำบัดแบบญี่ปุ่น

ชาวญี่ปุ่นมีวิธีการรักษาแบบใช้ธรรมชาติบำบัดที่เรียกว่า “การอาบป่า” หรือ ชินรินโยคุ ซึ่งได้รับการรับรองว่าได้ผล แม้ใช้เวลาเพียงไม่นาน

เพราะการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมเมืองอันห่างไกลธรรมชาติอาจบั่นทอนมนุษย์ได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ

มนุษย์ล้วนกำเนิดมาจากธรรมชาติ จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะรู้สึกดีทุกครั้งเมื่อได้ไปท่องเที่ยวเพื่อสัมผัสธรรมชาติ การได้ฟังเสียงธรรมชาติ ได้สูดกลิ่นป่า หายใจเอาอุ่นไอของอากาศบริสุทธิ์จากต้นไม้ที่ล้อมรอบนั้นล้วนส่งผลดีต่อร่างกายและจิตใจ ราวกับว่าร่างกายได้ฟื้นคืนพลังขึ้นมาใหม่ ซึ่งชาวญี่ปุ่นรับรู้ถึงข้อดีของการอยู่ท่ามกลางธรรมชาติมานานจนเกิดเป็นวิถีการบำบัดที่เรียกว่าชินรินโยคุ

คำว่าชินรินโยคุ (Shinrin-yoku / 森林浴) แยกออกเป็นคำว่า Shinrin (森林) แปลว่า ป่า และ yoku (浴) แปลว่า อาบ จึงแปลรวมกันว่า การอาบป่า หรือการรับรู้บรรยากาศป่าผ่านประสาทสัมผัสของเรา

ชินรินโยคุ
อุทยานแห่งชาติของอเมริกายังคงเป็นเหมือนสมบัติล้ำค่าของประชาชนทั่วประเทศ ภาพถ่ายโดย FERNANDO TATAY

การอาบป่าในญี่ปุ่นมีประวัติการนำเสนอโดยผู้ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานป่าไม้ในจังหวัดนางาโนะตั้งแต่ทศวรรษ 1980 อันเป็นยุครุ่งเรืองสุดขีดของเศรษฐกิจญี่ปุ่น รัฐบาลในตอนนั้นเริ่มเห็นผลเสียของการที่ประชาชนอยู่ในเมืองท่ามกลางเทคโนโลยีที่กำลังรุดหน้า ไม่ว่าจะเป็นภาวะซึมเศร้า อาการเสียสมาธิ รวมไปถึงอาการเจ็บปวดต่างๆในร่างกาย เมื่อเวลาผ่านไป อาการเหล่านี้ยิ่งแย่ลงเรื่อยๆ ซึ่งล้วนเกิดจากการที่ประชาชนอยู่ในเมืองที่มีการจราจรติดขัด ผู้คนหนาแน่น ชีวิตในออฟฟิศที่ใช้เวลายาวนาน พื้นที่สีเขียวในเมืองถูกลดทอน จึงมีการส่งเสริมให้ผู้คนไป “อาบป่า” ให้มากขึ้น

ต่อมาได้มีการนำแนวคิดชินรินโยคุไปศึกษาผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และมีการวิจัยอย่างต่อเนื่อง จนได้รับการยอมรับให้เป็นวิธีการรักษาเชิงป้องกัน (preventative healthcare) ที่ใช้ในประเทศญี่ปุ่น ผลการศึกษาระบุว่า การอาบป่าส่งผลให้อารมณ์ คุณภาพในการนอนหลับ และการทำสมาธิดีขึ้น รวมทั้งสามารถลดฮอร์โมนความเครียด อารมณ์ซึมเศร้า และความดันเลือดได้

นอกจากนี้ สารเคมีที่ปล่อยมาจากต้นไม้ในป่าซึ่งมีชื่อว่าไฟทอนไซด์ (Phytoncide) สามารถช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย โดยการอาบป่าในธรรมชาติที่เริ่มส่งผลต่อร่างกายนั้นใช้เวลาเพียงสองชั่วโมงเท่านั้น

ชินรินโยคุ
ภาพของวัดเกาหลีเมื่อมองลงมาจากจุดสูงสุดเส้นทางเดินป่า ถ่ายที่ Baekyangsa เกาหลีใต้ ภาพถ่ายโดย AARON CHOI

คำแนะนำในการไปอาบป่า

ก่อนไปอาบป่าแนะนำให้วางสมาร์ตโฟนหรือกล้องถ่ายรูปเอาไว้ก่อน และเข้าไปหาจุดจุดหนึ่งในป่า โดยการเดินไปเรื่อยๆอย่างช้าๆ ใช้ร่างกายนำทาง ใช้ประสาทสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นการเงี่ยหูฟังเสียงป่าหรือเสียงนกร้อง ใช้จมูกสูดเอาอากาศสดชื่น กลิ่นจากต้นไม้ และกลิ่นจากธรรมชาติซึ่งเกิดจากสารไฟทอนไซด์ เข้าไปลึกๆช้าๆ

จากนั้นใช้ร่างกายสัมผัสกับลมบางๆที่พัดผ่านผิวหนังและพัดผ่านต้นไม้ก่อให้เกิดเสียงแผ่วๆ ใช้สายตามองไปยังเฉดสีอันแตกต่างหลากหลายที่ธรรมชาติสรรค์สร้างขึ้น แสงอาทิตย์ที่สาดส่องเข้ามา ใช้มือสัมผัสลำต้นของต้นไม้ หรือนอนลงเพื่อให้ร่างกายทุกส่วนสัมผัสกับพื้นดิน ปล่อยตัวตามสบาย ทำจิตใจให้สงบ การใช้ประสาทสัมผัสของเราเชื่อมต่อกับธรรมชาติจะช่วยให้ทั้งร่างกายและจิตใจของเรารู้สึกดีเป็นอย่างยิ่ง

เราสามารถไปอาบป่าได้ทุกที่บนโลก หรือถ้าเราไม่สะดวกในการไปเที่ยวป่าบ่อยๆ เราสามารถไปอาบป่าได้ที่สวนสาธารณะใกล้บ้านหรือแม้กระทั่งสวนในบ้านของเราเอง มองหาต้นไม้ที่อยู่ใกล้ตัวแล้วเริ่มลงมืออาบป่ากันได้เลย

อ้างอิง

Getting back to nature: how forest bathing can make us feel better

‘Forest Bathing’ Is Great for Your Health. Here’s How to Do It

Forest Bathing in Japan (Shinrin-yoku)

Shinrin-yoku | “ชินรินโยคุ” ถ้าเราเหนื่อยล้า จงเดินเข้าป่า


อ่านเพิ่มเติม อาบป่า (Forest Bathing) : ฟื้นใจ ฟื้นกาย ด้วยสัมผัสจากธรรมชาติ

Recommend