การเสื่อมสภาพของถิ่นฐานที่อยู่อาศัย เป็นผลมาจากหลายปัจจัยทั้งภัยธรรมชาติ อย่างไฟป่า และผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์
การเสื่อมสภาพของถิ่นฐานที่อยู่อาศัย (Habitat Degradation) หมายถึง ภาวะความเสื่อมโทรมของถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต จากทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ มลพิษและการปนเปื้อนที่มีสาเหตุมาจากกิจกรรมและการกระทำมนุษย์ ซึ่งเข้ามาคุกคามแหล่งที่อยู่อาศัยและส่งผลเสียต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ทั้งหลายในระบบนิเวศ จนนำไปสู่การถูกทำลายลงของถิ่นฐานที่อยู่อาศัย (Habitat Destruction) ตามธรรมชาติและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Loss) ของโลกอย่างถาวร
สาเหตุของการเสื่อมสภาพของถิ่นฐานที่อยู่อาศัย
จากธรรมชาติ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของโลก ทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงทางนิเวศวิทยา เช่น ความผันผวนของการเกิดไฟป่าตามธรรมชาติ การขึ้นลงของระดับน้ำทะเลหรือการเปลี่ยนแปลงทิศทางของกระแสน้ำ หรือแม้แต่การเกิดโรคระบาดหรือรุกรานของชนิดพันธุ์ต่างถิ่น
กิจกรรมและการกระทำของมนุษย์ หมายถึง การรุกรานพื้นที่ทางธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ ทะเลสาบ ลำน้ำต่าง ๆ รวมไปถึงพื้นที่ชายฝั่งทะเล เพื่อเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน การแผ้วถางที่ดินเพื่อการเกษตร การขยายของตัวเมือง และการก่อสร้างเพื่อการพัฒนาอื่น ๆ รวมไปถึงการทำเหมือง การตัดไม้ทำลายป่า และมลภาวะต่าง ๆ ทั้งสารเคมีตกค้างจากการทำการเกษตร การปนเปื้อนของสารพิษในอากาศและแหล่งน้ำตามธรรมชาติทั้งหลาย
โดยเฉพาะการสูญเสียป่าไม้มากกว่าครึ่งหนึ่งที่เคยปกคลุมพื้นผิวโลกจากกิจกรรมและผลจากการกระทำของมนุษย์ที่ทำให้ป่าไม้ถูกคุกคามและถูกทำลายลงในช่วงกว่า 2 ศตวรรษที่ผ่านมา และถึงแม้ว่าป่าไม้ทั่วโลกสามารถฟื้นฟูตัวเองและมนุษย์สามารถเข้ามาจัดการเพื่อการเก็บเกี่ยวอย่างยั่งยืน แต่อัตราการสูญเสียที่เกิดขึ้นยังคงสูงกว่าอัตราการฟื้นฟูมากถึง 10 เท่า
ผลกระทบของความเสื่อมโทรมที่เกิดขึ้น
แหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายตกอยู่ภาวะเสื่อมโทรมจากการคุกคามโดยตรง ทั้งจากการแผ้วถางที่ดินเพื่อทำการเกษตรและปศุสัตว์ การขุดเจาะ การก่อสร้าง และการขยายตัวของเมืองในด้านต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อถิ่นฐานที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตทั่วโลกมากกว่าร้อยละ 80
อีกทั้ง ทุกปียังมีการตัดต้นไม้มากถึง 15 พันล้านต้น ซึ่งนอกจากการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยแล้ว การตัดไม้ทำลายป่ายังทำลายนิเวศบริการ (Ecological Services) ของป่าไม้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศ หรือการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก
นอกจากนี้ ผลกระทบจากมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงคุณภาพของอากาศ น้ำ และดินให้แย่ลง จนกลายเป็นแหล่งปนเปื้อนของสารเคมีที่เป็นอันตราย ยังส่งผลโดยตรงต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตท้องถิ่น (Native Species) โดยเฉพาะจากภาวะการปนเปื้อนของสารเคมีในแหล่งน้ำและแหล่งอาหาร ซึ่งคุณภาพของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรที่เปลี่ยนแปลงไปกำลังทำลายสมดุลของห่วงโซ่อาหารและการหมุนเวียนสสารในระบบนิเวศลงอย่างช้า ๆ
อีกทั้ง ยังนำไปสู่การรุกรานของสายพันธุ์ต่างถิ่นที่จะเข้ามาแข่งขันและแย่งชิงทรัพยากรที่เหลืออยู่ เพื่อเข้ามาแทนที่สิ่งมีชีวิตดั้งเดิมทีละเล็กทีละน้อยจนระบบนิเวศเก่าก่อนถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นส่งผลให้สิ่งมีชีวิตบางชนิดสูญพันธุ์ไปจากโลก ไม่ว่าจะเป็นระบบนิเวศบนบกหรือทางทะเล ภายในอีก 50 ปีข้างหน้า นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ไว้ว่าอาจมีสัตว์บกและชนิดพันธุ์พืชอย่างน้อย 1 ใน 4 ของโลกที่จะสูญพันธุ์ไปอย่างถาวร หากการคุกคามของมนุษย์ยังคงดำเนินต่อไปด้วยอัตราคงที่เฉกเช่นที่เป็นอยู่ ณ เวลานี้
สืบค้นและเรียบเรียง
คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ
ข้อมูลอ้างอิง
Everything Connects – https://www.everythingconnects.org/main-types-of-habitat-loss.html
National Geographic – https://blog.nationalgeographic.org/2019/09/25/the-global-impacts-of-habitat-destruction/
Michael Evans – http://www.earthtimes.org/encyclopaedia/environmental-issues/habitat-loss-degradation/
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิต ในระบบนิเวศ