สารพันคำถาม ธรณีวิทยามีคำตอบ ไปกับ ศ.ดร. สันติ ภัยหลบลี้ แอดมินหนึ่งเดียวของเพจ มิตรเอิร์ธ – mitrearth
ทำไมถึงต้องเรียนรู้เรื่องโลกของเรา? เหล็กไหลมีจริงหรือเปล่า หินเกล็ดงูเกิดจากอะไร แร่ไวเบรเนียมและคริปโตไนต์มีจริงไหม
สารพันคำถาม ธรณีวิทยามีคำตอบ เพราะธรณีวิทยาไม่เพียงเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่ยังเป็นเรื่องสนุกได้อีกด้วย โดยเฉพาะถ้ามีผู้เล่าเรื่องสื่อสารให้เราเข้าใจง่าย
นี่คือเรื่องราวในงานเสวนาโดย ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้มีความสุขกับการเล่าเรื่องวิทยาศาสตร์โลก ให้เข้าใจง่ายและอ่านสนุก ผู้เขียนหนังสือ ‘Soft Quake: งานเขียนด้านธรณีวิทยาที่แอบนินทา “แผ่นดินไหว” แบบเบาๆ’ และแอดมินหนึ่งเดียวของเพจ มิตรเอิร์ธ – mitrearth เพจที่แบ่งปันความรู้ ข่าวสารและประสบการณ์ด้านวิทยาศาสตร์โลก ที่งานเสวนา ในหัวข้อ “ทำไมต้องเรียนรู้โลกของเรา” ที่บู๊ธ Explorers Club Base Camp ในงานบ้านและสวนแฟร์ Select 2023 ที่ไบเทค บางนา เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2566
ตอนที่ 1 ทำไมเราต้องเรียนรู้โลกของเรา
ความสนุกของภูมิศาสตร์อยู่ตรงไหน ทำไมต้องเรียนรู้เรื่องโลกของเรา
โลกคือสิ่งที่โอบอุ้มเรา ห่อหุ้มเรา เราเป็นส่วนหนึ่งของโลก โลกให้ทั้งคุณและโทษกับเรา
ในแง่ของคุณประโยชน์ ทุกสิ่งที่อย่างที่เราเสพ สุดท้ายปลายทางก็มาจากโลก ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากร เช่น แหล่งแร่ต่างๆ ก็มาจากโลก ถ้าเรารู้จักโลก เราก็รู้จักการใช้ทรัพยากรโลก และก็จะหาทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราไม่รู้จักโลกอย่างเพียงพอ โลกก็อาจจะให้โทษกับเราได้ เช่นภัยพิบัติรูปแบบต่างๆ เช่น สึนามิ ภูเขาไฟ แผ่นดินไหว น้ำท่วม ปรากฎการณ์นี้ล้วนเกิดจากกระบวนการธรรมชาติในโลกของเราทั้งสิ้น ดังนั้น ผมมองว่าการที่เราเข้าใจโลก จะทำให้เราอยู่บนโลกนี้ได้อย่างปกติสุขขึ้น
จากที่ผมได้ศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับโลก พบว่า โลกเข้าใจง่ายกว่ามนุษย์ และถ้าเราเข้าใจโลก มีลูกล่อลูกชน รู้จักใช้ประโยชน์จากเขา รู้จักการหลบภัยจากโลก เราก็จะอยู่บนโลกได้อย่างปกติสุข
‘โลกของเรา’ ไม่ได้เรียนรู้กันแบบท่องจำ
ความจริงแล้ว วิทยาศาสตร์โลก ไม่ใช่วิชาที่ต้องท่องจำอะไร จะเน้นความเข้าใจเสียมากกว่า เพราะบทเรียนของเราอยู่รอบตัว สำหรับผม วิทยาศาสตร์โลกเป็นเรื่องของหลักการ เหตุและผล เราแค่เข้าใจธรรมชาติของโลกว่าตรงนี้เคยเป็นแม่น้ำใช่ไหม แล้วที่อื่นเคยเป็นแม่น้ำแบบไหน เพราะอะไร
เรียนเรื่องโลกของเรา จบแล้วไปทำอะไร
นักธรณีวิทยาเป็นวิชาชีพหนึ่งที่ทำได้หลายอย่าง ไม่มีตำแหน่งเรียกแบบเท่ๆ ชัดๆ แต่ทำได้หลายอย่างในองค์กร เช่น สำรวจหาแหล่งปิโตรเลียม แหล่งแร่ หรือทำงานในบริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม หรือแม้กระทั่งการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างใหญ่ๆ ล้วนต้องการนักธรณีวิทยาเพื่อไปวางฐานราก ในแง่ของสายวิชาชีพมีอีกมากมาย
ส่วนในแง่ของบรรยากาศการเรียน พอผมได้เข้ามาเรียนแล้วก็รู้สึกสนุกมาก มีความสุขมาก มันจะมีวิชาไหนที่เรียนวิทยาศาสตร์ แต่ไม่ค่อยมีวิชาคำนวณ ผมได้รู้จักเรียนรู้เหตุผลของธรรมชาติ สำหรับผม การเรียนธรณีวิทยาทำให้มองธรรมชาติได้สวยงามมากขึ้น
ตอนที่ 2: เรื่องราวน่าสนุกบนโลกของเรา
โลกของเราประกอบไปด้วยอะไรบ้าง?
ในแง่กายภาพ ก็จะประกอบไปด้วย ดิน น้ำ อากาศ ถ้าแบ่งตามวิทยาศาสตร์ของโลก ก็จะมีธรณีภาค, อุทกภาค-อุทกศาสตร์ และก็มีอากาศภาค เช่นเรื่องของบรรยากาศ ถ้าเป็นที่ยุโรปก็จะมี ‘ภาคน้ำแข็ง’ เพราะว่าธารน้ำแข็งมีอิทธิพลต่อเขา แล้วก็จะมีเรื่องของชีวภาพ ซี่งเป็นเรื่องของสิ่งมีชีวิต
แท้จริงแล้ว อ่าวไทย ไม่ใช่ทะเล แต่เป็นพื้นดิน
ความเป็นทวีปหรือมหาสมุทร ไม่ได้แยกกันด้วยความเปียก ความแห้ง แต่แยกจากกันด้วยการเกิดขึ้นของลักษณะทางธรณีวิทยาและการกระจายตัวของหิน ซึ่งมหาสมุทรส่วนใหญ่เป็นหินบะซอลต์ โดยในกรณีของอ่าวไทย จริงๆ ตอนนี้มันเป็นพื้นที่ที่โดนน้ำท่วมอยู่ เป็นพื้นที่บกที่จมน้ำอยู่ หรือเป็นทวีปที่จมน้ำ
ในสมัยก่อนที่ทะเลยังลดอยู่ พื้นที่อ่าวไทยเป็นพื้นดิน เพราะมีหลักฐานทางฟอสซิลที่พบว่า ประเทศไทยกับอินโดนีเซียเคยเป็นผืนแผ่นดินเดียวกันมาก่อน เช่น มีหลักฐานว่า จระเข้ที่เกาะชวามีลักษณะทางบรรพชีวินคล้ายกับจระเข้แถวโคราช (นครราชสีมา) หมายความว่าสองแผ่นดินนี้เคยเชื่อมโยงกันมาก่อน แต่ปัจจุบันน้ำมันยกท่วมขึ้นมาเฉยๆ
อย่างตอนนี้ ข้างล่างอ่าวไทยมีแต่ศพที่หนีน้ำท่วมไม่ทัน นักบรรพชีวินก็เชื่อกันว่ามีสิ่งมีชีวิตสะสมอยู่ใต้อ่าวไทยอยู่แล้ว เพียงแต่เรายังไม่มีการสำรวจอย่างจริงจังเพื่อพิสูจน์ทราบจริงๆ แต่ถ้าอ้างอิงกันตามทฤษฎีก็จะเป็นแบบนั้น
ภูมิศาสตร์ไทย จากการชนกันของแผ่นเปลือกโลก
เราเคยได้ยินไหมครับว่าผิวนอกของโลกเป็นของแข็ง ที่เรียกว่าเป็นเปลือกนอกของโลก โดยเปลือกโลกแบ่งเป็นแผ่นๆ แต่ละแผ่นอยู่ชิดติดกัน ข้างใต้มีการหมุน ทำให้เกิดการเคลื่อนที่ เกิดเป็นแผ่นดินไหว เกิดเป็นภูเขาไฟ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นตลอดเวลานับตั้งแต่กำเนิดโลก
ทีนี้ ในกระบวนการยุคปัจจุบัน สภาพตอนนี้คือ แผ่นเปลือกโลกอินเดีย ชนกับแผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย ผลกระทบข้อที่หนึ่งที่เกิดจากการชน คือเกิดที่ราบสูงทิเบต และเกิดเทือกเขาหิมาลัย ผลกระทบข้อที่สอง คือ อ่าวไทยมีการแยกตัวออก ภาคกลางมีการแยกตัวออก ภาคเหนือมีการแยกตัวออก
พอแยกตัวแล้วเกิดอะไรขึ้น? ผมลองให้นึกภาพเหมือนท่อนอะไรสักอย่าง พอเวลาที่เราดึงออก สุดท้ายก็จะแตกออกเป็นท่อนๆ แล้วก็จะทรุดลงมา กลายเป็นที่ราบสลับหุบเขา นี่คือสาเหตุว่าทำไมภาคเหนือของประเทศไทยจึงเป็นที่ราบ และเป็นแอ่ง เช่นแอ่งลำปาง แอ่งเชียงใหม่ แอ่งน่าน และเป็นที่ราบสลับหุบเขา ในภาคเหนือ เวลาเราจะข้ามจังหวัดทีก็จะข้ามภูเขาไป นี่คือสาเหตุที่ทำให้สภาพภูมิประเทศภาคเหนือเป็นอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ ซึ่งเกิดจากการชนกันจนของอินเดียและยูเรเซีย
นอกจากนี้ การที่แผ่นเปลือกโลกอินเดียชนกับแผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย ทำให้แผ่นเปลือกโลกมุดตัวกัน บริเวณเกาะนิโคบาร์ แถวอินโดนีเซีย จึงเกิดแผ่นดินไหวบ่อย ทำให้เกิดสึนามิ และทำให้บริเวณนั้นเกิดภูเขาไฟขึ้นมา
แล้วประเทศไทยจะต้องพบเจอภัยพิบัติที่เกิดจากโลกของเรามากน้อยแค่ไหน
ก็มีบ้าง แต่คงไม่ได้หนักหนาสาหัสเท่ากับต่างประเทศ กล่าวโดยสรุปคือ ประเทศไทยดีที่สุดในภูมิภาคบ้านเราถ้าพิจารณาจากเรื่องภัยพิบัติทางธรณีวิทยา อย่างแผ่นดินไหวบ้านเรา มีแค่พอให้รู้ว่าเราก็มี แต่ในความเป็นจริง แผ่นดินไหวบ้านเราแทบจะไม่เป็นภัยพิบัติเลย แต่ไม่ได้หมายความว่าในอนาคตจะไม่ได้เกิด มีโอกาสเกิดเหมือนกัน เพราะประเทศไทยก็มีรอยเลื่อนแผ่นดินไหว และก็เคยเกิดแผ่นดินไหวแล้วเช่นกัน แต่ประเด็นที่เราควรพิจารณาคือ แผ่นดินไหวที่ประเทศไทยถือเป็นภัยพิบัติหรือไม่ ซึ่งเกือบทั้งหมดไม่เป็น เอาจริงๆ แค่ข้ามเขตแดนประเทศไทย ก็จะเจอแต่เขตพิบัติภัยขนาดใหญ่ แต่ประเทศไทยไม่มี มีเพียงเล็กน้อย รอยเลื่อนแผ่นดินไหวประเทศไทยเอาไปอวดต่างชาติไม่ได้หรอกครับ เพราะมันน่าอาย เป็นรอยเลื่อนที่หน่อมแน้มเอามากๆ เลย
อย่างรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ที่มีเขื่อนศรีนครินทร์สร้างอยู่ข้างรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ ก็อยากเล่าให้ฟังว่าเขื่อนอื่นๆ ก็อยู่ข้างรอยเลื่อนเช่นกัน เพราะรอยเลื่อนเป็นตัวพัฒนาภูมิประเทศให้เอื้อต่อการเก็บน้ำ มีน้อยมากที่เขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำจะไม่อยู่รอบๆ รอยเลื่อน ดังนั้นเขื่อนจะอยู่ใกล้รอยเลื่อนเป็นส่วนใหญ่ จึงมีความกังวลว่าเขื่อนที่สร้างบนรอยเลื่อนจะปลอดภัยหรือ โดยผมต้องขอกล่าวว่า การสร้างเขื่อนหรือสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ทุกแห่งบนโลก ล้วนมีองค์กรกำกับดูแล อย่างการสร้างเขื่อน มีทั้งองค์กรในไทยและองค์กรระดับโลกที่กำกับดูแลอยู่ แผ่นดินบริเวณนั้นต้องผ่านมาตรฐานก่อนจะได้สร้าง ดังนั้นจึงอยากให้วางใจ แต่จะบอกว่าไม่มีโอกาสเกิดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวจนเขื่อนแตกเลยไหม ก็มีโอกาส แต่โอกาสน้อยมากๆ น้อยสุดๆ แม้จะรู้ว่ามีโอกาสน้อยที่เกิดแผ่นดินไหวที่รุนแรง แต่ก็ยังมีการประเมินภัยพิบัติที่รุนแรงที่สุดเพื่อสร้างเขื่อน ดังนั้นผมมองว่าเขื่อนบ้านเรานั้นปลอดภัยเท่าที่มนุษย์จะทำได้ ออกไปในทางปลอดภัยเกินไปเสียด้วยซ้ำ
อย่างกรณีภัยพิบัติสึนามิที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ผมจะขอบอกว่าอ่าวไทยไม่มีสึนามิ และอีกประเด็นหนึ่งคือ ทะเลฝั่งอันดามันมีโอกาสเกิดสึนามิจริง ซึ่งเราก็มีระบบเตือนภัย แต่ก็ต้องยอมรับว่าระบบเตือนภัยที่เราเห็น บางช่วงก็พังและเสียหายอยู่จริงๆ
แล้วเราจะรอดไหม? จริงๆ แล้ว เราไม่ได้พึ่งพาระบบเตือนภัยแบบนั้น เรามีกลไกในการเตือนภัยอีกแบบหนึ่งที่เชื่อถือได้ เพราะฉะนั้นต่อให้ทุ่นลอยน้ำเตือนภัยโดนปลากัดจนลอยไปที่มหาสมุทรอินเดีย เราก็ยังปลอดภัยจากสึนามิ
และที่สำคัญคือ ต่อให้เราจะไม่มีระบบเตือนภัยแบบที่เห็นๆ กัน เราก็ยังปลอดภัยจากสึนามิ ผมก็ยังเชื่อว่าเราจะรอดกันหมด เพราะเหตุการณ์เมื่อปี 2547 ไม่ใช่เพราะว่าเรา ‘มี’ หรือ ‘ไม่มี’ ระบบเตือนภัย สาเหตุที่เราสูญเสียกันเยอะก็เพราะว่าวันนั้นเราไม่รู้จักสึนามิ มนุษย์ที่มีชีวิตอยู่บนโลก ณ วันนั้น ที่อยู่โดยรอบมหาสมุทรอินเดียไม่เคยเห็นสึนามิ เราไม่ใช่ไม่กลัว แต่เราวิ่งเข้าหาเลย เราเห็นน้ำลด เราก็ไปดูด้วยความประหลาดใจ ตื่นตกใจ นั่นคึอสาเหตุของการเสียชีวิต วันนี้เราไม่ต้องใช้ทุ่น เราก็รู้แล้วว่าสึนามิมา เราก็รู้จักหนีได้แล้ว
หลังเกิดสึนามิเมื่อปี 2547 ภาควิชาธรณีวิทยา (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) มีทีมงานลงไปสำรวจ สิ่งที่ค้นพบคือ ทะเลฝั่งอันดามันของไทยไม่ได้โดนสึนามิแค่ในปี 2547 ก่อนหน้านั้น สมัยอยุธยาก็เคยมีสึนามิเช่นเดียวกัน เพียงแต่เราไม่เล่าต่อๆ กันมาเท่านั้นเอง มีแต่ชาวมานิ (มอแกน-ชนเผ่าพื้นถิ่นในแถบทะเลชายฝั่งอันดามัน) ที่เล่าต่อๆ กันมา ทำให้พวกเขารอดจากสึนามิครั้งนั้นหมดเลย สรุปก็คือ ผู้คนในฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกพบเจอสึนามิบ่อย ก็จะคุ้นชินมากกว่า ฝั่งอันดามัน ที่พบเจอไม่บ่อยมัก ก็ทำให้ไม่รู้จัก คนในรอบๆ ทะเลมหาสมุทรอินเดียก็จะเสียชีวิตกันเยอะในวันนั้น
ตอนที่ 3: โลกและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ – ธรณีวิทยากับความเชื่อ
เรื่องราวของ ‘ถ้ำนาคา’ ในมุมมองธรณีวิทยา
ออกตัวก่อนว่าผมเป็นคนที่เคารพความเชื่อของท้องถิ่น แต่ในแง่หนึ่ง ผมก็จะขอเล่าในแง่มุมของวิทยาศาสตร์ด้วย ในมิติของธรณีวิทยา ถ้ำนาคาเกิดขึ้นได้อย่างไร
อันดับแรก ถ้าเราได้เห็นภาพในสื่อต่างๆ ถ้ำนาคาจะเป็นเหมือนงูใหญ่เลื้อยรัดอะไรสักอย่าง ร่องแคบๆ ตรงนั้นเหมือนตัวงู โดยตัวงูถูกขึ้นโครงและถูกปั้นมาด้วยกระบวนการทางน้ำ คือ ร่องน้ำ เป็นร่องน้ำที่อยู่ทางต้นน้ำ
น้ำบนโลกนี้มีนิสัยอย่างหนึ่งคือกลัวความสูง เมื่อไหร่ก็ตามที่น้ำอยู่สูงก็จะกลับลงไปในแนวดิ่ง มาจนถึงใกล้ๆ ระดับอ้างอิง ซึ่งส่วนใหญ่คือระดับน้ำทะเล ซึ่งก็จะแกว่งไปแกว่งมา แต่ถ้าอยู่สูงก็จะเป็นแนวดิ่ง การกัดเซาะในแนวดิ่งทำให้เกิดการปั้นรูปเป็นพญานาคขึ้นมา เรียกว่าเป็นหุบเหวลึก (Slot canyon)
วัสดุใดๆ ในโลก โดยเฉพาะวัสดุทางกายภาพ ร้อนเย็นปะทะกันก็จะเกิดการหด-ขยาย และถ้าโดนแสงแดดก็จะแตกระแหง ซึ่งการแตกโดยธรรมชาติเป็นการแตกโดยระบบ เป็น Joint Set ในโครงสร้างทางธรณีวิทยา พอเขาแตกเป็นระบบ เขาก็จะวาดขีดเส้นเป็นเกล็ดพญานาคได้เรียบร้อย พอมาถึงกระบวนการสุดท้าย คือกระบวนการลบเหลี่ยมลบมุม เกล็ดพญานาคก็จะเริ่มมนขึ้น ก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะว่าขอบหินมนต้องอยู่แล้วในท้ายที่สุด สุดท้ายก็กลายเป็นเกล็ดพญานาค
สรุปคือ พญานาคเกิดจากการบวนการกัดเซาะทางน้ำในแนวดิ่ง เราจึงเห็นพญานาคเลื้อยในหุบเหวลึก เกล็ดพญานาคเกิดจากกระบวนการหด-ขยาย อันเนื่องมาจากความร้อน-ความเย็น มาปะทะกัน โดย ในช่วงนี้ถือเป็นช่วงกำลังฟูมฝัก เกล็ดพญานาคกำลังสวยงาม ต่อไปก็จะผุพังมากขึ้น เกล็ดพญานาคแต่ละอันก็จะมนขึ้น กลมขึ้น รูปทรงก็จะเหมือนกับหินสมอง ลานหินปุ่ม หินสมองก็เหมือนเกล็ดพญานาคที่มีความมนเกินไปนั่นแหละครับ
“เหล็กไหล” มีอยู่จริงไหม
ไม่มีครับ ในแง่ของ Earth material หรือวัสดุในทางธรณีวิทยา หรือของโลก เหล็กไหลไม่มีอยู่จริง
อันที่จริงผมก็ไม่ทราบนะครับว่าในมิติอื่นจะเป็นอย่างไร ศาสตร์ด้านอื่นจะมีหรือไม่มีก็แล้วแต่เขาจะพิจารณา ผมไม่ขอก้าวล่วง แต่ถ้าเป็นมิติของวิทยาศาสตร์ ความเป็น Earth material หรือวัสดุของโลกนั้นไม่มีจริง เราไม่มีแร่ที่ชื่อว่าเหล็กไหล แต่ส่วนใหญ่ คนไทยมักจะเคลิ้มและหลงใหลไปกับ ‘ความดำเมื่อม’ ความคัลเลอร์ฟูล (มีสีสัน) พอเห็นเป็นเช่นนั้นก็จะคิดว่ามีความศักดิ์สิทธิ์
พอผมไปพิจาณาเทียบเคียงกับแร่ทางธรณีวิทยาที่มีอยู่จริง ก็พบว่ามีแร่หลายชนิดที่มีลักษณะเมื่อมๆ ดำๆ ซึ่งกลายมาเป็นเหล็กไหลในความเชื่อของผู้คน ผมก็ไม่แน่ใจในเจตนาของผู้นำเสนอเรื่องราวของเหล็กไหลว่าต้องการอะไร ซึ่งถ้าถามผม ผมก็มองว่าไม่มีจริง แร่เหล่านี้เขาไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์อะไร
ตอนผมไปรีวิวแร่เหล็กไหล ผู้สร้างก็ declare (ประกาศ) ตัวเองอยู่นะว่า ไม่ใช่วัสดุที่เรียกว่าเหล็กไหลหรอก แต่พอเอาไปลงอาคม ก็กลายเป็นเหล็กไหล ผมถือว่ามีความแฟร์อยู่นิดหนึ่ง ที่ไม่ได้ตั้งต้นว่าเป็นวัสดุเหล็กไหลเลยตั้งแต่แรก
“แร่ธาตุศักดิ์สิทธิ์” ในมุมมองของฝรั่ง
คริปโตไนท์ ของที่ซูเปอร์แมนกลัว
ในทางวัสดุของโลก แร่ที่ชื่อ คริปโตไนท์ ไม่มีอยู่จริง อาจจะเป็นจินตนาการของผู้แต่งเรื่องซูเปอร์แมน แต่ในภาพวาดการ์ตูนซูเปอร์แมนมีลักษณะเหมือนผลึกแร่ ซึ่งลักษณะของผลึกแร่เหมือนเป็นแร่ควอตซ์ ซึ่งคนไทยเรียกว่า แร่เขี้ยวหนุมาน ก็น่าตลกอยู่นะครับที่ซูเปอร์แมนผู้ยิ่งใหญ่มาแพ้เขี้ยวหนุมานของบ้านเรา (หัวเราะ)
เช่นเดียวกับ แร่ไวเบรเนียม ที่เอามาทำโล่ในเรื่องกัปตันอเมริกา อันนี้ก็ไม่มีอยู่จริง และพอเห็นแล้วก็ไม่ทราบว่าเป็นแร่อะไรในโลกความเป็นจริง
ซึ่งถ้าลองพิจารณาเรื่องเหล่านี้ดู เมืองนอกก็มีแง่มุมของเรื่องราวอิทธิฤทธิ์และอภินิหาร เมืองนอกก็มียอดมนุษย์ เมืองไทยก็มีเหนือมนุษย์ แต่ความแตกต่างระหว่างเมืองนอกกับเมืองไทย คือ ต่างประเทศรู้จักที่จะแยกความเหนือมนุษย์ และความอภินิหารออกจากความเป็นจริง เขาผลักความเหนือมนุษย์ออกไปเป็นเรื่องแฟนตาซี ให้กับเด็กๆ ได้สนุกสนานกับเรื่องราวเหล่านี้ แล้วผู้ใหญ่ก็จะแยกแยะได้เมื่อผ่านวัยเด็กมาแล้ว ว่าเรื่องเหล่านี้ไม่มีอยู่ในโลกของความเป็นจริง
แต่บ้านเรายัง ‘ไม่ชัดเจน’ ว่าตกลงแล้วเรื่องอภินิหารนี้เป็นจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่เรื่องแฟนตาซี ถ้าคนไทยเราอยากจะมองถึงโลกความเป็นจริงให้มากขึ้น กลัวให้น้อยลง ผมมองว่าเราควรที่จะต้องแยกอภินิหาร กับความจริงให้ชัด ถ้าจะเป็นเรื่องของอภินิหารสำหรับเด็กก็ขอให้มองเป็นเรื่องบันเทิงไป