มองหาหนทางสู่อนาคต – เราอาศัยอยู่ในยุคใหม่แห่ง การสำรวจ
การสำรวจ – มีพิพิธภัณฑ์เพียงแห่งเดียวบนเส้นทางออริกอนเทรลสายเก่าที่บอกเล่าเรื่องราวการขยายเมืองไปทางตะวันตกของอเมริกาผ่านสายตาผู้คนที่ดินแดนถูกรุกลํ้า ห้องแสดงภาพผนังกรุไม้ที่เชื่อมต่อกันเหมือนโพรงกระต่ายและสิ่งจัดแสดงที่โต้ตอบกับผู้ชมได้เฉลิมฉลองมรดกของชนพื้นเมืองอเมริกัน และไว้อาลัยแด่สิ่งที่ถูกทำลายเมื่อเหล่าผู้บุกเบิกมาถึง ผู้มาเยือนที่เดินตามทางลาดยาวจะผ่านเข้าสู่ผนังอิฐด้านหน้าของ “โรงเรียนฝึกอินเดียนแดง” (Indian training school) จำลอง ที่ซึ่งเด็ก ๆ ชนพื้นเมืองอเมริกันถูกบังคับให้เปลี่ยนแปลงและกลืนกลาย ภาพถ่ายขนาดเท่าจริงของนักเรียนจ้องกลับมาจากช่วงเวลากว่าหนึ่งร้อยปีก่อน
“เราถูกบอกให้เขียนเรื่องราวของตัวเอง ถ้าเราอยากให้เรื่องออกมาดีค่ะ” บ็อบบี้ คอนเนอร์ อธิบาย เธอนั่งอยู่ในห้องประชุมของสถาบันวัฒนธรรมทามัสต์สลิกต์ที่เธอเป็นผู้อำนวยการ ในเขตสงวนยูมาทิลลาอันเป็นบ้านเกิดของชนเผ่าไคยูส, ยูมาทิลลา และวอลลาวอลลา “และเรื่องนี้ก็เก่าแก่ยาวนาน นั่นคือการพิชิต”
ประวัติศาสตร์ของการสำรวจมักบอกเล่าจากสองมุมมอง นักสำรวจกับภูเขาสูง นักสำรวจกับเกาะห่างไกล นักสำรวจกับชนเผ่าที่ไม่เคยติดต่อโลกภายนอก ผู้พิชิตและผู้ถูกพิชิต ทุกวันนี้ นิยามการสำรวจขยายกว้างขึ้น เราสำรวจร่างกายของเรา บรรพบุรุษของเรา ความจุสมองของเรา เราสำรวจประวัติศาสตร์และผู้คนที่บอกเล่าเรื่องราวเหล่านั้นนักสำรวจเป็นทั้งนักผจญภัย นักแสดง นักวิทยาศาสตร์ และตอนนี้ก็มีบทบาทใหม่ คือตัวประสาน หรือคนที่ช่วยให้เราเข้าใจว่าเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ผู้บุกเบิกเหล่านี้กำลังสอบทานตำราประวัติศาสตร์ของเราเขียนมันขึ้นใหม่ และหวังว่าจะป้องกันไม่ให้ประวัติศาสตร์ซํ้ารอย
หลายปีที่ฉันเขียนสารคดีให้นิตยสารฉบับนี้จากที่ต่าง ๆ เช่น บึงอันห่างไกลทางใต้ของซูดาน พรมแดนทะเลทรายระหว่างสหรัฐฯ กับเม็กซิโก และเทือกเขาทางตะวันออกของคองโก ตอนนี้สิ่งที่ทอดยาวอยู่เบื้องหน้าฉัน คือความสามัญธรรมดาของถิ่นฐานบ้านเกิดที่ฉันไม่เคยสนใจอะไรนัก พลางตั้งคำถามถึงแนวคิดในการสำรวจกับตัวเอง
แต่ก่อนอื่น ขอย้อนเวลากลับไปราว 60,000 ปีก่อนที่ “มนุษย์กลุ่มเล็ก ๆ ในแอฟริกาอพยพออกมาและห่างหายกันไป” นี่มาจากเฟลิเป เฟร์นันเดซ-อาร์เมสโต นักประวัติศาสตร์และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยนอตเทรอดาม ผู้ใช้เวลาเกือบหกสิบปีศึกษาว่าโลกแปรเปลี่ยนไปอย่างไร ด้วยกระบวนการที่เขาเรียกว่า การหาเส้นทาง ซึ่งวัฒนธรรมที่แตกต่างได้ปะทะสังสรรค์ มีปฏิสัมพันธ์ และ ปรับตัวเข้าหากันในการเดินทางที่ขับเคลื่อนด้วยความโลภ ลัทธิจักรวรรดินิยม ศาสนา และวิทยาการ เขาบอกว่า “ประวัติศาสตร์ของการสำรวจคือการปะติดปะต่อเส้นทาง ต่าง ๆ ระหว่างผู้คนที่แตกต่างกันให้เชื่อมต่อกันอีกครั้ง”
เป้าหมายนี้เองที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ และทหาร ร่วมกันก่อตั้งสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก เมื่อปี 1888 ตลอด 135 ปีที่ผ่านมา เราสำรวจทะเล ท้องฟ้า แผ่นดิน และอวกาศ “เพื่อเพิ่มพูนและเผยแพร่ ความรู้ทางภูมิศาสตร์” ในบางครั้ง การสำรวจที่เราให้ทุนสนับสนุน บันทึก และถ่ายทอดเรื่องราว ก็ดูจะไม่ใช่เรื่องของการติดต่อระหว่างกันมากเท่ากับการเป็นคนแรก และหลักชัยเหล่านั้นก็ไม่เคยขาดแคลน ตั้งแต่การพิชิตยอดเขาเมานต์เอเวอเรสต์โดยทีมนักปีนเขาอเมริกัน ไปจนถึงการ ทำแผนที่พื้นมหาสมุทรแอตแลนติก และการเป็นคนแรกเหล่านั้นก็กลายเป็นการค้นพบ ทั้ง วิทยาศาสตร์ อวกาศ และโลกธรรมชาติ ล้วนอัดแน่น ไปด้วยความลับนานัปการ ครอบครัวลีคีย์ขุดพบฟอสซิลบรรพบุรุษมนุษย์ เจน กูดดอลล์ ใช้ชีวิตร่วมกับชิมแปนซี และนักอนุรักษ์อย่างไมก์ เฟย์ ก็ออกเดิน 3,200 กิโลเมตรลุยป่าฝนเขตร้อนต่าง ๆ ในแอฟริกากลาง
เรื่องราวต่าง ๆ ขับเคลื่อนการสำรวจมาหลายร้อยปีในช่วงที่เรียกว่ายุคแห่งการสำรวจของยุโรป จากศตวรรษที่สิบห้าถึงสิบเจ็ด นิยายชื่อดังเล่าเรื่องที่ตัวเอกออกผจญภัยอย่างหาญกล้า ขณะที่การผจญภัยของอัศวินในตำนาน อาจเป็นแรงบันดาลใจให้โคลัมบัสและมาเจลลันออกเดินเรือ บางทีภาพถ่ายและแผนที่ที่นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ตีพิมพ์อาจทำให้ผู้อ่านขยับตัวออกไปดูโลก แต่เรื่องราวต่าง ๆ ยังหนุนนำความคิดที่ว่า นักสำรวจมักมาจากโลกตะวันตกด้วย ซึ่งไม่จริงเสียทีเดียว
“มีความล้มเหลวทางวรรณกรรมในการนำเสนอนักสำรวจจากประเทศอื่น ๆ ดังนั้น ในช่วง 500 ปีที่ผ่านมา การสำรวจจึงเป็นเรื่องเล่าของชายผิวขาวจากอดีตเป็นหลัก” เฟร์นันเดซ-อาร์เมสโตบอกและเสริมว่า “ทำให้คนเข้าใจว่ามันเป็นกิจกรรมของชายผิวขาว ซึ่งไม่ใช่เลย”
หนึ่งในแผนที่โลกฉบับแรกสุดวาดอยู่บนผนังถํ้าแห่งหนึ่งในอินเดียเมื่อราว 8,000 ปีก่อน และนักสำรวจคนแรกที่เรารู้ชื่อคือ ฮาร์คุฟ ผู้นำคณะสำรวจจากอียิปต์ยุคฟาโรห์ไปยังแอฟริกาเมื่อราว 2290 ปีก่อน ค.ศ. แล้วยังมีชาวบันตู ที่อพยพจากแอฟริกาตะวันตกข้ามภูมิภาคซับสะฮาราเมื่อหนึ่งพันปีก่อนหน้านั้น ในมหาสมุทรแปซิฟิกมีผู้ใช้เรือขุดและเรือใบท่องไปตามดวงดาวและคลื่นทะเลเพื่อทำแผนที่และยึดครองหมู่เกาะต่าง ๆ จากนิวกินีไปถึงฮาวาย มาตั้งแต่ราว 1500 ปีก่อน ค.ศ. ในศตวรรษที่เจ็ด ภิกษุชาวจีนนามเสวียนจั้งเดินทางจากจีนไปชมพูทวีปเพื่ออัญเชิญพระไตรปิฎกฉบับดั้งเดิม ในศตวรรษเดียวกัน กองทัพอาหรับตบเท้าจากคาบสมุทรอาหรับไปเอเชียกลางและแอฟริกาเหนือด้วยแรงขับจากการเผยแผ่ศาสนา
ยุคสมัยของนักสำรวจที่เป็นบุรุษผิวขาวตามมาอีกนานหลังจากนั้น และแบบฉบับดังกล่าวก็ครอบงำเรื่องเล่าในโลกตะวันตก แต่นักสำรวจจากที่อื่น ๆ มีอยู่เสมอ
ในคลังข้อมูลของ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉันพบตัวอย่างใหม่กว่านั้นของผู้คนที่สมาคมเคยมองข้าม จูเลียต เบรดอน นักสำรวจหญิงที่ตีพิมพ์ผลงานในชื่อ แอดัม วอร์วิก บอกเล่าการสำรวจเมืองจีนในทศวรรษ 1920 และเรอีนา ตอร์เรส เด อาราอูซ นักมานุษยวิทยาชาวปานามา ออกสำรวจจากอเมริกาใต้ไปยังอเมริกาเหนือทางรถเป็นครั้งแรก ในแฟ้มข่าวตัดเกี่ยวกับแฮร์เรียต ชาลเมอร์ส แอดัมส์ ผู้เดินทาง 64,000 กิโลเมตรข้ามลาตินอเมริกาเพื่อตามรอยโคลัมบัสจากยุโรปไปอเมริกาใต้ในช่วงรอยต่อของศตวรรษที่ยี่สิบ และบันทึกภาพสงครามโลกครั้งที่หนึ่งจากแนวหน้า พาดหัวข่าวนำเสนอข้อมูลน่าสนใจยิ่งกว่าว่า เธอผิดแผกจากผู้หญิงทั่วไปอย่างไร
ขณะที่เราขุดลึกลงในประวัติศาสตร์เพื่อนำคนใหม่ ๆ เข้าสู่วิหารแห่งนักสำรวจ เราก็ประเมินเรื่องเก่า ๆ ซํ้าอีกครั้ง การสำรวจหมายถึงอะไรสำหรับผู้คนที่ถูกสำรวจ และจากนั้นก็มักถูกใช้ประโยชน์หรือกระทั่งถูกกำจัดทิ้ง สถานที่หนึ่ง ๆ ถูกค้นพบได้จริงหรือ
ทุกวันนี้ ประวัติศาสตร์แห่งการสำรวจกำลังถูกเขียนขึ้นใหม่เพื่อเติมเต็มช่องว่างเก่า ๆ โดยคนอย่างทารา โรเบิร์ตส์ผู้สวมสนอร์เกิลบนปกนิตยสารฉบับเดือนมีนาคม 2022 ขณะดำนํ้าในฟลอริดาคีส์เพื่อทำแผนที่เรือจมที่เคยบรรทุกทาสจากแอฟริกามายังอเมริกา ยาซาน ค็อปตี นักประวัติศาสตร์มุขปาฐะชาวปาเลสไตน์ที่ขุดหาภาพอายุร้อยปีของชาวปาเลสไตน์จากคลังข้อมูลของ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก และใช้สื่อสังคมออนไลน์เติมเต็มเรื่องราวให้คนเหล่านั้น เช่น ชื่อเสียงเรียงนาม วันหยุดที่มีการเฉลิมฉลอง และหมู่บ้านในฉากหลัง
ที่สถาบันวัฒนธรรมทามัสต์สลิกต์ คอนเนอร์ ผู้สืบเชื้อสายจากเผ่าไคยูส, เนซเพิร์ซ และยูมาทิลลา ใช้คำว่า “ยึดคืน” บรรยายการสำรวจรูปแบบใหม่นี้ ชนเผ่าเนซเพิร์ซได้รับที่ดินบรรพบุรุษกว่า 800 ไร่เพื่อให้ลูกหลานได้รวมตัว กัน ฝังศพผู้วายชนม์ และจัดเทศกาลต่าง ๆ ชื่อของ ชนเผ่าต่าง ๆ กลับคืนสู่แผนที่และป้ายต่าง ๆ อีกครั้ง
คอนเนอร์บอกว่า ในตอนแรก แนวคิดการบอกเล่าเรื่องราวของตนเองในพิพิธภัณฑ์ทำให้สหพันธ์ชนเผ่าของเขตสงวนชนพื้นเมืองอเมริกันยูมาทิลลามึนงง การทำลาย ผู้คนและผืนแผ่นดินมีอะไรดี ๆ ให้เล่างั้นหรือ แต่พวกเขาคิดไปถึ งเรื่องเล่าว่าด้วยการสำรวจในรัฐออริกอนที่ยังคงเชิดชูรถม้าของผู้บุกเบิกบนธง และลองครุ่นคิดว่า เรื่องเล่าของพวกตนจะใหญ่กว่าผืนแผ่นดินอันเป็นที่มาของเรื่องราวนั้น ซึ่งก็คือซอกมุมเล็ก ๆ ริมขอบตะวันตกของอเมริกาได้มากเพียงใด และมันจะเชื่อมโยงกับคนทั่วโลกได้อย่างไร “นี่คือศูนย์กลางจักรวาลของเราค่ะ” เธอบอก “แต่มันเชื่อมโยงกับจักรวาลอื่น ๆ ทั้งหมด”
เรื่อง นีนา สตรอคลิก
คอลลาจภาพถ่าย นีล เจมีสัน
ติดตามสารคดี มองหาหนทางสู่อนาคต ฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกรกฎาคม 2566
สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/581775