เรื่อง ซาร่าห์ กิบเบ็นส์
ผู้คนจำนวนมากถึงกับดิ้นเร่าๆ หากพบว่ามีแมงมุมเกาะอยู่เหนือหัว หรือมีงูกำลังเลื้อยอยู่ใต้เท้า และในความเป็นจริงนักวิจัยระบุว่ามีเพียงแค่ 5% ของประชากรเท่านั้นที่มีภูมิต้านทานต่อความหวาดกลัวงูและแมงมุมนี้
คำถามก็คือความกลัวนี้เป็นสิ่งที่เราเรียนรู้หรือเป็นสิ่งที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิดกันแน่?
ทีมนักวิจัยจากสถาบัน Max Planck ในเยอรมนีและมหาวิทยาลัยอุปซอลาในสวีเดน ตัดสินใจทำการทดลองกับกลุ่มประชากรที่มีส่วนน้อยที่สุดที่จะแสดงความหวาดกลัวออกมานั่นคือ เด็กทารก
ทารกวัย 6 เดือนถูกนำมาทดสอบเพื่อวิเคราะห์ว่าพวกเขาจะมีปฏิกิริยาอย่างไรกับรูปภาพเหล่านี้ ซึ่งทีมนักวิจัยมองว่าพวกเขาน่าจะหวาดกลัว ในการทดลองทารกจะนั่งอยู่บนตักของพ่อหรือแม่ ในขณะที่ภาพถ่ายของแมงมุมและงูจะถูกเปิดออกเป็นเวลา 5 วินาที และเพื่อป้องกันไม่ให้พ่อแม่เข้ามามีส่วนร่วมกับการทดลอง พวกเขาจะถูกบังคับให้สวมแว่นตากันแดดเอาไว้ทำให้ไม่อาจทราบได้ว่าภาพที่เปิดออกมานั้นเป็นภาพอะไร
เมื่อทารกเห็นภาพของงูและแมงมุม พวกเขามีปฏิกิริยาตอบสนองผ่านรูม่านตาที่เบิกกว้างกว่า เมื่อเทียบกับภาพของปลาและดอกไม้ ผลการทดลองนี้ถูกเผยแพร่ลงในวารสาร Frontiers in Psychology ระบุว่าความหวาดกลัวสัตว์ประเภทนี้เป็นสิ่งที่ติดตัวเรามาตามธรรมชาติ
สาเหตุที่สรุปเช่นนั้นก็เพราะรูม่านตาของมนุษย์มีความสัมพันธ์กับการทำงานของสารสื่อประสาทนอร์เอพิเนฟริน(Norepinephrine) ซึ่งจะทำงานเมื่อร่างกายตื่นตัวหรือเกิดความเครียด โดยก่อนหน้านี้เคยมีการศึกษาเกี่ยวกับขนาดของม่านตาในผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับความเครียดและภาวะทางจิตใจมาแล้ว
“มีการตอบสนองต่อความเครียดในสมอง” Stefanie Hoehl หัวหน้าการวิจัยครั้งนี้กล่าว โดยระบุว่าเป็นการยากที่จะมองเห็นว่าทารกนั้นๆ กำลังรู้สึกเครียด แต่ลักษณะของม่านตาช่วยบ่งชี้อารมณ์ที่เกิดขึ้นได้ “ในการศึกษาปัจจุบันแสดงให้เห็นว่าความกลัวงูและแมงมุมนั้นเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ” David Rakison ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ผู้เคยศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการของทารกกล่าว
“ทารกมีกลไกเกี่ยวกับความกลัวโดยเฉพาะ นั่นหมายความว่าพวกเขาเตรียมพร้อมที่จะเรียนรู้อย่างรวดเร็วว่างูและแมงมุมนั้นมีความเกี่ยวข้องกับอารมณ์หรือพฤติกรรมที่ตอบสนองเป็นพิเศษ” ดังนั้นหากจะอธิบายเรื่องนี้ Hoehl ได้ขยายความให้เราเห็นภาพของวิวัฒนาการมนุษย์ที่ผ่านมา ที่งูและแมงมุมคือสัตว์อันตราย
ประวัติศาสตร์ว่าด้วยความกลัวงูและแมงมุม
“มันเป็นวิวัฒนาการร่วมที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน ประมาณ 40 – 60 ล้านปีก่อน มนุษย์ยุคแรกกับงูและแมงมุมมีปฏิสัมพันธ์กัน” Hoehl อธิบาย อสรพิษสักตัวที่บังเอิญซ่อนตัวอยู่ในทุ่งหญ้ากัดเข้ากับบรรพบรุษของมนุษย์ในยุคแรกๆ และทำให้เกิดการเสียชีวิตในเวลาต่อมา ดังนั้นความกลัวสัตว์เหล่านี้อาจเกี่ยวข้องกับกลไกป้องกันตัวตามธรรมชาติของเรา
ข้อมูลนี้ถูกอ้างอิงผ่านผลการศึกษาก่อนหน้าที่ทำการศึกษาในเด็กและผู้ใหญ่ พวกเขาพบว่ามีความหวาดกลัวงูและแมงมุมเหมือนกันซึ่งเชื่อว่าเป็นความกลัวที่ติดตัวมาแต่กำเนิด
ในปี 2001 ผลการศึกษาที่ถูกตีพิมพ์ลงใน Journal of Experimental Psychology ให้รายละเอียดว่า กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยกลุ่มหนึ่งถูกให้อธิบายถึงลักษณะของความกลัว และแน่นอนว่าพวกเขาระบุงูและแมงมุมเป็นสิ่งที่อันตรายกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหรือเชื้อรา
“งูเป็นภัยต่อวิวัฒนาการของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ฉะนั้นแล้วสัตว์ที่สามารถระบุและป้องกันตนเองจากงูได้ดีกว่าย่อมเอาตัวรอดได้มากกว่า” Arne Öhman หนึ่งในนักวิจัยผู้ศึกษาโครงการนี้กล่าวกับเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก
ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในปี 2008 ในวารสาร Cognition และวารสาร Evolution and Human Behavior เมื่อปี 2014 ก็ระบุเช่นกันว่าความกลัวงูและแมงมุมเป็นเรื่องที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น
ผู้หลงใหลงูและแมงมุม
ถ้าเช่นนั้นแล้วเหตุใด มนุษย์บางคนถึงมีความหวาดกลัวในขณะที่อีกคนไม่มีและเลี้ยงสัตว์เหล่านี้ไว้ราวกับสัตว์เลี้ยง
ไม่ใช่ว่าทุกการวิจัยจะระบุว่าความกลัวประเภทนี้เป็นความกลัวตามธรรมชาติ รายงานการวิจัยใน Current Directions in Psychological Science พบว่า ทารกวัย 7 เดือนสังเกตเห็นภาพของงูอย่างรวดเร็ว แต่ไม่มีปฏิกิริยาแสดงออกซึ่งความกลัว ผลการวิจัยนี้อาจกำลังบอกเราว่า เด็กๆ ไม่ได้มีความกลัวอยู่ภายใน แค่สังเกตและระบุว่ามันคืองูหรือแมงมุมได้อย่างรวดเร็วเท่านั้น
การเรียนรู้ทางสังคมคือสาเหตุของความคลาดเคลื่อนดังกล่าว Hoehl กล่าว จากการศึกษานี้พวกเขามุ่งเป้าไปที่ทารกในวัย 6 เดือน ซึ่งยังไม่สามารถคลานหรือเดินได้ หากทารกสามารถเคลื่อนไหวร่างกายตัวเองได้มากขึ้น พวกเขาจะเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติรอบๆ ตัว ซึ่งผลจากการวิจัยในมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก เมื่อปี 2015 พบว่า เด็กทารกจะเริ่มจัดการกับความสูงของสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น เมื่อพวกเขาคุ้นเคยกับสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว
ฉะนั้นแล้วผู้ปกครองคือปัจจัยสำคัญว่าเด็กคนนั้นจะมีความกลัวมากน้อยแค่ไหน หากเด็กถูกงูหรือแมงมุมกัดพวกเขาจะเรียนรู้ปฏิสัมพันธ์ที่มีกับพวกมันว่าสัตว์เหล่านี้เป็นอันตราย แต่อย่างไรก็ตามปฏิกิริยาที่พ่อแม่มีต่อสัตว์เหล่านี้ล้วนส่งอิทธิพลต่อเด็กด้วยเช่นกัน
ในการศึกษาครั้งต่อๆ ไปที่จะเกิดในอนาคต Hoehl คาดหวังว่าตัวเขาจะได้ศึกษาว่าอารมณ์จะมีผลต่อความกลัวงูและแมงมุมอย่างไร หากสัตว์เหล่านั้นตอบสนองต่อเราด้วยความเครียด
อ่านเพิ่มเติม : ภาพความสนิทสนมของคนรักงูกับสัตว์เลี้ยงแสนรัก, ร่วมฉลองวันงูโลก (World Snake Day) 16 กรกฎาคมด้วย 22 ภาพถ่าย น่าตื่นตาของสารพัดงู