ผลการศึกษาใหม่ชี้ ดาวศุกร์ไม่เคยมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิต

ผลการศึกษาใหม่ชี้ ดาวศุกร์ไม่เคยมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิต

“นักวิทยาศาสตร์ให้เหตุผลใหม่ที่อาจหักล้างความเชื่อเดิม

ที่ว่าดาวศุกร์เคยเป็นเหมือน ‘สวรรค์” ให้กับสิ่งมีชีวิต”

ดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์ที่ได้ชื่อว่าฝาแฝดโลก ทั้งขนาดและองค์ประกอบต่าง ๆ โดยในปัจจุบันดาวเคราะห์ดวงนี้นั้นมีสภาพที่ไม่น่าอยู่มากนัก เนื่องจากมันมีอุณหภูมิพื้นผิวสูงเกิน 500 องศาเซลเซียส ซึ่งร้อนพอจะละลายตะกั่วได้ อีกทั้งดาวดวงนี้ยถูกปกคลุมด้วยเมฆกรดซัลฟิวริกที่มีฤิทธิ์กัดกร่อนเพิ่มเติม

แต่งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นในอดีตได้ให้เบาะแสว่า ‘ดาวศุกร์อาจเคยมีสภาพที่น่าอยู่กว่านี้’ งานวิจัยเหล่านั้นระบุว่า ครั้งหนึ่งดาวศุกร์เคยมีอุณหภูมิที่เย็นเพียงพอจะกักเก็บน้ำในสถานะของเหลวเอาไว้ได้ หากเป็นเช่นนั้น มันก็จะมีช่วงเวลาหนึ่งที่น่าจะรองรับชีวิตได้ 

จนกระทั่งปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่พุ่งสูงขึ้นจากการปะทุครั้งใหญ่ของภูเขาไฟ ส่งผลให้ดาวศุกร์ร้อนขึ้นเรื่อย ๆ ไปจนถึงจุดที่ไม่สามารถกักเก็บน้ำที่เป็นของเหลวได้อีกต่อไป แล้วก็กลายเป็น ‘นรก’ อย่างเช่นทุกวันนี้ อย่างไรก็ตามยังมีอีกแนวคิดหนึ่งที่โดดเด่นขึ้นมา แนวคิดนี้นำเสนอว่าจริง ๆ แล้วดาวศุกร์ ‘เกิดมาร้อน’ ตั้งแต่แรกต่างหาก

“ทฤษฏีทั้งสองนี้มีพื้นฐานมาจากแบบจำลองสภาพอากาศ แต่เราต้องการใช้แนวทางที่แตกต่างออกไปโดยอาศัยการสังเกตการณ์เคมีในชั้นบรรยากาศปัจจุบันของดาวศุกร์” เทเรซา คอนสแตนติโน (Tereza Constantinou) นักวิจัยระดับปริญญาเอกจากสถาบันดาราศาสตร์เคมบริดจ์ ผู้เขียนวิจัยกล่าว

ร้อนแรงตั้งแต่เกิด

ตามรายงานล่าสุดที่เผยแพร่บนวารสาร Nature Astronomy คอนสแตนติโนและเพื่อนร่วมงานได้พยายามศึกษาดาวศุกร์ด้วยแนวทางใหม่ ๆ เพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ในด้านความเปลี่ยนแปลง

กล่าวคือพวกเขาเชื่อว่าน้ำ คาร์บอนไดออกไซด์ และคาร์บอนิลซัลไฟต์ในชั้นบรรยากาศถูกทำลายไปอย่างรวดเร็ว และถูกเติมเต็มด้วยแม็กมาภูเขาไฟ ตามสมมติฐานนี้แล้วบรรยากาศของดาวศุกร์จึงน่าจะยังมีความเสถียรอยู่ 

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเกิดฝนตกบนดาวศุกร์ น้ำจะไหลไปใต้ดินเข้าไปรวมกับแมกมา (เรากำลังพูดถึงโมเลกุลของน้ำ) ซึ่งก็จะถูกปลดปล่อยออกมาเช่นเดิมตามกิจกรรมของภูเขาไฟ ดังนั้นต่อให้มีก๊าซเรือนกระจก ‘ของเหลว’ ก็จะยังคงมีอยู่บนดาวศุกร์แต่เพียงแต่มันจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น 

ซึ่งหมายความว่าดาวศุกร์ในปัจจุบันควรมีน้ำอยู่หรืออาจอยู่ในรูปแบบอื่น ๆ ที่สามารถตรวจจับได้ แต่ปัจจุบันดาวศุกร์เหลือเพียงพื้นผิวที่แห้งร้อน และการวิเคราะห์การปะทุของภูเขาไฟ ก็ชี้ให้เห็นว่าภูเขาไฟปล่อยไอน้ำได้ไม่ถึงร้อยละ 6  ขณะที่ภูเขาไฟบนโลกปะทุไอน้ำออกมามากกว่าร้อยละ 60 ดังนั้นพวกเขาเชื่อว่าดาวศุกร์ ‘ร้อนและแห้งผาก’ มาตั้งแต่แรก

“เคมีในชั้นบรรยากาศบ่งชี้ว่าการปะทุของภูเขาไฟบนดาวศุกร์ปล่อยน้ำออกมาเพียงเล็กน้อย ซึ่งหมายความว่าภายในของดาวศุกร์ที่เป็นแหล่งกำเนิดของภูเขาไฟก็แห้งเช่นกัน สิ่งนี้สอดคล้องกับแนวคิดที่ว่าดาวศุกร์เคยมีพื้นผิวที่แห้งมาเป็นเวลานาน และไม่เคยเหมาะแก่การอยู่อาศัย” คอนสแตนติโน กล่าว

แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นด้วย แฟรงก์ มิลส์ (Frank Mills) นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ให้ความเห็นว่างานวิจัยนี้ยังมีหลักฐานไม่เพียงพอ ซึ่งทั้งหมดนี้มาจากการตั้งสมมติฐานเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม คอนสแตนติโน เผยว่ารายงานนี้ไม่ใช่การ ‘ฟันธง’ ว่าดาวศุกร์จะเป็นเช่นนั้นจริง ๆ เพียงแต่เป็นการเสนอแนวคิดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของดาวศุกร์ ทั้งนี้เขาเห็นด้วยว่าจำเป็นต้องมีการส่งยานไปตรวจสอบในพื้นที่จริงเพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว 

“เราจะยังคงไม่รู้แน่ชัดว่าดาวศุกร์สามารถรองรับชีวิตได้หรือไม่ จนกว่าเราจะส่งยานสำรวจไปในช่วงปลายทศวรรษนี้” คอนสแตนติโน กล่าว “แต่เนื่องจากดาวศุกร์ไม่น่าจะเคยมีมหาสมุทร จึงยากที่จะจินตนาการได้ว่าดาวศุกร์นั้นสามารถรองรับสิ่งมีชีวิตที่คล้ายกับโลกได้หรือไม่” 

ปัจจุบันนาซา (NASA) มีโครงการที่ชื่อว่า DaVINCI ซึ่งจะส่งยานไปยังดาวศุกร์เพื่อศึกษาสภาพแวดล้อมของดาวดวงนี้ ด้วยการบินผ่านและลงจอดสำรวจในช่วงปี 2030 ระหว่างนี้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนจึง ยังเชื่อว่าดาวศุกร์ควรถูกจัดอยู่ในขอบเขตที่สามารถอยู่อาศัยได้ และหากมันมันเคยเป็นสถานที่ดีเพียงพอในการรองรับชีวิต ดาวเคราะห์นอกระบบหลายดวงก็สามารถอาศัยอยู่ได้เช่นเดียวกัน

“กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ เป็นกล้องโทรทรรศน์ที่เหมาะที่สุดสำหรับการศึกษาบรรยากาศของดาวเคราะห์รนอกระบบที่อยู่ใก้ลกับดาวฤกษ์แม่ของดาวเคราะห์เช่น ดาวศุกร์ แต่หากดาวศุกร์ไม่เคยอาศัยอยู่ได้ ก็จะทำให้ดาวเคราะห์ที่คล้ายดาวศุกร์ในที่อื่น ๆ มีโอกาสอาศัยอยู่ได้น้อยลง” คอนสแตนติโน อธิบาย

“เราคงดีใจมากหากพบว่าดาวศุกร์เคยเป็นดาวเคราะห์ที่ใกล้เคียงกับโลกมาที่สุด ดังนั้นมันจึงค่อนข้างเศร้าหากพบว่าไม่ใช่ แต่ในท้ายที่สุดแล้ว การมุ่งเน้นการค้นหาไปยังดาวเคราะห์ที่มีแนวโน้มจะรองรับสิ่งมีชีวิตได้มากที่สุดนั้นเป็นประโยชน์มากกว่า อย่างน้อยก็สิ่งมีชีวิตตามที่เรารู้จัก” 

สืบค้นและเรียบเรียง

วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://www.nature.com

https://www.smithsonianmag.com

https://www.sci.news

https://www.theguardian.com

https://www.space.com


อ่านเพิ่มเติม : นาซ่าพบข้อมูลใหม่ อาจมี ‘สิ่งมีชีวิต’ บนดาวยูเรนัส

Recommend