“ผู้ป่วยไมเกรนจำนวนไม่น้อยต่างยืนยันว่า วิธีนี้ใช้ได้ผล
เราจึงขอให้ผู้เชี่ยวชาญช่วยอธิบายว่า
เหตุใดเครื่องดื่มที่มีโซดาจึงช่วยบรรเทาอาการปวดไมเกรนลงได้”
ทุกครั้งที่ฉันรู้สึกว่า ไมเกรนกำลังจะมาเยือน ฉันมักจะควานหาเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอย่างโคล่าแก้วใหญ่ๆ
ฉันเป็นหนึ่งในกลุ่มคนราว 14 -15 เปอร์เซ็นต์ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับโรคไมเกรน (Migraine) หรือโรคปวดศีรษะไมเกรน หนึ่งในโรคซึ่งเป็นสาเหตุของการลางาน และการไปพบแพทย์หลายต่อหลายครั้งของคนจำนวนไม่น้อย แม้ว่าปัจจุบันจะมียาสำหรับรักษาโรคไมเกรนหลายชนิด แต่ผู้ป่วยไมเกรนเรื้อรังจำนวนหนึ่งต่างก็ยอมรับว่า พวกเขามีวิธีบรรเทาอาการปวดไมเกรนด้วยตนเองที่ใช้อยู่เป็นประจำ
ว่ากันว่า การดื่มเครื่องดื่มโซดาที่มีคาเฟอีน เช่น โคล่า เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยบรรเทาอาการปวดไมเกรนและการป้องกันไม่ให้อาการกำเริบได้ เรื่องนี้ทำให้ฉันอดสงสัยไม่ได้ว่า ผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้เห็นด้วยหรือไม่ ผลปรากฎว่า พวกเขาไม่เพียงไม่ปฏิเสธ แต่ยังเห็นด้วยว่า วิธีนี้ช่วยบรรเทาอาการปวดไมเกรนในผู้ป่วยบางรายได้จริง
“เราพบว่า มีเหตุผลทางการแพทย์บางอย่างที่สนับสนุนเรื่องนี้จริง” แคธเธอรีน แคร์รอลล์ (Katherine Carroll) อายุรแพทย์เฉพาะทางด้านประสาทวิทยา โรงเรียนแพทย์ Northwestern Feinberg ในเมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าว
และนั่นอาจเป็นเหตุผลว่า “เพราะเหตุใด การบรรเทาอาการปวดไมเกรนด้วยตนเองวิธีนี้ จึงเป็นที่แพร่หลายในโลกโซเชียล” ดังที่เรียกกันว่า “McDonald’s migraine hack” ซึ่งเป็นการสั่งโคล่าไซส์ใหญ่จับคู่กับเฟรนช์ฟรายไซส์บิ๊กบึ้ม
แม้ว่าเครื่องดื่มผสมโซดาที่มีคาเฟอีนไม่อาจช่วยบรรเทาอาการปวดไมเกรนได้อย่างประสิทธิภาพ 100% และก็ไม่ควรใช้วิธีนี้แทนการรับประทานยารักษาไมเกรน แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็อดกล่าวไม่ได้ว่า วิธีนี้ก็มีข้อดีอยู่ด้วยจริงๆ

ทำไมคุณถึงอยากดื่มเครื่องดื่มที่มีโซดา เมื่อปวดหัวไมเกรน
ความแตกต่างอย่างชัดของไมเกรนกับอาการปวดศีรษะประเภทอื่นนั่นคือ โรคไมเกรนจะมีลำดับแสดงอาการ 4 ระยะด้วยกัน ได้แก่ ระยะก่อนมีอาการ (prodrome phase) ระยะอาการเตือนนำ หรือออร่า (aura phase) ระยะปวดศีรษะ (headache phase) และระยะเข้าสู่อาการปกติ หรือระยะหลังมีอาการ (postdrrome phase)
ช่วงระหว่าง prodrome phase ซึ่งอาจเริ่มก่อนอาการปวดศีรษะหลายชั่วโมง หรือหลายวัน ผู้ป่วยมักรู้สึกอยากกินอาหารบางชนิดขึ้นมาดื้อๆ พฤติกรรมนี้อาจจะเป็นความพยายามของร่างกายในการบรรเทาอาการปวดไมเกรนด้วยการแก้ไขปัจจัยเสี่ยงที่กระตุ้นให้อาการกำเริบ
“ใน prodrome phase ก่อนที่อาการปวดไมเกรนจะเกิดขึ้นจริงๆ ร่างกายของเราจะพยายามรักษาตัวเองก่อน” อะแมนด้า เอลลิสัน ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัย Durham University สหราชอาณาจักร และผู้เขียนหนังสือ Splitting: The Inside Story on Headaches กล่าว
ปัจจัยกระตุ้นอาการปวดไมเกรนที่พบบ่อย ได้แก่ ความผันผวนของระดับฮอร์โมน (บางชนิด) ภาวะร่างกายขาดน้ำ ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไป หรือต่ำเกินไป ความเครียด การนอนไม่หลับ หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การรับประทานอาหาร หรือเครื่องดื่มบางอย่างที่กระตุ้นให้ไมเกรนกำเริบ เช่น ไวน์ เนื้อสัตว์แปรรูป
ด้วยเหตุผลเหล่านี้จึงทำให้คนอย่างฉันพยายามเยียวยาอาการปวดไมเกรนของตนเอง ด้วยการหาโคล่าแก้วใหญ่ๆ มาดื่ม เพราะหวังว่า ส่วนผสมบางอย่างในโคล่านั้นจะช่วยบรรเทาอาการปวดไมเกรนลงได้บ้าง

ดื่มโคล่าปริมาณมากๆ จะช่วยลดปวดไมเกรนได้อย่างไร
เราพบว่า มีส่วนผสมหลายอย่างในโคล่าที่สามารถช่วยบรรเทาอาการนำก่อนไมเกรนกำเริบ หรือช่วยลดปัจจัยที่จะกระตุ้นให้เกิดไมเกรนได้
ทว่าไม่เพียงโคล่าเท่านั้นที่มีผลต่อการลดต่อไมเกรน แต่ยังรวมถึงน้ำแข็งที่นิยมใส่ลงไปในโคล่าด้วย ดังที่รู้กันทั่วไปว่า “ความเย็น” สามารถช่วยลดอาการปวดได้นั่นเอง ในขณะเดียวกันฤทธิ์จากคาเฟอีนในโคล่าก็ช่วยให้หลอดเลือดหดตัว และช่วยเสริมฤทธิ์ยาแก้ปวดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
“ตัวคาเฟอีนนั้นมีฤทธิ์ที่ช่วยป้องกันการเกิดไมเกรนได้ดี” อิหมัด เอสเตมาลิก อายุรแพทย์เฉพาะทางด้านประสาทวิทยาของคลินิก Cleveland ในรัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา กล่าว พร้อมเสริมว่า มียารักษาไมเกรนหลายชนิดที่ผสมคาเฟอีนลงไปเพื่อเสริมการออกฤทธิ์ให้ดีขึ้น
สำหรับบางคนแล้ว ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในโคล่ายังอาจช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียน และปวดท้องได้ “การคลื่นไส้ อาเจียนเป็นหนึ่งในปัจจัยที่กระตุ้นให้อาการไมเกรนกำเริบได้” อเดล อาซิส อายุรแพทย์เฉพาะทางด้านประสาทวิทยา จาก Hackensack Meridian Health ในรัฐนิวเจอร์ซี สหรัฐอเมริกา กล่าว และสำหรับผู้ที่มีอาการไมเกรนเนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ น้ำตาลในโคล่าก็ช่วยป้องกันไม่ให้ไมเกรนกำเริบได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การดื่มโคล่าเพื่อลดอาการปวดไมเกรน หรือดื่มโคล่าเพื่อป้องกันไมเกรนกำเริบนี้ ก็อาจใช้ไม่ได้ผลกับทุกคน ไม่เพียง
เท่านั้นในบางรายยังอาจทำให้อาการปวดไมเกรนยิ่งย่ำแย่ลงไปอีก “การปวดไมเกรนในแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน” อาซิส กล่าว พร้อมเสริมว่า ปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการปวดไมเกรนมีความแตกต่างกันไปในแต่ละคน รวมทั้งลักษณะต่างๆ ของอาการปวด ตำแหน่ง ความรุนแรง ลักษณะอาการปวด และการดำเนินการปวดในผู้ป่วยแต่ละรายก็ยังมีความแตกต่างกันด้วย
การดื่มเครื่องดื่มที่มีโซดาจะส่งผลเสีย หรือช่วยเรื่องอะไรได้บ้างนั้น แท้จริงแล้วขึ้นอยู่กับปัจจัยที่กระตุ้นให้ไมเกรนกำเริบในแต่ละบุคคลมากกว่า เช่นเดียวกันปริมาณที่ดื่มเข้าไป ยกตัวอย่างเช่น คาเฟอีนในปริมาณเล็กน้อยอาจจะช่วยบรรเทาอาการไมเกรนได้ แต่หากดื่มมากเกินไปจนติดเป็นนิสัยก็อาจกลายเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ไมเกรนกำเริบขึ้นมาได้เช่นกัน
หากสาเหตุการกำเริบของไมเกรนมาจากภาวะเกลือแร่ในร่างกายไม่สมดุล การบริโภคเกลือเพิ่มก็อาจช่วยได้ แต่หากบริโภคมากเกินไป ปริมาณเกลือสะสมเหล่านี้ก็อาจทำให้ร่างกายขาดน้ำแทน ซึ่งนั่นเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ไมเกรนกำเริบที่พบบ่อย สุดท้ายแล้ว แม้ว่าการดื่มเครื่องดื่มที่มีโซดาจะช่วยบรรเทาอาการระดับน้ำตาลในเลือดต่ำได้จริง แต่หากคุณมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงอยู่แล้ว การบรรเทาอาการปวดไมเกรนด้วยวิธีนี้กลับจะยิ่งทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดของคุณสูงขึ้นไปอีก ส่งผลให้ร่างกายแย่ลง
“ผู้ป่วยแต่ละรายไม่เหมือนกัน” อิหมัด เอสเตมาลิก อายุรแพทย์เฉพาะทางด้านประสาทวิทยากล่าว และยังเสริมอีกว่า หนึ่งในวิธีการควบคุมอาการปวดไมเกรนให้ได้ผลนั้น ผู้ป่วยแต่ละรายควรหาปัจจัยเสี่ยงที่กระตุ้นให้เกิดอาการนี้ให้จงได้


ใครบ้างที่ไม่ควรดื่มโคล่าเพื่อลดปวดไมเกรน
อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรติดนิสัยหยิบโคล่ามาดื่มเพื่อบรรเทาอาการปวดไมเกรน อเดล อาซิส อายุรแพทย์เฉพาะทางด้านประสาทวิทยา กล่าว พร้อมเสริมว่า เขายังไม่แนะนำให้ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน รักษาอาการปวดไมเกรนด้วยวิธีนี้ เพราะนั่นอาจจะทำให้ปัญหาสุขภาพย่ำแย่ลง อีกทั้งยังไม่แนะนำให้ผู้ป่วยไมเกรนรายอื่นๆ ใช้วิธีนี้ในการเยียวยาตนเองด้วยเช่นกันเพราะว่ามันอาจไม่ได้ผลลัพธ์อย่างที่คิด
ผู้เชี่ยวชาญยังออกปากเตือนผู้ที่มีอาการปวดไมเกรนบ่อยๆ ว่า ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีโซดามากเกินไปเพียงเพื่อให้อาการปวดไมเกรนทุเลาลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจับคู่กับเฟรนช์ฟรายส์ตามที่ปรากฏในโซเชียล ซึ่งไม่แนะนำเป็นอย่างยิ่ง
แต่สำหรับผู้ที่ต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเครื่องดื่มที่มีโซดากับการลดอาการปวดไมเกรน ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า การอ่านฉลากข้อมูลโภชนาการของเครื่องดื่มที่มีโซดาก็อาจให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ได้เช่นกัน เช่น ปริมาณคาเฟอีน หรือปริมาณน้ำตาลที่มีต่อหนึ่งหน่วยบริโภค อีกทั้งยังควรหาทางเลือกอื่นๆ ในการบรรเทาอาการปวดไมเกรนร่วมด้วย เช่น ยาเม็ดคาเฟอีน การกินกล้วยหอม หรือการกลับไปพบแพทย์เพื่อรับการจ่ายยาอย่างเหมาะสมแทน
“ยิ่งเราเข้าใจไมเกรนมากขึ้นเท่าไหร่ เราก็ยิ่งสามารถเลือกสิ่งที่ดีกว่าสำหรับตัวเราเองได้มากขึ้นนั้นเท่านั้น และการใช้ยาก็อาจเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาของคุณก็ได้” อะแมนด้า เอลลิสัน ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและประสาทวิทยากล่าว
เรื่อง ราเชล แฟร์แบงค์
แปล วรลักษณ์ ผ่องสุขสวัสดิ์