รถไฟฟ้าสายสีแดงจะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางลงได้อย่างไร

รถไฟฟ้าสายสีแดงจะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางลงได้อย่างไร

ภายหลังจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ทดสอบระบบรางและทดลองเดินรถเสมือนจริงทั้งสองเส้นทางมาสักระยะ ในวันที่ 2 สิงหาคมนี้จะเป็นครั้งแรกที่ประชาชนทั่วไปจะมีโอกาสได้ทดลองใช้บริการ‘โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง)’ ระยะที่ 1 หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า‘รถไฟฟ้าสายสีแดง’ ช่วงตลิ่งชัน-บางซื่อและบางซื่อ-รังสิตโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเป็นระยะเวลาสามเดือนเต็มนับจากวันและเวลาดังกล่าวเป็นต้นไปจนถึงปลายเดือนตุลาคมนี้

National Geographic Thailand กลับไปยังสถานีกลางบางซื่ออีกครั้งเพื่อทดลองนั่งขบวนรถเปล่าที่กำลังทำการทดลองเดินรถเสมือนจริงและแวะลงที่สถานีดอนเมือง เพื่อสำรวจความพร้อมก่อนก้าวแรกจะเริ่มต้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

สถานีกลางบางซื่อ ศูนย์กลางการคมนาคมระบบรางที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน และเชื่อมต่อระบบการเดินทางทุกรูปแบบของประเทศไทยเข้าด้วยกัน
รถไฟฟ้าสายสีแดง หรือรถไฟฟ้าที่มีชื่อเรียกเล่น ๆ ว่า “หนูแดง” ผลิตโดยบริษัท ฮิตาชิ จำกัด จากประเทศญี่ปุ่น เป็นรถไฟที่มีระบบรับไฟจากสายไฟแรงสูงเหนือขบวนรถ เช่นเดียวกับรถไฟฟ้า Airport Rail Linkภายนอกตัวรถมีสีขาวคาดแดง และประทับตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทยด้านหน้าขบวน

 จากตลิ่งชัน ถึงบางซื่อ ภายในระยะเวลา 15 นาที

รถไฟฟ้าสายสีแดง แบ่งออกเป็น 2 เส้นทางหลัก เริ่มจากเส้นทางที่ 1 สายสีแดงอ่อนช่วงตลิ่งชัน-บางซื่อ ระยะทาง 15 กิโลเมตร ประกอบด้วย 3 สถานี ได้แก่ สถานีบางซ่อน สถานีบางบำหรุ และสถานีปลายทาง สถานีตลิ่งชัน

โดยขบวนรถจะวิ่งให้บริการจากสถานีต้นสาย ถึงปลายทาง และปลายสาย ถึงต้นทางทุก 15 นาที ดังนั้นผู้โดยสารจะสามารถเดินทางเข้า-ออก จากชานเมืองสู่ในเมืองช่วงตลิ่งชัน-สถานีกลางบางซื่อ ภายในระยะเวลาไม่เกิน 15 นาที เท่านั้น

สถานีดอนเมือง
เครื่องจำหน่ายตั๋วและเติมเงินอัตโนมัติ
สกายวอร์ก เชื่อมตัวอาคารผู้โดยสารสนามบินดอนเมือง เข้ากับสถานีดอนเมือง

จากรังสิต ถึงบางซื่อ ภายในระยะเวลา 25นาที

เส้นทางที่ 2 สายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26.3 กิโลเมตร ประกอบด้วย 10 สถานี ได้แก่สถานีกลางบางซื่อสถานีจตุจักร สถานีวัดเสมียนนารี สถานีบางเขน สถานีทุ่งสองห้อง สถานีหลักสี่ สถานีการเคหะ สถานีดอนเมือง สถานีหลักหก และสถานีปลายทาง สถานีรังสิต

โดยขบวนรถจะวิ่งให้บริการจากสถานีต้นสาย ถึงปลายทาง และปลายสาย ถึงต้นทางทุก 10 นาที ดังนั้นผู้โดยสารจะสามารถเดินทางเข้า-ออก จากชานเมืองสู่ในเมือง ช่วงสถานีกลางบางซื่อถึงรังสิต ภายในระยะเวลาไม่เกิน 25 นาที เท่านั้น   

ทดลองนั่งจากสถานีกลางบางซื่อ ถึงสถานีปลายทางรังสิต ระยะทาง 26.3 กิโลเมตร ในระบบการเดินรถเสมือนจริง ในวันนั้นเราใช้เวลาราว 23 นาที ซึ่งคาดว่าเวลาเฉลี่ยของช่วง บางซื่อ-รังสิต เมื่อเปิดใช้บริการจริงจะไม่เกิน 25 นาที ต่อเที่ยว
ที่นั่งสำรองพิเศษ สำหรับผู้สูงอายุ พระภิกษุ ผู้พิการ และสตรีมีครรภ์
พื้นที่รับรองวีลแชร์
ชั้นจัดเก็บสัมภาระเหนือศีรษะภายในขบวน

ขบวนรถไฟที่เอื้อในการขนสัมภาระ

สำหรับผู้ใช้บริการบางคนอาจขึ้นขบวนตัวเปล่า หรือพกกระเป๋าหนึ่งใบติดตัวสำหรับการไปทำงานเพียงเท่านั้น ทว่ายังมีใครบางคนที่อาจมีธุระต้องเดินทางไปยังสนามบินดอนเมือง แน่ล่ะว่าพวกเขาเหล่านั้นมักจะมาพร้อมสัมภาระจำนวนหนึ่งซึ่งต้องการพื้นที่จัดเก็บอย่างเป็นระเบียบเพื่อไม่ให้เกิดปัญหารบกวนผู้โดยสารร่วม

ดังนั้นขบวนรถไฟฟ้าที่บริษัท ฮิตาชิ จำกัด ผลิตและออกแบบที่เราอาจเรียกกันว่า “หนูแดง” จึงออกแบบให้มีชั้นสำหรับจัดเก็บสัมภาระด้านบนเหนือเก้าอี้โดยสารทั้งสองฝั่งตลอดลำเพื่อช่วยลดการวางสัมภาระกีดขวางทางเดินเท้าลงได้อีกทางหนึ่ง

หน้าจอแสดงสถานะของรถไฟฟ้า

ระบบรางกับทางเลือกที่ช่วยเลี่ยงปัญหาจราจรทางบก

แม้ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดว่าช่วยลดจำนวนของรถยนต์บนท้องถนนลงได้มากน้อยเพียงใด แต่อย่างน้อยรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงรังสิต-บางซื่อ จะช่วยให้ผู้ใช้บริการสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจรบนถนนวิภาวดีรังสิต ช่วงขาเข้าในชั่วโมงเร่งด่วน ช่วยลดค่าใช้จ่ายที่หลายคนต้องเผชิญเมื่อใช้ทางยกระดับอุตราภิมุขลงได้ หรือแม้กระทั่งผู้โดยสารยังสามารถประมาณการในการใช้เวลาเดินทางไปยังสนามบินดอนเมืองได้อย่างชัดเจนมากขึ้น

เช่นเดียวกับ ช่วงตลิ่งชัน-บางซื่อ ที่แม้ทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครจะช่วยบรรเทาการจราจรบนทางคู่ขนานลอยฟ้า บรมราชชนนี และถนนบรมราชชนนี ช่วงขาเข้าลงได้บ้างก็ตาม แต่รถไฟฟ้าสายสีแดง ที่สามารถทำความเร็วสูงสุดในการออกแบบ 160 กิโลเมตร / ชั่วโมงความเร็วสูงสุดในการให้บริการ 120 กิโลเมตร / ชั่วโมง และสามารถรองรับความจุของผู้โดยสารได้กว่า 1,710 คน / เที่ยว จะเป็นทางเลือกใหม่ที่ช่วยร่นระยะเวลาการชะงักอยู่บนท้องถนนได้ไม่มากก็น้อย

สถานีเชื่อมโยงโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะที่คลอบคลุม

ในอนาคตนับจากนี้ สถานีกลางบางซื่อจะกลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมระบบรางที่ใหญ่สุดในอาเซียน ตัวสถานีกลาง หรือ Grand Station จะทำหน้าที่เป็นจุดเชื่อมต่อระบบการเดินทางทุกรูปแบบของประเทศไทยเข้าด้วยกัน คลอบคลุมทั้ง ล้อ ราง เรือ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟความเร็วสูง รถไฟชานเมือง รถไฟเชื่อมท่าอากาศยาน และเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้ามหานคร(MRT) รวมถึงถนนสายหลัก และระบบขนส่งมวลชนอื่น ๆ ที่สะดวกสบายและปลอดภัย รองรับจำนวนผู้โดยสารได้มากกว่า 6 แสนคนต่อวัน

แน่นอนว่า รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง จะกลายเป็นทางเลือกสำคัญในระบบขนส่งสาธารณะที่เอื้ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ย่านชานเมือง สามารถเลือกใช้บริการทดแทนระบบรถไฟชานเมืองเดิม

ซึ่งมีโครงข่ายที่เชื่อมโยงกับระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน ทั้ง MRT และ BTS โดยมีสถานีกลางบางซื่อ เป็นหัวใจหลักในการเชื่อมต่อได้มากขึ้นในอนาคต ซึ่งตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคมนี้ จะยังสามารถใช้บริการฟรีต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยอัตราค่าโดยสารซึ่งคิดตามระยะทางเริ่มต้น 14 บาท และตลอดเส้นทางไม่เกิน 42 บาท(โดยประมาณ)

ภาพภายในห้องควบคุมรถไฟขบวนสายสีแดง

 

 

เรื่อง:นวภัทร ดัสดุลย์/ ภาพ: ฤทธิรงค์ จันทองสุข

Recommend