เสียงพื้นรองเท้าสัมผัสหิน ดิน ทราย สายน้ำ และธรรมชาติครั้งล่าสุด เมื่อไรกันนะ?… เส้นทางเดินป่า กาญจนบุรี
หลายคนพร่ำถามตัวเองว่า อีกนานเเค่ไหนที่จะได้ออกไปให้ธรรมชาติช่วยบำบัด ทั้งความเครียด ความเหงา และความเศร้าที่สะสมในช่วงโควิด-19 เเพร่ระบาด เเต่คล้ายว่า สัญญาณที่ดีใกล้จะดังขึ้น ก่อนสวมรองเท้าคู่ใจและออกไปสำรวจธรรมชาติอีกครั้ง กางสมุดและหยิบดินสอขึ้นมาวางแผนเตรียมตัวท่องเที่ยวกันดีกว่า เส้นทางเดินป่า กาญจนบุรี
หากนึกถึงธรรมชาติ โดยเฉพาะการเที่ยวเขื่อน “กาญจนบุรี” มักเป็นตัวเลือกเเรก ๆ ที่หลายคนนึกถึง เเต่หากถามถึงหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่อยู่คู่กับเขื่อนเหล่านี้มาอย่างยาวนาน มีวัฒนธรรมเก่าแก่และอัตลักษณ์แห่งวิถีชีวิตที่ดีงาม อาจมีคนจำนวนไม่มากที่รู้ความลับของเรื่องราวในแต่ละชุมชน
ออกไปสัมผัสความอบอุ่น กอดธรรมชาติ และทำความรู้จักชีวิตของ “คนที่อยู่คู่เขื่อน” จาก 3 หมู่บ้านใกล้ 3 เขื่อนในกาญจนบุรี อย่างหมู่บ้านไกรเกรียงในเขื่อนศรีนครินทร์ หมู่บ้านช่องสะเดาใกล้เขื่อนท่าทุ่งนา และหมู่บ้านโบอ่องในเขื่อนวชิราลงกรณ ประสบ “กาญจน์” ใหม่ ให้มากกว่าการแค่มากางเต็นท์ หรือเล่นกิจกรรมทางน้ำ
หมู่บ้านไกรเกรียง
เริ่มต้นที่เเรก “หมู่บ้านไกรเกรียง” ที่ตั้งอยู่ท้ายเขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนหินถมแกนดินเหนียวที่ใหญ่ที่สุดในไทย ความกว้างใหญ่นี้มีชุมชนเล็ก ๆ ซ่อนตัวอยู่อย่างงดงาม พี่น้องชาวกะเหรี่ยงรวมกลุ่มกันตั้งหมู่บ้าน ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและผูกพันกับธรรมชาติ สานกระบุงและทอผ้านุ่งใส่เอง โดยใช้ “กี่เอว” วิธีการทอผ้าของชนพื้นเมืองที่ทำให้ผ้ามีลวดลายและเอกลักษณ์แตกต่างจากผ้าทอจากที่อื่น ๆ
หากเดินทางมาถึงหมู่บ้านไกรเกรียง ควรได้กินขนม “ทองโย๊ะ” ขนมมงคลของชาวกะเหรี่ยงโปว์ควบคู่กับการดื่มน้ำฝางเหลือง น้ำสมุนไพรท้องถิ่นที่ดีต่อสุขภาพ นอกจากวัฒนธรรมทางอาหาร ที่นี่ยังมีการเเสดงพื้นบ้านอย่าง “รำตง” ที่สืบทอดกันมาตั้งเเต่บรรพบุรุษ คอยสร้างความสนุกสนานและความผ่อนคลายให้กับคนในชุมชน
ส่วนสถานที่ท่องเที่ยวใกล้ ๆ มีให้เลือกหลากหลาย ทั้งการไปศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์ของค่ายทหารคอมมิวนิสต์ที่เขากระไดช้าง ไหว้พระ ชมความงามของโบสถ์สเตนเลส วัดปากลำขาแข้ง เล่นน้ำตกห้วยปิ่นทอง หรือเดินศึกษาเส้นทางธรรมชาติที่ห้วยกึงไกร แนะนำให้มาช่วงหน้าฝนหรือหน้าหนาว เรียกได้ว่ามาที่เดียวเที่ยวครบและได้อุดหนุนชุมชน ร่วมบอกต่อวัฒนธรรมที่งดงาม
หมู่บ้านช่องสะเดา
“หมู่บ้านช่องสะเดา” ใกล้เขื่อนท่าทุ่งนา สำหรับที่นี่ ใครบางคนอาจเคยได้ยินสโลแกน “ส่องช้างป่า ดูผึ้งกล่อง ล่องเเพเปียก” ซึ่งบอกเล่าความเป็นชุมชนช่องสะเดาได้เป็นอย่างดี การล่องเเพเปียกถือเป็นกิจกรรมยอดฮิตของทุกคนที่มาถึงเขื่อนท่าทุ่งนา เพราะเป็นการได้ปล่อยตัวปล่อยใจกับสายน้ำของเเม่น้ำแควใหญ่ พร้อม ๆ กับการได้ชมวิวทิวทัศน์ของหุบเขาและป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์เขียวขจีระหว่างเส้นทางล่องเเพ
ส่วนการส่องช้างป่าและดูผึ้งกล่อง เป็นกิจกรรมที่สอดคล้องกันระหว่างคนกับช้าง ช่องสะเดาถือเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ทำให้ช้างแวะเวียนเข้ามาใกล้ชุมชน จนบางครั้ง พื้นที่ทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ชาวบ้านจึงคิดไอเดียทำรั้วรังผึ้ง เลี้ยงผึ้งในกล่องที่วางไว้รอบเเปลงเกษตร เพื่อป้องกันไม่ให้ช้างเข้ามาในพื้นที่ โดยไม่สร้างอันตรายต่อช้างมากนัก และผลพลอยได้ที่ตามมาคือ น้ำผึ้งเลี้ยง 100% กลายเป็นสินค้าขายดีจนชาวชุมชนยึดเป็นอาชีพหลักและหารายได้เข้าสู่ชุมชน เห็นได้ว่าธรรมชาติและผู้คนต่างเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ทำให้อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน
หมู่บ้านโบอ่อง
“หมู่บ้านโบอ่อง” ชุมชนกลางน้ำที่ตั้งอยู่กลางเขื่อนวชิราลงกรณ (เขื่อนเขาเเหลม) หรือเขื่อนหินแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งการเดินทางต้องนั่งเรือเข้าไป ชุมชนที่นี่มีพี่น้องกะเหรี่ยงอยู่ร่วมกัน สร้างเรือนแพเป็นที่อยู่อาศัยอย่างเรียบง่ายและเงียบสงบ ทั้งยังถือเป็นดินแดนเเห่งความศักดิ์สิทธิ์ ใจกลางหมู่บ้านมีพระธาตุโบอ่อง เจดีย์แบบพม่า อายุกว่า 200 ปี ตั้งตระหง่านบนยอดเขาที่ล้อมรอบด้วยบึงบัว สถานที่นี้ถือเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวชุมชนที่เชื่อกันว่าขอพรสิ่งใดก็จะสมปรารถนาทุกประการ
เสน่ห์ของชุมชนโบอ่องคือ การอยู่ในอ้อมกอดของธรรมชาติ ทุ่งหญ้าบนเกาะ หุบเขาหินปูน และทะเลสาบอันกว้างใหญ่ที่เป็นต้นน้ำของห้วย 3 สาย ได้แก่ ปิล็อกคี่ ปิล็อกโค่ และห้วยน้ำขุ่น ทำให้มีปลาชุกชุม ชาวบ้านจึงยึดอาชีพหาปลา กระชังปลา หรือทำแพที่พัก แพขายของ ผู้ที่ได้เดินทางมาที่นี่ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า หากต้องการความนิ่งสงบ ผ่อนคลายทางความคิดและจิตใจ ต้องลองไปสัมผัสชุมชนโบอ่องสักครั้งในชีวิต
ความเป็นอยู่ของคนกับเขื่อนทั้งสาม คือความสัมพันธ์ที่พึ่งพากันของผู้คนและธรรมชาติ หากขาดปัจจัยใดไป เรื่องราวจะดำเนินไปอย่างแห้งแล้งและไม่สมบูรณ์เเบบ ไม่ต่างจากการท่องเที่ยวชุมชนเชิงอนุรักษ์ เราได้พักผ่อนและมีความสุขกับธรรมชาติ จึงควรเเบ่งปันความสมดุลนี้ โดยการดูเเลธรรมชาติและรักษาชีวิตคนพื้นถิ่นให้คงอยู่คู่กันอย่างยั่งยืนตลอดไป อย่างที่ใครบางคนบอกว่า “ธรรมชาติเกิด สิ่งมีชีวิตบนโลกจึงถือกำเนิดขึ้น ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ เพราะมีสิ่งมีชีวิตคอยเกื้อกูลกัน”
คล้ายกับป่าและสายน้ำสร้างชีวิต ผู้คนจึงต้องเป็นมิตรช่วยอนุรักษ์ป่าและน้ำให้ทรงคุณค่าไว้ตลอดกาล
เรื่อง: อรปวีณ์ วงศ์วชิรา
ภาพ: ศุภกร, เพจเที่ยววนไป, เพจม่วงมหากาฬพาเที่ยว, ชุมชนบ้านไกรเกรียง
ช่องทางติดต่อ:
หมู่บ้านไกรเกรียง
ผู้ใหญ่บ้าน ณรงค์ อาชีวเกษตรกร
สอบถามรายละเอียดโทร. 08-2248-7773
หรือ 06-5991-3583 (สำรอง)
จุดกางเต็นท์ แพประทุมสูตร
ติดต่อคุณลำดวน และคุณสมใจ ประทุมสูตร
โทร. 09-2425-4541
อาบป่า ดูผึ้งกล่อง ล่องแพเปียก วันเดย์ทริป ที่ชุมชนช่องสะเดา
ติดต่อคุณวสันต์ สุนจิรัตน์ หรือกำนันตึ๋ง
เฟซบุ๊ค https://www.facebook.com/CBTBanChongSadao
ล่องเรือเที่ยวบ้านโบอ่อง
โทร. 09-2319-0508
(ครูฐิติพงศ์ โรงเรียนโบอ่อง)
ขอบคุณ Thailandoutdoor Shop ที่เอื้อเฟื้อเรือคายัค รวมถึงอุปกรณ์แคมปิ้ง
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 09-0927-7897
หรือที่เว็บไซต์ www.thailandoutdoorshop.com
.
ขอบคุณ Paddle More Thailand – พาย SUP กาญจนบุรี
ติดต่อได้ที่โทร. 08-5299-8329 เว็บไซต์ https://www.paddlemorethailand.com
และเฟซบุ๊ค https://www.facebook.com/PaddleMoreTh