ปลูกฝังเด็กให้รักษ์โลกแบบชาวเยอรมัน

ปลูกฝังเด็กให้รักษ์โลกแบบชาวเยอรมัน

ขอบคุณภาพจาก Wary / iStock / National Geographic Kids

ปลูกฝังเด็กให้ รักษ์โลก แบบชาวเยอรมัน

ภาพถ่ายของนาย Georg Schmidt เอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทยในชุดสูท พร้อมหมวกนิรภัย และสกูตเตอร์ไฟฟ้าแบบพับถูกเผยแพร่ไปทั่วโลกออนไลน์ ท่ามกลางความประทับใจจากบรรดาชาวเน็ต ย้อนกลับไปไม่นาน ในทวิตเตอร์ของ Georg Schmidt ระบุว่าตนจะลองใช้รถสกูตเตอร์ไฟฟ้าในการเดินทางไปไหนมาไหนดู หลังกรุงเทพฯ เผชิญกับวิกฤตฝุ่นละออง PM 2.5 ยิ่งย้ำให้เห็นถึงความไม่ธรรมดาของทูตท่านนี้ว่าเป็นคนพูดจริงทำจริง แม้จะมีตำแหน่งใหญ่โต แต่ยังคงคำนึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน ด้านบนโลกออนไลน์เต็มไปด้วยถ้อยคำชื่นชม และแสดงความเป็นห่วงเนื่องจากถนนหนทางในกรุงเทพฯ ไม่ได้ปลอดภัยสำหรับการขี่สกูตเตอร์เท่าไหร่นัก

ว่าแต่แค่สกูตเตอร์ไฟฟ้าคันเล็กๆ จะไปช่วยโลกได้อย่างไร? ก่อนที่ใครจะไปซื้อหาสกูตเตอร์ไฟฟ้ามาขี่ นี่คือเรื่องจำเป็นที่ต้องทราบไว้ เพราะไม่ใช่สกูตเตอร์ไฟฟ้าทุกคันจะดีต่อสิ่งแวดล้อมเสมอไป…

 

เช่นเดียวกับรถยนต์ไฟฟ้า สกูตเตอร์ไฟฟ้าจะดีต่อโลกหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าพลังงานไฟฟ้านั้นๆ ที่คุณชาร์ตมาจากไหน? หากเมืองหรือประเทศของคุณยังคงผลิตกระแสไฟฟ้าจากถ่านหิน หรือก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก การใช้สกูตเตอร์ไฟฟ้าก็ยังคงผลิตรอยเท้าคาร์บอนอยู่ แต่ทั้งนี้ใช่ว่าจะไม่มีข้อดีเลย เพราะอย่างน้อยปริมาณรอยเท้าคาร์บอนจากสกูตเตอร์ไฟฟ้าก็ยังน้อยกว่ารถยนต์ที่ปลดปล่อยควันเสียออกมา อีกประเด็นหนึ่งที่นิยามว่าสกูตเตอร์ไฟฟ้าของคุณช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมหรือไม่ก็คือ คุณใช้มันแทนอะไร? หากคุณเลือกขี่สกูตเตอร์ไปเรียนหรือไปทำงานทดแทนการเดิน นั่นคือมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าเดิมแน่ แต่หากใช้สกูตเตอร์แทนที่รถยนต์ที่คุณใช้ประจำ นั่นคือข่าวดี

กรณีนี้มีตัวอย่างมาแล้ว เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2018 ประเทศเอสโตเนียเปิดตัวระบบขนส่งมวลชนฟรีทั่วประเทศเป็นชาติแรกในโลก โดยได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล และภาษีของประชาชน ด้วยความมุ่งหวังว่าจะช่วยแก้ปัญหารถติด ตลอดจนมลพิษในอากาศ ทว่ารายงานวิจัยในกรุงทาลลินน์ เมืองหลวงของเอสโตเนียกลับพบว่า โครงการนี้ไม่ได้ช่วยลดจำนวนรถยนต์บนท้องถนน แต่กลับไปลดจำนวนผู้ที่สัญจรด้วยการเดินเท้าแทน เนื่องจากพวกเขาไม่ต้องเสียค่าโดยสาร

รายงานจาก Lime บริษัทผู้ผลิตสกูตเตอร์ไฟฟ้า ทุกๆ 1.6 กิโลเมตรที่สกูตเตอร์ไฟฟ้าวิ่งจะช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ราว 350 กรัม นั่นหมายความว่าในเมืองใหญ่ที่มีการใช้สกูตเตอร์ไฟฟ้า 10,000 คันทดแทนรถยนต์ จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลงถึง 35 เมตริกตันต่อวัน

แต่ถึงกระนั้น ไม่ว่าคุณจะใช้สกูตเตอร์จากอะไร หรือทดแทนสิ่งไหน หากเราเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าทางเลือกสำหรับการเดินทางในระยะสั้นๆ ไม่เกิน 3.2 กิโลเมตร ปริมาณรถยนต์บนท้องถนนจะลดลงไปมาก เนื่องจากทุกวันนี้รถยนต์จำนวน 40% บนถนนล้วนวิ่งไปยังจุดหมายปลายทางในระยะไม่ถึง 3 กิโลเมตร รายงานจากหน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ ระบุว่าหากผู้ขับขี่รถยนต์ในอเมริกาเลือกที่จะไม่ใช้รถยนต์ส่วนตัวไปยังจุดหมายปลายทางที่ห่างออกไปไม่เกิน 1.6 กิโลเมตร จะช่วยลดปริมาณการผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 2 ล้านเมตริกตันต่อปี

อย่างไรก็ดี สกูตเตอร์ก็อาจเป็นอันตรายได้ต่อทั้งตัวผู้ขับขี่เอง ไปจนถึงผู้ใช้ถนนคนอื่นๆ หากเมืองนั้นๆ ไม่ได้มีเลนเฉพาะสำหรับสกูตเตอร์หรือจักรยาน การเปลี่ยนจากขับขี่บนถนนมาเป็นบนฟุตบาทก็สามารถก่ออุบัติเหตุต่อคนเดินเท้าอื่นๆ ได้เช่นกัน ดังนั้นถ้าต้องการให้ผู้คนลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวลง ภาครัฐเองไม่สามารถใช้การรณรงค์เพียงอย่างเดียวได้ หากต้องสร้างฟังก์ชั่นอื่นๆ ที่เหมาะสมด้วย ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเล็กๆ อย่างลดค่าโดยสาร, มีเลนจักรยานที่ชัดเจน ไปจนถึงนโยบายใหญ่อย่างลดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานเชื้อเพลิงลง และเพิ่มการใช้พลังงานสะอาดให้มากขึ้น

ใช่ว่าทุกคนจะเห็นด้วยกับสกูตเตอร์ไฟฟ้าไปเสียหมด เมื่อปี 2018 ฝรั่งเศสเตรียมพิจารณาให้การขับขี่สกูตเตอร์บนทางเท้าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เนื่องจากอาจทำให้ผู้คนบาดเจ็บได้ ส่วนที่สหรัฐฯ มีข้อถกเถียงว่าสกูตเตอร์ควรจะขับที่ไหนกันแน่ระหว่างบนถนน ในเลนจักรยาน หรือบนทางเท้าไปเลย

ทว่าสำหรับใครหลายคน ความน่าสนใจไม่ได้หยุดอยู่แค่การใช้สกูตเตอร์ไฟฟ้า หากรวมถึงตัวเอกอัครราชทูตเยอรมันเองด้วย เป็นที่รู้กันว่าชาวเยอรมันขึ้นชื่อเรื่องความมีวินัย, ตรงต่อเวลา และมีความจริงจังในการทำงานสูงมาก ทั้งประเทศนี้ยังมีระดับหนี้สินต่อครัวเรือนอยู่ในระดับต่ำที่สุดในยุโรป อาจฟังดูเป็นคุณลักษณะที่แข็งกร้าว ไร้ซึ่งชีวิตชีวา ทว่าน้อยคนที่จะรู้ว่านี่คือหนึ่งในประเทศที่รักสีเขียวๆ ของต้นไม้มากที่สุดในโลก และพวกเขาปลูกฝังจิตสำนึกนี้กันตั้งแต่เด็กเลยทีเดียว

เด็กนักเรียนเกรดหนึ่งใน Nuremburg ชูกล่องอาหารใบใหม่ที่ภายในบรรจุอาหารออร์แกนิก
ขอบคุณภาพจาก DW

เป็นเวลา 15 ปีมาแล้วที่การเรียนการสอนเกี่ยวกับ “การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ” กลายมาเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของระบบการศึกษาเยอรมัน ประเทศนี้ไม่ได้มีหลักสูตรที่กำหนดโดยรัฐบาลกลางแบบที่กระทรวงศึกษาธิการบ้านเรากำหนด แต่ละ 16 รัฐของเยอรมนีกำหนดแนวทางการเรียนการสอนของตนขึ้นมา ในกรอบของการศึกษาแนวคิดแบบยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมที่ผนวกเข้ากับรายวิชาอื่นๆ และที่นี่เด็กๆ ไม่ได้เรียนแค่ว่าภาวะโลกร้อนคืออะไร แต่พวกเขายังถูกกระตุ้นให้เรียนรู้กันลึกลงไปกว่านั้นว่าจะร่วมกันรับผิดชอบแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เผชิญอยู่อย่างไร

แตกต่างจากเด็กๆ ในสหรัฐฯ ที่ผลการศึกษาจาก sciencemag ระบุว่า 31% ของครูวิทยาศาสตร์จำนวน 1,500 คนทั่วประเทศ ยังคงสอนเด็กๆ ว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่ปัจจุบันถูกถกเถียงว่าเกิดขึ้นจริงหรือไม่ อีก 10% ระบุว่ามนุษย์ไม่ได้มีส่วนต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ และอีก 5% ไม่ได้สอนเรื่องนี้ให้แก่นักเรียน ที่เยอรมนีเด็กๆ ได้เรียนรู้ความสำคัญของการอยู่กับธรรมชาติกันตั้งแต่เล็ก รายงานจาก Petra Lewalder คุณครูวิชาภูมิศาสตร์จากโรงเรียน Clara Schumann Gymnasium ในเมืองบอนน์ เด็กๆ ชั้นอนุบาลจะได้เรียนรู้ว่าต้นไม้ และผืนป่ามีความสำคัญอย่างไร พวกเขาได้รู้จักชื่อของต้นไม้ผ่านการสังเกตใบ ดอก ผล พอปีต่อมาพวกเขาจะได้เรียนรู้ว่าธรรมชาติเชื่อมโยง มีความสัมพันธ์กันอย่างไร ต่อมาในเกรด 5 พวกเขาจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และขยายองค์ความรู้ขึ้นเรื่อยๆ ในชั้นที่สูงขึ้น ยกตัวอย่างโจทย์ในชั้นเรียนวิชาเคมีระดับมัธยม นักเรียนต้องแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณาเอกสารเรียกร้องการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพอย่าง ไบโอเอทานอล ท่ามกลางข้อถกเถียงที่ว่าอาจกำลังขัดขวางราคาข้าวโพดในประเทศที่กำลังพัฒนา เด็กๆ สวมบทบาทเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย, เกษตร, นักสิ่งแวดล้อม และตำแหน่งอื่นๆ โต้แย้งกันด้วยข้อมูล ก่อนตัดสินใจว่าจะอนุมัติเอกสารหรือไม่ 87% ของนักเรียนเล่าว่าพวกเขารู้สึกว่าตนได้เรียนรู้บางอย่าง ส่วนอีก 75% ชี้ว่าพวกเขามีมุมมองต่อเชื้อเพลิงชีวภาพที่ต่างออกไป

รักษ์โลก
เด็กนักเรียนเกรด 5 จากโรงเรียน Gustav Falke ในกรุงเบอร์ลิน กำลังอธิบายถึงคุณค่าของหนองน้ำเล็กๆ ในธรรมชาติ
ขอบคุณภาพจาก Pia Ranada / Rappler

แม้แต่ในวิชาต่างๆ ก็มีการปลูกฝังเรื่องรักษ์โลก ที่โรงเรียนมัธยม Emmy-Noether ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกของกรุงเบอร์ลิน ประมาณ 1 ใน 4 ของเนื้อหาหนังสือเรียนวิชาภาษาอังกฤษเด็กเกรด 10 กำลังบอกเล่าถึงภัยคุกคามที่มีต่อโลก นั่นหมายความว่านอกจากเด็กๆ จะได้เรียนรู้ไวยากรณ์ภาษาอังกฤษแล้ว พวกเขายังได้รับรู้สถานการณ์ทางสิ่งแวดล้อมไปในตัว เช่น ประโยค “If we don’t do something about global warming, more polar ice will start to melt.” หรือในชั้นเรียนเกรด 11 พวกเขาได้รับโจทย์ให้แต่งกลอนเกี่ยวกับ “การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ” และนี่คือตัวอย่าง “The water level rises / The fish are in a crisis.”

อย่างไรก็ดี แม้จะมีการปลูกฝังเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้แก่เด็กๆ อย่างจริงจัง แต่ปัจจุบันประเทศเยอรมนียังคงติดอันดับ 6 ของประเทศที่มีการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในโลก ด้วยปริมาณ 775,752 เมตริกตันในปี 2016 อันดับหนึ่งคือจีน ตามมาด้วยสหรัฐฯ อินเดีย รัสเซีย และญี่ปุ่น

หลายกิจกรรมไม่ได้ถูกจำกัดแค่ในห้องเรียน ที่โรงเรียน Gustav Falke มีโครงการ “Berlin Climate Schools” เพื่อสอนให้เด็กๆ ตระหนักถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ นั่นทำให้พื้นที่บางส่วนของโรงเรียนกลายมาเป็นแปลงผักขนาดเล็ก คุณครูมีโจทย์ที่น่าสนใจที่พวกเขาใช้สอนเด็กๆ ด้วยการให้นักเรียนลองวาดภาพโรงเรียนสีเขียวดู จินตนาการว่าโรงเรียน Gustav Falke จะเป็นอย่างไรหากนำแนวคิดความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมมาใช้ นักเรียนช่วยกันสร้างโมเดลของโรงเรียนในสัดส่วน 1 ต่อ 100 ขึ้นมา และเติมต้นไม้ตลอดจนพื้นที่สีเขียวอื่นๆ เข้าไป จากนั้นคุณครูช่วยให้ไอเดียของพวกเขาเป็นจริง ด้วยการปลูกต้นไม้เพิ่มตามแผน ทั้งยังเพิ่มไม้เลื้อยตามกำแพงเข้าไป ซึ่งหนึ่งในเด็กนักเรียนอธิบายว่าการมีต้นไม้เลื้อยปกคลุมกำแพงจะช่วยให้ความอบอุ่นในหน้าหนาว และลดความร้อนในหน้าร้อน เท่ากับว่าลดการใช้พลังงานไฟฟ้าในการทำความอบอุ่นและความเย็นของตัวอาคารไปด้วย ส่วนอีกชั้นเรียนหนึ่งให้โจทย์เด็กๆ ไปลองเดินสำรวจในละแวกบ้านของตนเอง เพื่อหาว่าจะช่วยให้ละแวกบ้านรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้อย่างไร

รักษ์โลก
โครงสร้างจากอิฐและไม้นี้เด็กๆ สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักใหม่ของบรรดาผึ้งที่กำลังถูกคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
ขอบคุณภาพจาก Pia Ranada / Rappler

ข้ามไปที่นครฮัมบวร์ก กระบวนการเรียนการสอนของพวกเขาไปไกลกว่าแค่ในรั้วโรงเรียน สมาคมการจราจรฮัมบวร์ก หรือ HVV เปิดโครงการสอนเด็กๆ ให้เรียนรู้เกี่ยวกับการใช้ระบบขนส่งมวลชน แม้แต่เด็กเล็กๆ อย่างเด็กวัย 3 ขวบ การสอนประกอบด้วยข้อควรระมัดระวังด้านความปลอดภัย อย่างการรอหลังเส้นที่กำหนด ไปจนถึงมารยาทการใช้รถสาธารณะ และในฐานะที่เมืองแห่งนี้ติดกับแม่น้ำ เด็กๆ จึงได้รู้จักการใช้บริการเรือสัญจร ซึ่งเป็นหนึ่งในระบบขนส่งมวลชนสำคัญของเมืองด้วย เพื่อที่พวกเขาจะสามารถเดินทางไปโรงเรียนเองได้เมื่อเติบโตขึ้น มากไปกว่านั้นคุณประโยชน์ตกต่อเมืองเอง เพราะถ้าเด็กๆ หันมาใช้รถสาธารณะ นั่นหมายถึงจำนวนรถยนต์บนท้องถนนที่น้อยลงไปด้วยเช่นกัน

รักษ์โลก
Christoph Unland เจ้าหน้าที่จาก HVV กำลังใช้ของเล่นและวัตถุที่หาได้ทั่วไปสอนเด็กๆ เกี่ยวกับความปลอดภัยบนท้องถนน
ขอบคุณภาพจาก Pia Ranada / Rappler

(ปัจจุบันมีสื่อการเรียนการสอนมากมายที่ช่วยให้เด็กๆ เรียนรู้เกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น National Geographic Kids)

เห็นตัวอย่างการเรียนรู้แบบชาวเยอรมันแล้ว เราจะนำมาปรับใช้อย่างไรได้บ้าง? อันที่จริงเด็กๆ เรียนรู้เรื่องนี้ได้ในทุกช่วงเวลา ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นแค่ในห้องเรียนเสมอไป คุณอาจสอนให้พวกเขารู้จักถึงคุณค่าของสิ่งของ ผ่านการประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ จากวัสดุอุปกรณ์เหลือใช้ภายในบ้าน ปลูกฝังนิสัยการประหยัดอดออม โดยเริ่มต้นจากการประหยัดทรัพยากรภายในบ้าน เช่น ปิดน้ำทุกครั้งระหว่างแปรงฟัน หรือปิดไฟดวงที่ไม่ใช้ หากพวกเขาเริ่มรู้จักวิธีประหยัดพลังงานแล้ว ขั้นต่อไปจึงสามารถปลูกฝังการประหยัดทรัพยากรในประเทศ เช่น ลดการใช้ถุงพลาสติก และมอบกระเป๋าผ้ากับลูกๆ ติดตัวเวลาไปซื้อของภายนอกบ้าน ให้ความรู้แก่พวกเขาในเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และความมีเมตตาต่อสัตว์โลก เช่น เล่าเรื่องราวของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ พร้อมเปิดรูปภาพหรือสารคดีให้เด็กได้รับชมวิถีชีวิตของสัตว์เหล่านั้น หรือพาไปทำกิจกรรมที่สวนสัตว์ เพื่อสร้างความเพลิดเพลินและได้เห็นถึงการดำรงชีวิตของสัตว์หลายๆ ชนิด ไม่ว่าจะวิธีไหนล้วนดีทั้งสิ้น เพราะอนาคตของโลกขึ้นอยู่กับคนเหล่านี้ คนรุ่นถัดไปที่ได้รับการปลูกฝัง และตระหนักถึงความสำคัญของการร่วมมือกันเพื่อลดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

ปิดท้ายด้วยความน่ารักจาก Pia Ranada ผู้สื่อข่าวของ Rappler ที่มีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมการเรียนการสอนซึ่งมุ่งเน้นความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมแก่เด็กๆ เธอลองถามเด็กชายชาวเยอรมันคนหนึ่งว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคืออะไร? คำตอบของเขาช่างเรียบง่ายแต่ตรงใจ “มันคือตอนที่คุณขับรถ รถของคุณปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ คาร์บอนลอยอยู่ในอากาศและเมื่อแสงจากดวงอาทิตย์ส่องลงมา มันถูกคาร์บอนกักเอาไว้ในโลกทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นครับ”

(วิธีอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสำหรับเด็กทำได้ไม่ยาก อันที่จริงมีหลายองค์กรที่ให้ความรู้เรื่องนี้ ดูตัวอย่างได้ ที่นี่)

 

อ่านเพิ่มเติม

ต้นไม้ในเมืองใหญ่

 

แหล่งข้อมูล

Electric scooters’ sudden invasion of American cities, explained

The Environmental Impact of Electric Scooters

A Dispatch from Bonn: How Germany Uses Morality to Teach Climate Change

Sustainability education picks up in Germany

How German schools teach climate change, sustainable transport

Taking climate change seriously in school

สอนลูกเรื่องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Teaching Children about Environment Conservation)

 

Recommend