หลอดพลาสติก : มองหาทางเลือกเพื่อเห็นแก่โลก
หลอดพลาสติก ใช้แล้วทิ้งหลายร้อยล้านหลอดถูกใช้ในแต่วัน หลอดจำนวนมากกลายเป็นขยะ บางส่วนไหลไปตามทางน้ำ เป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเล และแตกตัวกลายเป็นไมโครพลาสติกซึ่งพบได้ทั่วโลก หลายประเทศผ่านกฎหมายห้ามใช้ หลอดพลาสติก ในฐานะแนวทางหนึ่งเพื่อเริ่มแก้ปัญหาขยะพลาสติกของโลกอย่างจริงจัง ปัญหามีอยู่ว่าหลอดที่ไม่ได้ทำจากพลาสติกสามารถใช้แทน หลอดพลาสติก ได้ดีพอหรือไม่
วัสดุแบบไหนมีข้อดีข้อเสียอย่างไร
โลหะ : ทำจากสแตนเลส อะลูมิเนียม หรือกระทั่งไททาเนียม หลอดโลหะกลายเป็นทางเลือกยอดฮิต แต่ก็ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ถึงรสชาติของโลหะ นำความร้อนจากเครื่องดื่มร้อน และเสียงดังเมื่อกระทบฟัน แต่ก็ทนต่อการพกพาและใช้ซ้ำได้
กระดาษ : หลอดกระดาษมีมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 มักดูดซับของเหลวเมื่อใช้ไปนานๆ จนเหี่ยวเละ และทิ้งรสของเส้นใยไว้ในเครื่องดื่ม เป็นทางเลือกยอดนิยมในที่ที่ห้ามใช้หลอดพลาสติก (หลอดกระดาษทำเองก็ได้ง่ายจัง)
ซิลิโคน : เป็นวัสดุที่ให้ทางเลือกแบบอ่อนนุ่มแทนหลอดใช้ซ้ำแบบโลหะ บริษัทแห่งหนึ่งพัฒนาหลอดซิลิโคนที่มีของแถมเพื่อสิ่งแวดล้อม นั่นคือเมื่อหลอดถูกเผาไหม้แล้ว จะกลายเป็นเถ้าที่ย่อยสลายได้
แก้ว: ถึงหลอดแก้วจะแตกได้ง่ายกว่าและพกพายากกว่าหลอดใช้ซ้ำที่ทำจากวัสดุอื่นๆ แต่ก็ล้างง่ายและใช้ซ้ำได้ดีกว่าหลอดทดแทนอื่นๆ ผู้ผลิตหลอดหลายรายยังเพิ่มความเก๋ให้หลอดด้วยการเติมสีสัน รวมทั้งมีแบบที่ทำจากการเป่าแก้วและตกแต่งให้สวยงาม
พลาสติกแข็ง: หลอดใช้ซ้ำที่ทำจากพลาสติกแข็งพกพาได้ ทำความสะอาดง่าย และทนทานตามสมควร ลองคิดถึงกระติกน้ำพลาสติกใช้ซ้ำที่มีขนาดเล็กเท่าหลอดดู
ไม้ไผ่ : วัสดุที่ทำจากธรรมชาติชนิดนี้ผลิตขึ้นอย่างยั่งยืนและเป็นทางเลือกจากพืชในการนำมาทำเป็นหลอด หลอดไผ่ใช้ซ้ำได้ แต่ยากต่อการทำความสะอาดและอาจดูดซับรสเอาไว้ แต่เมื่อถึงเวลาทิ้ง ก็ทำได้ง่าย
หลอดงอได้ : เมื่อหลอดงอได้ถูกผลิตขึ้นครั้งแรกในกลางศตวรรษที่ 20 ก็เป็นที่นิยมในวงการสุขภาพ โดยช่วยให้ผู้ป่วยดื่มน้ำได้โดยไม่ต้องลุกขึ้นนั่ง หลอดพลาสติกงอได้กลายเป็นของใช้ที่ปลอดภัยและราคาถูก แต่การค้นหาทางเลือกอื่นๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยังคงดำเนินต่อไป
เรื่องโดย ซาราห์ กิบเบนส์
อ่านเพิ่มเติม
มาตรการงดใช้พลาสติกทั่วเอเชียกับก้าวแรกในประเทศไทย